วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หุ่นยนต์สำรวจความแข็งแรงของที่เกิดเหตุ

นักวิจัยจาก University of Missouri ได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการตรวจสอบความแข็งแรงของสถานที่เกิดเหตุ โปรแกรมดังกล่าวจะทำให้หน่วยกู้ภัยสามารถสำรวจสภาพของที่เกิดเหตุก่อนที่จะเข้าไปยังที่เกิดเหตุจริง นอกจากนี้โปรแกรมนี้ยังอาจนำไปใช้กับการสำรวจสภาพโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างอีกด้วย ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจนี้จะบอกให้วิศวกรทราบว่าถึงเวลาต้องซ่อมแซมหรือยัง โดยบทความต้นฉบับได้ยกตัวอย่างของสะพาน Minneapolis ที่ถล่มลงมาในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งถ้ามีเครื่องมือนี้ตรวจสอบสภาพสะพานก็อาจไม่เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวขึ้น

ที่มา University of Missouri News Bureau

ไมโครซอฟท์กับการปรับปรุงระบบปฎิบัติการแบบมัลติคอร์

นักวิจัยจากห้องปฎิบัติการวิจัยของไมโครซอฟท์ที่เคมบริดจ์ประเทศอังกฤษได้พัฒนาระบบปฏิบัติการชื่อ BarrelFish ซึ่งระบบปฎิบัติการนี้จะเข้ามาดูแลเรื่องการรับส่งข้อมูลระหว่างคอร์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของระบบดีขึ้น

ที่มา IT Pro

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

10 อับดับองค์กรและอาชีพยอดนิยม

ได้อ่านวารสาร Positioning ฉบับประจำเดือน เมษายน มีประเด็นที่จะมาเล่าให้ฟังสองประเด็นครับ คือ 10 อันดับองค์กรที่มีคนอยากทำงานด้วยมากที่สุด และ 10 อันดับอาชีพในฝัน สำหรับองค์กรยอดนิยมก็เรียงตามลำดับดังนี้ครับ
  1. เครือซิเมนต์ไทย (SCG)
  2. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) 
  3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  4. บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
  5. OGILVY & MATHER (THAILAND) Co.,Ltd.
  6. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
  7. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  8. ธนาคารกสิกรไทย
  9. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
  10. บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
ถ้าอยากรู้รายละเอียดของแต่ละบริษัทก็อ่านได้จากวารสาร หรืออ่านออนไลน์ได้ที่
เว็บไซต์ของวารสาร
ครับ ซึ่งสำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับงานด้านคอมพิวเตอรฺ์หลัก ๆ ก็คงเป็น SCG และ NECTEC ซึ่งถ้าใครได้อ่านรายละเอียดของ SCG แล้วจะพบว่าทำไมถึงได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ส่วน NECTEC บอกตรง ๆ ว่าผมค่อนข้างประหลาดใจและก็รู้สึกดีใจเพราะ NECTEC เป็นหน่วยงานที่เน้นการวิจัย การที่มีคนอยากทำงานด้วยก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าการวิจัยของประเทศน่าจะดีขึ้น

ส่วน 10 อันดับอาชีพยอดนิยมก็ตามนี้ครับ
  1. ผู้ประกอบการ
  2. นักวางแผนการตลาด
  3. เจ้าของร้านกาแฟ
  4. อาจารย์นักวิชาการ
  5. เจ้าของโรงแรมแบบบูติกโฮเต็ล
  6. เจ้าของร้านอาหาร
  7. นักวางแผนโฆษณา
  8. นักเขียน
  9. แพทย์
  10. วิศวกร
สำหรับข้อสังเกตุคือแพทย์กับวิศวกรมาอันดับท้าย ๆ นะครับ บางอาชีพผมก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน(เชยครับ) เช่นบูติกโฮเต็ล ส่วนอาจารย์และนักวิชาการก็อยู่ถึงอันดับ 4 ทางวารสารบอกว่าผลสำรวจนี้อาจไม่ได้หมายถึงอาชีพที่ทำเงินได้สูงสุด แต่เป็นอาชีพที่คนทำคิดว่าทำแล้วจะมีความสุข

ส่งท้ายวันนี้ก็ขอให้นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ หรือใครที่คิดจะเปลี่ยนงานใหม่ได้ทำงานและอยู่ในหน่วยงานที่ตัวเองชอบนะครับ

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

ขับรถโดยใช้ตา

นักวิจัยจากกลุ่มปัญญาประดิษฐ์ Freie Universitat Berlin ได้พัฒนาโปรแกรมที่เรียกว่า eyeDriver เพื่อให้คนขับรถสามารถควบคุมพวงมาลัยโดยใช้ดวงตา โดยคนขับรถจะต้องสวมหมวกที่มีกล้องสองตัว โดยกล้องตัวหนึ่งจะจับอยู่ที่ตาของคนขับ ส่วนอีกตัวหนึ่งจะจับภาพของถนนด้านหน้า ข้อมูลจากรูม่านตาของคนขับ และถนนด้านหน้าจะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์และโปรแกรม eyeDriver จะคำนวณทิศทางจากข้อมูลดังกล่าว สำหรับโหมดการขับด้วยวิธีนี้จะมีสองโหมด โหมดแรกเรียกว่า "free ride" คือคนขับรถจะต้องมองไปยังทิศทางที่ต้องการไป ในกรณีที่ไม่สามารถบอกได้ว่าคนขับมองไปทางไหน เช่นคนขับหลับตารถจะหยุดทันที โหมดที่สองเรียกว่า "routing" ในโหมดนี้รถจะขับไปเองเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอทางแยกก็จะหยุดรอให้คนขับเลือกว่าจะไปทางไหน เมื่อคนขับมองไปในทิศทางหนึ่งเป็นเวลา 3 วินาที ระบบก็จะยืนยันทิศทางดังกล่าว และก็จะขับรถต่อไปให้โดยอัตโนมัติ

ที่มา Freie Universitat Berlin

โปรแกรมสร้างโน้ตเพลงอัตโนมัติ

วิศวกรด้านโทรคมนาคมจาก University of Jaen ได้พัฒนาวิธีการที่จะตรวจสอบโน้ตเพลงจากไฟล์เพลง และนำมาสร้างเแผ่นโน้ตเพลงได้โดยอัตโนมัติ โดยโปรแกรมดังกล่าวสามารถที่จะทำงานได้แม้ว่าประเภทของเครื่องดนตรี ตัวนักดนตรี ประเภทของดนตรี หรือสภาพแวดล้อมของสตูดิโอมีการเปลี่ยนแปลงไป จุดเด่นของวิธีนี้คือไม่ต้องมีการเทรนนิงกับฐานข้อมูลเพลงก่อน แต่จะใช้ ฮาร์มอนิกดิกชันนารี (Harmonic Dictionary) ซึ่งโดยสรุป(ตามความเข้าใจของผมเอง)คือดิกชันนารีที่เก็บว่าพลังงานเท่านี้ตรงกับโน้ตตัวไหน จุดอ่อนของวิธีการนี้คือมันยังทำงานได้กับเครื่องดนตรีทีละชิ้นเท่านั้น ซึ่งนักวิจัยกำลังปรับปรุงให้ทำงานได้กับเครื่องดนตรีทีละหลาย ๆ ชิ้นต่อไป

ที่มา AlphaGalileo