วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565

เมืองต่าง ๆ ใช้ฝาแฝดดิจิทัลอย่าง SimCity เพื่อช่วยสร้างนโยบาย

city-plan
ภาพจาก Bloomberg CityLab

เมืองต่าง ๆ เช่น ออร์แลนโด ฟลอริดา และสิงคโปร์ใช้ฝาแฝดดิจิทัลในการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของตนเอง เพื่อจำลองผลกระทบของนโยบายหรือโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ที่อาจให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในโลกจริง

ตัวอย่างเช่น  Orlando Economic Partnership และบริษัทเกม Unity ได้พัฒนาตัวแบบสามมิติ (3D) ของพื้นที่ในเมืองนำไปแสดงต่อนักลงทุนทีมีศักยภาพ เพื่อพยายามขยายพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี

ในขณะเดียวกัน โมเดล Virtual Singapore รวมภาพระดับถนนมากกว่า 3 ล้านภาพและภาพถ่ายทางอากาศ 160,000 ภาพ รวมถึงจุดข้อมูล 3 มิติอีกนับพันล้านจุด ซึ่งกินข้อมูลดิบเกินกว่า 100 เทราไบต์ Victor Khoo แห่งหน่วยงาน Singapore Land Authority กล่าวว่าแบบจำลองนี้มีความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบแต่ละอัน ทำให้ง่ายต่อการทดสอบการตอบสนองต่อสภาวะต่าง ๆ ในการจำลองแบบต่าง ๆ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg CityLab

 

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

ค่าไฟแบบ TOU จริง ๆ เดือนแรกมาแล้ว

TOU-meter
มิเตอร์ TOU

วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อเนื่องจากบทความเรื่องไฟ TOU อันแรกนะครับ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็อาจเข้าไปอ่านก่อนได้นะครับ  เรื่องวุ่น ๆ กับไฟ TOU  แต่ถ้าขี้เกียจอ่านผมสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ก็คือ ผมได้ขอติดตั้งไฟแบบ TOU คือคิดอัตราตามเวลาการใช้งาน คือ 9.00-22.00 วันจันทร์ถึงศุกร์ก็แพงหน่อย แต่จาก 22.00-9.00 วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการก็ถูกหน่อย โดยการไฟฟ้าได้มาติดตั้งให้ในเดือนธันวาคม แต่ปรากฏว่ามิเตอร์ที่การไฟฟ้าเอามาติดเสีย การไฟฟ้าก็เลยประมาณ (มโน) ค่าไฟบ้านผมมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะต้องรอเบิกมิเตอร์ใหม่ 

แต่ในเดือนมีนาคมผมก็ได้ยอดใช้จ่ายจริงมาแล้วครับ วันนี้ผมก็เลยจะมาลองคำนวณให้ดูนะครับว่าค่าไฟถ้าคิดแบบ  TOU กับแบบเดิมมันประหยัดลงมากไหม เพราะในบทความแรกก็มีคนอยากรู้ เพราะถ้าคุ้มเขาก็อยากลองไปติดบ้าง ในบทความนี้ผมจะคิดเฉพาะค่าไฟนะครับ ไม่ได้คิดค่าบริการ ค่า FT และ VAT  โดยเดือนมีนาคมนี้ตามบิลค่าไฟบ้านผมใช้ไปแบบนี้ครับ on peak (ราคาแพง) 98 หน่วย off peak (ราคาถูก)  489 หน่วย ถ้าไม่คิดแยกเท่ากับบ้านผมใช้ไฟรวม 587 หน่วยนะครับ

โอเคคราวนี้มาดูอัตราค่าไฟกันครับ รายละเอียดตามลิงก์นี้ครับ  

เนื่องจากบ้านผมเป็นบ้านพักอาศัย และมีอัตราการใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ดังนั้นอัตราค่าไฟก็คือ 

 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 150) 3.2484

250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400)  4.2218

เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ถ้าคิดตามสูตรนี้ก็คือ ผมจะต้องเสีย 150 * 3.2484 + 250 * 4.2218 + 187 * 4.4217 = 2369.56 บาท 

แต่ถ้าคิดแบบ TOU ของผมจะเข้า 1.2.2 อัตราก็คือ 

 แรงดันตํ่ากว่า 22 กิโลโวลท์ on peak 5.7982, off peak   2.6369

ค่าไฟที่ผมต้องจ่ายคือ 98 * 5.7982 + 489 * 2.6369 = 1857.66 บาท

ดังนั้นส่วนต่างก็คือ 2369.56-1857.66 = 511.9 บาท  เท่ากับประหยัดไปได้ประมาณ 500 บาท

สำหรับใครที่อ่านถึงตรงนี้แล้วอยากจะเปลี่ยนมาใช้แบบนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มอย่างนี้นะครับ มันมีค่าเปลี่ยนมิเตอร์อยู่ประมาณ 6600 บาท ซึ่งถ้าผมประหยัดได้เดือนละ  500 แบบนี้ จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจึงจะได้จำนวนเงินเท่ากับค่ามิเตอร์ที่จ่ายไป นั่นคือจะประหยัดได้จริง ๆ ก็ต้องหนึ่งปีผ่านไปแล้ว และเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟสักเล็กน้อยนะครับ อย่างเปิดแอร์ผมก็จะรอสี่ทุ่ม จะซักผ้าโดยใช้เครื่องซักผ้า อบผ้า ก็จะรอสี่ทุ่ม หรือรอวันหยุด อีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือถ้าใครไปขอเปลี่ยนแล้ว แล้วปรากฏว่าค่าไฟมันแพงกว่าเดิม จะขอเปลี่ยนกลับเลยไม่ได้นะครับ จะต้องใช้แบบนี้ไปอย่างน้อยหนึ่งปีจึงจะขอเปลี่ยนกลับได้ 

