วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ควอนตัมจะเป็นคีย์สำคัญในการทำให้การประชุมทางไกลมีความปลอดภัย

quantum-key
ภาพจาก Heriot-Watt University (U.K.)

นักวิทยาศาสตร์ใน Quantum Communications Hub แห่งมหาวิทยาลัย Heriot-Watt ในสหราชอาณาจักร ซึ่งทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมัน ได้เสนอวิธีในการสนทนาสี่ทางที่ใช้การรักษาความปลอดภัยด้วยควอนตัม ซึ่งเป็นผลมาจากการแจกจ่ายคีย์แบบควอนคตัม (Quantum Key Distribution) หรือ QKD ไปใช้ในเครือข่ายเป็นครั้งแรก ทีมงานใช้กระบวนการที่เรียกว่า Quantum Conference Key Agreement เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของระบบ QKD แบบดั้งเดิมที่แชร์คีย์ได้ระหว่างผู้ใช้เพียงสองคนเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้เป็นครั้งแรกที่ทำให้การประชุมทางไกลแบบควอนตัมสามารถแชร์ภาพแมวเชสเชียร์ระหว่างผู้ร่วมประชุมสี่คน ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยเส้นใยแก้วนำแสง (optical fiber) โดยระยะทางที่ห่างกันสูงสุดของผู้เข้าร่วมประชุมคือ 50 กิโลเมตร (31 ไมล์) Alessandro Fedrizzi จาก Heriot-Watt กล่าวว่า "งานของเราเป็นตัวอย่างแรกที่ประสบความสำเร็จผ่าน 'การกระทำที่น่าตื่นเต้น (spooky action)' ระหว่างผู้ใช้หลายคนพร้อมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำไปใช้งานได้สำหรับควอนตัมอินเทอร์เน็ตในอนาคต"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Heriot-Watt University (U.K.)


วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นักวิจัยจาก Cylab ค้นพบประเภทใหม่ในการจู่โจมทางไซเบอร์ของยานพาหนะ

smart car
Photo by Brock Wegner on Unsplash

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon หรือ CMU ได้นำทีมในการระบุช่องโหว่ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ประเภทใหม่ในยานพาหนะ ซึ่งอาจทำให้แฮ็กเกอร์สามารถเลี่ยงระบบตรวจจับการบุกรุกยานพาหนะจากระยะไกล และดับเครื่องยนต์และส่วนประกอบอื่น ๆ ในขณะเดียวกันนักวิจัยพบว่าแฮกเกอร์ไม่สามารถเปิดการโจมตีประเภทนี้ได้หากไม่ได้เจาะเครือข่ายของยานพาหนะก่อน Shalabh Jain จาก Bosch Research กล่าวว่า "ช่องโหว่ประเภทนี้สามารถให้ทิศทางใหม่สำหรับการขับเคลื่อนซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การโจมตีที่ใหญ่ขึ้น" กลยุทธ์การโจมตีที่ทีมค้นพบสามารถปิดชุดควบคุมไฟฟ้า (electrical control unit) หรือ ECU  ที่ควบคุมการทำงานของรถยนต์สมัยใหม่ได้เกือบทั้งหมด Sekar Kulandaivel จาก CMU กล่าวว่า "ในการป้องกันตัวเองจากการโจมตีประเภทนี้ให้ได้ผลอย่างแท้จริง คุณต้องอัปเดตฮาร์ดแวร์"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University CyLab Security and Privacy Institute

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เราจะปรับปรุงห้องเรียนเสมือนได้อย่างไร

virtual-classroom
ภาพจาก UC San Diego News Center

นักวิจัยจากภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (CSE) ของ University of California, San Diego และ Carnegie Mellon University ได้สำรวจข้อบกพร่องของการเรียนรู้เสมือนจริง และเสนอแนวทางในการปรับปรุงประสบการณ์การเรียนการสอนให้ดีขึ้น นักวิจัยพบว่าข้อที่อาจารย์บ่นมากที่สุดคือนักศึกษาจำนวนมากไม่ยอมเปิดใช้งานกล้อง แต่ก็พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ต่อต้านการเปิดกล้องเช่นกัน และก็พบว่าฟังก์ชันที่นักเรียนชอบอย่างท่วมท้นคือฟังก์ชันแชท ซึ่งเพิ่มโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นมากขึ้น ดังนั้นนักวิจัยจึงเสนอให้เพิ่มการแชทแบบข้อความเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและสร้างชุมชนการเรียนรู้ Nadir Weibel แห่ง CSE คาดการณ์ว่าในอนาคต “บางชั้นเรียนจะกลับมาเรียนแบบปกติ บางส่วนจะออนไลน์เท่านั้น และบางส่วนจะเป็นแบบผสม แต่ฉันคิดว่าการเรียนรู้ออนไลน์น่าจะยังคงอยู่ต่อไป”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UC San Diego News Center

เพิ่มเติมเสริมข่าว:  ที่เอาข่าวนี้มาเล่า เพราะเรื่องกล้องนี่แหละครับ ในฝั่งตัวเองซึ่งเป็นอาจารย์สอนนั้นอยากให้นักศึกษาเปิดกล้อง ตอนแรกก็พยายามบอกให้เปิด แต่ตอนหลังก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมเขาไม่อยากเปิด แต่ในฐานะคนสอนมันก็ยังรู้สึกแปลก ๆ อยู่ดี เพราะถ้าสอนตามปกติมันยังได้เห็นหน้า ได้เห็นปฏิกิริยาว่าคนเรียนเป็นยังไง แต่พอนักศึกษาไม่เปิดกล้องก็เหมือนพูดคนเดียว ก็เลยใช้วิธีอัดคลิปวีดีโอให้ดูไปก่อน แล้วก็ใช้เวลามาทำความเข้าใช้กันแบบออนไลน์ ซึ่งใช้เวลาไม่มาก และฟังก์ชันแชทก็เป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ 

วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นาฬิกาอัจฉริยะสามารถเตือนความเสี่ยงถึงตายได้หรือไม่

smartwatch
ภาพจาก Queen Mary University of London

อัลกอริธึมใหม่ที่ออกแบบโดย Queen Mary University of London (QMUL) และ University College London แห่งสหราชอาณาจักร  สามารถใช้งานอุปกรณ์สวมใส่ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพื่อเตือนผู้ใช้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจถึงแก่ชีวิตโดยดูจากจังหวะการเต้นของหัวใจ อัลกอริธึมสามารถจดจำการอ่านค่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงของการที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล หรือการเสียชีวิตที่เกิดจากจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ทีมงานใช้ข้อมูลอ้างอิงสำหรับคลื่น T ปกติ (เวลาที่หัวใจห้องล่างคลายตัวเมื่อสูบฉีดเลือดออกแล้ว) บน ECG จากข้อมูลจากผู้เข้าร่วมการศึกษาที่เก็บอยู่ใน UK Biobank Imaging จำนวน 24,000 คน จากนั้นจึงนำอัลกอริธึมไปใช้กับข้อมูล ECG จากผู้เข้าร่วมอื่นกว่า 50,000 คน ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลง T-wave มากที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปมีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ Julia Ramirez แห่ง QMUL กล่าวว่าอัลกอริธึม "ทำนายความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดได้ดีกว่าเครื่องบ่งชี้ความเสี่ยง ECG มาตรฐาน"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Queen Mary University of London

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

นักวิจัยสร้างเครือข่ายควอนตัม "ที่แฮกไม่ได้" บนสายใยแก้วนำแสงในระยะทางหลายร้อยกิโล

fiber-optic
Photo by Compare Fibre on Unsplash

นักวิจัยของโตชิบาในสหราชอาณาจักรส่งข้อมูลควอนตัมผ่านเส้นใยแก้วนำแสง (fiber optic) ที่มีความยาว 600 กิโลเมตร (372 ไมล์) โดยไม่หยุดชะงัก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดความเสถียรภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผันผวนของภายในเส้นใย นักวิจัยใช้ระบบรักษาความเสถียรแบบดูอัลแบนด์ โดยส่งสัญญาณสองสัญญาณไปยังเส้นใยโดยใช้ความยาวคลื่นต่างกัน โดยสัญญาณหนึ่งจะกำจัดความผันผวนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อีกสัญญาณหนึ่งทำการปรับเฟสควอนตัมที่ละเอียดกว่า ทีมงานของโตชิบากล่าวว่าสิ่งนี้ทำให้สามารถกำหนดเส้นทางควอนตัมบิตได้อย่างปลอดภัยบนไฟเบอร์ออปติก ซึ่งมันถูกใช้ในการเข้ารหัสแบบควอนตัม ในโปรโตคอลการกระจายคีย์แบบควอนตัม (Quantum Key Distribution protocol) หรือ QKD Mirko Pittaluga จากโตชิบายุโรปกล่าวว่า "การเพิ่มระยะในการสื่อสารของ QKD ยังคงเป็นไปได้ และวิธีการของเรายังสามารถนำไปใช้กับโปรโตคอลและแอปพลิเคชันการสื่อสารควอนตัมอื่นๆ ได้อีกด้วย"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet