วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเอง

ผ่านปีใหม่มากว่าครึ่งเดือนแล้วเวลาเร็วจริง ๆ ครับ แต่การประท้วงในประเทศเราก็ยังดำเนินต่อไป โดยยังไม่รู้ว่ามันจะไปจบลงยังไง วันนี้ก็เลยอยากลิสต์รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเองออกมาสักหน่อยครับ จะได้เข้าใจตัวเองด้วยว่าตัวเองคิดอย่างไรกันแน่ เพราะทุกวันนี้ดูช่องดาวเทียมมาก ๆ เข้ามันชักจะเพี้ยนวันไหนดูบลูสกายมากไปหน่อยก็ดูจะกลายร่างเป็นสาวกลุงกำนันออกมาร้องเพลงสู้ต่อไปอย่าได้ถอย ... หรือวันไหนดู Asia Update มาก ๆ เข้าก็เกือบจะวิ่งไปหาเสื้อแดงมาใส่ และการทำรายการความเห็นนี้ก็เผื่อจะทำให้ได้เข้าใจกันว่าในประเทศนี้มันไม่ได้มีแต่คนรู้ทันและขับไล่ทักษิณกับคนที่เป็นเป็นพวกทักษิณเท่านั้น จะตรงใจใครไม่ตรงใจใครยังไงก็ขอโทษด้วยนะครับ