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนนะครับ อ้อเกือบลืมศุกร์นี้อยู่ในช่วงสงกรานต์พอดี ก็ขออวยพรให้มีความสุขกัน เดินทางปลอดภัย และรอดพ้นภัยโควิดนะครับ สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยครับ...  

เงินเดือนของวิศวกรซอฟต์แวร์ในปี 2022

SE-Salary
ภาพจาก  IEEE Spectrum

รายงาน State of Software Engineers ปี 2022 ของ Hired ซึ่งเป็น ตลาดการจ้างงานออนไลน์  ประเมินทักษะที่ต้องการมากที่สุดและค่าจ้างที่ได้ โดยวิเคราะห์การโต้ตอบประมาณ 366,000 รายการระหว่างบริษัทและวิศวกรซอฟต์แวร์ และจากการสำรวจวิศวกรอีกกว่า 2,000 คน

Hired พบว่าจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้วทำให้ความต้องการวิศวกรความมั่นคง (security engineer) เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เงินเดือนเฉลี่ยของพวกเขาพุ่งขึ้น 7.59% เทียบกับปี 2020 วิศวกรที่มีทักษะการเขียนโปรแกรม Go ถูกเรียกสัมภาษณ์ 1.8 เท่าของวิศวกรซอฟต์แวร์ทั่วไป ในขณะที่ Python และ JavaScript เป็นภาษาที่พวกเขาชื่นชอบ โดยผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าเพราะมีไลบรารีและแพ็คเกจที่มีประโยชน์และได้รับการดูแลอย่างดี

เงินเดือนเฉลี่ยสำหรับวิศวกรซอฟต์แวร์ในซิลิคอนแวลลีย์เพิ่มขึ้น 2% ในปี 2021 เป็น 170,000 ดอลลาร์ต่อปี และเงินเดือนสำหรับวิศวกรที่ทำงานจากระยะไกลที่ Bay Area เพิ่มขึ้นเป็น 168,000 ดอลลาร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  IEEE Spectrum

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

อัลกอริทึมสามารถระบุบุคคลได้จากจังหวะการเต้นของหัวใจ

heart-beat
ภาพจาก Universidad Carlos III de Madrid (Spain)

นักวิจัยจาก Universidad Carlos III de Madrid (UC3M) ของสเปนและ Shahid Rajaee Teacher Training University ของอิหร่านกำลังพัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถระบุตัวบุคคลจากจังหวะการเต้นของหัวใจ Carmen Cámara แห่ง UC3M กล่าวว่านักวิจัยได้วิเคราะห์การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ราวกับว่ามันเป็นคลื่นเสียง โดยใช้คุณสมบัติทางดนตรีของไดนามิก จังหวะ เสียงต่ำ ระดับเสียง และโทนเสียง 

Pedro Peris-López จาก UC3M บอกว่า ผลที่ได้คือการผสานพารามิเตอร์ที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละคน โดยมีอัตราแม่นยำที่ 96.6% โดยวิธีนี้ให้มาตรวัดทางชีวภาพแบบสากล (universal biometric measure)   และยังเสริมว่า "ทุกวันนี้ มีสร้อยข้อมือและนาฬิกาอัจฉริยะที่บันทึก ECG อยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอกับการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ใช้อัลกอริธึมการระบุตัวตนของเรา"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Universidad Carlos III de Madrid (Spain)

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2565

FBI บอกว่าสามารถขัดขวางแฮกเกอร์รัสเซียได้

FBI-Building
ภาพจาก Reuters

เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่า FBI ได้เข้าควบคุมเราเตอร์และอุปกรณ์ไฟร์วอลล์หลายพันเครื่องจากแฮ็กเกอร์ชาวรัสเซีย โดยกล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการพยายามป้องกันไม่ให้แฮ็กเกอร์เชื่อมโยงอุปกรณ์เข้ากับบ็อตเน็ต ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถโจมตีเซิร์ฟเวอร์อื่นโดยสร้างทราฟฟิกปลอมได้

Merrick Garland อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "โชคดีที่เราสามารถทำลายบ็อตเน็ตนี้ได้ก่อนที่จะใช้งานได้" บ็อตเน็ตถูกควบคุมโดยมัลแวร์ Cyclops Blink ซึ่งหน่วยงานป้องกันภัยทางอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรระบุว่าเป็น Sandworm ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองทางทหารของรัสเซีย 

Chris Wray ผู้อำนวยการ FBI กล่าวว่า "เราลบมัลแวร์ออกจากอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจขนาดเล็กหลายพันแห่งเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเครือข่ายของโลก เราได้ปิดประตูที่รัสเซียเคยใช้”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters