วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปประสบการณ์สอนออนไลน์และสิ่งที่น่าจะทำต่อไป

สัปดาห์นี้ผมเพิงจบการสอนออนไลน์ของภาคการศึกษาที่ 2/2562 ไปครับ อย่างที่เราทราบกันว่ามันมีเรื่อง COVID 19 เกิดขึ้น แล้วก็เกิดการระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประทศไทยด้วย โดยสถานการณ์ของประทเศไทยเริ่มมีปัญหาหนักในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยลุมพินีทำให้สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศต้องเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์ทันทีไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ผมก็เลยอยากจะสรุปประสบการณ์ของตัวเองและข้อเสนอแนะเอาไว้ในบล็อกนี้สักนิดนะครับ 

ต้องบอกว่าผมใช้วิธีสอนออนไลน์หลายอย่างมากครับ คือบางวิชาที่มีวีดีโออยู่แล้ว ผมก็ใช้วิธีให้ดูวีดีโอมาก่อน แล้วก็มาทำโจทย์ร่วมกันแบบออนไลน์ตามเวลาเรียนปกติ วิชาที่ไม่มีวีดีโอก็บรรยายสดผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดก็คือ Google Meet และวิชาไหนที่มี Lab คอมพิวเตอร์ก็มีใช้ Zoom บ้าง Google Meet บ้าง ให้นักศึกษาทำโจทย์ ใครทำเสร็จก็ให้แชร์หน้าจอมาให้ดู แล้วก็อธิบายโปรแกรมให้ฟัง มีการ Quiz เพื่อวัดความรู้ผ่านทางโปรแกรมอย่าง Socrative หรือ Google Form ใช้ Google Classroom ให้ทำแบบฝึกหัดแล้วอัดวีดีโอส่ง มีการสอบปฎิบัติโดยให้ทำแล้วอัดวีดีโอขณะที่ทำ แล้วส่งทั้งโค้ดและวีดีโอขึ้น Google Classroom สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือจัดสอบออนไลน์ แล้วให้นักศึกษาเปิดกล้องแล้วไปคุมสอบ อย่างที่หลายที่ทำกัน 

ซึ่งขอสรุปว่าวิธีที่ผมไม่ชอบที่สุด และสุดท้ายก็ต้องเลิกไปก็คือการสอนสด เพราะมีปัญหาหลายอย่าง อันแรกคือเรื่องความสนใจของนักศึกษา ซึ่งตามปกติเรียนในห้องก็สมาธิไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งเรียนแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นการสอนนี่ยิ่งเหมือนเป็นทางเดียวหนักเข้าไปอีก เพราะตามปกติเด็กไทยเรียนในห้องก็แทบจะไม่อยากตอบอะไรอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีส่วนร่วมใหญ่ ขนาดผมให้ chat มา ไม่ต้องพูดถาม/ตอบ ยังแทบไม่มีใครทำ นอกจากบรรยากาศแล้ว ยังเป็นเรื่องความพร้อมของนักศึกษาทั้งทางด้านวินัยตัวเอง ขนาดเรียนออนไลน์ ผมนัดตามเวลาเรียน ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรจะมีใครมาสายก็ยังมีคนที่เข้ามาร่วมชั้นเรียนสาย ไม่ต่างจากเวลามาเรียนในห้องปกติ ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ของนักศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของบ้าน คุณภาพของเครือข่าย ความพร้อมของอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามาเรียนตามปกติ ก็มาใช้ทุกอย่างของมหาวิทยาลัย แต่พอใช้ที่บ้านเครื่องที่มีอยู่อาจไม่พร้อมเท่ามหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนบ่นว่าได้ยินเสียงขาด ๆ หาย ๆ ซึ่งในที่สุดผมก็ต้องเลิกใช้วิธีนี้ และไปใช้การอัดวีดีโอให้ไปดูมาล่วงหน้า ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก อย่างเช่นผมไม่มีเวลาตรวจงานที่มอบหมายให้นักศึกษาได้ทันเวลา ซึ่งจริง ๆ ควรตรวจสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะได้ให้คำแนะนำต่องานที่นักศึกษาส่งเข้ามา ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าทำไม่ได้เลย เพราะการทำวีดีโอมันค่อนข้างใช้เวลา และผมก็สอนเยอะมาก เทอมนี้สอน 7 วิชา มีวีดีโออยู่ 4 วิชา ซึ่งก็ต้องปรับปรุง และยังมีวิชาที่ไม่มีดีโอเลย ซึ่งการทำวีดีโอนี่ใช้เวลามากครับ ผมเลยไม่มีเวลาไปตรวจงานได้