  1. ไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่เหลือง ไม่แดง ไม่ขาว ไม่หลากสี แต่ชอบทำอะไรที่มันอยู่ในหลักการ มีความชัดเจนและถูกกฏหมาย
  2. ไม่ชอบละเมิดสิทธิใครและไม่ชอบถูกละเมิดสิทธิ
  3. ไม่ใช่คนดีเลิศเลอ แต่ก็คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเลว เพราะแค่ไม่ออกมาร่วมประท้วง
  4. ไม่เห็นด้วยกับพรบ.นิรโทษกรรมไม่ยอมให้มีการโกงและได้ลงชื่อคัดค้านแล้ว และก็รู้สึกพอใจที่รัฐบาลยุบสภาและคืนอำนาจมาให้ประชาชน ตอนแรกตั้งใจว่าจะยอมเลือกประชาธิปัตย์ เพื่อลงโทษเพื่อไทย แต่ตอนนี้เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ลง ก็กำลังมองดูพรรคอื่นอยู่ หรือไม่ก็โหวตโน
  5. เห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม
  6. นายกยิ่งลักษณ์ และคนตระกูลชินวัตรควรวางมือจากการเมืองไปก่อน ไม่น่าลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจในการปฏิรูป และแสดงว่าเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำไป 
  7. หนึงคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน
  8. การที่คนเรามีเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้โดยผิดกฏหมาย และไม่เคารพสิทธิของคนอื่น จริง ๆ เราทุกคนถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้วนะครับ นั่นคือกฏหมาย
  9. ไม่ว่าอะไรที่จะช่วยชาวนา หรือเกษตรกร แต่เห็นว่าควรจะช่วยเขาในด้านอื่นเช่นลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้ชาวนาสามารถต่อรองกับพ่อค้าข้าวได้ หรือจัดให้มีบริษัทรับประกันมารับประกันความเสียหายของผลผลิต โดยรัฐบาลช่วยออกค่าเบี้ยประกัยให้เป็นต้น 
  10. ไม่ชอบวิธีการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการโกง ทำให้ตลาดข้าวเสียหาย และดีใจที่ปปช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้ ตรงนี้อยากให้ผู้ที่ประท้วงเห็นว่ามันมีวิธีการตามกฏหมายที่จัดการกับคนโกงได้ แต่มันอาจต้องใช้เวลาหน่อย
  11. ไม่ศรัทธาศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีความเห็นว่าตัดสินไม่มีหลักการ มีอคติ และไม่มีวิสัยทัศน์
  12. เห็นด้วยกับการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่แก้กฏหมายให้ลงโทษประหารกับคนโกง และคดีเกี่ยวกับการโกงไม่มีหมดอายุ
  13. ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อของ กกปส. เพราะเห็นว่าเป็นการทำที่ผิดหลักกฏหมาย การที่เราจะจัดการคนทำผิดกฏหมายตัวเราไม่ควรทำผิดกฏหมาย เมื่อมันมีช่องทางตามกฏหมายให้ทำได้
  14. เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกกปส.ส่วนใหญ่เป็นคนที่หวังดีและรักชาติ แต่คนที่ไม่ได้ออกมาไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักชาติ แต่เขาคิดต่างกับผู้ชุมนุมกกปส. การที่คนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกปปส. และต้องการไปเลือกตั้งคนเหล่านี่กลายเป็นคนโง่และไม่รักชาติหรือ
  15. ไม่ชอบที่เอาคนต่างชาติมาอ้างบอกว่าดูสิคนต่างชาติยังออกมาทำไมคนไทยไม่ออกมาไม่รักชาติหรือ แต่ไปต่อว่าคนต่างชาติที่แสดงความไม่เห็นด้วย
  16. ไม่ต้องการถูกปิดตาเดินไปโดยแค่มีคนมาบอกว่าไปเส้นทางนี้เถอะเดี๋ยวดีเอง โดยคนที่มาบอกก็ไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางที่จะไปเป็นยังไง ซึ่งแปลกใจมากที่มีอาจารย์นักวิจัยมากมายที่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ตัวผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ควบคุมงานวิจัย ถ้ามีลูกศิษย์มาเสนอว่าจะทำวิจัยเราจะต้องชัดเจนเรื่องระเบียบวิธีวิจัยก่อนนะครับ 
  17. ไม่เห็นด้วยกับกปปส.เพราะไม่มีความชัดเจนใด ๆ จะปฏิรูปอะไรบ้าง และจะทำยังไงถ้าต้องมีการแก้กฏหมายแต่ไม่มีสภานิติบัญญัติ และไม่มีอะไรมารับประกันว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริง ดูอย่างการรัฐประหารหรือการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมาก็ได้ เราร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้ว แต่ละฉบับก็ร่างขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหารในแต่ละครั้งใช่ไหม แล้วผลเป็นยังไงมันแก้ปัญหาได้ไหม คนร่างก็พวกนักวิชาการนักฏหมายนี่แหละ ชาวบ้านรากหญ้าไม่ได้มาร่างด้วย รัฐธรรมนูญ 50 ที่ว่าดีนักดีหนา ถึงขั้นจะแก้อะไรก็แก้แทบจะไม่ได้ แต่ตอนนี้มาบอกว่ามันไม่ดี เพราะมันไม่สามารถป้องกันทักษิณให้กลับเข้ามามีอำนาจได้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจริง มาแก้ในส่วนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นดีกว่า และการแก้นี้ก็จะต้องใช้สภานิติบัญญัติ ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง 
  18. อยากให้กฏหมายเขียนให้มันชัดเจน จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความกันไปคนละทางสองทาง
  19. การมาประท้วงยืดเยื้อแบบนี้ คนที่เสียประโยชน์และน่าสงสารมากในตอนนี้คือชาวนา เพราะรัฐไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ที่จะนำเงินมาให้ชาวนา จริงอยู่อันนี้มันเป็นการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองก็จริง แต่ชาวนาก็ไม่ควรได้รับผลกระทบ รัฐบาลที่จะตั้งมาโดยกกปส. จะเป็นรัฐบาลรักษาการเหมือนอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าใช่จะมีอำนาจในการอนุมัติเงินหรือหาเงินมาให้ชาวนาไหม และเคยคิดเคยประเมินไหมว่าตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศเสียไปแค่ไหน 
  20. เห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจมีปัญหา แต่มันก็ดีกว่ามาประท้วงกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นทางที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นของตัวเอง และเป็นการวัดความเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด แทนที่จะรณรงค์ให้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน ถ้ามองว่ามีคนเห็นด้วยกับกกปส. มาก จริง ๆ ทำไมไม่รณรงค์กันไม่ให้เลือกเพื่อไทย รณรงค์ให้โหวตโนก็ได้ อย่างน้อยถ้าคะแนนโหวตโนมากกว่าเพื่อไทย ก็น่าจะทำให้พรรคนี้อ้างไม่ได้อีกแล้วว่าเป็นฉันทามติ และเป็นการบอกเพื่อไทยว่าถ้ายังทำอย่างนี้อีก ให้ระวังพลังของมวลมหาประชาชนที่แท้จริง
  21. เห็นว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (ถ้ามี) ควรจะเน้นที่การปฏิรูปและใช้เวลาไม่เกินหนึ่งปี จากนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
  22. ไม่เชื่อว่าการซื้อเสียงการทุจริตเลือกตั้งจะเป็นสาเหตุให้เพื่อไทยชนะและประชาธิปัตย์แพ้
  23. ไม่ชอบการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อกัน ด่าคนที่เราไม่ชอบด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเหยียดหยามทางเพศ เราต้องการให้สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งปกติของลูกหลานของเราต่อไปหรือ
  24. ไม่ชอบการเหยียดหรือจัดกลุ่มคนโดยใช้ถ้อยคำที่เหยียดหยามเช่น สลิ่มเหลือง ควายแดง แดงแอ๊บขาว โลกสวย เป็นต้น 
  25. ไม่เห็นด้วยที่จะนำในหลวงมาอ้างให้การชุมนุมของตัวเองดูดี แล้วผลักให้อีกพวกหนึ่งกลายเป็นคนไม่จงรักภักดี
  26. อยากได้รถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง (โดยไม่ต้องรอให้ประเทศไม่มีถนนลูกรังก่อน เพราะตายไปแล้วอาจยังเป็นไปไม่ได้) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับการพัฒนาประเทศ เรื่องต้องเป็นหนี้ไม่กลัว แต่ขอให้เงินที่กู้มาถูกใช้ลงไปในโครงการจริง ๆ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกแต่ถ้าเป็นหนี้แล้วมันทำให้ประเทศก้าวหน้าก็ต้องทำ อยากจะบอกว่าตอนสมัยเด็ก ๆ ก็เรียนมาว่าประเทศเราก็เป็นหนี้มากมาย ครูที่สอนวิชาสังคมก็พูดเป็นเชิงประชดประชันขำ ๆ ว่าเป็นหนี้ก็ดีนะไม่ต้องห่วงว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้เขาจะปล่อยให้ประเทศเราล้ม เพราะว่าเขากลัวจะเสียเงินที่เขาให้เรากู้มา ถึงตอนนี้ผมยังไม่ตายเลย เข้าใจว่าหนี้ก้อนนั้นเราใช้หมดแล้ว และเพราะหนี้ก้อนนั้นก็ทำให้ประเทศเราเจริญมาจนถึงวันนี้ อยากเห็นนโยบายของคนที่ออกมาค้านว่าจะสร้างโครงสร้างพิ้นฐานเหล่านี้ได้อย่างไรโดยไม่ต้องเป็นหนี้ หรือเป็นหนี้น้อยกว่านี้ 
  27. ไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือมีใครที่ต้องมาตายเพิ่มขึ้นอีกแล้ว
  28. อยากให้คนไทยอยู่ร่วมกันได้แม้มีความเห็นต่างกันเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งถึงแม้จะเลือกจะเชียร์คนละพรรคก็ยังพูดคุยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่คุยกัน หรือต้องดูก่อนว่าคนที่เราคุยด้วยนี่เชียร์ข้างไหน 
  29. ไม่ชอบการทำงานของกสทช.ชุดนี้ โดยเฉพาะส่วนโทรคมนาคม (อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อยากเขียน :))
  30. สุดท้ายแล้วดีกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว 30 ข้อแล้ว อยากให้มีการทำประชามติถามความเห็นของคนทั้งประเทศว่าจะเอาแนวทางของกกปส.หรือไม่ ถ้าคนส่วนใหญ่บอกว่าเอา ริวจะไม่พูด เอ๊ยไม่ใช่ จะไม่บ่น จะทำอะไรก็เชิญ และจะช่วยภาวนาให้สิ่งที่ทำประสบความสำเร็จ...

