วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ฤาคดี Siri จะได้ข้อยุติแล้ว? พร้อมชัยชนะของนักวิจัยไทย

ผมไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก เนื่องจากไม่ว่าง บวกกับไม่ค่อยมีอารมณ์อยากจะเขียน เพราะบรรยากาศในตอนนี้มันไม่อำนวยให้เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน แต่เรื่องนี้คงไม่เขียนไม่ได้ครับ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสามหรือสี่ปีที่แล้วคือเรื่องนี้ครับ  เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย? สำหรับคนที่ไม่อยากเข้าไปอ่านก็ขอสรุปให้ตรงนี้นิดหนึ่งครับคือ บริษัท Dynamic Advances ได้ยื่นฟ้องบริษัท Apple เรื่องการละเมิดสิทธิบัตรงานวิจัยที่ชื่อว่า Natural Language Interface โดยบริษัทได้ฟ้อง Apple ว่าได้นำงานวิจัยนี้ไปใช้กับ Siri โปรแกรมผู้ช่วยแสนฉลาดที่ผู้ใช้ iOS ทุกคนคงรู้จักดี ซึ่งสิทธิบัตรตัวนี้ถูกจดโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่  New York คือ Professor Cheng Hsu และนักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พูดง่าย ๆ ว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของนักวิจัยชาวไทยโดยตรงเลยครับ

และในวันนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวกำลังจะได้ข้อยุติแล้วครับ โดยข้อมูลจาก timesunion บอกว่า Apple ได้ยอมตกลงที่จะจ่ายเงิน 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะยุติคดีนี้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล ตามข่าวเขาบอกว่าโฆษกของทาง RPI กับ Apple ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เพิ่มเติมกับข่าวนี้ ซึ่งถ้าจบแบบนี้ก็หมายความว่าส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญของ Siri ด้วย เป็นผลงานของนักวิจัยไทยเรานี่เอง  ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งของรศ.ดร.วีระ บุญจริง และเคยมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในงานนี้ ก็อดที่จะภูมิใจด้วยไม่ได้ครับ นับว่าเป็นข่าวดี ๆ ที่น่าเขียนถึงในช่วงนี้จริง ๆ ครับ

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จตุรัสกล เอ็งโกว และการทบทวนวรรณกรรม

ผมไม่ได้เขียนบล็อกพูดคุยเรื่องอะไรมาซะนานเลยนะครับ หลัง ๆ ก็จะเขียนสรุปข่าวมากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่า แต่เอาเข้าจริง ๆ แม้แต่สรุปข่าวหลัง ๆ ก็ไม่ได้เขียน ไม่รู้เวลามันหายไปไหนหมด หรือบริหารไม่ดีไม่รู้ เอาเถอะไหน ๆ วันนี้ก็เขียนแล้ว ก็เลิกบ่นตัวเองดีกว่าเนอะครับ

เห็นหัวข้อวันนี้แล้วก็อาจจะงงนะครับว่าวันนี้ผมจะพูดคุยเรื่องอะไร เรื่องของเรื่องก็คือผมกำลังเตรียมเรื่องที่จะพูดในวันปฐมนิเทศของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ ซึ่งหัวข้อที่จะพูดอันหนึ่งก็คือเรื่องความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมในการทำวิจัย ซึ่งความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมประการหนึ่งก็คือเราจะได้รู้ว่าใครทำอะไรไปบ้างแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานซ้ำกับเขาอีก ก็เลยคิดว่าเอามาเขียนลงบล็อกด้วยก็น่าจะดี

นั่งคิดอยู่สักครู่ว่าจะยกตัวอย่างอะไรดีนะให้เข้าใจง่าย ๆ ในหัวมันก็แว่บขึ้นมาถึงฉากหนึ่งในเรื่องมังกรหยก ภาคของก๊วยเจ๋ง (ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ) ไม่ทราบว่าพวกเรายังมีใครอ่านเรื่องนี้กันบ้างไหมครับ หรือคงเคยดูหนัง ดูซีรีย์เรื่องนี้กันมาบ้างมั้งครับ เพราะสร้างมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก (จนตอนนี้เด็กที่ตัวเองมีก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังสร้างอยู่) รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่จะประทับใจภาคเอี้ยก้วยมากกว่า แต่ส่วนตัวผมชอบภาคก๊วยเจ๋งที่สุด จริง ๆ ก๊วยเจ๋งนี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่ได้ฉลาดเป็นอัจฉริยะ แต่ขยันและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอนะครับ จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาเป็นยอดฝีมือที่เก่งที่สุด เทียบกับแฟน (ภรรยา) ของเขาคืออึ้งย้ง ซึ่งฉลาดมาก แต่ความพยายามไม่มีเท่า ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมีทั้งพ่อทั้งแฟนที่เก่งอยู่แล้ว ก็เลยไม่สนใจที่จะต้องพยายามอะไรมากมาย ดังนั้นนักวิจัยทั้งหลายก็ควรจะเอานิสัยของก๊วยเจ๋งมาใช้นะครับ

