วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

รางวัล Turing ปีนี้เป็นของผู้ที่ร่วมสร้างหนังฮิตหลายเรื่อง

รางวัล Turing (Turing Award) เป็นรางวัลทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับรางวัลโนเบล ปีนี้เป็นของ  Patrick Hanrahan และเพื่อนร่วมงานของเขาคือ Ed Catmull สำหรับ Patrick Hanrahan เคยทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ Pixar ซึ่งเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อดัง โดยทั้งสองคนได้รับรางวัลนี้จากเทคโนโลยีสามมิติที่พวกเขาได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นในการสร้างแอนิเมชันฮิตคือ Toy Story จากนั้นเทคโนโลยีที่ทั้งคู่ได้พัฒนาขึ้นนี้ยังถูกนำมาใช้กับหนังดังอย่าง Avatar, Finding Nemo และ Titanic ทั้งคู่จะขึ้นรับรางวัลอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ในงานเลี้ยงฉลองรางวัลของ ACM (Association for Computing Machinery) ในซานฟราสซิสโก 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Fortune

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563

ทำเนียบขาวกระตุ้นให้นักวิจัยใช้ AI วิเคราะห์บทความเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา

สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาวได้ออกนโยบายให้นักวิจัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) ในการวิเคราะห์บทความวิชาการเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสประมาณ 29,000 บทความ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของไวรัสโคโรนา โดยสำนักงานได้กล่าวว่าเขาได้ร่วมมือกับ Microsoft, Google และอีกหลายบริษัท เพื่อสร้างฐานข้อมูลของบทความดังกล่าว ทางสำนักงานบอกว่าจากบทความทั้งหมดมีเพียง 13,000 บทความเท่านั้นที่อยู่ในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์โดยโปรแกรมได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563

สอนให้ลำโพงอัจฉริยะรู้ตำแหน่งของคนพูด

นักวิจัยจาก University of Illinois at Urbana-Champaign's Coordinated Science Laboratory (CSL) ได้พัฒนาระบบที่ทำให้ลำโพงอัจฉริยะอย่าง Amazon Alexa สามารถบอกตำแหน่งของผู้ที่สั่งงานมันได้ โดนระบบนี้ยังสามารถเรียนรู้ลักษณะของห้องได้ด้วย นักวิจัยบอกว่าการรู้ตำแหน่งของผู้สั่งงาน จะทำให้ลำโพงอัจฉริยะสามามารถตอบสนองต่อการสั่งงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอบ่างเช่นเวลาเราสั่งงานว่าปิดไฟ ถ้าลำโพงรู้ตำแหน่งของเราก็จะรู้ได้ว่าควรปิดไฟห้องไหนเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Illinois Coordinated Science Lab

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563

อิสราเอลใช้โทรศัพท์เพื่อติดตามผู้ป่วยโคโรนาไวรัส

รัฐบาลอิสราเอลได้มอบอำนาจให้ Shin Bet ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความปลอดภัยเพื่อใช้ระบบสอดแนมในโทรศัพท์ในความพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งนายกรัฐมนตรีเบนจสมิน เนทันยาฮู ยอมรับว่ามันก็จะมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนในระดับหนึ่ง โดย Shin Bet จะใช้ระบบติดตามโทรศัพท์เพื่อสร้างตัวแบบการเดินทางของผู้ที่ติดเชิ้อ โดยวิเคราะห์ว่าก่อนที่เขาจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น เขาไปที่ไหนมาบ้าง เพื่อที่จะได้ระบุได้ว่าใครบ้างที่อาจมีสิทธิติดโรคบ้าง เพื่อลดการละเมิดความเป็นส่วนตัว เนทันยาฮูบอกว่าจะจำกัดว่าใครจะสามารถดูข้อมูลได้บ้าง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

เพิ่มเติมเสริมข่าว: เห็นว่าของไทยก็จะบังคับให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องยอมให้ลงแอพติดตามตัว


วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

เซ็นเซอร์ติดผิวหนังแบบไร้สายช่วยติดตามทารกและหญิงตั้งครรภ์

นักวิจัยจาก Northwestern University ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ติดผิวหนังแบบไร้สายเพื่อติดตามทารกเกิดใหม่และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้การคลอดมีความปลอดภัยและลดอัตราการตายของแม่ โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation and Save the Children ซึ่งงานวิจัยนี้ได้นำไปใช้กับประเทศอย่าง Ghana, India, Kenya, และ Zambia โดยนักวิจัยบอกว่าสิ่งที่ดีของเทคโนโลยีนี้ก็คือเราสามารถใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile device) ได้หลากหลายในการติดตามผล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงแม่นยำ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลในทุกวันนี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Northwestern University NewsCenter