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักการสำคัญ 9 ประการที่นำไปสู่นวัตกรรมของ Google

สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ ขอถือโอกาสนี้เขียนบล็อกแรกของปีให้อ่านกันเลยก็แล้วกันครับ ตอนแรกก็ยังไม่รู้จะเขียนอะไรดีเพราะผมว่าช่วงปลายปีที่แล้วพวกเราหลายคนคงจะเครียดและสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก แม้แต่ผมเองยังจัดซะสามบล็อกติดกัน แต่บล็อกแรกของปีนี้ผมไม่อยากจะเขียนอะไรที่มันเครียด ๆ กันก่อนตั้งแต่ต้นปีครับ ก็พอดีนึกขึ้นได้ว่ามีคนแบ่งปันลิงก์เกี่ยวกับแนวทางที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้แหละที่น่าจะนำมาเขียน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกคนที่มีโอกาสได้อ่าน เผื่อจะสามารถนำไปประยุกต์กับการทำงานของเราในปีนี้ได้บ้าง

สำหรับต้นฉบับของเรื่องนี้ก็คือ GOOGLE REVEALS ITS 9 PRINCIPLES OF INNOVATION โดยคุณ Kathy Chin Leong ในบทความนี้ได้สรุปสิ่งที่คุณ Gopi Kallayil ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการสังคม (ไม่รู้จะใช่ไหมนะครับในภาษาอังกฤษใช้คำว่า chief social evangelist ) ได้พูดถึงหลักสำคัญ 9 ข้อที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่มีการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างมากมายออกมาให้เราใช้กัน ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

1. นวัตกรรมมาได้จากทุกที่ทุกทาง ไม่ว่าจะมองจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบนหรือแม้แต่ในจุดที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ในบทความได้ยกตัวอย่างของคุณหมอซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของ Google ได้พยายามผลักดันให้การค้นหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (ในสหรัฐ) มีการแสดงเบอร์โทรฟรีสำหรับศููนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายอยู่ทางด้านบนของจอ

2.  มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้ เรื่องเงินเอาไว้ทีหลัง ตัวอย่างก็คือการค้นหาทันใจ (instant search) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นแต่อาจทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ดูโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักของ Google ซึ่ง Google ก็ยอมที่จะเสี่ยงในส่วนนี้ โดยแนวคิดก็คือให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมไปแล้วรายได้ก็จะตามมาเอง

3. ตั้งเป้าว่าจะดีขึ่นสิบเท่า การตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นแค่สิบเปอร์เซนต์เราก็จะทำได้แค่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการจะต้องตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นสิบเท่า และนั่นจะทำให้เราต้องคิดนอกกรอบ ตัวอย่างของข้อนี้ก็คือโครงการ Google Books ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสแกนหนังสือทั้งหมดเพื่อทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดย Lary Page ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google ถึงกับลงมือสร้างเครื่องสแกนหนังสือขึ้นมาเองเลย สำหรับหนังสือตอนนี้ก็สแกนไปได้แล้วกว่า 30 ล้านเล่ม

4.  ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้เป็นประโยชน์ เขายกตัวอย่างถึงแนวคิดของรถไร้คนขับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Google เองไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ Google มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานอย่าง Google Maps Google Earth และ รถที่ใช้ทำ Street View โดยการร่วมมือกับทีมปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ก็ทำให้ Google สามารถสร้างรถที่ไม่ต้องมีคนขับซึ่งสามารถเดินทางไปกลับเป็นระยะทางไกลได้จริง

