วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563

บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์

บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์กำลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคาเฟ่และบาร์ในเกาหลีใต้  ตามนโยบายของประเทศที่เรียกว่าระยะห่างในชีวิตประจำวันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ Carbo สูงหกฟุตที่มีหน้าที่ตัดน้ำแข็ง และยังมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เขย่าค็อกเทลด้วย ซึ่งถึงแม้ข้อดีของหุ่นยนต์ก็คือการที่มันจะทำให้ได้เครืองดื่มที่มีรสชาติคงที่ แต่ลูกค้าก็บอกว่ายังคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่ได้พูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ที่เป็นคนอยู่ดี

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters
   

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ซอฟต์แวร์ช่วยพยากรณ์ค่าใช้จ่ายในโรงงาน

นักวิจัยจาก Purdue University และ Indiana Next Generation Manufacturing Competitiveness Center (IN-MaC) ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้โรงงานทำนายค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ดีขึ้น โปรแกรมนี้ทำงานโดยผู้ใช้สามารถทดลองปรับเปลี่ยนสายการผลิตในแบบลากองค์ประกอบที่ต้องการมาวางลงบนจอภาพ เช่นการปรับเปลี่ยนว่าจะใช้เครื่องมือ คน หรือหุ่นยนต์ ซึ่งผู้ใช้จะเห็นราคาค่าใช้จ่ายเมื่อปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งนักพัฒนาบอกว่าโปรแกรมนี้จะช่วยในการวางแผลกลยุทธของโรงงานในด้านการดำเนินการและประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขอบเขตเพื่อให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผลกระทบกับค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Purdue University News

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ภาษาเขียนโปรแกรม Rust เข้าสู่ 1 ใน 20 อันดับภาษายอดนิยมเป็นครั้งแรก

ภาษาเขียนโปรแกรม Rust เข้ามาติด 1 ใน 20 ของภาษาเขียนโปรแกรมที่มีความนิยมมากที่สุดของดัชนี Tiobe เป็นครั้งแรก ภาษา Rust ได้รับความนิยมมากขึ้นในการนำไปใช้เขียนโปรแกรมระบบ โดยไมโครซอฟท์ได้พิจารณาใช้ Rust กับ Windows และ Azure เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการใช้งานหน่วยความจำจากโปรแกรมที่เขียนโดยภาษา C และ C++ ส่วน Amazon Web Service ก็ใช้ Rust กับงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูง ในปีนี้ Rust ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 20 โดยปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 38 โดยอันดับในดัชนีนี้ไม่ได้หมายความว่ามีคนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Rust เพิ่มขึ้น แต่มีการค้นข้อมูลเกี่ยวกับภาษานี้มากขึ้น โดย CEO ของ Tiobe  software บอกว่า Rust เป็นภาษาสำหรับการเขียนโปรแกรมระบบที่ทำทุกอย่างได้ถูกต้อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2563

โปรแกรมเรียกค่าไถ่ที่ใช้ Java มุ่งโจมตี Windows และ Linux

นักวิจัยด้านความมั่นคงได้พบโปรแกรมเรียกค่าไถ่ตัวใหม่ที่ทำงานบน Windows และ Linux โดยตัวโปรแกรมนี้ใช้รูปบบของไฟล์ Java ที่ไม่ค่อยมีคนใช้และไม่ค่อยรู้จักคือ JIMAGE ซึ่งเป็นรูปแบบของโปรแกรม Java อีกแบบหนึ่ง คือสามารถรันได้เหมือนโปรแกรม Java ปกติที่เราใช้กัน การทำแบบนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของโปรแกรมป้องกันไวรัส หน่วยงานที่ถูกจู่โจมจากโปรแกรมนี้คือสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในยุโรป จากการสำรวจพบว่าโปรแกรมนี้ถูกปล่อยเข้ามาผ่านทางเซิฟร์เวอร์ที่ให้บริการเชื่อมต่อจากระยะไกล และทิ้งโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็นประตูลับไว้ แฮกเกอร์ไม่ได้จู่โจมทันทีแต่กลับมาหลังจากนั้นหลายวัน ซึ่งพบว่าไม่มีโปรแกรมหรือใครที่เห็นโปรแกรมประตูลับนี้ จึงได้ปล่อยโปรแกรมเรียกค่าไถ่ชื่อ Tycoon ซึ่งทำหน้าที่เข้ารหัสไฟล์ต่าง ๆ นักวิจัยบอกว่าถ้าใครที่โดน Tycoon เวอร์ชันแรก ๆ อาจจะยังไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่ เพื่อให้ได้คีย์มาถอดรหัส เพราะนักวิจัยพบว่ามันใช้คีย์เข้ารหัสเดียวกัน ดังนั้นถ้าแก้ได้หนึ่งที่ก็จะแก้ที่อื่นได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเวอร์ชันใหม่โปรแกรมได้อุดช่องโหว่นี้ไปแล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechCrunch

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การทดลองอพยพออกจากตึกเสมือน

นักวิจัยจาก Delft University of Technology (TU Delft) ในเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาการใช้ VR และ AR ในการศึกษาพฤติกรรมของคนเมื่อยู่ในภาวะอันตราย โดยได้ให้ผู้ทดลอง 150 คนเข้าไปร่วมอยู่ในตึกจำลองผ่านทางทั้งแว่น VR และคอมพิวเตอร์ โดยมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมทำ จากนั้นจะส่งสัญญาณให้ผู้เข้าร่วมอพยพออกจากตึกโดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งจากการสังเกตพบว่าผู้เข้าร่วมหลายคนที่ใช้แว่น VR ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองอยูในตึกเสมือนก็ยังมีอาการตื่นตระหนก อย่างไรก็ตามคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะไม่ค่อยตื่นตระหนก เพราะมันเหมือนกับกำลังเล่นเกมอยู่ ถ้าเทียบกับคนที่ใช้ VR ซึ่งจะรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง ผู้วิจัยจะทำการทดลองกับตึกจริงต่อไป เพื่อดูว่าพฤติกรรมของคนจะแตกต่างออกไปหรือไม่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TU Delft