วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เทคนิคใหม่ในการขโมยข้อมูล

มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นการเตือนสำหรับผู้มีความลับมาเล่าให้ฟัง แหล่งที่มา http://www.computerworld.com/action/article.do?command=viewArticleBasic&articleId=009086558&intsrc=hm_list
ประเด็นก็คือนักวิจัยที่ University of California, Santa Barbara (UCSB) และ Saarland University ในSaarbrucken ประเทศเยอรมัน ได้คิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ที่จะขโมยข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ (ต่างคนต่างคิดนะครับไม่ได้ช่วยกัน) โดยที่ Saarbrucken จะใช้วิธีอ่านข้อมูลหน้าจอคอมพิวเตอร์ จากวัตถุที่สามารถสะท้อนแสงได้ เช่นกระจก หรือกาน้ำชา (แบบที่ผิวมัน ๆ นะครับ) โดยโครงการนี้นี่มีที่มาจากความคิดสนุก ๆ ของนักวิจัยครับ โดยพวกเขาอยากจะทดลองว่าเขาจะรู้ได้ไหมว่าใครกำลังใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไร โดยแอบดูจากกระจกที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ จอคอมพิวเตอร์ และเขาก็ได้ข้อสรุปครับว่า ถ้าใช้กล้องโทรทัศน์ราคาประมาณ 15000 บาท ($500) โฟกัสไปที่วัตถุที่สามารถสะท้อนแสงได้ที่ตั้งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้สามารถสร้างภาพของเอกสาร Ms Word ที่อยู่บนหน้าจอได้ ตอนนี้เขากำลังทำวิจัยขั้นต่อไปครับคือคิดค้นขั้นตอนวิธีวิเคราะห์รูปภาพแบบใหม่ ๆ และใช้กล้องดูดาวเข้ามาช่วย โดยมีความหวังว่าต่อไปจะสามารถดูภาพสะท้อนจากพื้นพิวที่มีความยากขึ้นเช่นตาของคนเราครับ ส่วนใน UCSB ได้พัฒนาโปรแกรมชื่อ Clear shot ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะวิเคราะห์วีดีโอที่บันทึกความเคลื่อนไหวของร่างกายเราในตอนกดแป้นพิมพ์ แล้วโปรแกรมจะบอกได้ว่าเราพิมพ์อะไรบ้าง ซึ่งที่มาของชื่อโปรแกรม Clear Shot นั้นมาจากหนังเรื่อง Sneakers นำแสดงโดย Robert Redford สักประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วครับ มาฉายที่ประเทศไทยด้วย ผมก็ได้ดูครับ สนุกดีตามสไตล์ฮอลลีวูดครับ (ชักนอกเรื่องแล้วกลับมาดีกว่า) คือพระเอกของเรื่องก็กำลังทำสิ่งเดียวกับที่โปรแกรมนี้ทำอยู่ครับ คือดูวีดีโอและพยายามวิเคราะห์ว่ารหัสผ่านที่คนกำลังพิมพ์อยู่คืออะไร และพระเอกก็บอกว่าเอาละตอนนี้กำลังจะได้ clear shot แล้ว ตอนนี้โปรแกรม Clear Shot นี่ทำงานได้เที่ยงตรงประมาณร้อยละ 40 ครับ
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจจากเรื่องนี้มีสองประเด็นครับ แน่นอนครับประเด็นแรกคือประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย นับวันจะเห็นว่ามีวิธีการต่าง ๆ ที่จะขโมยข้อมูลมากขึ้น ก็ให้เรารู้เท่าทันไว้ครับ ซึ่งผมคิดว่าเราคงยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากนัก ผมว่ามันเหมาะกับพวกสายลับมากกว่า แต่ผมว่าสิ่งที่เราต้องทำเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลของเราก็คือเรื่องที่ทำได้ใกล้ ๆ ตัว เช่นหมั่นปรับปรุงฐานข้อมูลไวรัสให้กับโปรแกรมป้องกันไวรัส ตั้งรหัสผ่านให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่บอกรหัสผ่านกับใคร เป็นต้น
อีกประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าก็คือ ผมอยากให้ดูวิธีการคิดของนักวิจัยเหล่านี้ครับ จะเห็นว่าเขาหยิบยกเอาเรื่องใกล้ ๆ ตัว เรื่องที่พวกเรามองข้าม หรือเรื่องที่เป็นความสนุกเช่นการดูหนัง นำมาทำวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวได้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าถ้าเด็กไทยเราได้รับการฝึกฝนก็จะสามารถทำได้เช่นกันครับ เช่นเด็กไทยที่ไปคว้ารางวัลโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกเช่น การเดินของกิ้งกือ หรือการหุบของใบไมยราบ (จำชื่อโครงการจริง ๆ ไม่ได้ ถ้าผิดก็ขออภัย)
เรามาลองคิดงานวิจัยอะไรสนุก ๆ กันดูดีไหมครับ ...