5. ปล่อยออกมาก่อนแล้วค่อยปรับปรุง แนวคิดนี้คือไม่ต้องรอให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ ส่งไปให้ผู้ใช้ใช้ก่อน แล้วให้ผู้ใช้นั่นแหละเป็นผู้ช่วยปรับปรุง ตัวอย่างของโครงการที่ใช้วิธีนี้ก็เช่น Google Chrome ซึ่งเปิดตัวมาในปี 2008 และ Google ปล่อยตัวปรับปรุงออกมาทุกหกสัปดาห์

6. ให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงาน แนวคิดนี้คือให้พนักงานได้ใช้เวลาในการทำโครงการที่ตัวเองอยากทำที่ไม่ใช่งานประจำที่ตัวเองทำอยู่ โดยจะให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงานในการทำโครงการดังกล่าว พูดง่าย ๆ ก็คือในเวลางานห้าวัน ก็ให้เวลาวันหนึ่งที่พนักงานจะได้ทดลองทำสิ่งที่เป็นแนวคิดของตัวเอง สิ่งที่ได้จากการทำแบบนี้ก็คืออาจจะได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรืออาจได้เทคนิคหรือแนวคิดที่จะนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม

7. ให้กระบวนการทำงานเป็นแบบเปิด คือเปิดโอกาสให้ทั้งนักพัฒนาภายนอก หรือแม้แต่ผู้ใช้เองมีส่วนร่วมในโครงการ ตัวอย่างเช่นการเปิดให้นักพัฒนามาช่วยกันพัฒนาแอพต่าง ๆ ให้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

8. ล้มให้เป็น ไม่ควรตำหนิความล้มเหลว แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ดีสุด ๆ ก็ต้องถูกยกเลิกไป แต่สิ่งที่สามารถดึงมาใช้ได้ก็คือส่วนดีที่สุดของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เขาบอกว่าความล้มเหลวคือเครื่องหมายของเกียรติยศ ความล้มเหลวคือหนทางที่จะนำไปสู่นวัตกรรมและความสำเร็จ ดังนั้นจงล้มเหลวด้วยความภาคภูมิใจเถอะ

9. ภารกิจที่ทำมีความสำคัญ เขาบอกว่านี่คือข้อที่สำคัญที่สุดใน 9 ข้อนี้ เขาบอกว่าคนที่ Google ทุกคนมีความตั้งใจแรงกล้าที่จะทำตามภารกิจและจุดประสงค์ให้สำเร็จ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะมีผลในทางบวกกับผู้คนเป็นล้าน ๆ คน

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ ...

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนที่ไม่สนับสนุนม็อบไม่ได้เห็นด้วยหรือยอมให้โกง

ในสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้ ผมถูกพิพากษาจากแกนนำผู้ชุมนุุมว่าเป็นพวกเลือกข้างคนชั่ว เป็นคนโลกสวย และยอมที่จะเป็นขี้ข้ารับใช้ระบอบทักษิณ ซึ่งผมไม่แคร์หรอกครับว่าแกนนำจะให้ผมเป็นอะไร เพราะสุดท้ายพวกเขาก็นับผมเป็นเสียงหนึ่งของพวกเขาอยู่ดีเวลาจะอ้างมติอะไรก็บอกว่าเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็เหมารวมผมเข้าไปด้วยทุกที ไม่ว่าการชุมนุมของกลุ่มหรือสีไหน

แต่ที่อยากจะเขียนวันนี้เพราะอยากให้หลายคนที่ยังไม่เข้าใจและแบ่งฝ่ายว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่ออกมาขับไล่รัฐบาลนี่เป็นพวกที่ยอมรับการโกง โดยเอาเรื่องรัฐบาลได้รับเลือกตั้งเข้ามามาอ้าง จริง ๆ ผมอยากให้คนกลุ่มนี้ทำความเข้าใจเสียใหม่ก่อนนะครับว่าคนที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมตอนนี้ หลายคนเป็นที่ร่วมชุมนุมหรือลงชื่อค้านพรบ.นิรโทษกรรมมาก่อนนะครับ ซึ่งหลายคนก็มองว่าได้แสดงพลังแล้ว และถ้าพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลก็ได้ยอมยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว ทำไมแกนนำถึงไม่ยอมหยุดทำไมถึงไปเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่ประเทศจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง และทำไมถึงคิดว่าตัวเองสามารถเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศได้ว่าต้องการแบบนี้ แนวคิดหลายอย่างที่นำเสนอเช่นการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำไมตอนที่แกนนำเป็นรัฐบาลอยู่ถึงไม่เสนอ และแนวคิดหลาย ๆ อย่างมันจะทำได้ก็อาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญแล้วทำไมตอนที่เขาให้เสนอแก้รัฐธรรมนูญถึงไม่เสนอเข้ามา

