วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อัลกอริธึมบินโดรนได้เร็วกว่านักบินที่เป็นคน

drone-smoke
ภาพจาก University of Zurich (Switzerland)

โดรนแบบควอดโรเตอร์ที่บินอัตโนมัติชนะโดรนที่บังคับด้วยคนเป็นครั้งแรก โดยใช้อัลกอริธึมใหม่ที่ออกแบบโดยนักวิจัยจาก University of Zurich (UZH) ในสวิตเซอร์แลนด์ อัลกอริธึมจะคำนวณเส้นทางบินที่เร็วที่สุดและนำทางผ่านชุดของจุดอ้างอิง (waypoint) บนวงจร Davide Scaramuzza แห่ง UZH กล่าวว่าอัลกอริธึม "เป็นสิ่งแรกที่สร้างวิถีเวลาที่เหมาะสมที่สุดโดยพิจารณาข้อจำกัดของโดรนอย่างเต็มที่" เขากล่าวว่าอัลกอริธึมช่วยให้โดรนอัตโนมัติเอาชนะนักบินมนุษย์ระดับโลกสองคนบนเส้นทางทดลอง ในระหว่างการแข่งขัน กล้องภายนอกจะจับการเคลื่อนไหวของโดรน และส่งข้อมูลตามเวลาจริงไปบอกอัลกอริธึมว่าโดรนอัตโนมัติอยู่ที่ใดในตอนนั้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Zurich (Switzerland)

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564

หัวใจเทียมเต็มรูปแบบถูกปลูกถ่ายแล้วในอเมริกา

artificial-heart
ภาพจาก Duke Medical School

ศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย Duke ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจเทียมเต็มรูปแบบ (total artificial heart) หรือ TAH ที่พัฒนาโดย CARMAT ของฝรั่งเศสให้กับผู้ป่วยอายุ 39 ปีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวกะทันหัน TAH มีรูปร่างและฟังก์ชันการทำงานเหมือนหัวใจมนุษย์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องพกกระเป๋าหนักเกือบเก้าปอนด์ ที่มีตัวควบคุมและแบตเตอรีที่ชาร์จได้สองก้อน TAH ได้รับการอนุมัติเบื้องต้นให้ทดสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และได้รับการอนุมัติให้ใช้ในยุโรปสำหรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะได้รับการปลูกถ่ายหัวใจภายใน 180 วัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Interesting Engineering

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ฐานข้อมูลสาธารณะของโครงสร้างโปรตีนที่ทำนายโดย AI อาจเปลี่ยนโฉมของชีววิทยา

fruit-fly-proteine
ภาพสามมิติของโปรตีนของแมลงวันผลไม้ ภาพจาก Science

ทีมนักวิจัยกล่าวว่าได้ใช้อัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI แบบใหม่เพื่อคาดการณ์โครงสร้างสามมิติของโปรตีน 350,000 ตัวจากมนุษย์ และตัวแบบสิ่งมีชีวิต 20 ชนิด ทีมงานนักพัฒนา AI ในสหราชอาณาจักรจาก DeepMind (ซึ่ง Alphabet ที่เป็นบริษัทแม่ของ Google เป็นเจ้าของ)  ได้พัฒนาตัวแบบคอมพิวเตอร์ AlphaFold ซึ่งสร้างโครงสร้างเกือบ 44% ของโปรตีนมนุษย์ ครอบคลุมเกือบ 60% ของกรดอะมิโนที่ถูกเข้ารหัสโดยจีโนมของมนุษย์ นักวิจัยจาก European Molecular Biology Laboratory (EMBL) ในเยอรมนีได้รวบรวมฐานข้อมูลการทำนายโปรตีนใหม่ของ DeepMind โดยเปิดเป็นสาธารณะและให้ใช้งานฟรีซึ่งน่าจะช่วยให้นักชีววิทยาสามารถบอกได้ว่าโปรตีนหลายพันชนิดที่ยังไม่รู้จักทำงานอย่างไร Edith Heard แห่ง EMBL กล่าวว่า "เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีทำความเข้าใจว่าชีวิตทำงานอย่างไร"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Science

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัสกิจกรรมของสมองในช่วงหลับลึก

brain-parts
Photo by Robina Weermeijer on Unsplash

ระบบใหม่สามารถถอดรหัสกิจกรรมของสมองระหว่างการนอนหลับเพื่อวิเคราะห์การรวบรวมความจำ นักวิทยาศาสตร์จาก University of Geneva (UNIGE) ได้ผสมผสานปัญญาประดิษฐ์ การใช้ MRI และคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อตรวจดูความสามารถของสมองขณะนอนหลับ เพื่อประเมินความทรงจำเพื่อเก็บเฉพาะความทรงจำที่มีประโยชน์ที่สุดเท่านั้น ทีมงานให้ผู้ทดลองเข้าเครื่อง MRI ในตอนเย็น และให้พวกเขาเล่นเกมจดจำใบหน้า และแก้เขาวงกตสามมิติ ผู้เข้าทดลองไม่รู้ว่าชนะได้เกมเดียวเท่านั้น จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมนอนหลับใน MRI เป็นเวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมง โดยบันทึกกิจกรรมของสมองอีกครั้ง Virginie Sterpenich ของ UNIGE กล่าวว่าแบบรูปที่สังเกตได้ในการนอนหลับลึกบ่งชี้ว่า สมองของพวกเขาจำได้เฉพาะเกมที่ชนะโดยเปิดใช้งานพื้นที่ที่ใช้ในตอนที่ตื่นอยู่ การทดสอบแสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้เข้าร่วมเล่นเกมได้ดีขึ้น พื้นที่สมองที่เกี่ยวข้องกับเกมจะถูกเปิดใช้งานมากขึ้นระหว่างการนอนหลับครั้งต่อไป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: News-Medical Life Sciences

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เครื่องมือในการสำรวจข้อความในสื่อสังคมหลายล้านข้อความสามารถทำนายการเมืองและความวุ่นวายทางการเงินได้

social-media
Photo by Merakist on Unsplash

นักวิจัยจาก  University of Vermont  (UVM), Charles River Analytics และ MassMutual Data Science (หน่วยวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ บริษัทประกันชีวิต Massachusetts Mutual Life Insurance) ได้พัฒนาเครื่องมือออนไลน์ที่เปิดเผยเรื่องราวภายในโพสต์ Twitter หลายพันล้านโพสต์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2008 เครื่องมือที่ชื่อ Storywrangler ซึ่งขับเคลื่อนโดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ UVM ที่ Vermont Advanced Computing Core แบ่งทวีตออกเป็นวลีหนึ่ง สอง และสามคำใน 150 ภาษา และกำหนดความถี่ที่มากกว่าล้านล้านคำ แฮชแท็ก แฮนเดิล สัญลักษณ์ และอีโมจิ ข้อมูลนี้สามารถใช้ในการวิเคราะห์ความนิยมที่เพิ่มขึ้นและลดลงของคำ ความคิด และเรื่องราวทั่วโลก Peter Dodds แห่ง UVM กล่าวว่า "เครื่องมือนี้สามารถทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ทางด้านสื่อสารมวลชน วิธีที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานการประมวลผลภาษาธรรมชาติ และการพัฒนาประวัติศาสตร์การคำนวณ" 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Vermont