วันนี้ขอมาสรุปเรื่องคดีที่ Apple ถูกฟ้องเรื่องละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งมีนักวิจัยไทยคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันอีกสักครั้งแล้วกันนะครับ ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้สองบล็อก
บล็อกแรกเล่าข่าวตอนที่มีการเริ่มฟ้องร้องกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน่าจะแปดปีมาแล้ว และ
บล็อกที่สองสรุปเรื่องราวว่า Apple ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตร 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาล บล็อกนี้เขียนเมื่อสี่ปีที่แล้ว และคิดว่าน่าจะจบไปแล้ว แต่อยู่ ๆ เมื่อวานนี้ผมพบว่ามียอดคนเข้าไปอ่านบล็อกแรกของผมเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ก็เลยแปลกใจ จนได้เห็นว่ามีการเอาข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งมาแชร์ใน Facebook ว่า Apple แพ้คดี Siri ที่ศาลสูงสหรัฐและต้องจ่าย 25 ล้านเหรียญ และก็มีการเอารูป รศ.ดร.วีระ บุญจริง ในฐานะที่เป็นนักวิจัยมาประกอบด้วย และก็แน่นอนมีการคอมเมนต์มากมาย บางคนก็เพิ่งทราบเรื่องนี้ บางคนก็อาจรู้มาบ้างแล้ว บางคนอ่านข่าวอาจคิดว่าอ.วีระเป็นคนไปฟ้อง Apple และได้เงิน 25 ล้านเหรียญ และบางคนก็เอาไปโยงว่ามันชื่อ Siri เพราะคนไทยเป็นคนคิด ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ผมก็เลยจะมาสรุปให้เข้าใจกันซะอีกรอบหนึ่งแล้วกัน
มาเริ่มกันก่อนนะครับ อ.วีระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา น่าจะประมาณปี คศ. 2000 ถ้าจำไม่ผิด โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยของอ.วีระคือ Natural Language Interface นั้นได้ถูกจดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งถ้าใครอยากดูตัวสิทธิบัตรก็ดูได้จากลิงก์ใน
บล็อกแรกของผมนะครับ และอาจารย์ก็กลับมาทำงานที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ตามเดิมหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็ทำหน้าที่สอนและวิจัยไปตามปกติ ไม่ได้ไปด้อม ๆ มอง ๆ หาวิธีการที่จะฟ้องร้อง Apple อะไร ตอนที่ Apple ออก Siri มา อาจารย์ก็ไม่ได้คิดว่า Apple จะไปละเมิดสิทธิบัตรอะไร
คราวนี้เมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ผ่านมาจากที่อาจารย์จบมาประมาณ 12 ปี อ.วีระซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมมานานแล้ว ได้ส่งลิงก์ข่าวมาให้ผม บอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาป.เอกของอ.วีระ ส่งมาให้ ซึ่งมันก็คือข่าวที่บริษัท Dynamic Advances ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำมาหากินโดยไปขอรับใบอนุญาตการใช้งานสิทธิบัตรด้านงานวิจัย และก็เอาไปฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ กำลังฟ้อง Apple จากการละเมิดสิทธิบัตร Natural Language Interface ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วีระก็ดูงง ๆ กับข่าวนี้ พอผมเห็นข่าว ผมซึ่งเขียนบล็อกอยู่แล้ว ก็เลยเขียนเรื่องนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่แรกหรือเปล่าที่เขียนเรื่องนี้ จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบล็อกก็คือ เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ลูกศิษย์ และเพื่อน ๆ ได้อ่านกัน ยิ่งเรื่องนี้มีเพื่อนตัวเองเป็นตัวละคร และตัวเองก็มีส่วนร่วมนิดหน่อยในงานวิจัยนี้ ด้วยการส่งตัวอย่างคำถามที่เป็นภาษาพูดให้อาจารย์วีระไปทดสอบระบบนี้ ก็เลยเขียนบล็อกโดยรายงานข่าว แล้วก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งผมและอาจารย์วีระกำลังเรียนอยู่ที่อเมริกา แต่อยู่คนละรัฐกัน และก็ไม่มีใครคิดว่างานวิจัยนั้นมันจะมาถึงขั้นนี้
หลังจากผมเขียน