การอ้างว่าถ้าไปเลือกตั้งด้วยกติกาที่มีอยู่ก็จะแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี เพราะมีการทุจริตทุกรูปแบบจนทำให้อดีตพรรคของแกนนำนั้นต้องแพ้การเลือกตั้ง ผมคิดว่าความคิดแบบนี้เป็นอันตรายมากนะครับ มันจริงหรือครับที่แพ้เพราะถูกโกง การคิดและการพูดแบบนี้ไม่มีทางที่อดีตพรรคของแกนนำจะกลับมาชนะได้แน่ครับเอาแต่โทษสิ่งอิ่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ลองคิดดูถ้าผมเป็นคนอีสานผมคงคิดว่าเอ๊ะพรรคนี้ชนะการเลือกตั้งที่ภาคใต้ แต่มาบอกว่าแพ้เพราะถูกโกง งั้นก็หมายความว่าคนใต้เป็นคนดี คนอีสานไม่ดีเพราะรับเงินพรรคอื่นอย่างนั้นหรือ และถ้าผมเป็นกกต. ผมคงคิดว่านี่พวกเราทำงานแย่มากจนทำให้เกิดการโกงทั้งประเทศจนพรรคพรรคหนึ่งต้องแพ้การเลือกตั้งเลยหรือ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าผมจำไม่ผิดก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอดีตพรรคของแกนนำนี่แหละที่ขอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องกฏเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งเขาก็วิจารณ์กันให้แซ่ดว่าแก้เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ แต่สุดท้ายก็ยังแพ้อยู่ดี (ซึ่งเพราะอันนี้หรือเปล่าเลยคิดว่าขนาดแก้อย่างนี้แล้วยังแพ้มันต้องโกงแน่)

ผมคิดว่าพวกเราที่เป็นประชาชนคงไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องเสียงมีคุณภาพ เสียงด้อยคุณภาพนะครับ เป็นความเห็นที่แย่มาก ทุกเสียงควรจะมีค่าเท่ากันครับ และถ้าจะคิดว่าเสียงคนชนบทที่บอกว่าด้อยการศึกษาเท่านั้นที่เลือกเพื่อไทย เท่าที่ผมคุย ๆ มาคนที่มีการศึกษาสูง ๆ หลายคน ระดับปริญญาเอกก็เลือกเพื่อไทยนะครับ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ผมว่าไม่ใช่แก้กติกา ผมว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะแก้มันต้องแก้ที่ว่าหลังจากเลือกมาแล้วจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้นได้อย่างไรมากกว่า กฏเกณฑ์การเข้าชื่อถอดถอนเหมาะสมดีหรือยัง องค์กรอิสระทั้งหลายทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง จะต้องแก้ตรงไหนไหมเพื่อให้ตรวจสอบได้มากขึ้น หรือจะถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร

ซึ่งถ้าแกนนำเสนอตรงนี้เข้าไปและทำสัญญาประชาคมกันว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งเข้ามาจะมีการปฏิรูปตรงนี้ อย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การประท้วงก็จะได้จบ ประเทศเราก็จะได้เดินหน้า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มันยังต้นเดือนอยู่ ถ้าเราทำให้มันสงบได้เร็ว นักท่องเที่ยวอาจกลับเข้ามา อย่ามองว่าผลประโยชน์ตรงนี้มันจะไปตกกับรัฐบาลรักษาการ แต่ให้มองว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ และนี่น่าจะเป็นทางออกที่อารยประเทศเขายอมรับ

อีกสักเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่เพราะเดี๋ยวจะเป็นการเถียงคนละเรื่อง คือมีคนพยายามบอกว่าทำไมคนทำผิดแล้วถึงไล่ไม่ได้ ไม่เข้าใจหรือไงว่าสถานะของการได่้มากับสถานะของการดำรงอยู่มันต่างกันนะ แล้วก็ยกตัวอย่างมาหลายตัวอย่าง ตัวอย่างหนึ่งที่ผมจำได้คือ สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งสอบเข้ามาได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่เข้ามาแล้วโกงการสอบไล่ เด็กคนนี้จะต้องไม่ถูกไล่ออกใช่ไหม เพราะสอบเข้ามาได้ อ่านแล้วก็คิดว่าเขาช่างคิดยกตัวอย่างนะ แล้วก็มีคนเห็นด้วยมากมาย ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมก็เห็นด้วยนะว่าสถานะของการได้มากับสถานะของการคงอยู่มันคนละเรื่องกัน และกลุ่มคนที่ไปชุมนุมต้านพรบ.และลงชื่อถอดถอนเขาก็คิดอย่างนี้แหละ ถ้าเปรียบเทียบก็คือการนำเด็กคนนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนนั่นเอง ซึ่งเด็กคนนี้ก็หน้าด้านไม่ยอมลาออก สมมติว่าประชาคมในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เขาพอใจแค่นี้แล้วก็รอผลลัพธ์ แต่คราวนี้สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งซึ่งมีข้อมูลภายในหรืออาจไม่ชอบเด็กคนนั้นเป็นการส่วนตัว ก็ไปป่าวประกาศชักชวนใครต่อใครว่าเด็กคนที่โกงนี่จริง ๆ มันโกงตั้งแต่สอบเข้ามาแล้ว แล้วก็พาพรรคพวกมารวมตัวกันเรียกร้องขอตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมาเพื่อสอบสวนเด็กคนนี้ รวมถึงมีการพูดไปจนถึงว่าญาติพี่น้องของเด็กคนนี้ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันควรจะต้องถูกไล่ออกไปด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ประชาคมที่เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ก็กลายเป็นว่าเขาออกมาปกป้องเด็กคนนี้อย่างนั้นหรือ

ดังนั้นผมอยากให้มองยาว ๆ ครับ ลองคิดว่าประเทศของเราต้องมีหลักการในการปกครองประเทศ เราไม่ควรจะยอมเสียหลักการเพราะใครไม่ว่าจะรัก จะเกลียดหรือกระแสความต้องการ ลองย้อนกลับไปวันที่มีการพิพากษาคดีซุกหุ้นภาคหนึ่งของทักษิณนะครับ วันนั้นกระแสความต้องการทักษิณแรงมากจากการชนะการเลือกตั้ง วันนั้นทักษิณรอดได้เป็นนายก และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในความเห็นผมตอนนั้นผมเห็นว่าผิดนะรอดได้ไง และผมคิดว่าในวันนั้นอาจมีคนที่ต้านทักษิณอยู่ในตอนนี้ดีใจอยู่ด้วยก็ได้นะครับ...

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เริ่มต้นที่ตัวเราเปลี่ยนความคิดเพื่อพ่อหลวงของเรา

ในวาระที่วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านได้เวียนมาครบอีกวาระหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยไปชั่วกาลนาน และข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณว่าข้าพระพุทธเจ้าจะทำความดีถวายแด่พระองค์ท่าน ด้วยการปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองที่ดีเคารพกฏหมายของบ้านเมือง และจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าให้ดีที่สุด ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

เวลาปีหนึ่งเร็วมากครับ วันพ่อเวียนมาถึงอีกแล้วดูเหมือนเพิ่งเขียนบล็อกวันพ่อไปไม่นานนี้เอง แต่อาจเป็นไปได้ครับว่าหลัง ๆ มานี้ผมแทบไม่ได้เขียนบล็อกเลยก็เลยทำให้มันดูเหมือนเร็ว ปีนี้ประเทศเรามีปัญหากันอีกแล้ว ด้วยเรื่องเดิม ๆ ที่ย้อนกลับมาอีกและคงจะเป็นเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้นถ้าเรายังยึดติดกันด้วยกรอบความคิดเดิม ๆ  แต่ด้วยพระบารมีในวันสำคัญนี้ที่ทำให้ประชาชนรวมใจกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง พักวางทุกอย่างลงและร่วมฉลองวันสำคัญนี้ ซึ่งก็คงไม่มีที่ไหนเหมือนในประเทศเราอีกแล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอให้เราคิดในวันนี้เพื่อพ่อหลวงของเราก็คือ เรื่องการเมืองก็คือการเมืองความคิดก็คือความคิด แต่ละคนคงไปห้ามความคิดความเชื่อของใครไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากให้พวกเราไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามทำก็คือ อย่าได้ดึงพระองค์ท่านลงมาเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตน มันจำเป็นด้วยหรือว่าฝ่ายที่ชอบทักษิณทุกคนจะต้องไม่รักในหลวง และจริงหรือที่คนที่ออกมาต่อต้านทักษิณทุกคนรักในหลวง คนที่ออกไปประท้วงกันอยู่ตอนนี้เป็นคนที่รักสถาบันกษัตริย์ คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคือไม่ปกป้อง ถ้าเราติดอยู่กับกรอบคิดแบบนี้มันจะทำให้เราอาจใช้ความรุนแรงต่อกัน และลองคิดดูนะครับว่าข้อหาไม่จงรักภักดีนี่มันเป็นข้อหาที่รุนแรงสำหรับคนไทยที่จงรักภักดีทุกคนนะครับ

อีกอย่างผมว่าในยุคปัจจุบันนี้เมื่อโลกมันเปลี่ยนไป เราก็ควรจะยอมรับความคิดเห็นที่ต่างกันมากขึ้น เราไม่ควรจะออกปากขับไล่คนที่เห็นต่างจากเราออกไป ผมว่าในหลวงท่านไม่อยากให้เราทำอย่างนั้นหรอกนะครับ ไม่มีพ่อคนไหนหรอกนะครับที่อยากจะไล่ลูกออกจากบ้าน ถึงแม้ลูกจะไม่รักก็ตาม ผมเคยเขียนลงในบล็อกบ้างแล้วว่าผมไม่เข้าใจคนที่ไม่รักในหลวงเหมือนกันว่าทำไม ด้วยสิ่งที่พระองค์ทำให้เรา ทำให้ประเทศเรารอดพ้นวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วนเพราะพระองค์เป็นศูนย์รวมให้คนไทยรวมใจเป็นหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่อย่างวันนี้แหละ คนต่างชาติยังเห็นทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่เห็น แต่ถ้าถามว่าระหว่างคนที่ปากบอกว่ารักสถาบันรักในหลวงแต่มีพฤติกรรมคดโกง กับคนที่บอกไม่รักในหลวงแต่ทำงานตรงไปตรงมาซื่อสัตย์ คนแบบไหนที่เราควรจะยกย่อง เราคิดว่าในหลวงท่านจะมีความสุขหรือครับที่เราเลือกที่จะไม่ทำหน้าที่ของเราให้กับคนบางคนที่เรารู้ว่าไม่รักท่าน

ในวันพ่อปีนี้ก็อยากจะฝากไว้แค่นี้แหละครับ เริ่มที่ตัวเรากำจัดอคติออกไป เปิดใจให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนที่เห็นต่างอย่างมิตร ถ้าทำได้ประเทศของเราก็อาจจะกลับมามีความสุขสงบมากขึ้น และนี่น่าจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะถวายให้กับพ่อหลวงของเราครับ...

