วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

IBM ประกาศหยุดการทำงานวิจัยด้านการรู้จำใบหน้า

CEO ของ IBM  คือ Arvind Krishna ได้ส่งจดหมายถึงสภา Congress ของสหรัฐว่าบริษัทจะหยุดการพัฒนา การวิจัย และการให้ความช่วยเหลือของโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการรู้จำหรือวิเคราะห์ใบหน้า ซึ่งทางบริษัทให้เหตุผลว่า "บริษัทต่อต้านเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสอดแนม การระบุเชื้อชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ และเรื่องอื่น ๆ ที่ขัดกับค่านิยมและหลักการด้านความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส แม้ว่าในปัจจุบัน AI จะมีส่วนช่วยพัฒนาการรู้จำใบหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก แต่มันก็ยังมีปัญหาด้านการลำเอียงในด้านของอายุ เชื้อชาติ และชาติพันธ์ ซึ่งจะมีผลช่วยลดความน่าเชื่อถือของการบังคับกฎหมาย ความมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิพลเมือง" ในปี 2018 IBM ได้เปิดชุดข้อมูลออกสู่สาธารณะเพื่อลดความลำเอียงจากการฝึกสอนตัวแบบเพื่อรู้จำใบหน้า อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าทางบริษัทได้เปิดเผยชุดข้อมูลที่ได้มาจากรูปภาพจาก Flickr โดยไม่ได้ได้รับความยินยอมจากเจ้าของภาพ

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  The Verge

สรุปเรื่อง Siri ของ Apple กับ นักวิจัยไทยกันอีกสักครั้ง

วันนี้ขอมาสรุปเรื่องคดีที่ Apple ถูกฟ้องเรื่องละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งมีนักวิจัยไทยคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันอีกสักครั้งแล้วกันนะครับ ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้สองบล็อก บล็อกแรกเล่าข่าวตอนที่มีการเริ่มฟ้องร้องกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน่าจะแปดปีมาแล้ว และบล็อกที่สองสรุปเรื่องราวว่า Apple ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตร 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาล บล็อกนี้เขียนเมื่อสี่ปีที่แล้ว และคิดว่าน่าจะจบไปแล้ว แต่อยู่ ๆ เมื่อวานนี้ผมพบว่ามียอดคนเข้าไปอ่านบล็อกแรกของผมเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ก็เลยแปลกใจ จนได้เห็นว่ามีการเอาข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งมาแชร์ใน Facebook ว่า Apple แพ้คดี Siri ที่ศาลสูงสหรัฐและต้องจ่าย 25 ล้านเหรียญ และก็มีการเอารูป รศ.ดร.วีระ บุญจริง ในฐานะที่เป็นนักวิจัยมาประกอบด้วย และก็แน่นอนมีการคอมเมนต์มากมาย บางคนก็เพิ่งทราบเรื่องนี้ บางคนก็อาจรู้มาบ้างแล้ว บางคนอ่านข่าวอาจคิดว่าอ.วีระเป็นคนไปฟ้อง Apple และได้เงิน 25 ล้านเหรียญ และบางคนก็เอาไปโยงว่ามันชื่อ Siri เพราะคนไทยเป็นคนคิด ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ผมก็เลยจะมาสรุปให้เข้าใจกันซะอีกรอบหนึ่งแล้วกัน

มาเริ่มกันก่อนนะครับ อ.วีระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา น่าจะประมาณปี คศ. 2000 ถ้าจำไม่ผิด โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยของอ.วีระคือ Natural Language Interface นั้นได้ถูกจดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งถ้าใครอยากดูตัวสิทธิบัตรก็ดูได้จากลิงก์ในบล็อกแรกของผมนะครับ และอาจารย์ก็กลับมาทำงานที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ตามเดิมหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็ทำหน้าที่สอนและวิจัยไปตามปกติ ไม่ได้ไปด้อม ๆ มอง ๆ หาวิธีการที่จะฟ้องร้อง Apple อะไร ตอนที่ Apple ออก Siri มา อาจารย์ก็ไม่ได้คิดว่า Apple จะไปละเมิดสิทธิบัตรอะไร

