วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563

ใช้ขนนกจริงในการสร้างหุ่นยนต์ที่บินได้เหมือนนก

นักวิจัยจาก Stanford University ใช้ขนนกพิราบเป็นองค์ประกอบของการสร้างหุ่นยนต์ และทำให้หุ่นยนต์บินได้เหมือนนก หุ่นยนต์นี้เขาตั้งชื่อว่า หุ่นยนต์นกพิราบ (PegionBot) โดยใช้ขนนกพิราบเป็นองค์ประกอบของปีกทั้งสองข้าง ทำให้หุ่นยนต์นี้สามารถบินได้ด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นักวิจัยบอกว่าการที่ใช้ขนนกจริงก็เพราะว่า เขาไม่สามารถสร้างขนนกเทียมขึ้นมาให้มีคุณสมบัติของขนนกจริง ๆ แบบนี้ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จะเรียกว่านกพิราบไซบอร์กได้ไหมนะ หวังว่าคงไม่ฆ่านกจริงเอามาสร้างหุ่นยนต์นะ  

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

ผมสามารถสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว

ขอบันทึกไว้หน่อยว่าปีนี้ผมสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว คือเขียนบล็อกสรุปข่าวด้านไอที ได้ 21 วันติดต่อกัน (จริง ๆ ได้ 21 วันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว) ผมตั้งใจจะสร้างนิสัยให้ได้อย่างหนึ่งเป็นปณิธานของปีใหม่ปีนี้ โดยจากการโพสต์ Face Book ของ อ.ธงชัย รุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชา Innovative Thinking ที่โด่งดังมากในจุฬา เป็นวิชาเลือกฮอตฮิตของนิสิตจุฬา ถึงกับต้องมีการคัดเลือกนักศึกษากันแทบทุกเทอม ซึ่งหนึ่งในการบ้านที่อ.ธงชัย ได้มอบหมายให้นักศึกษาทำเพื่อเสริมสร้างนิสัยก็คือหาสิ่งที่ต้องการทำเป็นนิสัย แล้วทำให้ได้ติดต่อกัน 21 วัน

ผมเห็นว่ามีประโยชน์ จริง ๆ ตั้งใจทำมานานแล้ว แต่ก็อ้างโน่นอ้างนี้กับตัวเองมาตลอด จนปีนี้เห็นว่าต้องเริ่มทำให้ได้แล้ว คราวนี้ก็เลยเลือกว่าจะทำอะไรดี จริง ๆ มีสิ่งที่ผมชอบทำอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผมชอบแชร์เรื่องที่อ่านมาให้คนอื่นรับรู้ด้วย และจริง ๆ ผมได้เริ่มทำมาหลายปีแล้ว แต่ทำไม่สม่ำเสมอ นั่นคือการเลือกข่าวด้านไอที ที่เน้นไปที่งานวิจัย ที่ไม่ใช่ข่าวที่เขียนไปแล้วในบล็อกข่าวด้านไอทียอดนิยมอย่างใน blognone หรือข่าวไอทีที่เกี่ยวกับผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป หรือข่าวผลิตภัณฑ์ที่มีคนทำมากมาย

โดยตอนแรกผมได้เขียนลงในบล็อกของผมบล็อกนี้แหละครับ เลือกข่าวแล้วก็เอามาเขียน แรก ๆ ก็ทำสองสามวันสักเรื่องหนึ่ง แต่ปรากฏว่าพอมาช่วงหลัง ๆ การโพสต์เริ่มห่างไปเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุผลก็อย่างที่หลายคนชอบเอามาอ้างก็คือไม่มีเวลา และกลายเป็นว่าบางปีแทบไม่ได้โพสต์อะไรเลย แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งผมมักจะแทรกเขียนเข้ามาบ้างถ้ามีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ตอนหลังต้องบอกว่าแทบปล่อยร้างเลย ปีหนึ่งเขียนแค่สองสามเรื่องก็ยังมี