บล็อกแรกเสร็จ ก็มีลูกศิษย์อาจารย์วีระ และเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมคือ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้เอาเรื่องจากบล็อกผมไปขยายความในคอลัมน์ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าอาจารย์วีระปวดหัวมาก เพราะมีนักข่าวพยายามจะขอสัมภาษณ์มากมาย ซึ่งอาจารย์วีระ เป็นคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบตกเป็นข่าว อาจารย์ชอบใช้ชีวิตเงียบ ๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทั้งหมด เอาจริง ๆ ตอนนนั้นผมก็รู้สึกไม่สบายใจนะ เพราะเหมือนผมเป็นคนต้นเรื่องเอามาเขียนบล็อก แต่คิดอีกทีถ้าผมไม่เขียน ก็ต้องมีคนอื่นเขียนอยู่ดี
หลังจากนั้นคดีก็ดำเนินไป มีช่วงหนึ่งอาจารย์วีระก็ต้องเดินทางไปให้การไต่สวนที่ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นพยานในคดี ซึ่งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลของคดีก็คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อยุติคดี ไม่ต้องให้คดีไปขึ้นสู่ศาล ผมก็เลยมาเขียน
บล็อกที่สอง และคิดว่าเรื่องน่าจะจบไปแล้ว
คราวนี้มาดูความที่น่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากข่าวที่แชร์กัน หนึ่งเลยที่ผมค้นล่าสุด ไม่ได้มีข่าวเกี่ยวกับการตัดสินที่ศาลสูง ดังนั้นสิ่งที่ข่าวเอามาแชร์จึงน่าจะเป็นเรื่องที่จบไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ
สอง คนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป ไม่ใช่อาจารย์วีระ แต่เป็นบริษัท (Dynamic Advances) ที่ทำเรื่องฟ้อง ซึ่งเงินที่ได้บริษัทก็จะแบ่งให้มหาวิทยาลัย (RPI) ส่วนหนึ่งตามข้อตกลง จากนั้นเงินที่มหาวิทยาลัยได้ จึงจะมาแบ่งให้อาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาที่เป็นคนทำงานวิจัย (อ.วีระ) ตามข้อตกลง ดังนั้นสรุปอาจารย์วีระ ไม่ได้เป็นคนฟ้อง Apple และก็ไม่ใช่ได้เงิน 24.9 ล้านเหรียญ
สาม ชื่อ Siri ไม่ได้มาจากการที่คนพัฒนาเป็นคนไทย ตอนนั้น Apple ยังไม่รู้เลยว่าจะถูกฟ้อง ยังอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าส่วนหลักส่วนหนึ่งของโปรแกรมมาจากคนไทย มีคนเคยวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากคำเต็มที่ว่า Speech Interpretation and Recognition Interface ซึ่ง Apple ก็ไม่เคยออกมายอมรับคำเต็มนี้ และมีบางคนบอกว่าถ้าเป็นตัวย่อจริง Apple น่าจะใช้ SIRI เป็นตัวใหญ่ทั้งหมด แต่ Apple เลือกใช้ Siri ซึ่งจาก
บล็อกนี้ เขาวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากภาษานอร์เวย์ ซึ่งมีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า "beautiful woman who leads you to victory" หรือถ้าจะแปลเป็นไทยก็คือ "สาวงามผู้จะนำทางคุณไปสู่ชัยชนะ" ซึ่งผู้ร่วมพัฒนา Siri เป็นคนนอร์เวย์ และจะตั้งขื่อลูกสาวตัวเองว่า Siri แต่ปรากฎว่าได้ลูกชาย ก็เลยเอามาเป็นชื่อแอปอย่างเดียว
สี่ อาจารย์วีระไม่ใช่คนพัฒนา Siri แต่ส่วนหนึ่งของ Siri อยู่บนฐานงานวิจัยคือ Natural Language Interface ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยวิธีการนี้อาจารย์วีระเป็นผู้คิดค้นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอกของอ.วีระ และต้องบอกว่าส่วนของงานนี้มันไม่ได้ใช้กับแค่ Siri ต่อไปสมมติถ้าได้ข่าวว่ามีการฟ้องร้อง Alexa ของ Amazon และมีชื่ออาจารย์วีระเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ก็อย่าได้ประหลาดใจ และอย่าไปคิดว่าอาจารย์วีระเป็นคนพัฒนา Alexa อีก กลัวเหลือเกินว่า ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้จะไปเข้าใจว่าอาจารย์วีระมีภรรยาเป็นชาวต่างชาติ เลยตั้งชื่อตามลูกสาวว่า Alexa
ห้า อาจารย์วีระในตอนนี้ไม่ได้สังกัดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังแล้ว อาจารย์ย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง อยู่หลายปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และได้รับการต่ออายุให้เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง