วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566

Mac ของ Apple อาจไม่ปลอดภัยจากซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่

apple-mac-book
ภาพจาก Ars Technica

นักวิจัยด้านความปลอดภัยกำลังวิเคราะห์ตัวอย่างแรนซัมแวร์ Mac ที่เพิ่งค้นพบจากแก๊งค์ LockBit ในรัสเซีย ซึ่งเป็นตัวอย่างแรกของกลุ่มซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) รายใหญ่ที่ปรับแต่งมัลแวร์เวอร์ชันสำหรับ macOS

ดูเหมือนว่าจะมีการพบกลุ่มตัวอย่างครั้งแรกในพื้นที่เก็บข้อมูลการวิเคราะห์มัลแวร์ของ VirusTotal ในเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม 2022 แต่เพิ่งสังเกตเห็นชัดในวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ตัวอย่างหนึ่งดูเหมือนจะเป็นเวอร์ชันของตัวเข้ารหัส (encryptor) ที่กำหนดเป้าหมายไปยัง Mac รุ่นใหม่ที่ใช้โปรเซสเซอร์ของ Apple และ Mac รุ่นเก่าที่ขับเคลื่อนด้วยชิป PowerPC

Patrick Wardle จาก The Objective-See Foundation กล่าวว่า “ในแง่หนึ่ง Apple นำหน้าภัยคุกคาม เนื่องจาก macOS เวอร์ชันล่าสุดมาพร้อมกับกลไกการรักษาความปลอดภัยในตัวมากมายที่มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางโดยตรงหรืออย่างน้อยก็ลดผลกระทบจากการโจมตีของซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ที่ได้รับทุนสนับสนุนอย่างดีจะยังคงปรับปรุงผลงานที่เป็นอันตรายต่อไป”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566

วิศวกรซอฟต์แวร์มีความสร้างสรรค์ขึ้นขณะเฝ้ารอการมาถึงของคอมพิวเตอร์ควอนตัม

molecule-simulation
ภาพจาก Reuters

บริษัทสตาร์ตอัพกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ประเภทใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากควอนตัมอัลกอริทึมที่สามารถนำมาปรับใช้กับคอมพิวเตอร์แบบคลาสสิกที่มีหน่วยประมวลผลกราฟิก หรือ GPU ในขณะที่การพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมดำเนินต่อไป

Matt Johnson จาก QC Ware กล่าวว่าบริษัทใช้ GPU ของ Nvidia เพื่อนำเสนอ "การเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพครั้งใหญ่" แก่ลูกค้า ในขณะเดียวกันก็เป็น "สะพานเชื่อมสู่การประมวลผลแบบควอนตัมในอนาคต"

Promethium แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากควอนตัมของ QC Ware ใช้ GPU เพื่อจำลองโมเลกุลของสารเคมีในคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม

Robert Parrish จาก QC Ware กล่าวว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถลดเวลาการจำลองให้เหลือในหลักนาทีสำหรับโมเลกุลที่มีอะตอมไม่เกิน 100 อะตอม และหลักชั่วโมงสำหรับโมเลกุลที่มีอะตอมไม่เกิน 2,000 อะตอม

ในขณะเดียวกัน Alphabet spinoff SandBoxAQ นำเสนออัลกอริทึมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากควอนตัม ซึ่งอำนวยความสะดวกในการจำลองทางเภสัชโดยใช้ชิปปัญญาประดิษฐ์ Tensor Processing Unit (TPU) ของ Google

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566

ฟอร์ดปล่อยระบบขับรถแบบปล่อยมือบนมอเตอร์เวย์ของสหราชอาณาจักร

car
ภาพจาก BBC News

รัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรได้อนุมัติการใช้ระบบการขับขี่แบบ "มือปล่อย ตาจ้อง (hands-off, eye-on)" ของฟอร์ดบนมอเตอร์เวย์ของอังกฤษ ซึ่งในเบื้องต้นจะมีให้ในรถยนต์อเนกประสงค์ไฟฟ้า Mustang Mach-E  รุ่นปี 2023

ระบบสามารถสั่งงานการบังคับเลี้ยว การเร่งความเร็ว และการเบรกของรถได้ในขณะที่กล้องจับดูตาของคนขับเพื่อให้แน่ใจว่าคนขับตื่นตัว

BlueCruise ตรวจสอบยานพาหนะคันอื่น จำกัดความเร็ว และตัวถนนในขณะที่รักษารถให้อยู่ในเลน ระบบจะส่งเสียงเตือน จากนั้นจึงเบรกและชะลอความเร็วหากคนขับละสายตาจากถนน

Thatcham Research บริษัทวิจัยด้านยานยนต์กล่าวว่าสิ่งนี้ไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นรถยนต์ไร้คนขับ แต่เป็น "ก้าวต่อไปของเทคโนโลยีช่วยการขับขี่"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC News

วันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2566

เข้าสู่ยุคของการพิมพ์สามมิติพิมพ์ได้แม้แต่ DNA

DNA-3DPrint
ภาพจาก Pohang University of Science and Technology (South Korea)

เทคนิคที่พัฒนาโดยนักวิจัยแห่ง Pohang University of Science and Technology (POSTECH) ของเกาหลีใต้ รักษาโครงสร้างการพับและการทำงานของโมเลกุลของโพลิเมอร์ชีวภาพผ่านการพิมพ์สามมิติ 

เทคนิคนี้ช่วยให้สามารถผลิตสถาปัตยกรรมโพลิเมอร์ชีวภาพ 3 มิติที่มีขนาดและรูปทรงเรขาคณิตที่ควบคุมได้อย่างแม่นยำที่ความละเอียดระดับต่ำกว่าไมครอน พร้อมความเสถียรเชิงกลและความสมบูรณ์ของฟังก์ชัน

Jung Ho Je จาก POSTECH กล่าวว่างานวิจัยนี้มีศักยภาพในการขยายไปสู่การพิมพ์วัสดุต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติทางแสงและทางไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมถึงวัสดุที่ซับซ้อน เช่น จุดควอนตัม (quantum dot) และคาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotube)

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Pohang University of Science and Technology (South Korea)

วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566

ปืนอัจฉริยะกระบอกแรกของโลกที่ใช้ลายนิ้วมือปลดล็อก

smart-gun
ภาพจาก CBS News

Biofire Technologies ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากล่าวว่าได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าปืนอัจฉริยะชีวมาตร (biometric) ตัวแรกของโลก โดยเป็นปืนขนาด 9 มม. ที่รักษาความปลอดภัยด้วยลายนิ้วมือและการจดจำใบหน้าอินฟราเรดสามมิติ 

เซ็นเซอร์ IR ในด้ามจับทำให้ปืนพร้อมใช้งานเมื่อผู้ใช้ที่ได้รับอนุญาตกำลังถือมันอยู่ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจสอบยืนยันตัวตนแบบชีวมาตรอย่างต่อเนื่อง ปืนดังกล่าวใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้เป็นแหล่งพลังงาน Biofire กล่าวว่าแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานนานหลายเดือนโดยเฉลี่ย และสามารถยิงต่อเนื่องได้นานหลายชั่วโมง 

Kai Kloepfer ผู้ก่อตั้ง Biofire กล่าวว่า "เราใช้หลักการทางวิศวกรรมที่มีความแม่นยำสูงเพื่อสร้างผลกระทบที่มีความสำคัญต่อการป้องกันการเสียชีวิตของเด็ก ๆ จากการแอบเอาปืนไปเล่น"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CBS News