วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

AI ของ Facebook ช่วยให้ได้ภาพจาก MRI เร็วขึ้น 4 เท่า

รูปซ้ายภาพจาก MRI ที่ใช้ข้อมูล 1 ใน 4 ของรูปเต็ม รูปขวาภาพที่สร้างจาก AI โดยใช้ภาพซ้าย
ภาพจาก The Daily Mail

Facebook และผู้เชี่ยวชาญจาก New York University ได้พัฒนาตัวแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบเปิดเผยรหัสเพื่อช่วยสร้างภาพที่ขาดหายไปจากการสแกนด้วย MRI ประโยชน์ของการทำแบบนี้ก็คือการสแกนด้วย MRI เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์จะใช้เวลานานมาก แต่ด้วยวิธีนี้สามารถสแกนภาพให้มีรายละเอียดน้อยลงและใช้ AI ช่วยสร้างภาพที่สมบูรณ์ขึ้นมา จากการฝึกสอนด้วยภาพจากการสแกนแบบเต็มรูปแบบเป็นพันภาพ และทดสอบกับนักฉายภาพรังสีหกคน ผลการทดสอบพบว่าวิธีนี้เที่ยงตรง และช่วยให้ได้ภาพที่มีความคุณภาพสูงแต่ใช้เวลาเร็วขึ้นสี่เท่า นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้สามารถทำให้ MRI เร็วเท่าหรือเร็วกว่าการเอกซ์เรย์ โดยมีข้อมูลให้วิเคราะห์มากกว่า และไม่ต้องใช้รังสีด้วย  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Daily Mail

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

จะดีแค่ไหนถ้าเราควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของเราจากแอปมือถือได้ดีขึ้น

Source: Jan Vašek from Pixabay

ในแต่ละปีนักพัฒนาแอปมือถือได้เงินเป็นพันล้านเหรียญจากการขายข้อมูลที่เก็บมาจากมือถือของลูกค้า และพวกเขาไม่ได้ให้ทางเลือกที่ง่ายนักกับผู้ใช้ในการป้องกันเรื่องดังกล่าว แม้ว่า iOS  และ Android จะเพิ่มการรวบรวมข้อมูลด้านความเป็นส่วนตัว ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว จะช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลได้มากขึ้น แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ใช้ยังต้องวุ่นวายกับข้อมูลมากมาย และไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ จริง ๆ แล้วการควบคุมความเป็นส่วนตัวแบบนี้ขาดการแยกจุดประสงค์ที่ต่างกันของการเก็บข้อมูล นักวิจัยจาก Cylab ของ Carnegie Mellon University ได้พัฒนาผู้ช่วยความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล ที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่องช่วยให้ผู้ใช้ที่ใช้แอปมือถือควบคุมข้อมูลของตัวเองได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องไปปวดหัวกับการตอบข้อมูลด้านความส่วนตัวมากเกินไป นักวิจัยบอกว่าในปัจจุบันผู้ใช้โดยเฉลี่ยจะมีแอปติดตั้งอยู่บนมือถือ 70 ตัว และแต่ละตัวผู้ใช้ต้องตอบคำถามด้านความเป็นส่วนตัวประมาณ  3 คำถาม ต่อแอป นั่นหมายความว่าผู้ใช้ต้องตอบคำถามกว่า 200 คำถาม ผู้ช่วยความเป็นส่วนตัวที่พัฒนาขึ้นนี้จะถามด้านความเป็นส่วนตัวจากผู้ใช้ประมาณ 5-6 คำถาม นำมาสร้างเป็นโพรไฟล์ของความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้เป็นตัวอนุมานตัวเลือกด้านความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าตัวผู้ช่วยไม่สามารถตัดสินใจได้ในบางกรณี ซึ่งนักวิจัยบอกว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ประมาณ 10% ของการใช้งาน ก็จะถามผู้ใช้เพิ่มเติมอีกเพียงหนึ่งหรือสองคำถาม

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจะปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นที่จะต้องด้อยค่าองค์กรด้วยหรือ

วันศุกร์นี้ขอพูดเรื่องหนัก ๆ สักวันแล้วกันนะครับ ต้องบอกก่อนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ผมเห็นและก็รู้สึกดีส่วนหนึ่งก็คือการที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาแสดงพลังให้เห็นว่ามีความอึดอัดคับข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่บางคนที่กดพวกเขาไว้ ด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัย  และความไม่ยุติธรรมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่เขามองเห็นจากมุมมองของเขา และการชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้ยืดเยื้อ ปิดบ้านปิดเมือง แค่ต้องการแสดงพลังให้รัฐบาลนี้เห็นว่าเขาไม่พอใจ 

