วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยและมุมมองของผมเกี่ยวกับการรับบริจาค

สวัสดีครับผมหายไปไม่ได้เขียนบล็อกเสียนานเลย เหตุผลก็คือไม่ว่างเช่นเดิม จริง ๆ เรื่องที่จะเล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้วครับ แต่ไม่ว่างมาเขียนเลย ก่อนที่จะดองเอาไว้ให้ผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็เลยหาช่องมาเล่าให้ฟังกันซะหน่อยครับ ก่อนอื่นผมจะมาแนะนำให้รู้จักกับมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์กันครับ หลักการดำเนินงานของมูลนิธิก็คือสร้างครอบครัวให้กับเด็กกำพร้า คือเขาจะปลูกบ้านให้ และหาแม่ให้ สรุปก็คือเด็กกำพร้าเหล่านั้นจะมีบ้านและมีแม่ ถ้าใครสนใจรายละเอียดการดำเนินงานของมูลนิธิก็คลิกเข้าไปดูได้เลยครับ

ผมคิดว่าหลายคนอาจรู้จักมูลนิธินี้อยู่แล้ว แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักเช่นผมเป็นต้น ผมได้รู้จักมูลนิธินี้เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วครับ โดยผมตั้งใจจะได้ไปดูอาหารตาที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ผมแวะไปทานข้าว (อาหารกาย) ที่โลตัสลาดพร้าวก่อน และเดินข้ามสะพานลอยหน้าโลตัสมาลงหน้าโรงเรียนหอวังแล้วเดินต่อมาที่เซ็นทรัล ก็ปรากฏว่าได้พบกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมาขอประชาสัมพันธ์ (จะเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ แต่เอาเป็นอันว่าคิดบวกไว้ก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงแล้วกัน) ผมก็เลยลองรับฟังดู ก็ได้ทราบว่าจุดประสงค์ของมูลนิธิดังที่ได้บอกไปแล้ว  ซึ่งผมฟังดูแล้วก็คิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก  และสนใจที่จะช่วยเหลือ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธินี้มาก่อน  ก็เลยบอกว่าจะขอมาศึกษาโครงการดูก่อน และขอพวกเอกสารแผ่นพับ หรือใบบริจาคที่สามารถกรอกและส่งกลับไปทางไปรษณีย์ได้ ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่มีครับ มีแต่แบบฟอร์มใบบริจาคซึ่งผมจะต้องกรอกและคืนให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งในแบบฟอร์ดังกล่าวผมก็ต้องให้รายละเอียดส่วนตัว และหมายเลขบัตรเครดิต ซึ่งผมไม่สบายใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะให้ข้อมูลในส่วนนั้น เพราะก็เห็นข่าวกันบ่อย ๆ เรื่องกลโกงทั้งหลาย จะขอใบบริจาคมากรอกและส่งกลับไปเอง เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้เพราะมีหมายเลขกำกับไว้ และเมื่อเห็นผมทำท่าไม่เชื่อเขาก็พยายามแสดงจดหมายราชการจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมูลนิธินี้ให้ผมดูอีก (ซึ่งเขาคงไม่รู้หรอกว่ายิ่งให้ผมดูเท่าไรแทนที่ผมจะเชื่อผมกลับไม่เชื่อมากขึ้น) ผมถามเขาว่ามูลนิธิมีเว็บไซต์ไหมเขาก็บอกว่ามีผมก็เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวผมมาศึกษาข้อมูลจากเว็บ และอาจจะบริจาคผ่านทางหน้าเว็บ ก็ได้รับคำชี้แจงอีกว่าการบริจาคผ่านหน้าเว็บยังไม่สามารถบริจาคได้ อยากจะให้ผมบริจาคไปเลย ซึ่งตอนนั้นในความรู้สึกผมเหมือนกับเขามาขายของและพยายามจะปิดการขายให้ได้ แต่หลังจากนั้นก็พยายามเข้าใจครับว่าเขาคงอยากจะทำยอดบริจาคให้มูลนิธิ  แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้บริจาค และกลับมามาค้นข้อมูลจากเว็บก็ได้พบหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้ว

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นในแง่การประชาสัมพันธ์มูลนิธิหรือโครงการอะไรที่เป็นสาธารณกุศลแบบนี้ในความเห็นของผมก็คือ แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่มาเน้นเงินบริจาค ผมว่าน่าจะเน้นประชาสัมพันธ์ให้รู้จักกับโครงการมากกว่า มูลนิธิน่าจะจัดทำแผ่นพับซึ่งมีแบบฟอร์มบริจาคที่สามารถส่งกลับทางไปรษณีย์ได้   หรืออีกวิธีหนึ่งก็อาจจะแนบใบบริจาคมากับใบแจ้งยอดบัตรเครดิต อีกจุดหนึ่งก็คือเรื่องสถานที่ที่เขาไปขอรับบริจาค ถ้าใครมาที่เซ็นทรัลลาดพร้าวบ่อยๆ คงจะทราบนะครับว่า บริเวณทางเดินจากหอวังมาเซ็นทรัลนั้น จะเป็นที่ซึ่งมูลนิธิต่าง ๆ นา ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขอรับบริจาค ผมขอใช้คำว่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนครับ เพราะเหมือนเขาจะตกลงกันไว้จะไม่มาพร้อมกัน เช่นสัปดาห์นี้รับบริจาคเรื่องโลงศพ สัปดาห์ต่อมาจะมีเด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียนเอาตุ๊กตาบ้าง เอาสติ๊กเกอร์บ้างมาขายเป็นต้น ซึ่งเราก็ไม่รู้นะครับว่าที่มายืน ๆ ขอบริจาคกันนี่มันจริงหรือไม่จริง ดังนั้นเมื่อมูลนิธิมาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็เลยอาจจะถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องไม่จริงไปด้วย