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถึงผู้ชุมนุมครับ

ขอการเมืองอีกสักวัน จริง ๆ ไม่อยากเขียนแล้วนะ ขนาดตัวเองโพสต์อะไรไปคิดว่าเป็นกลาง ๆ ที่สุดแล้วก็ยังถูกตีความว่าเป็นอีกข้างหนึ่งได้ ผมยังยืนยันความต้องการเดิมนะว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมและควรยุบสภาหรือลาออก แต่วันนี้จะขอเขียนถึงผู้ชุมนุมบ้าง ผมได้อ่านโพสต์ของคนหลายคนที่ออกมาชุมนุมกันแล้วก็พยายามโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้ออกมาชุมนุมให้ออกมา โดยได้บอกว่าอย่าเพิ่งไปสนใจว่าผลลัพธ์หลังจากนี้จะเป็นยังไง ขอให้ล้มระบอบทักษิณให้ได้ก่อน เท่าที่ดูก็ดูเหมือนคนโพสต์และแชร์ต่อ ๆ มาก็มีความรู้มีการศึกษาดีนะ แต่บังเอิญผมเป็นคนรู้น้อย เป็นคนขี้สงสัย จะชวนผมออกไปทำอะไรผมต้องการที่จะรู้ให้สุดไปเลยว่าเราจะได้อะไรจากการทำครั้งนี้ สิ่งที่ได้มาจากการกระทำครั้งนี้คุ้มกับที่เสียไปไหม ปัญหาที่เราออกไปแก้จะจบไปไหมหรือแค่ยืดเวลาออกไปแล้วก็เวียนกลับมาใหม่

จากการที่ได้คุยและอ่านการโพสต์ของหลาย ๆ คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุมครั้งนี้ (ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าคนเหล่านี้มีความรักความห่วงใยประเทศชาติอย่างแท้จริง) ว่าทำไมต้องออกมาคำตอบที่ผมได้ก็เป็นคำตอบเดิมที่ได้รับจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร คือเราต้องออกมาล้มระบอบทักษิณกัน ถ้าปล่อยไว้ประเทศชาติจะล่มสลายทักษิณจะโกงกินชาติไปจนหมด เราไม่มีวิธีอื่นใดแล้วนอกจากจะใช้วิธีการที่ผิดกฏหมายแบบนี้ ผมเคยตั้งคำถามว่าเราเชื่อถือสนธิ (ลิ้ม) ได้หรือเขามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า ดูเขาโหนเอาความรักที่เรามีต่อพ่อหลวงมาใช้ให้เป็นประโยชน์นะคำตอบที่ได้ก็คือก็รู้แหละว่าสนธิมีปัญหา แต่เราต้องกำจัดทักษิณให้ได้ก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างกับตอนนี้คือสุเทพก็ไม่ดี แต่เราต้องแยกแยะนะจัดการทักษิณก่อน แล้วค่อยมาจัดการสุเทพ แต่ถึงตอนนี้สนธิก็ยังอยู่ดีมีสุข ระบอบทักษิณก็ยังตามมาหลอกหลอนเราจนถึงวันนี้ หลายคนคิดว่าผมไม่รู้เรื่องราวอะไร เพราะเป็นพวกไม่สนใจชาติบ้านเมืองบ้าแต่ลิเวอร์พูล ก็ส่งลิงก์ส่งวีดีโอที่แสดงความเลวร้ายของทักษิณและรัฐบาลมาให้ดู ซึ่งของพวกนี้ผมเห็นหมดแล้วเห็นมาตั้งนานแล้ว แต่คำถามคือมันใช้เป็นหลักฐานอะไรได้ไหม  ผมดูแล้วผมก็คิดว่ามันเป็นไปได้นะ แต่ความที่มันทำมาจากฝ่ายตรงข้ามของทักษิณ และหลักฐานที่เป็นรูปธรรมอะไรก็ไม่มี มันทำให้ยากที่จะดึงมวลชนฝ่ายตรงข้ามหรือที่อยู่กลาง ๆ มาร่วมได้ บางอันรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร แต่ก็มีความวิตกกังวลกันล่วงหน้าว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ในวันนี้บางคนถึงกับบอกด้วยว่าคราวนี้ถ้ากำจัดระบอบทักษิณแล้วก็กำจัดสุเทพไปพร้อมกันเลย ผมก็ยังงงว่ามันจะทำได้ยังไง มาตั้งคำถามแรกกันก่อนอะไรคือกำจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไป หลังจากยึดประเทศได้แล้ว เราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมายึดทรัพย์ทั้งหมดของตระกูลชินวัตรหรือยังไง ถ้าจะทำอย่างนั้น เราจะใช้กฏหมายข้อไหน เรายึดรัฐธรรมนูญฉบับไหนอยู่ หรือเราจะใช้วิธีตั้งศาลเตี้ยเอา ถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะยังเป็นประเทศที่เป็นอารยะ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอยู่ไหม ถ้าเราบอกว่าไม่แคร์ สิ่งที่เราจะสูญเสียคืออะไรคุ้มกับที่ได้มาไหม หรือเราจะจับลูกเมียทักษิณมาขังคุก แล้วยื่นคำขาดให้ทักษิณกลับมาติดคุก คือมันไม่ชัดเจนสักอย่างว่าระบอบทักษิณที่จะล้มมันคืออะไร แล้วบอกว่าจะกำจัดสุเทพจะทำยังไง หลังจากสุเทพประกาศชัยชนะ มวลหมู่มหาชนก็จะจับสุเทพขังคุกข้อหาเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร หรือจะให้สุเทพลงสัตยาบรรณว่าจะวางมือจากการเมือง จะบังคับให้คืนที่ดินเขาแพงหรืออะไรยังไง