ตรงนี้ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีพลังนี้ผมว่าพวก สว. จะไม่มีทางยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแน่ แต่ตอนนี้ผมว่ามีความหวังมากขึ้น ถ้ารัฐบาลเลิกไล่จับคน เลิกพูดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังสักทีจะดีมาก รับฟังไป ถ้ามีโอกาสก็ชี้แจง และแสดงฝีมือให้เห็นซะทีว่าแก้ปัญหาได้ อยู่มาจะ 6-7 ปีแล้ว ผมถึงจะไม่ชอบยังไงก็ยังแอบเชียร์นะ เพราะบอกจริง ๆ ว่าถ้ามันตกลงไปมากกว่านี้ มันจะขึ้นมาได้ยากมาก อย่างเช่นคนเก่ง ๆ อย่างคลอปป์ก็ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะพาลิเวอร์พูลกลับสู่ระดับที่เคยเป็นได้ (อ้าวเลี้ยวไปทีมรักจนได้ :) ) 

แต่ก็อยากฝากบอกว่าอย่ายกระดับการประท้วงจนไปถึงปิดบ้านปิดเมืองเลย ถ้าเขาหน้าด้านอยู่ต่อไปจริง ๆ โดยไม่สนใจ อีก 2 ปีกว่า ๆ ก็ได้เลือกตั้งกันแล้ว ลองทำตัวเคารพระบบ ตบหน้าพวกผู้ใหญ่บางคนที่ออกมาด่า ๆ อยู่ตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองปิดบ้านปิดเมือง เขาให้เลือกตั้งก็ไม่เลือกเพราะกลัวแพ้ จนทหารมายึดอำนาจ  และลากยาวมาถึงตอนนี้ จนพวกเด็ก ๆ อึดอัดต้องออกมาแสดงพลัง 

เขียนมาสามย่อหน้ายังไม่เข้าประเด็นที่จะเขียนวันนี้เลย ประเด็นของวันนี้คือ ถ้าเราต้องการปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นไหมที่เราจะต้องด้อยค่าองค์กร ต้องเกลียดคนในองค์กร และปฏิเสธสิ่งดี ๆ ที่เป็นความจริงมีหลักฐานประจักษ์ที่องค์กรเคยทำมา องค์กรที่ยืนยาวมาเป็นร้อยปี มันจะไม่มีสิ่งดี ๆ ที่ทำให้กับประเทศบ้างเลยหรือ  และจำเป็นไหมที่เราจะต้องไปโจมตีคนที่แสดงความรักความเคารพคนในองค์กร โดยไปตีตราว่าเขาเป็นพวกล้าหลัง ไม่อยากปฏิรูปองค์กร ไม่แน่ว่าเขาอาจจะคิดว่าควรให้มีการปฏิรูปก็ได้ แต่เขารักคนคนนี้ เขาก็แสดงความรัก เหมือนที่เขาทำในทุก ๆ ปี การทำแบบนี้ ดีไม่ดีมันจะเป็นการผลักคนที่อาจเห็นด้วยให้กลายเป็นอีกฝั่งหนึ่ง ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าคนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่โลกของมันมีแต่ 0 กับ 1 แต่คนเรานั้นมีหลากหลาย บางคนอาจอยากปฏิรูป แต่อาจเป็นคนละประเด็นกับที่มีคนเรียกร้อง บางคนอาจยังรักคนในองค์กร ยังระลึกถึงอดีตที่ดี ๆ (ในสายตาเขา) แต่ก็อาจเห็นด้วยว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็ได้

ส่วนตัวผมผมมองว่าทุกองค์กรถ้าถึงยุคปัจจุบันแล้วมีคนรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ คนเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะพูดได้ แต่ก็ควรจะพูดถึงเฉพาะประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องไปทำให้องค์กรดูเลวร้าย อะไรที่เขาทำดีไว้ก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธ เพราะผมมองว่าการที่ต้องปฏิรูปมันไม่เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่ทำมา ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ในยุคหนึ่งเคยทำทีมได้แชมป์ แต่หลัง ๆ ระบบการเล่นล้าสมัย ทีมเริ่มตกต่ำ มันก็ไม่ผิดที่จะมีการพูดถึงการเปลี่ยนผู้จัดการทีม แต่การเปลี่ยนมีความจำเป็นไหมที่จะต้องไปพูดว่า ที่ทำทีมได้แชมป์ตอนนั้นมันฟลุ๊ก และคนที่ไม่อยากให้เปลี่ยนตัว ก็ไม่ควรจะอ้างแต่ว่าเขาเคยทำทีมได้แชมป์ ทั้งสองฝ่ายควรจะพูดคุยกันถกกันด้วยเหตุผล ไม่ไปก้าวล่วงอีกฝ่ายหนึ่ง และสุดท้ายแล้วมันอาจได้ข้อตกลงที่เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย ดีต่อทีม และดีต่อตัวผู้จัดการทีมด้วย เช่นการดันผู้จัดการทีมขึ้นไปเป็นบอร์ดบริหารอาวุโส 