ผมได้อ่านโพสต์จากอ.ธงชัยเรื่องอุปสรรคของการสร้างนิสัยใหม่ อ่านเสร็จก็เอามาวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมถึงทำให้สม่ำเสมอไม่ได้ ก็พบว่าผมมักจะอ้างว่าตัวเองเหนื่อยจากการทำงานมาแล้ว และการเขียนบล็อกหนึ่งบล็อกใช้เวลามาก คราวนี้ผมก็เลยถามตัวเองว่า ทำไมมันใช้เวลามาก ผมก็ได้คำตอบว่า เพราะตอนแรกผมพยายามเขียนในแบบกึ่ง ๆ แปลข่าว คือค่อนข้างจะเขียนละเอียด และข่าวที่เลือกมาส่วนใหญ่มันเป็นงานวิจัย ซึ่งในบางเรื่องพอลงไปลึก ๆ เราก็ต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาเขียน อธิบายให้ทั้งตัวเองและคนอ่านได้เข้าใจด้วย ดังนั้นนอกจากจะใช้เวลามากแล้ว ยังเขียนได้น้อยเรื่องอีกด้วย คืออ่านมาหลายเรื่อง แต่เขียนได้ไม่กี่เรื่อง ก็เลยเปลี่ยนแนวใหม่เป็นสรุปข่าว แล้วก็พยายามสรุปหลาย ๆ ข่าวมาเขียนในบล็อกเดียวกัน ก็ดีขึ้น แต่ก็ยังใช้เวลามากอยู่ดี และสิ่งที่ทำไม่ได้คือความสม่ำเสมอ เพราะมักจะอ้างว่าต้องทำงานอื่นก่อน พอทำงานอื่นเสร็จก็เหนื่อยแล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งเปลี่ยนแนวมาสรุปสั้น ๆ สั้นกว่าเดิมอีก แล้วโพสต์ลง Facebook กับ Twitter แต่ก็ยังขาดความสม่ำเสมออยู่ดี แล้วก็ยังติดโลภมากคือจะโพสต์ให้ได้วันละหลาย ๆ ข่าว

เมื่อวิเคราะห์ตัวเองได้แล้ว ก็เลยตั้งใจว่าเอาเป็นสรุปข่าวแล้วโพสต์วันละข่าวพอ ทำทีละเล็กละน้อยดีกว่าไม่ทำ ผมก็เลยตั้งต้นทำจริง ๆ ทำตั้งแต่วันปีใหม่เลย โดยโพสต์ลง Facebook กับ Twitter วันละข่าวทำไปได้สองวัน ก็คิดว่าทำไมเราไม่เขียนลงบล็อกของเราไว้ด้วย แล้วค่อยแชร์ข่าวไป เพราะเราตั้งใจเขียนบล็อกแนวนี้อยู่แล้ว บล็อกจะได้มีความเคลื่อนไหว และเวลาจะค้นเรื่องที่สรุปไปแล้วก็ทำได้ง่ายด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเขียนสรุปข่าวในบล็อกก่อน แล้วค่อยแชร์ไป Facebook กับ Twitter ทำให้ได้ทำตามจุดประสงค์ของตัวเองที่ตั้งใจทำบล็อกแต่แรก

การทำให้สำเร็จก็ต้องมีการวางแผน ผมก็พยายามทำตามคำแนะนำของอ.ธงชัย ก็คือพยายามทำเวลาที่ยังสดชื่นอยู่ ผมมักจะใช้เวลาอ่านข่าวตอนเช้าอยู่แล้ว พออ่านแล้วก็เลือกว่าอันไหนน่าสนใจ แล้วก็ใช้เวลาสรุป และเขียนบล็อก โดยวางเวลาว่าจะใช้เวลาสรุปและเขียนไม่เกิน 15-20 นาที ต่อข่าว ถ้าวันไหนมีเวลามาก ก็จะเขียนเผื่อไว้หลายข่าว ทำเหมือนถ่ายสต็อกรายการทีวีเก็บไว้ ถ้าอันไหนเขียนไม่เสร็จมาต่อให้เสร็จตอนจะโพสต์ (ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอันไหนเขียนไม่เสร็จ อาจมีมาแก้มาเกลานิดหน่อยก่อนโพสต์) คือผมวางแผนโพสต์ตอนเย็นถึงค่ำ เพราะคิดว่าน่าจะมีคนอ่านช่วงนั้นมากกว่า 

ซึ่งตอนนี้ก็ทำมาแล้ว 22 วันติดกัน ถ้ารวมสองวันแรกที่ไม่ได้เขียนลงบล็อกด้วย ก็เป็น 24 วันติดกันแล้ว อุปสรรคก็มีอยู่บ้างคือบางวันเกือบลืม หรือบางวันมีธุระต้องกลับบ้านดึก ก็เกือบไม่ได้โพสต์ ดังนั้นต่อไปผมก็คงต้องวางแผนให้ดีขึ้น ถ้ารู้ว่าจะมีธุระก็คงโพสต์ไปก่อนเลย  ประโยชน์ของการสร้างนิสัยนี้ก็คือ ผมได้ทำกิจกรรมที่ผมชอบทำคือแบ่งปันความรู้ บล็อกผมได้มีความเคลื่อนไหวไม่ร้าง และที่สำคัญได้ฝึกทักษะในการย่อความสรุปความให้คนอ่านเข้าใจได้

ก็อยากเชิญชวนให้มาอ่านบล็อกผมกันนะครับ อ่านข่าวงานวิจัย ซึ่งบางเรื่องอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และอาจจะใช้ได้จริงในอีกหลายปีถัดไป สำหรับคนที่เคยติดตามบล็อกผมไว้ และผมทิ้งบล็อกร้างไป ตอนนี้ผมกลับมาแล้วนะครับ :)

