วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

ท่าเต้นของเราบอกความเป็นเราได้

นักวิจัยจาก Finland’s University of Jyvaskyla ได้สอนคอมพิวเตอร์ให้ระบุตัวตนของคนแต่ละคนได้จากท่าทางในการเต้นรำ จริง ๆ ตอนแรกงานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ร่วมกับการตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อใช้ท่าเต้นเป็นตัวบอกว่าคนคนนั้นกำลังฟังเพลงประเภทไหนอยู่ แต่ปรากฎว่าคอมพิวเตอร์สามารถบอกว่าคนนี้เป็นใครได้ถูกต้องถึง 94% โดยดูจากท่าเต้น โดยนักวิจัยบอกว่าเขาอยากให้การศึกษานี้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นมากกว่าการเอาไปสอดแนมประชาชน งานวิจัยที่น่าจะศึกษาต่อไปก็เช่น ท่าเต้นของคนเราจะเปลี่ยนไปตามอายุไหม เราสามารถระบุถึงวัฒนธรรมที่ต่างกันได้จากท่าเต้นไหม หรือคนเราจะสามารถแยกแยะตัวบุคคลได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์โดยดูจากท่าเต้นไหม เป็นต้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Jyväskylä research news

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จริง ๆ ก็อยากให้ทดลองเรื่องที่ตั้งใจไว้เดิมต่อด้วยนะ น่าสนใจเหมือนกันว่าเต้นแบบนี้กำลังฟังเพลงประเภทไหนอยู่ 

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

อิสราเอลพัฒนาขั้นตอนวิธีทำนายภาวะการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์


นักวิจัยจาก Israel’s Weizmann Institute of Science ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีในการทำนายว่าหญิงตั้งครรภ์คนใดมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำนายได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์หรือก่อนหน้าการตั้งครรภ์ก็ได้ ซึ่งผลลัพธ์จะทำให้มีการเตรียมการป้องกันโดยแนะนำด้านโภชนาการและการใช้ชีวิตให้กับผู้เข้ารับการทดสอบ วิธีการที่ใช้ในการทำนายนี้ใช้การเรียนรู้ของเครื่อง โดยใช้ข้อมูลของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 450,000 ราย ที่คลอดลูกระหว่างปี 2010 ถึง 2017

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

การป้องกันดีกว่าการรักษา ยิ่งคนที่จะเป็นคุณแม่นี่ยิ่งน่าสงสาร จะรักษาอะไรก็ต้องระวังกลัวจะไปกระทบลูก

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

เครื่องวัดค่า pH ของเหงื่อบนอุปกรณ์สวมใส่

ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยใกล้บ้านเราคือ National University of Singapore (NUS) ซึ่งได้พัฒนาเครื่องวัดค่า pH  จากเหงื่อ ซึ่งเครื่องนี้สามารถนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สวมใส่ที่เราใส่กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อดูแลสุขภาพ เช่นสายรัดข้อมือที่นับก้าวเดิน วัดระดับการเต้นของหัวใจ หรือพวกสมาร์ตวอตช์ต่าง ๆ ได้โดยง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก ค่า pH จากเหงื่อสามารถบอกข้อมูลสุขภาพได้มากมายเช่นบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือไม่ สามารถบอกสภาวะที่ผิวหนังอักเสบ และติดเชิ้อได้ ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานค่า pH จากเหงื่อยังสามารถเป็นตัวบอกภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นถ้าค่า pH สูงในขณะที่เหงื่อออกมาก และเหงื่อออกตอนกลางคืน อาจเป็นสัญญาณว่าระดับกลูโคสในเลือดต่ำต้องรีบพบแพทย์เป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NUSNews

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

เพิ่งอ่านข่าวจับโจรปล้นร้านทองที่ยิงกราดฆ่าสามศพ บอกว่าเหงื่อสามารถนำมาพิสูจน์ได้ โดยวิเคราะห์จากเหงื่อที่หยดบนเคาเตอร์ร้านทอง ซึ่งสามารถตรวจสอบตัวคนร้ายได้แม้คนร้ายจะไม่ทิ้งลายนิ้วมือไว้เลย พออ่านข่าวนี้อีกเลยเพิ่งรู้ว่าเหงื่อบอกอะไรได้มากมายขนาดนี้