และทุกวิธีก็มีปัญหา บางปัญหาก็เกิดจากตัวนักศึกษาเอง บางครั้งก็เกิดจากผมเอง เพราะสั่งงานไปบางครั้งก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะเอาตัวเองเป็นหลักว่าตัวเองรู้แล้ว หรือเด็กเอกคอมน่าจะรู้ น่าจะแก้ปัญหาได้ บางปัญหาก็ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น อย่างทำ quiz อยู่ นักศึกษาบอกว่าไฟดับเพราะที่บ้านฝนตกหนัก บอกให้ไปซ้อมอัดวีดีโอหน้าจอมา บางคนไปซ้อมอัดมาแค่คลิปละ 2-3 นาที พอมาใช้จริง ก็พบว่า โปรแกรมที่ใช้แบบฟรี ๆ มันให้ใช้แค่คลิปละไม่เกิน 10 นาที (นี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของพวกเราที่เป้นผู้ใช้หลายคนนะครับ คือไม่เคยอ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งานเลย) บางคนพออัปคลิปขึ้น Youtube ซึ่งมันต้องให้ยืนยันตัวตนก่อน ถึงจะอัปคลิปยาวเกิน 15 นาทีได้ ก็ไม่อ่านว่าแค่ยืนยันตัวตนก็อัปได้แล้ว แต่กลับไปแบ่งวีดีโอเป็นหลาย ๆ คลิป อะไรแบบนี้เป็นต้น 

โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ที่ผมทำผ่านมามันไม่ใช่การเรียนออนไลน์จริง ๆ การเรียนออนไลน์จริง ๆ  ควรจะเป็นแบบที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามอัธยาศัยของผู้เรียน โดยอาจมีการกำหนดเวลาอย่าง Coursera, MOOC,  และ อีกหลาย Platform ซึ่งผมอยากทำแบบนั้น และตั้งใจจะทำมานานแล้ว แต่ยังหาเวลาทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ และยังหา Platform ที่จะทำแบบนี้ยังไม่ได้ ซึ่งคิดว่าในช่วงปิดเทอมนี้จะพยายามทำให้ได้ ไม่ว่าจะต้องสอนออนไลน์หรือกลับไปสอนตามปกติ ซึ่งผมว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์อื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นผมสามารถให้นักศึกษาไปเรียนด้วยตัวเอง และอาจนัดกันคุยผ่านออนไลน์หรือในห้องสักสองสัปดาห์ครั้ง ครั้งละไม่นานนัก หรือถ้าใครอยากถามเป็นการส่่วนตัวก็จะกำหนดเวลาให้ซักถามไว้ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเรียนได้เร็วก็จบเร็ว โดยถ้าใครเรียนจบได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะให้เกรดอย่างต่ำ C จากนั้นก็อาจมาสอบกันจริง ๆ และ/หรือมานำเสนอโครงการ เพื่อที่จะได้เกรดที่สูงกว่า C ต่อไป 

อีกอย่างที่ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจก็คือส่วนของสถานศึกษาครับ สถานศึกษาหลายแห่งยังเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ก็คือการเปลี่ยนจากสอนในห้องเป็นสอนผ่านเน็ต ดังนั้นก็จะเรียกหาหลักฐานการสอนว่าสอนครบชั่วโมง สอนตามตารางสอนไหม และที่น่าต้องคิดกันต่อไปก็คือ น่าจะสนับสนุนให้อาจารย์สร้างคอร์สออนไลน์กันให้มากขึ้น โดยอาจจะนับให้หนึ่งวิชามีค่าเท่ากับหนึ่งบทความวิชาการ และสามารถนับเพื่อไปขอผลงานทางวิชาการได้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้เรามีคอร์สออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้นักศึกษาเรียนแล้ว ยังเปิดให้คนนอกเรียนได้ ซึ่งจะเปิดเป็นบริการวิชาการแบบฟรี ๆ หรือจะเก็บเงินเพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และแจกประกาศนียบัตรให้กับคนที่เรียนจบ นอกจากนี้อาจเปิดให้คนที่เรียนออนไลน์และได้ใบประกาศนียบัตรนี้ เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็สามารถนำมาแสดง และสามารถรับการสอบ เพื่อให้เรียนจบได้เร็วขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย  