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ซอฟต์แวร์ควรมีนิสัยดี !

ช่วงนี้อาจจะเขียนบล็อกน้อยไปบ้างนะครับ เนื่องจากภารกิจทั้งส่วนรวมและส่วนตัวค่อนข้างเยอะมาก
มาดูที่บทความวันนี้กันดีกว่า สำหรับแหล่งที่มาของบทความนี้ก็มาจาก Computer World ตามลิงก์นี้ครับ http://computerworld.co.nz/news.nsf/devt/A4B9BCCD1B0884FACC2574480019CA20
บทความดังกล่าวเริ่มด้วยคำถามที่ผมคิดว่าคนใช้คอมพิวเตอร์แทบทุกคนต้องเจอ เช่นอยู่ ๆ ก็มีข้อความบอกว่าจะบูตเครื่องใหม่ หรือทำอะไรต่าง ๆ นานาซึ่งใช้เวลานานมาก จนเราไม่สามารถที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเหล่านี้ตัวซอฟต์แวร์ทำเองโดยไม่ถามความเห็นชอบจากเรา หรือยิ่งไปกว่านั้นพวกเราก็คงจะเคยที่จะต้องมาคอยลบไฟล์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งเราก็ไม่เคยคิดที่จะเพิ่มลงในเครื่องของเรา คอยปิดหน้าต่าง (หน้าต่างในคอมพิวเตอร์นะครับ ถ้าหน้าต่างบ้านคุณเปิดเองก็ .... ขอให้โชคดีครับ) ซึ่งเราเองก็ไม่ได้สั่งให้เปิด ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ Brian Whitworth ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ Auckland’s Massey University ได้เขียนบทความบอกว่าโปรแกรมบางตัวนั้นหยาบคาย ดังนั้นอีกหนึง requirement สำหรับโปรแกรมก็คือความสุภาพ Whitewoth ยกตัวอย่างว่าโปรแกรมที่ไม่สุภาพก็เช่นโปรแกรมที่เขียนไฟล์อย่างเช่น cookies ลงในดิสก์ของเรา หรืออยู่ ๆ ก็มาเปลี่ยน default homepage ของเราให้เป็นเว็บของตัวเอง คราวนี้อะไรบ้างถึงจะเรียกว่าโปรแกรมนั้นสุภาพ Whiteworth ได้ให้แนวทางไว้ 4 ข้อด้วยกันคือ
1. ซอฟต์แวร์ควรให้ความเคารพผู้ใช้ โดยไม่มาบังคับทางเลือกให้ผู้ใช้ หรือคัดลอกข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต
2. ซอฟต์แวร์ควรจะประกาศตัวเองว่าใครเป็นเจ้าของและจะติดต่อได้อย่างไร
3. ซอฟต์แวร์ที่สุภาพควรจะให้ผู้ใช้เลือกทางเลือกได้ โดยให้ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย
4. ซอฟต์แวร์ที่สุภาพควรจะจดจำทางเลือกสุดท้ายของผู้ใช้ไว้ด้วย
Whitewoth ได้ยกตัวอย่างของโปรแกรมที่ไม่สุภาพคือ Windows Update เพราะมันบอกเราว่าจะเริ่ม update แล้วนะ แล้วก็รายงานความคืบหน้าของการ update ให้เรารู้ จากนั้นก็บอกว่าเสร็จแล้ว อันนี้ผมเข้าใจว่านาย whiteworth คงจะใช้ระบบ automatic update ส่วนโปรแกรมที่สุภาพนาย Whiteworth ได้ยกตัวอย่างของ google และ e-bay ซึ่งให้ผู้ใช้เลือกเองว่าจะเข้าไปดูเว็บที่ให้การสนับสนุน google หรือเข้าไปดู ข้อเสนออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ผู้ใช้ซื้อหรือไม่
สำหรับเรื่องนี้ผมก็เห็นด้วยในบางส่วน และไม่เห็นด้วยในบางส่วน ผมคิดว่าในการใช้งานซอฟต์แวร์ ผู้ใช้ควรจะต้องศึกษาทำความเข้าใจคุณลักษณะของซอฟต์แวร์ให้ดีในระดับหนึ่งเพื่อจะใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นเราสามารถที่จะปิดระบบ Autoupdate ของ Windows ได้ ถ้าเราต้องการ แต่ในอีกทางหนึ่งถ้าเราปิดระบบ Autoupdate ไว้ก็หมายความว่าเราจะต้องทำการ update ด้วยตนเอง และผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปก็มักจะไม่รู้เรื่องนี้อยู่ดี และทำให้เครื่องของตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยง (แต่ถ้าคิดดี ๆ ถ้าโปรแกรมมันทำมาดีก็ไม่น่าต้อง update บ่อยนะครับ และบางที่ก็ปล่อย bug มากับตัว update ด้วย เช่น Vista :)) แต่ไอ้ที่น่ารำคาญจริง ๆ ก็น่าจะเป็นพวกเปิดหน้าต่างอื่น ๆ ที่เราไม่ได้อยากจะดูขึ้นมาให้เราดูนะครับ หรืออีกอันหนึ่งเวลาใช้ Word ที่มันมักจะมีการแปลงตัวอักษรตัวแรกของประโยค (ภาษาอังกฤษ) ให้เป็นตัวใหญ่ ซึ่งอันนี้ผมก็ว่ามีประโยชน์ แต่ในบางกรณีเราก็ไม่ต้องการ คราวนี้แทนที่เราจะต้องไปคอยเปิดปิดเงื่อนไขนี้ด้วยตัวเอง เจ้า Word ก็น่าจะจำทางเลือกสุดท้ายที่เราเลือกไว้ด้วย ดังนั้นก็อยากจะฝากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลายว่าให้ลองคิดถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย ส่วนผู้ใช้ก่อนที่จะบ่นเรื่องต่าง ๆ ก็ลองถามตัวเองว่าตัวเองได้ศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ ของโปรแกรมดีแล้วหรือยัง
ทิ้งท้ายสำหรับวันนี้ก็คือขนาดซอฟต์แวร์ก็ควรจะมีนิสัยดี แล้วพวกเราล่ะครับ ...