ขอปิดท้ายว่าสังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง และควรที่จะสามารถพูดคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พูดคุยกันด้วยความเคารพต่อกัน ไม่ใช่เอะอะก็ "ไม่พอใจก็ออกจากประเทศไปสิ" "ออกจากมหาวิทยาลัยไปสิ" "อย่ามาแบมือขอเงินนะถ้าไปประท้วง" "พ่อแม่น่ะเป็นสลิ่ม เป็นไดโนเสาร์ ไม่เข้าใจอะไรหรอก" อะไรแบบนี้ ถ้าจะปฏิรูปอะไรก็ปฏิรูปเรื่องนี้ก่อนแล้วกัน ผมว่ามันสำคัญที่สุด ถ้าตรงนี้ปฏิรูปไม่ได้ ก็อย่าไปหวังเรื่องอื่น 

อังกฤษกลับลำเรื่องใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อประมาณผลการสอบ

Students in South Staffordshire, England, protest the government’s use of an algorithm to estimate exam results. (Jacob King/AP)

หลังจากการประท้วงใหญ่ รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนการตัดสินใจที่จะใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อประมาณค่าคะแนนสอบ A-level ที่ใช้ในการรับเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้วิธีประมาณก็คือไม่สามารถจัดสอบได้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าขั้นตอนวิธีนี้ทำให้เด็กโรงเรียนเอกชนที่จ่ายค่าเทอมแพง ๆ ได้เปรียบ และทำให้นักเรียนที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยเสียเปรียบ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายก Boris Johnson บอกว่า เขาไม่มีข้อสงสัยกับขั้นตอนวิธีนี้เลย ผลสอบที่ได้เชื่อถือได้ และขึ้นกับผู้สมัครล้วน ๆ แต่หลังจากการประท้วงใหญ่ ก็ได้เปลี่ยนการตัดสินใจ และได้กล่าวคำขอโทษต่อเด็กและผู้ปกครองที่ทำให้กังวลใจ โดยบอกว่าผลที่เป็นทางการจะเทียบจากคะแนนที่ได้จากขั้นตอนวิธีกับการประเมินโดยครู อันไหนสูงกว่าก็เอาอันนั้น จากการสำรวจพบว่า ตัวขั้นตอนวิธีประเมินคะแนน A-level ของนักเรียนในอังกฤษประมาณ 40% ต่ำกว่าคะแนนที่ได้จากการประเมินโดยครู ซึ่งประเมินจากผลการเรียนที่ผ่านมา และการให้นักเรียนได้ทำข้อสอบจำลอง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

 เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่คล้าย ๆ ในหนังสือ Weapons of Math Destruction ให้ระวังกันไว้ให้ดี ต่อไปอาจจะมีโมเดลแบบนี้มากขึ้น ดังนั้นก่อนจะเอาโมเดลวัดอะไรแบบนี้มาใช้ จะต้องมีการอธิบายวิธีการคำนวณอย่างชัดเจน โปร่งใสเข้าใจได้ และประชาชนก็ต้องพยายามรู้เท่าทัน ไม่ใช่อะไร ๆ ก็เชื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะจริง ๆ โปรแกรมมันทำงาน มันประมวลผลจากข้อมูลที่มันได้รับ การประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน คำว่าเอาขยะใส่เข้าไปก็จะได้ขยะออกมาก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ


วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การแฮกที่ทำให้ระบบรู้จำใบหน้าคิดว่าคนอื่นเป็นคุณ

MICHAEL ALEO/UNSPLASH

นักวิจัยของ McAfee ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อสาธิตให้เห็นว่าระบบรู้จำใบหน้าสามารถถูกหลอกให้ระบุว่าหน้าที่กำลังดูอยู่เป็นหน้าคนอื่น วิธีการก็คือเอารูป 1500 รูป จากสองโครงการเข้าสู่ขั้นตอนวิธีการแปลงรูปภาพที่เรียกว่า CycleGAN เพื่อให้เปลี่ยนภาพหนึ่งไปเป็นอีกภาพหนึ่ง จากนั้น CycleGAN จะสร้างภาพที่ดูด้วยตาเปล่าคือนาย A แต่ระบบการรู้จำใบหน้าจะระบุว่าเป็นนาย B นักวิจัยบอกว่าปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยระบุและยืนยันตัวตน แต่ถ้าเราใช้มันแบบหลับหูหลับตา และให้มันไปแทนระบบเดิมที่เคยขึ้นอยู่กับคนอย่างเดียวโดยไม่ตรวจสอบอีกครั้ง มันก็จะนำไปสู่จุดอ่อนที่ใหญ่กว่าที่เคยมีมา 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT Technology Review