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563

นักศึกษาเบื่อหรือยัง AI ช่วยบอกได้

นักวิจัยจาก Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) และ China's Harbin Engineering University ร่วมกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เพื่อช่วยวัดอารมณ์ของนักเรียนนักศึกษา โดยวิเคราะห์จากการแสดงความรู้สึกทางใบหน้าของนักศึกษา เพื่อที่จะวิเคราะห์ระดับความสนใจต่อการเรียนของนักศึกษาในขณะนั้น โดยได้มีการทดสอบระบบนี้กับนักเรียนชั้นอนุบาลห้องหนึ่งในญี่ปุ่น และชั้นเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นเรียนหนึ่งในฮ่องกง ผลการทดลองออกมายังไม่ดีนัก โดยระบบสามารถตรวจจับอารมณ์ที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือนักเรียนนักศึกษากำลังรู้สึกสนุก แต่ยังไม่สามารถตรวจจับความรู้สึกโกรธหรือเศร้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนักวิจัยจะต้องไปปรับปรุงโมเดลต่อไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum 

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

เหมือนเคยอ่านข่าวว่ามีงานวิจัยแนวนี้อยู่หลายปีแล้ว แต่น่าแปลกใจว่างานวิจัยนี้เหมือนไม่ได้ต่อยอดขึ้นมา เหมือนทำขึ้นมาใหม่ เพราะได้ผลลัพธ์ไม่ดีมากนัก สำหรับตัวเองไม่ต้องใช้ AI หรอก แค่เดินเข้าห้องก็รู้แล้วว่านักศึกษาอยากเลิกเรียนกลับบ้าน :) 

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

เกาหลีใต้เปิดโรงเรียนเพื่อฝึกคนให้ผ่านการสัมภาษณ์การทำงานกับ AI

บริษัทใหญ่ ๆ ในเกาหลีใต้ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ซึ่งคีย์หลักคือการสัมภาษณ์ผ่านทางวีดีโอ ซึ่ง AI จะใช้เทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าในการประเมินผู้สมัคร ซึ่งเหตุนี้ทำให้มีการเปิดโรงเรียนเพื่อติวผู้จะสมัครงานว่าควรทำยังไงเพื่อให้ผ่านการสอบสัมภาษณ์กับ AI ไปได้ ตัวอย่างการสอนก็เช่น "อย่าพยายามยิ้มด้วยริมฝีปาก ต้องให้ตายิ้มด้วย" ตามข่าวบอกว่าอย่างน้อย 1 ใน 4 ของบริษัทระดับท้อป 131 บริษัทของเกาหลีใต้ กำลังใช้หรือมีแผนที่จะใช้ AI ในการคัดคนเข้าทำงาน โดยการสัมภาษณ์งานของ AI จะใช้เกมเพื่อทดสอบคุณสมบัติ 37 ด้าน ของผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การวัดความจำ และบางเกมไม่มีคำตอบที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะต้องการวัดวิธีการแก้ปัญหา และทัศนคติของผู้สมัครมากกว่า ตามข่าวมีผู้สมัครบางคนรู้สึกสิ้นหวัง เพราะเขาไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเพื่อไปเข้าโรงเรียนติวได้ และเขาบอกว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะ AI ได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters Technology News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ฝ่าย HR อาจเป็นอีกงานหนึ่งที่ถูก Distrupt ถ้าเป็นแบบนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเราต้องฝึกเพื่อจะเอาชนะ AI ให้ได้ และถ้า AI ไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมจริง ๆ ที่ไม่ผ่านการฝึกมาได้ ระบบนี้ไม่น่าถือว่าเป็นระบบที่ดี สำหรับประเทศไทยนี่อาจเป็นตลาดใหม่ของโรงเรียนกวดวิชา หลังจากจำนวนเด็กลดลง :)