คราวนี้เมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ผ่านมาจากที่อาจารย์จบมาประมาณ 12 ปี อ.วีระซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมมานานแล้ว ได้ส่งลิงก์ข่าวมาให้ผม บอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาป.เอกของอ.วีระ ส่งมาให้ ซึ่งมันก็คือข่าวที่บริษัท Dynamic Advances ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำมาหากินโดยไปขอรับใบอนุญาตการใช้งานสิทธิบัตรด้านงานวิจัย และก็เอาไปฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ กำลังฟ้อง Apple จากการละเมิดสิทธิบัตร Natural Language Interface ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วีระก็ดูงง ๆ กับข่าวนี้ พอผมเห็นข่าว ผมซึ่งเขียนบล็อกอยู่แล้ว ก็เลยเขียนเรื่องนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่แรกหรือเปล่าที่เขียนเรื่องนี้ จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบล็อกก็คือ เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ลูกศิษย์ และเพื่อน ๆ ได้อ่านกัน  ยิ่งเรื่องนี้มีเพื่อนตัวเองเป็นตัวละคร และตัวเองก็มีส่วนร่วมนิดหน่อยในงานวิจัยนี้ ด้วยการส่งตัวอย่างคำถามที่เป็นภาษาพูดให้อาจารย์วีระไปทดสอบระบบนี้ ก็เลยเขียนบล็อกโดยรายงานข่าว แล้วก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งผมและอาจารย์วีระกำลังเรียนอยู่ที่อเมริกา แต่อยู่คนละรัฐกัน และก็ไม่มีใครคิดว่างานวิจัยนั้นมันจะมาถึงขั้นนี้ 

หลังจากผมเขียนบล็อกแรกเสร็จ ก็มีลูกศิษย์อาจารย์วีระ และเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมคือ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้เอาเรื่องจากบล็อกผมไปขยายความในคอลัมน์ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าอาจารย์วีระปวดหัวมาก เพราะมีนักข่าวพยายามจะขอสัมภาษณ์มากมาย ซึ่งอาจารย์วีระ เป็นคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบตกเป็นข่าว อาจารย์ชอบใช้ชีวิตเงียบ ๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทั้งหมด เอาจริง ๆ ตอนนนั้นผมก็รู้สึกไม่สบายใจนะ เพราะเหมือนผมเป็นคนต้นเรื่องเอามาเขียนบล็อก แต่คิดอีกทีถ้าผมไม่เขียน ก็ต้องมีคนอื่นเขียนอยู่ดี  

หลังจากนั้นคดีก็ดำเนินไป มีช่วงหนึ่งอาจารย์วีระก็ต้องเดินทางไปให้การไต่สวนที่ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นพยานในคดี ซึ่งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลของคดีก็คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อยุติคดี ไม่ต้องให้คดีไปขึ้นสู่ศาล ผมก็เลยมาเขียนบล็อกที่สอง และคิดว่าเรื่องน่าจะจบไปแล้ว

คราวนี้มาดูความที่น่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากข่าวที่แชร์กัน หนึ่งเลยที่ผมค้นล่าสุด ไม่ได้มีข่าวเกี่ยวกับการตัดสินที่ศาลสูง ดังนั้นสิ่งที่ข่าวเอามาแชร์จึงน่าจะเป็นเรื่องที่จบไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ 

สอง คนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป ไม่ใช่อาจารย์วีระ แต่เป็นบริษัท (Dynamic Advances) ที่ทำเรื่องฟ้อง ซึ่งเงินที่ได้บริษัทก็จะแบ่งให้มหาวิทยาลัย (RPI) ส่วนหนึ่งตามข้อตกลง จากนั้นเงินที่มหาวิทยาลัยได้ จึงจะมาแบ่งให้อาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาที่เป็นคนทำงานวิจัย (อ.วีระ) ตามข้อตกลง ดังนั้นสรุปอาจารย์วีระ ไม่ได้เป็นคนฟ้อง Apple และก็ไม่ใช่ได้เงิน 24.9 ล้านเหรียญ

สาม ชื่อ Siri ไม่ได้มาจากการที่คนพัฒนาเป็นคนไทย ตอนนั้น Apple ยังไม่รู้เลยว่าจะถูกฟ้อง ยังอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าส่วนหลักส่วนหนึ่งของโปรแกรมมาจากคนไทย มีคนเคยวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากคำเต็มที่ว่า Speech Interpretation and Recognition Interface ซึ่ง Apple ก็ไม่เคยออกมายอมรับคำเต็มนี้ และมีบางคนบอกว่าถ้าเป็นตัวย่อจริง Apple น่าจะใช้ SIRI เป็นตัวใหญ่ทั้งหมด แต่ Apple เลือกใช้ Siri ซึ่งจากบล็อกนี้ เขาวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากภาษานอร์เวย์ ซึ่งมีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า "beautiful woman who leads you to victory" หรือถ้าจะแปลเป็นไทยก็คือ "สาวงามผู้จะนำทางคุณไปสู่ชัยชนะ" ซึ่งผู้ร่วมพัฒนา Siri เป็นคนนอร์เวย์ และจะตั้งขื่อลูกสาวตัวเองว่า Siri แต่ปรากฎว่าได้ลูกชาย ก็เลยเอามาเป็นชื่อแอปอย่างเดียว