เครื่องมือแปลงคณิตศาสตร์เป็นภาพ

นักวิจัยจาก Carnegie Mellon University (CMU) ได้พัฒนาโปรแกรมที่จะแสดงนิพจน์ทางคณิตศาสตร์เป็นรูปภาพ โดยโปรแกรมนี้มีชื่อว่า Penrose ซึ่งตั้งตามชื่อของนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ John Penrose จุดประสงค์ของเครื่องมือนี้คือช่วยให้การเรียน และการเขียนบทความทางคณิตศาสตร์เข้าใจได้ง่ายขึ้น นักวิจัยบอกว่าอาจารย์บางคนมีความสามารถในการวาดรูปมาก แต่พอวาดบนกระดานในห้องเมื่อสอนจบรูปนั้นก็จะถูกลบไป หรือในบทความวิชาการจะเห็นว่าไม่ค่อยจะมีรูปประกอบคำอธิบาย เนื่องจากผู้เขียนบทความอาจใช้เครื่องมือวาดรูปไม่คล่อง และการวาดรูปก็ใช้เวลานานและเป็นงานที่น่าเบื่อ นักวิจัยจึงสร้างเครื่องมือนี้มา โดยมีภาษาเขียนโปรแกรมให้นักคณิตศาสตร์เขียนนิพจน์ทางคณิตศาสตร์ได้ง่าย ๆ และโปรแกรมจะช่วยวาดรูปให้ นักวิจัยบอกว่า ด้วยเครื่องมือนี้ตำราคณิตศาสตร์เก่า ๆ จากห้องสมุดจะหมดไป แต่จะเข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์แทน และก็จะมีรูปประกอบที่สวยงาน ซึ่งจะช่วยให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

เพื่อความเข้าใจมากขึ้นว่าเครื่องมือนี้มีการทำงานยังไง แนะนำให้เข้าไปดูที่วีดีโอที่อยู่ในข่าวเต็มครับ 


วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563

บั๊กใน Sign in with Apple  ได้รับการแก้ไขแล้ว

เครื่องมือที่ชื่อว่า  Sign in with Apple ที่ยอมให้ผู้ใช้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปอื่น ๆ โดยไม่ต้องเปิดเผยที่อยู่อีเมล สำหรับเครื่องมือ Sign in with Apple นี้เปิดตัวในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลักการคือผู้ใช้ที่ใช้ iPhone หรือ iPad สามารถล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปอื่น ๆ ได้โดยใช้ Touch Id, Face Id หรือ Passcode ที่ตั้งไว้ Bhavul Jain เป็นคนที่เจอข้อผิดพลาดจากเครื่องมือนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถขโมยบัญชีของเว็บไซต์ หรือแอปจากผู้ใช้ได้ โดย Jain  เจอข้อผิดพลาดในเดือนเมษายน และแจ้งให้ทาง  Apple ทราบและได้รับเงินรางวัล $100,000  และตอนนี้ Apple ก็ได้แก้ปัญหานี้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานว่าช่องโหว่นี้ถูกใช้งานจากผู้บุกรุก

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ส่วนตัวไม่เคยใช้เครื่องมือนี้เลย และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีรายงานการบุกรุกเพราะผู้ใช้ไม่ค่อยมีใครใช้  

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563

แว่นอิเลกทรอนิกส์ที่ทำงานได้หลากหลาย

นักวิจัยจาก Korea University's KU-KIST Graduate School of Converging Science and Technology ได้พัฒนาต้นแบบของแว่นอิเลกทรอนิกส์ที่ทำงานได้หลายรูปแบบ โดยใช้อิเลกโตรดติดตามกิจกรรมการทำงานของสมอง และการเคลื่อนไหวของดวงตา และนำข้อมูลไปประมวลผล และยังมีการตรวจจับปริมาณของรังสีไวโอเล็ต เพื่อเปลี่ยนโหมดจากแว่นธรรมดาเป็นแว่นกันแดด นอกจากนี้ยังมีการติดตามท่าทางและตรวจจับการล้ม ซึ่งเปิดโอกาสให้มีแอปพลิเคชันด้านความจริงเสมือน (virtual reality) และการเตือนการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Atlas

วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ส่งยาโดยใช้รถไร้คนขับใน Houston

CVS Health ซึ่งเป็นเชนด้านสุขภาพในอเมริกา ร่วมมือกับ  Nuro ซึ่งเป็นบริษัทด้านหุ่นยนต์ จะทดสอบการส่งยาตามใบสั่งโดยรถไร้คนขับให้กับลูกค้าที่อยู่ใน  Houston ในเดือนนี้ โดยโฆษกของบริษัทบอกว่า จะใช้เวลาในการส่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าที่สั่งสินค้าจากร้านที่อยู่ใน Houston โดยในการรับยา ลูกค้าจะต้องยืนยันตัวตนก่อนเพื่อให้ประตูของรถเปิดออกให้ลูกค้าหยิบของ ลูกค้ายังสามารถติดตามตำแหน่งของรถได้ด้วย และนี่เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรัฐยอมให้มีรถไร้คนขับที่ไม่มีคนนั่งอยู่ด้วยวิ่งไปบนถนนสาธารณะ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

Houston We have a problem