ทำสำเร็จแล้วใครจะมาเป็นนายก สุเทพบอกไม่ อภิสิทธ์กับกรณ์ก็ไม่ (ยิ่งรายหลังนี่ยิ่งไม่มีทางเพราะสุเทพคงไม่เอาแล้ว) เราโอเคไหมถ้าสุริยะใสอาจจะได้เป็นนายก อันนี้ไม่ได้ดูถูกอะไรเขานะ ถ้าเขาลงเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งเข้ามาผมโอเค แต่ถ้าเป็นแบบนี้จริงผมไม่โอเคนะ สภาประชาชนจะมีหน้าตายังไง ใครจะอยู่ในสภานี้ ใช่พวกมวลหมู่มหาชนนี่ไหม เลือกกันขึ้นมาหรือยังไง มีเงินเดือนไหม เงินเดือนกี่บาท และคำถามที่สำคัญคือมวลหมู่มหาชนที่ว่านี่เอาซะว่าประมาณล้านคน มีสิทธิอะไรที่จะมาพูดแทนคนที่เหลือของประเทศ อาศัยอำนาจมาจากทางใด

หลายคนชอบบอกว่านี่คือปฏิวัติโดยประชาชนและเป็นการปฏิวัติโดยสันติ ตกลงตอนนี้มันยังสันติอยู่ไหมนะ และก็บอกว่าหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว อียิปต์ก็ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ที่ผมอยากบอกก็คืออียิปต์ทำสำเร็จในครั้งแรกคือโค่นมูบารัค เพราะคนทั้งประเทศรวมใจเป็นหนึ่ง แต่ตอนโค่นมอร์ซีนีเกิดสงครามกลางเมืองจนยังไม่สงบมาถึงตอนนี้นะ เพราะมอร์ซีมาจากการเลือกตั้งเขาก็มีฐานของคนเลือกเขาอยู่ในมือ ซึ่งถ้าพวกเสื้อแดงเกิดรวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านจริง ๆ เกิดสงครามกลางเมืองมามันจะคุ้มไหม หลายคนบอกว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปจะเกิดผลเสียกับประเทศเป็นหลายแสนล้าน ถามว่าเคยประเมินไหมว่าจากที่ทำอยู่ถึงตอนนี้เสียหายไปเท่าไหร่แล้ว แล้วเคยประเมินย้อนกลับกันไปไหมว่าที่ขับไล่กันมาก่อนหน้านี้น่ะสิ่งที่เสียไปกับการที่คิดว่าจะป้องกันเขาโกงไปนี่มันคุ้มหรือยัง แล้วจริง ๆ แล้วสิ่งที่ขับไล่มันหายไปไหม

คราวนี้ก็มีคำถามย้อนกลับมาถึงจากผู้ชุมนุมมาถึงกลุ่มคนที่คิดอย่างผมว่าแล้วจะให้ทำยังไง เอาแต่นั่งบอกว่าอย่าไปชุมนุมรุนแรงช่วยเสนอทางออกมาซิ มาผมจะลองเสนอทางออกมาให้ดู ประการแรกผูู้ชุมนุมจะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนครับว่าไอ้ที่เรากังวลที่สุดมันคืออะไร ยกคำว่าทักษิณ ชินวัตรออกไปจากหัวก่อน เสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้และยังอยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ  สิ่งที่ผู้ชุมนุมกังวลตอนนี้ถ้าเป็นพรบ.นิรโทษมันก็ยุติไปส่วนหนึ่งแล้ว ถ้ากังวลเรื่องพรบ.เงินกู้สองล้านล้าน และพรบ.จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเป็นหลัก ก็ยื่นเงื่อนไขไปเลยว่า ผู้ชุมนุมจะกลับไปชุมนุมอย่างสงบที่ราชดำเนินก่อนให้เวลารัฐบาล 7 วัน เพื่อให้รัฐบาลเปิดประชุมสภาเพื่อหาทางออกที่จะทำให้พรบ.ทั้งสองฉบับไม่มีผลบังคับใช้ จากนั้นให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อดำเนินการเลือกตั้งใหม่ และขอให้มีการทำมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อที่มวลหมู่มหาชนจะได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดการปฏิรูปประเทศ มวลหมู่มหาชนอาจรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนพรรคประชาธิป้ตย์ แล้วก็พยายามรณรงค์เรียกร้องคนที่เป็นกลาง ๆ หรือเกลียดทักษิณแต่ไม่ชอบประชาธิปัตย์ให้ฝืนใจเลือกประชาธิปัตย์ไปก่อนเถอะ หรือถ้าคิดว่าไม่พอใจประชาธิปัตย์ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเลยจะตั้งชื่อว่า "พรรคมวลหมู่มหาชนเพื่อส่งเสริมสุดยอดประชาธิปไตยขับไล่ระบอบทักษิณ (มมพสสปชตขรท)" ก็ได้ แล้วมวลหมู่มหาชนก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อผลักดันแนวคิดของตัวเองให้สำเร็จ เป็นยังไงครับอย่างนี้พอเป็นรูปธรรมจับต้องได้ไหม...