สี่ อาจารย์วีระไม่ใช่คนพัฒนา Siri แต่ส่วนหนึ่งของ Siri อยู่บนฐานงานวิจัยคือ Natural Language Interface ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยวิธีการนี้อาจารย์วีระเป็นผู้คิดค้นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอกของอ.วีระ และต้องบอกว่าส่วนของงานนี้มันไม่ได้ใช้กับแค่ Siri ต่อไปสมมติถ้าได้ข่าวว่ามีการฟ้องร้อง Alexa ของ Amazon และมีชื่ออาจารย์วีระเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ก็อย่าได้ประหลาดใจ และอย่าไปคิดว่าอาจารย์วีระเป็นคนพัฒนา Alexa อีก กลัวเหลือเกินว่า ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้จะไปเข้าใจว่าอาจารย์วีระมีภรรยาเป็นชาวต่างชาติ เลยตั้งชื่อตามลูกสาวว่า Alexa 

ห้า อาจารย์วีระในตอนนี้ไม่ได้สังกัดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังแล้ว อาจารย์ย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง อยู่หลายปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และได้รับการต่ออายุให้เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง

วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563

วิธีทดสอบสายตาแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI

นักวิจัยจาก Stanford University ได้พัฒนาวิธีทดสอบสายตาแบบใหม่ที่ใช้ AI เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งนักวิจัยบอกว่าให้ผลได้ถูกต้องกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือการอ่านกระดานตัวอักษรจากบนลงล่าง ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเราต้องการวัดสายตาให้เข้าไปที่เว็บไซต์ myeyes.ai จากนั้นระบบจะประมาณความละเอียดหน้าจอของเรา โดยให้เราเอาบัตรเครดิตจริงมาทางกับหน้าจอ แล้วปรับขนาดของสี่เหลี่ยมบนหน้าจอให้เท่ากับขนาดบัตรเครดิต จากนั้นระบบจะให้เราบอกระยะห่างของตัวเรากับหน้าจอ ซึ่งอันนี้เราจะต้องมีสายวัด หรือจะใช้แอพช่วยวัดระยะทางก็ได้ โดยระยะทางมาตรฐานคือเราต้องอยู่ห่างจากจอประมาณ 6.1 เมตร จากนั้นระบบจะแสดงตัว E ขึ้นมาทีละหนึ่งตัวบนหน้าจอ ในขนาดและทิศทางต่าง ๆ คือในรูปแบบปกติ กลับด้าน หงายขึ้น คว่ำลง โดยเราจะต้องตอบให้ถูกในแต่ละครั้ง และระบบจะประเมินสายตาของเราจากคำตอบของเรา ซึ่งเราจะตอบโดยใช้คีย์บอร์ดจากคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่ถ้าต้องยืนห่างจากจอถึง 6.1 เมตร คงไม่สามารถกดคีย์บอร์ดได้ ซึ่งนักวิจัยก็มีทางเลือกให้โดยให้ตอบผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ นักวิจัยไม่ได้ทำการทดลองกับคนจริง แต่ใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลองเป็นคนไข้ 1,000 คน ซึ่งผลการทดลองพบว่าลดข้อผิดพลาดจากการวิเคราะห์ได้ 74% เมื่อเทียบกับการใช้วิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Science


 

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563

บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์

บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์กำลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคาเฟ่และบาร์ในเกาหลีใต้  ตามนโยบายของประเทศที่เรียกว่าระยะห่างในชีวิตประจำวันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ Carbo สูงหกฟุตที่มีหน้าที่ตัดน้ำแข็ง และยังมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เขย่าค็อกเทลด้วย ซึ่งถึงแม้ข้อดีของหุ่นยนต์ก็คือการที่มันจะทำให้ได้เครืองดื่มที่มีรสชาติคงที่ แต่ลูกค้าก็บอกว่ายังคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่ได้พูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ที่เป็นคนอยู่ดี

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters
   

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ซอฟต์แวร์ช่วยพยากรณ์ค่าใช้จ่ายในโรงงาน

นักวิจัยจาก Purdue University และ Indiana Next Generation Manufacturing Competitiveness Center (IN-MaC) ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้โรงงานทำนายค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ดีขึ้น โปรแกรมนี้ทำงานโดยผู้ใช้สามารถทดลองปรับเปลี่ยนสายการผลิตในแบบลากองค์ประกอบที่ต้องการมาวางลงบนจอภาพ เช่นการปรับเปลี่ยนว่าจะใช้เครื่องมือ คน หรือหุ่นยนต์ ซึ่งผู้ใช้จะเห็นราคาค่าใช้จ่ายเมื่อปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งนักพัฒนาบอกว่าโปรแกรมนี้จะช่วยในการวางแผลกลยุทธของโรงงานในด้านการดำเนินการและประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขอบเขตเพื่อให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผลกระทบกับค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Purdue University News