ส่วนตัวผมจริง ๆ แล้วเรื่องบัตรเครดิตที่กลัวนี่ไม่ได้กลัวว่าเขาจะเอาไปซื้ออะไรเยอะแยะหรอกครับ  กลัวเขาจะโทรกลับมาด่าเอาว่าเสียเวลาพูดล่อหลอกอยู่ตั้งนานแม่..มีวงเงินในบัตรแค่นี้เองเหรอ...

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หุ่นยนตร์หกขาสำหรับตลุยดาวอังคาร

NASA กำลังพัฒนาหุ่นยนตร์หกขามีชื่อว่า Athlete ซึ่งจะเดินหรือเลื่อนไปก็ได้ ซึ่งจุดเด่นของมันก็คือสามารถที่จะเคลื่อนที่ได้บนสภาพแวดล้อมได้หลากหลายรูปแบบ โดยจุดประสงค์หลักในการสร้างมันขึ้นมาคือนำไปใช้ช่วยสร้างที่อยู่สำหรับนักบินอวกาศที่บนดาวอังคาร ใครสนใจดูรูปหุ่นยนต์ตัวนี้ดูได้จากบทความที่มาครับ

Computer World

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แนวคิดการโปรแกรมให้ทำงานแบบพอเพียง

สำหรับนักเขียนโปรแกรมทุกคนคงทราบดีนะครับว่าโปรแกรมที่มีการทำงานนาน ๆ มักจะมีการทำงานแบบวนรอบ (loop) นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้คิดวิธีการที่จะลดเวลาในการทำงานของโปรแกรมโดยพัฒนาระบบอัจฉริยะซึ่งจะหาจุดในส่วนของการวนรอบในโปรแกรมที่สามารถที่จะข้ามไปได้โดยไม่เกิดความเสียหาย วิธีนี้มีชื่อว่า "loop perforiation" โดยนักวิจัยได้ทดสอบวิธีการกับการส่งวีดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถลดเวลาในการเข้ารหัสลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่งโดยไม่มีผลที่เห็นได้ชัดกับคุณภาพของวีดีโอ นักวิจัยบอกว่าระบบนี้ยังสามารถนำไปใช้กับข้อมูลที่มีขนาดใหญ่เช่นกลไกการให้คำแนะนำบนเว็บไซต์

ที่มา MIT News

หุ่นยนตร์ชีวภาพ

นักวิจัยที่ทำงานเป็นอิสระจากกันสองทีม ทีมแรกหัวหน้าทีมคือคุณ Milan Stojanovic ซึ่งเป็นนักชีวเคมีจาก Columbia University ทีมที่สองนำโดยคุณ Nadrian Seeman นักเคมีจาก New York University ได้พัฒนาแนวคิดที่คล้าย ๆ กันคือสร้างหุ่นยนต์จากโมเลกุล DNA คือเป็นหุ่นยนตร์ชีวภาพที่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามคำสั่งที่ได้รับมา โดยคำสั่งจะสร้างจากองค์ประกอบทางเคมี

ที่มา The Wall Street Journal

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ข้อมูลดิจิทัลจะมีขนาดถึง 1.2 Zettabytes ภายในปีนี้

จากรายงานประจำปีของ IDC พบว่าปริมาณข้อมูลดิจิทัลอาจจะมีปริมาณมากถึง 1.2 Zettabytes ภายในปีนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่าแล้วเจ้า Zettabytes นี่มันมีขนาดเท่าไรกันแน่ 1 Zettabytes มีขนาดเท่ากับ 1 ล้าน petabytes ส่วน 1 petabytes คือ 1 ล้าน gigabytesก็ลองไปคำนวณกันดูแล้วกันนะครับว่าข้อมูลจะมีขนาดใหญ่เท่าไรกันแน่ ปัญหาก็คือเราอาจจะไม่สามารถเก็บข้อมูลทั้งหมดได้ คือมีที่เก็บไม่พอนั่นเอง สิ่งที่จะต้องจัดการก็คือการลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูล ในบทความบอกว่าร้อยละ 75 ของข้อมูลทั้งหมดเป็นสำเนา ดังนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลที่ซ้ำกัน เราต้องลดโอกาสที่ข้อมูลจะสูญหาย และใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด

ขอเพิ่มความเห็นส่วนตัวนะครับ ผมคิดว่าตอนนี้พวกเรากำลังถูกทำให้เสียนิสัยจากฟรีอีเมลที่แข่งกันให้เนื้อที่แบบไม่จำกัด และบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องลบอีเมลอะไรเลย ซึ่งผมคิดว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย จริง ๆ เราควรสร้างนิสัยให้ใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด ซึ่งตรงนี้ก็น่าจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ที่มา KurzweilAI.net