วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์: เราไม่สามารถควบคุมเครื่องทีมีความฉลาดยิ่งยวดได้

ภาพจาก Max Planck Institute for Human Development (Germany)

ทีมนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นานาชาติสรุปว่า จากการคำนวณทางทฤษฎี ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดยิ่งยวด (superintelligent artificial intelligence) จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ นักวิจัยเสนอขั้นตอนวิธีการกักกันทางทฤษฎีที่จะทำให้มั่นใจว่า AI ฉลาดยิ่งยวดนี้จะไม่ทำร้ายคนโดยสร้างตัวแบบพฤติกรรมของมันขึ้นมาก่อน และหยุดมันถ้ามันจะเป็นอันตราย แต่จากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสร้างขั้นตอนวิธีดังกล่าวขึ้นมาได้ และต่อให้สร้างขึ้นมาได้นักวิจัยบอกว่าถ้าเราแตกปัญหาออกจนถึงกฏพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎี มันจะเป็นไปได้ว่าขั้นตอนวิธีที่จะสั่ง AI ไม่ให้ทำลายโลกอาจหยุดการทำงานโดยไม่คาดหมาย และถ้ามันเกิดขึ้นเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าขั้นตอนการกักกันยังทำการวิเคราะห์อยู่ หรือมันยอมรับตัว AI อันตรายเข้ามาแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นขั้นตอนวิธีที่จะระบุว่านี่คือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดยิ่งยวดก็ยังสร้างไม่ได้เช่นกัน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Max Planck Institute for Human Development (Germany)

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

AI ช่วยหาการใช้ยาที่มีอยู่แล้วกับกรณีที่ไม่เคยใช้มาก่อน

ภาพจาก ACM

นักวิจัยจาก Ohio State University (OSU) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในการประมวลผลชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อหาว่ายาที่มีอยู่เดิม สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อนได้หรือไม่ นักวิจัยใช้ข้อมูลการเคลมประกันจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจประมาณ 1.2 ล้านคน การศึกษามุ่งไปที่การใช้ยาที่เคยใช้เพื่อป้องกันหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผลการทดลองพบว่าสามารถระบุยา 9 ตัวที่มีแนวโน้มที่จะทำให้การรักษาทำได้ดีขึ้น นักวิจัยบอกว่าการศึกษานี้สามารถทำกับโรคอะไรก็ได้ ถ้าเราสามารถนิยามผลลัพธ์ของโรคได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ohio State University

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาษา python ครองบัลลังก์ในขณะที่ Java ร่วง

www.tiobe.com

บริษัทติดตามคุณภาพซอฟต์แวร์ Tiobe ได้ประกาศชื่อ Python เป็นภาษาโปรแกรมที่เป็นภาษาที่อยู่ในระดับสูงสุดในปี 2020 เนื่องจากความนิยมเติบโตมากกว่าภาษาอื่น ๆ ทั้งหมดในดัชนีของบริษัทเมื่อปีที่แล้ว การใช้งาน Python เพิ่มขึ้น 2.01% ในช่วงปีที่แล้ว ขณะที่ Java ตกลง 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน CIO ของ Tiobe ให้เครดิตกับความสามารถรอบด้านของ Python ความง่ายต่อการเรียนรู้ และให้ผลผลิตในระดับสูง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้ Pyhton ยังไม่อยู่อันดับหนึ่ง (ในดัชนีการจัดอันดับ) ก็เพราะภาษา C ยังมีประสิทธิภาพมากกว่า ในปัจจุบัน Python เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมในงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเรียนรู้ของเครื่อง และตอนนี้ยังใช้ในการพัฒนาเว็บ และโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในระบบหลังบ้าน และกำลังเติบโตเข้าไปในการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน และแม้แต่ระบบฝังตัว จากการจัดอันดับล่าสุดในเดือนมกราคมปีนี้  C ยังเป็นอันดับหนึ่ง Java เป็นอันดับสอง และ Pyhton เป็นอันดับสาม แต่ CIO ของ Tiobe เชื่อว่า Python จะแย่งอันดับสองจาก Java มาได้อย่างถาวรในเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทยังคาดว่าภาษาเขียนโปรแกรม Julia ซึ่งกำลังเติบโตในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเรียนรู้ของเครื่องจะเข้ามาอยู่ใน 20 อันดับแรกในปี 2021

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet 

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

ซอร์สโค้ดของ Nissan รั่วออกสู่โลกออนไลน์หลังจากคอนฟิก Git Repo ผิดพลาด

Image: Daniel Demers

Tillie Kottmann วิศวกรซอฟต์แวร์จากสวิสกล่าวว่าการกำหนดค่าเซิร์ฟเวอร์ Bitbucket Git ของ Nissan อเมริกาเหนือมีความผิดพลาด ทำให้เกิดการรั่วไหลของซอร์สโค้ดสำหรับแอปพลิเคชันมือถือ และเครื่องมือภายในของบริษัทออกไปทางออนไลน์ Kottmann บอกว่าที่จัดเก็บข้อมูล (repository) ถูกปล่อยไว้บนอินเทอร์เน็ตโดยใช้ค่าปริยายของชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านคือ admin/admin นิสสันได้เอามันออกจากออนไลน์หลังจากที่ซอร์สโค้ดได้ถูกเผยแพร่ออกไปในรูปแบบของลิงก์ของ torrent ที่แชร์ผ่าน Telegram และฟอรัมของแฮกเกอร์ โฆษกของ Nissan บอกว่า  "เราตระหนักถึงการอ้างเกี่ยวกับการรายงานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับและซอร์สโค้ดของ Nissan อย่างไม่เหมาะสม เราให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจังและกำลังดำเนินการสืบสวนอยู่"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

ตัวขโมยเงินเข้ารหัสแอบซ่อนอยู่บน Windows, macOs, และ Linux มาหนึ่งปี

ภาพจาก Ars Technica

จากรายงานของบริษัทด้านความมั่นคง Intezer ของอิสราเอล ได้บันทึกการขโมยที่อยู่กระเป๋าเงินเข้ารหัส (crytocurrency) ของผู้ใช้ ผ่านทางมัลแวร์ที่สร้างขึ้นมาเองทั้งหมด และไม่มีใครตรวจพบมันเลยเมื่อปีที่แล้ว แฮกเกอร์ใช้แอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์นี้แอบอยู่ข้างใน โดยแอปพลิเคชันนี้มีอยู่บนระบบปฏิบัติการทั้ง Windows, macOS, และ Linux โดยอาศัยเครือข่ายของบริษัท เว็บไซต์ และโพรไฟล์เครือข่ายสังคมปลอม เพื่อหลอกลวงเหยื่อ ตัวแอปจะบอกว่าตัวเองเป็นแอปที่มีประโยชน์กับผู้ถือครองเงินเข้ารหัส โดยมีโทรจันแอบแฝงเข้ามาที่ชื่อว่า ElectroRAT ที่จะทำใหผู้บุกรุกสามาถเก็บข้อมูลการกดแป้นพิมพ์ จับภาพหน้าจอ อัปโหลดและดาวน์โหลดไฟล์ สั่งรันคำสั่งบนเครื่องที่ติดเชื้อ โดยไม่มีผลิตภัณฑ์ป้องกันไวรัสรายใหญ่ใด ๆ ตรวจจับได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica