แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ 3G Thailand แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ 3G Thailand แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ความจริงที่ผมได้รู้จากการที่ศาลสั่งระงับการประมูลใบอนุญาต 3G

ขอเขียนถึงเรื่อง 3G นี้อีกสักวันแล้วกันนะครับในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่รออยู่แล้วก็ต้องผิดหวังไม่รู้ว่าจะต้องรอต่อไปอีกนานเท่าไร จริง ๆ แล้วถ้าพูดถึงเรื่อง 3G ประเทศเราก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใช้นะครับ เพียงแต่ว่าคุณภาพบริการมันยังไม่ดี สัญญาณมา ๆ หาย ๆ และไม่สามารถตอบสนองต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ ดังนั้นถ้าการประมูลนี้สำเร็จจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติในหลาย ๆ ด้าน ความไม่เท่าเทียมกันด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างคนเมืองกับคนชนบทจะน้อยลง แต่เมื่อมีอันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่รู้อนาคตอย่างนี้ ก็ทำให้ประเทศเราเสียโอกาสไปหลาย ๆ อย่าง น่าอิจฉาประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าเราอย่างลาวหรือกัมพูชา ประเทศเหล่านี้มี 3G ใช้กันแล้ว

คราวนี้มาดูว่าผมพบความจริงอะไรบ้างจากเรื่องที่เกิดขึ้น ความจริงที่ผมพบประการแรกเป็นความจริงที่น่ากลัวมากครับ คือประเทศของเรานี้ทำงานและบริหารงานกันโดยไม่มีใครรู้อะไรจริง ๆ เลย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประมูลคือ กทช. ก็ไม่ได้รู้จริงว่าตัวเองมีอำนาจหรือเปล่า รัฐบาลก็ไม่รู้เพราะถ้ารู้ก็คงไม่ปล่อยให้ กทช. ดำเนินงานมาถึงขนาดนี้ ปัญหาคือมันมีองค์กรต่าง ๆ ถูกตั้งขึ้นมาเต็มไปหมด อย่าง กทช. และกสทช. ซึ่งก็มีชื่อคล้ายกันมาก ผมยังเข้าใจผิดเลยว่า กทช. ก็คือ กสทช. แต่เปลี่ยนชื่อให้สั้นลง แต่ประเด็นคือรัฐบาลต้องรู้สิครับ เพราะเท่าที่ผมติดตามข่าวมาอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่มันเป็นของ กสทช. รัฐบาลจะต้องรู้และควรจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น โดยรีบสรรหากรรมการ กสทช. เพื่อมาดำเนินการ ส่วนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ICT ก็ออกมาทำได้แค่ขอโทษและยังให้ข้อมูลผิด ๆ อีก เช่นผู้ให้บริการอย่าง AIS หรือ DTAC ได้ให้บริการ 3G กับคนในกรุงเทพทั่ว ๆ ไปแล้ว ทั้งที่จริง ๆ มันไม่ใช่ ถ้าผมเป็นนายกผมคงต้องขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ลาออก หรือถ้าผมเป็นรัฐมนตรีเองผมจะขอลาออกครับ

ความจริงประการที่สองก็คือรัฐวิสาหกิจที่ชอบออกมาโวยวายตอนที่มีรัฐบาลหนึ่งจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ บอกว่าประเทศชาติและประชาชนจะเสียประโยชน์อย่างนู้นอย่างนี้ ตอนนี้พวกเราคงเห็นนะครับว่าเขาเห็นกับประโยชน์ของใครมากกว่า จริง ๆ ถ้าออกมาคัดค้านเพราะรู้เรื่องว่า กทช. ไม่มีอำนาจ ถ้าตัวเองไม่คัดค้านจะกลายเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่อ้างมา ก็น่าจะทำแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ กทช. เขาเริ่มดำเนินการ ป่านนี้รัฐบาลก็คงจะรู้ตัวและรีบเริ่มดำเนินการสรรหา กสทช.ไปแล้ว นี่จนเขาจะทำเสร็จอยู่แล้วเพิ่งจะออกมาคัดค้าน ประเทศชาติต้องเสียงบประมาณไปเปล่า ๆ ไม่รู้เท่าไร แถมยังบอกด้วยว่าการดำเนินการนี้ทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์จึงต้องออกมาคัดค้าน

ขอฝากรัฐวิสาหกิจหน่วยงานที่มี 3G ของตัวเองอยู่ตอนนี้เมื่อออกมาคัดค้านเขาแล้วก็ช่วยคิดถึงประเทศชาติโดยปรับปรุงระบบของตัวเองที่มีอยู่ให้ดี และให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ใช้ด้วยนะครับ

จริง ๆ วันศุกร์แล้วไม่อยากเขียนเรื่องเครียด แต่ก็ขอเขียนบอกเล่าความรู้สึกหน่อยแล้วกันครับ เพราะรู้สึกแย่จริง ๆ กับเรื่องนี้

ป.ล. ขอเพิ่มเติมลิงก์ไปยังบล็อกนี้ นะครับเพราะมีข้อมูลที่ดีเกี่ยวกับหลาย ๆ เรื่องที่ผมคิดว่าหลายคน(รวมถึงผมด้วยยังเข้าใจผิดอยู่) และจะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหานี้มากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เกี่ยวกับ 3G ในประเทศไทย จากความเห็นของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กทช.

ผมได้อ่าน Time Line ใน Twitter เกี่ยวกับเรื่อง 3G ในประเทศไทย ซึ่ง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ (@DrNatee39G ) หนึ่งในกรรมการ กทช. ได้ tweet มาเล่าให้ follower ฟังกัน ซึ่ง พ.อ.ดร.นที บอกว่าจริง ๆ แล้วได้ให้สัมภาษณ์ทาง DM (direct message) กับคุณปานระพี @panraphee จากช่อง 3 ไปแล้วรอบหนึ่งแต่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงเอามา tweet ให้ follwer อีกที ผมก็เลยสรุปประเด็นมาเล่าให้ฟังกัน และเสริมความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้างนะครับ

ผมคงไม่นำมาเล่าทั้งหมดนะครับ ถ้าใครอยากดูข้อความทั้่งหมดก็ขอเชิญไปดูจาก twitter ของ พ.อ.ดร.นที ได้ แต่ผมอยากจะสรุปเฉพาะประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจมาให้อ่านกัน ประเด็นแรกก็คือในประเทศไทยเราเปิดประมูล 3.9G ไม่ใช่ 3G แล้วมันต่างกันยังไง จริง 3.9G ก็คือเทคโนโลยี 3G แต่มีความเร็วมากขึ้น คือข้อกำหนดพื้นฐานของ 3G มีความเร็วอยู่ที่ 2 Mbps แต่ 3.9G จะอยู่ที่ 42 Mbps พ.อ.ดร.นที สรุปง่าย ๆ ว่า 3.9G ก็คือเวอร์ชัน 3G ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และถ้าเราประกาศว่าเราจะเปิด 3.9G จะทำให้เราประกาศตัวเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะใช้เทคโนโลยีนี้พร้อมกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเราประกาศ 3G เราจะกลายเป็นประเทศรองบ๊วยในอาเซียนที่ใช้ 3G (ประเทศบ๊วยนี่คือประเทศอะไรใครทราบบ้างครับ) อันนี้คิดว่า พ.อ.ดร.นที คงพูดตลก ๆ นะครับ คงไม่มีใครคิดจะทำวิธีนี้ในการหนีบ๊วยหรอกนะครับ

คำถามต่อไปคือทำไมไม่ประกาศ 4G ไปเลย คำตอบก็คือ มาตรฐานของ 4G จะกำหนดชัดเจนในปีหน้า และอาจต้องรออุปกรณ์อีก 3-4 ปี ส่วน 3G จะให้ประโยชน์อะไรบ้างคำตอบก็คือบริการ broadband จะไปอย่างทั่วถึง จะสามารถครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 80 ของประเทศได้โดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 4 ปี โดย ADSL ปัจจุบันใช้ได้กับประชากรร้อยละ 10 เท่านั้น การมีบริการ 3G จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ได้ และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ให้ทั้งคนเมืองและชนบทมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

นอกจากนี้ พ.อ.ดร.นที ยังได้พูดถึงโครงการต่อจาก 3G ว่าก็คือโครงการที่ในเมืองใหญ่ ๆ จะมีบริการผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงทีเรียกว่า Fiber to the Home (FTTH) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ตัวผมเองเห็นด้วยว่าดีมาก และควรจะมีได้ตั้งนานแล้ว ในส่วนตัวผมมองว่าถ้าจุดใดสามารถที่จะเดินสายได้ก็ควรจะเดินสาย เพราะการสื่อสารแบบมีสายเช่นนี้จะเสถียรและมีประสิทธิภาพมากกว่าไร้สาย

จริง ๆ พ.อ.ดร.นที ยังได้พูดถึงเรื่องการประมูลใบอนุญาตว่าแตกต่างจากสัมปทานอย่างไร แต่ผมคงไม่มาพูดถึงในที่นี้นะครับ ขอพูดถึงแต่ในแง่มุมที่น่าจะทำให้เรามองเห็นประโยชน์ และอนาคตของเครือข่ายโทรคมนาคมในบ้านเรา เราก็มานับวันรอกันที่จะได้ใช้เครือข่าย broadband ความเร็วสูงกันเถอะครับ และช่วยภาวนาให้มันเสถียร และราคาอยู่ในจุดที่พอรับได้ด้วยนะครับ