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

วีลแชร์อัจฉริยะ

ต้องขอโทษด้วยที่หายไปหลายวันนะครับ เนื่องจากไม่ว่างจริง ๆ และก็ต้องเดินทางไปสัมมนาวิชาการที่จ.กาญจนบุรีด้วย วันนี้ก็ขอเริ่มด้วยเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ และน่าจะเป็นแนวทางให้ผู้คนในประเทศของเราได้คิดบ้างนะครับ แทนที่จะเอาแต่ทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้....

ประเด็นหลัก ๆ ของเรื่องนี้ก็คือ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Lehigh ใน Bethlehem, Pennsylvania, ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำงานวิจัยร่วมกับ บริษัทชื่อ Freedom Sciences ที่อยู่ใน Philadelphia โดยประดิษฐ์

วีลแชร์อัจฉริยะ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการขึ้น (แต่คงต้องบอกว่าต้องเป็นผู้พิการที่มีฐานะดีมากครับ) กล่าวคือสมมติว่าผู้พิการขับรถตู้มาคนเดียวและเมื่อขึ้นรถตู้ไปแล้ว จะเก็บวีลแชร์นี้อย่างไร โดยงานวิจัยนี้ก็เสนอให้ ใช้รีโมทคอนโทรลเพื่อบังคับให้วีลแชร์นี้ไปที่ด้านหลังรถ โดยด้านหลังรถก็จะมีตัวยกเพื่อนำวีลแชร์นี้ขึ้นไปเก็บบนรถตู้ ถ้าใครไม่เห็นภาพลองดูวีดีโอนี้ครับ http://www.youtube.com/view_play_list?p=A1F1C24123EC0F9E
ซึ่งเขาบอกว่าความยากก็อยู่ตรงนำวีลแชร์เข้าสู่ตัวยกนี้ครับ เนื่องจากต้องให้มีความถูกต้องให้ได้ใกล้เคียงร้อยละร้อย ซึ่งการใช้รีโมทคอนโทรลอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันตรงนี้ได้ ทางนักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับการเข้าจอดของยานอวกาศมาใช้กับการแก้ปัญหานี้เชียวนะครับ ซึ่งผมขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ แต่ถ้าสนใจก็ลองอ่านดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://technology.newscientist.com/article/dn13805-robotic-wheelchair-docks-like-a-spaceship.html