ชักนอกเรื่องแล้วกลับมาต่อครับ เอาเป็นว่าก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง (ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากฝ่ามือเหล็กลอยน้ำ ฮิวโชยยิ่ม) ทำให้ก๊วยเจ๋งต้องแบกอึ้งย้งหลบหนี จนหลบเข้าไปยังที่พักของเอ็งโกว ซึ่งเรียกตัวเองว่าเทพคำนวณ และสร้างค่ายคูประตูกลป้องกันที่พักตัวเองเอาไว้ (รายละเอียดว่าเอ็งโกวทำไมต้องมาเก็บตัวอยู่นี่ ใครสนใจก็คงต้องไปอ่านหนังสือเอานะครับ รับรองสนุกมาก ขืนเล่าหมดบล็อกนี้จะกลายเป็นเล่าเรื่องมังกรหยกไป) ซึ่งค่ายคูประตูกลของเอ็งโกวย่อมไม่สามารถป้องกันความสามารถของอึ้งย้ง ซึ่งศึกษาค่ายคูประตูกลมาตั้งแต่เด็กได้ บวกกับวิชาตัวเบาของก๊วยเจ๋งซึ่งเทพมาก ทำให้ทั้งคู่เข้ามายังที่อยู่ของเอ็งโกวได้ จากนั้นอึ้งย้งยังได้แสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ จนเทพคำนวณหงอยไปเลย คราวนี้เอ็งโกวก็นึกขึ้นได้ว่า มันต้องมีอันนี้แหละที่จะเอาชนะอึ้งย้งได้ ก็ตั้งคำถามท้าทายอึ้งยงดังนี้ครับ

"หากจัดเรียงหนึ่งถึงเก้าเป็นสามแถว ไม่ว่านับทางแนวขวางและแนวทแยง เลขทั้งสามจะต้องรวมกันได้สิบห้า จะจัดเรียงอย่างไร" 1 กะว่าอึ้งย้งเสร็จแน่คราวนี้ ซึ่งคำถามของเอ็งโกวก็คือจตุรัสกล 3X3 นั่นเอง

อึ้งย้งฟังแล้วก็คิดว่ามันยากตรงไหนนี่ เล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยร้องออกมาเป็นเพลงว่า "ความหมายของเก้าปราสาท แบบแผนเช่นเต่าวิเศษ สองหกเป็นไหล่ สี่แปดเป็นขา ซ้ายเก้าขวาหนึ่ง ทูนเจ็ดเหยียบสาม ห้าดำรงอยู่กลาง" 1 ซึ่งจากคำร้องของอึ้งย้งจตุรัสกลจะมีหน้าตาดังนี้ครับ
 
2 7 6
9 5 1
4 3 8

เอ็งโกวสตั๊นไปหลายนาที แล้วก็พูดออกมาว่า "เราเข้าใจว่านี่เป็นแนวทางที่เราคิดขึ้น ที่แท้มีบทเพลงเผยแพร่ในโลกกว้างแต่แรก" 1 อึ้งย้งยังตอกย้ำไปอีกนะครับว่า นอกจาก 3X3 แล้วยังมี  4X4 5X5 และขยายไปได้จนถึงเลข 1 ถึง 72 ซึ่งเรียกว่าแผนภาพลกจือ 1 จากคำพูดของเอ็งโกวคงเห็นแล้วนะครับว่าถ้าเราไม่ทำการทบทวนวรรณกรรม เราก็จะไม่ต่างจากเอ็งโกวไม่รู้ว่าในโลกเขามีอะไรบ้าง มัวแต่ไปเสียเวลาคิดอะไรที่โลกเขาคิดไปไกลถึงไหน ๆ แล้ว

ในยุคของเอ็งโกวไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี Google ถ้ามีเอ็งโกวก็คงไม่ต้องมืดบอดไปถึงขนาดนี้ พวกเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลหาได้ด้วยเพียงปลายนิ้ว ดังนั้นก็ใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่นะครับ...  

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1.น.นพรัตน์ (แปล) "ไตรภาคมังกรหยก ชุดที่ 1 ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ เล่ม 3" สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ พ.ศ. 2546