เมื่อสร้างนิสัยนี้ได้แล้ว ผมก็มีแผนจะสร้างนิสัยอื่นต่อไป เพราะอ.ธงชัยบอกให้ค่อย ๆ เริ่มไปทีละอย่างอย่าโลภมาก ถ้ามีนิสัยอื่นที่สร้างสำเร็จ และเอามาแบ่งปันกันได้อีกก็จะมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ

ท่าเต้นของเราบอกความเป็นเราได้

นักวิจัยจาก Finland’s University of Jyvaskyla ได้สอนคอมพิวเตอร์ให้ระบุตัวตนของคนแต่ละคนได้จากท่าทางในการเต้นรำ จริง ๆ ตอนแรกงานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ร่วมกับการตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อใช้ท่าเต้นเป็นตัวบอกว่าคนคนนั้นกำลังฟังเพลงประเภทไหนอยู่ แต่ปรากฎว่าคอมพิวเตอร์สามารถบอกว่าคนนี้เป็นใครได้ถูกต้องถึง 94% โดยดูจากท่าเต้น โดยนักวิจัยบอกว่าเขาอยากให้การศึกษานี้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นมากกว่าการเอาไปสอดแนมประชาชน งานวิจัยที่น่าจะศึกษาต่อไปก็เช่น ท่าเต้นของคนเราจะเปลี่ยนไปตามอายุไหม เราสามารถระบุถึงวัฒนธรรมที่ต่างกันได้จากท่าเต้นไหม หรือคนเราจะสามารถแยกแยะตัวบุคคลได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์โดยดูจากท่าเต้นไหม เป็นต้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Jyväskylä research news

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จริง ๆ ก็อยากให้ทดลองเรื่องที่ตั้งใจไว้เดิมต่อด้วยนะ น่าสนใจเหมือนกันว่าเต้นแบบนี้กำลังฟังเพลงประเภทไหนอยู่ 

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

อิสราเอลพัฒนาขั้นตอนวิธีทำนายภาวะการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์


นักวิจัยจาก Israel’s Weizmann Institute of Science ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีในการทำนายว่าหญิงตั้งครรภ์คนใดมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำนายได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์หรือก่อนหน้าการตั้งครรภ์ก็ได้ ซึ่งผลลัพธ์จะทำให้มีการเตรียมการป้องกันโดยแนะนำด้านโภชนาการและการใช้ชีวิตให้กับผู้เข้ารับการทดสอบ วิธีการที่ใช้ในการทำนายนี้ใช้การเรียนรู้ของเครื่อง โดยใช้ข้อมูลของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 450,000 ราย ที่คลอดลูกระหว่างปี 2010 ถึง 2017

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

การป้องกันดีกว่าการรักษา ยิ่งคนที่จะเป็นคุณแม่นี่ยิ่งน่าสงสาร จะรักษาอะไรก็ต้องระวังกลัวจะไปกระทบลูก

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

เครื่องวัดค่า pH ของเหงื่อบนอุปกรณ์สวมใส่

ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยใกล้บ้านเราคือ National University of Singapore (NUS) ซึ่งได้พัฒนาเครื่องวัดค่า pH  จากเหงื่อ ซึ่งเครื่องนี้สามารถนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สวมใส่ที่เราใส่กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อดูแลสุขภาพ เช่นสายรัดข้อมือที่นับก้าวเดิน วัดระดับการเต้นของหัวใจ หรือพวกสมาร์ตวอตช์ต่าง ๆ ได้โดยง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก ค่า pH จากเหงื่อสามารถบอกข้อมูลสุขภาพได้มากมายเช่นบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือไม่ สามารถบอกสภาวะที่ผิวหนังอักเสบ และติดเชิ้อได้ ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานค่า pH จากเหงื่อยังสามารถเป็นตัวบอกภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นถ้าค่า pH สูงในขณะที่เหงื่อออกมาก และเหงื่อออกตอนกลางคืน อาจเป็นสัญญาณว่าระดับกลูโคสในเลือดต่ำต้องรีบพบแพทย์เป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NUSNews

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

เพิ่งอ่านข่าวจับโจรปล้นร้านทองที่ยิงกราดฆ่าสามศพ บอกว่าเหงื่อสามารถนำมาพิสูจน์ได้ โดยวิเคราะห์จากเหงื่อที่หยดบนเคาเตอร์ร้านทอง ซึ่งสามารถตรวจสอบตัวคนร้ายได้แม้คนร้ายจะไม่ทิ้งลายนิ้วมือไว้เลย พออ่านข่าวนี้อีกเลยเพิ่งรู้ว่าเหงื่อบอกอะไรได้มากมายขนาดนี้