อ่านแล้วรู้สึกเป็นอย่างไรบ้างครับ ดูแล้วจะเห็นว่านักวิจัยของเขามีความพยายามที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ออกมา เพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศนี่เขาจะให้การดูแลผู้พิการดีกว่าบ้านเราเยอะครับ
แต่สำหรับเรื่องวีลแชร์นี้ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่ง ก็เหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน และบางทีก็อาจเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะผู้พิการที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ต้องรวยครับ โดยจะต้องมีรถตู้ขับแล้วก็ติดตั้งระบบที่ว่านี้เข้าไป อันนี้ก็มีผู้ที่โพสต์ให้ความเห็นไว้บน youtube หลายคนครับ รวมถึงคนที่เป็นผู้พิการเองด้วย ซึ่งมีความเห็นหนึ่งบอกว่า ให้ใช้วีลแชร์แบบพับเก็บได้ เมื่อขึ้นรถไปแล้ว ก็พับเจ้าวีลแชร์นี้ขึ้นรถไปด้วย ซึ่งก็ง่ายและถูกกว่าเทคโนโลยีนี้นะครับ
ดังนั้นก็อยากจะฝากเป็นมุมมองให้พวกเราได้คิดและวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียงด้วยนะครับ.

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

แฮกเกอร์อาจใช้กลไกทางฮาร์ดแวร์ในการเจาะระบบ

วันนี้ขอเป็นเรื่องสั้น ๆ แล้วกันนะครับ เรื่องที่จะเล่าให้ฟังวันนี้ก็มาจาก ACM Technews เช่นเดิมครับ โดยสรุปก็คือว่ามีความเป็นไปได้ที่แฮกเกอร์จะใช้วิธีการทางฮาร์ดแวร์ในการเจาะระบบ โดยแอบเพิ่มวงจรที่ใช้ในการเจาะระบบเข้าไปในหน่วยประมวลผล ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็หมายความว่าแฮกเกอร์จะมีระดับการเข้าควบคุมคอมพิวเตอร์ของเราได้ดีกว่าไวรัส เพราะมันทำงานในระดับฮาร์ดแวร์ แต่ก็อย่าตกใจมากนะครับ เพราะการติดตั้งวงจรประสงค์ร้ายเหล่านั้น ไม่ได้ติดตั้งง่ายเหมือนซอฟต์แวร์ กล่าวคือแฮกเกอร์จะต้องหาทางติดตั้งวงจรนี่ลงไปในช่วงการผลิตชิปครับ ซึ่งถ้าทำได้ก็แสดงว่าคนในเป็นใจละครับ

วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การ์ตูนและนวนิยายกับการเขียน

วันนี้ดูจากหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ นะครับว่าจะมาไม้ไหน เดี๋ยวคอยติดตามแล้วกันนะครับ...


ความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ของผมเริ่มจาก เมื่อสักประมาณปลายสัปดาห์ก่อนผมได้รับอีเมล์จากเพื่อน ซึ่งในอีเมล์นั้นก็ได้แนบพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับการ์ตูนมาด้วย ซึ่งผมก็ได้ไปโพสต์ไว้ให้ดาวน์โหลดกันผ่านทางลิงค์นี้นะครับ http://www.beupload.com/download/?0092d074e10b35469302f7ede58306e8
ลองไปอ่านกันดูนะครับ สนุกและเข้าใจได้ง่ายดี

ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการใช้การ์ตูนให้เป็นประโยชน์อย่างมาก การ์ตูนสามารถสื่อความเข้าใจจากเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่าน ๆ มา จะมีการ์ตูนอย่างเช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์คุณทองแดงฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับการ์ตูนเป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกว่าดีมากครับ เพราะทำให้คนไทยหลาย ๆ คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้อ่านงานที่มีคุณค่า หรือทำให้ชาวบ้านอย่างพวกเราเข้าใจประเด็นข้อกฏหมายในรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น (ไม่ทราบพวกที่จะไปเยิ้ว ๆ ให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนี่ได้อ่านบ้างหรือเปล่า) ในปัจจุบันจะมีการ์ตูนซึ่งเป็นลักษณะที่สอนวิทยาศาสตร์ ไม่ทราบเคยได้ยินกันไหมครับ (ส่วนผมรู้เพราะลูก ๆ ผมชอบอ่านครับ) เช่นเอาชีวิตรอดบนเกาะร้าง เอาชีวิตรอดในป่าลึก หรืออย่างนวนิยายนักสืบอย่างเช่นเชอร์ลอกโฮล์มก็ทำเป็นการ์ตูน ซึ่งต้องบอกว่าลูกทั้งสองคนของผมชอบมาก ไปร้านหนังสือทีไรก็จะต้องซื้อกันคนละเล่มสองเล่ม ซึ่งในสมัยผมเป็นเด็กไม่มีนะครับ ตัวผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ประมาณ ป. 3 นี่ก็อ่านหนังสือแตกแล้ว ถ้าจำไม่ผิดหนังสือนิยายเล่มแรกที่อ่านนี่คือ พล นิกร กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต (อันนี้คนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้วนะครับ) จากนั้นผมก็อ่านเรื่อยมา เช่นเพชรพระอุมาของพนมเทียน และก็นิยายจีนกำลังภายของโก้วเล้ง กิมย้งนี่ก็อ่านมาจนหมดครับ ส่วนการ์ตูนก็มีนะครับ แต่จะเป็นพวกขายหัวเราะ หรือหนูจ๋า (หลายคนคงไม่รู้จัก) ผมมาเริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างที่เด็กสมัยใหม่อ่านกันนี่ตอนเรียน ป.ตรีครับ ในช่วงนั้นก็รู้สึกจะมีสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นเจ้าหลักครับ ที่ชอบอ่านก็เช่น โดเรมอน ดราก้อนบอล ซึบาสะ และซิตี้ฮันเตอร์ เด็ก ๆ รุ่นใหม่คุ้นไหมครับ พวกคุณก็ยังรู้จักเรื่องพวกนี้อยู่ใช่ไหมครับ

ประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อในวันนี้คือ การ์ตูนมีประโยชน์ในการทำให้เรื่องยากเข้าใจได้ง่ายและอ่านสนุก ดังนั้นผมรู้สึกดีใจที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ผ่านทางการ์ตูนได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะไม่ได้จากการ์ตูนก็คือภาษาที่เป็นการบรรยาย เพราะการ์ตูนจะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาพเป็นหลัก และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลาย ๆ คนที่อ่านแต่การ์ตูน เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนหนังสือหรือรายงานจะทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะตัวเองไม่เคยได้สัมผัสว่าการบรรยายด้วยตัวอักษรนั้นเขาทำกันอย่างไร จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เป็นอาจารย์ และควบคุมงานวิจัยมาเป็นสิบ ๆ ปี ผมพบว่านักศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับป.ตรี ป.โท หรือ ป.เอก มีปัญหานี้ครับ ซึ่งจากการสอบถามก็คือส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสืออื่น ๆ จะอ่านแต่ตำรา (ถูกบังคับให้อ่าน) และการ์ตูนเป็นหลัก ซึ่งหนังสือตำราบางเล่มที่วางขายกันในท้องตลาดปัจจุบันนี้คุณลองอ่านดูซิครับว่ามันอ่านรู้เรื่องไหม คนเขียนต้องการจะสื่ออะไร บางทีก็ไปแปลฝรั่งมาทั้งประโยคโดยไม่ได้ขัดเกลาเลย

ดังนั้นผมจึงอยากจะเชิญชวนครับว่า นอกจากคุณจะหาความเพลิดเพลินจากการ์ตูนแล้ว ยังมีหนังสือนวนิยาย หรือความรู้ดี ๆ ที่ไม่ใช่การ์ตูนอีกมากมาย หนังสือเหล่านี้นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังให้ทักษะในด้านการบรรยาย การใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย ซึ่งผมมั่นใจครับว่าจะช่วยให้ทักษะในการเขียนของพวกคุณดีขึ้นอย่างแน่นอน

วันนี้คุณอ่านนิยายหรือยังครับ...