วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกหลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ผลการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากยึดอำนาจก็ออกมาแล้ว ถึงจะไม่เป็นทางการ ก็มีอะไรน่าสนใจที่คิดว่าอยากจะบันทึกเอาไว้สักหน่อย ถ้าถามว่าในฐานะที่ไม่เอาพวกยึดอำนาจ รู้สึกผิดหวังไหม ก็ไม่นะ เพราะคิดอยู่แล้วว่ายังไงก็ได้ประยุทธ์เป็นนายกต่อ แต่ยังไงพรรคที่ไม่เอาประยุทธ์ก็ยังได้จำนวนสส.มาเป็นอันดับหนึ่ง (ถ้าไม่มีอภินิหารจากกกต. มาสอยออกไปอีกนะ) แต่ก็ผิดคาดในหลายประเด็น

ประการแรกที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก ก็คือการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่อย่างอนาคตใหม่ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นใครก็ไม่รู้ มีแกนนำพรรคเป็นที่รู้จักอยู่สองสามคนเท่านั้น แต่สามารถได้สส.ถึง 80 กว่าคน และไม่ใช่แค่สส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่คาดไว้ แต่ได้สส.เขตด้วย นั่นก็แสดงว่ามีคนที่เลือกสส.เพราะอุดมการณ์และนโยบายอย่างเดียวจริง ๆ และอาจจะมีคนเบื่อของเก่าอาจอยากลองของใหม่ด้วย ซึ่งส่วนตัวอยากให้พรรคนี้พัฒนาตัวเองให้กลายเป็นพรรคที่เป็นทางเลือกให้ประชาชนต่อไปนาน ๆ เพราะส่วนหนึ่งที่การเมืองไทยมีปัญหามานาน เพราะมันมีทางเลือกหลัก ๆ แค่สองทาง ซึ่งพอทางเลือกหนึ่งมีปัญหา จะหันไปหาอีกทางเลือกหนึ่งก็ดูจะฝากความหวังอะไรไม่ได้

ประการที่สองก็คือความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่คิดว่าจะแพ้ได้ขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะเป็นผลงานเก่าที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยเอาชนะทักษิณได้ และอาจเป็นการเดินนโยบายผิดพลาดของหัวหน้าพรรคที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์ คนที่เกลียดทักษิณก็เลยไปเลือกพรรคพลังประชารัฐโดยตรง และด้วยความที่พรรคไม่ชัดเจนว่าจะร่วมกับพลังประชารัฐหรือไม่ คือไม่เอาประยุทธ์ แต่ก็อาจรวมกับพลังประชารัฐได้ คนที่ไม่ชอบประยุทธ์ ก็เลยไปเลือกอนาคตใหม่แทน และก็อาจมีคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ไปที่อนาคตใหม่ด้วย และอีกอย่างก็คือสส.บางส่วนถูกดูดไปยังพลังประชารัฐด้วย

ประการที่สาม เพื่อไทย เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้ถือว่าแย่นะ เพราะได้สส.เขตมาถึง 130 กว่าเสียง แสดงว่าสส.ในพื้นที่เขายังแข็งแกร่ง และเขาก็คาดอยู่แล้วว่าเขาจะไม่ได้บัญชีรายชื่อ แต่อาจจะได้น้อยกว่าที่คาดไปหน่อย เพราะถูกอนาคตใหม่แบ่งไปบ้าง และยังมีสส.ที่ถูกดูดไปที่พลังประชารัฐด้วย ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีผลลดคะแนนพรรคนี้จริง ๆ อีกอย่างก็คือแผนการที่จะเอาไทยรักษาชาติมาช่วยต้องพังไปซะก่อน ทำให้เสียงหายไปแน่ ๆ ร้อยกว่าเขต และคิดว่าหลังผลออกมาเขาคงเห็นแล้วละว่า สู้ส่งให้ครบ 350 เขตเลยดีกว่า  เพราะจากอนาคตใหม่และพลังประชารัฐก็เห็นแล้วว่าได้เสียงเยอะเพราะส่งครบทุกเขต แต่ก็อย่างว่านะสมมติเพื่อไทยไม่แตกออกมาเป็นไทยรักษาชาติ ดีไม่ดีป่านนี้ถูกยุบไปด้วยกันแล้ว กรณีเสนอแคนดิเดทนายก

ประการที่สี่ พลังประชารัฐได้มากกว่าที่คาด แสดงว่าพลังดูดที่ดูดสส.จากหลายพรรคไปมีผลจริง ๆ และยังได้เสียงจากคนที่ไม่ชอบทักษิณที่ผันแปรมาจากประชาธิปัตย์อีกด้วย และการที่ประยุทธ์ลงพื้นที่นี่ก็น่าจะมีผล นอกจากนี้คิดว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี่ก็มีส่วนมาก และการหาเสียงในช่วงสุดท้ายที่ชูเรื่องความสงบ โดยสามประสานประยุทธฺบอกให้คิดถึงปี 57 สุเทพบอกถ้าเลือกอีกฝั่งก็มีสิทธิเจอกันอีกที่ราชดำเนิน และพลังประชารัฐก็ปิดท้ายด้วย ถ้าอยากสงบจบที่ลุงตู่ คิดว่าอันนี้ก็คงมีผลกับประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้คิดอะไรกับใครเป็นพิเศษ เป็นพวกคิดว่าชีวิตก็ทำมาหากินไป ใครจะมาเป็นก็ต้องทำมาหากินอยู่แล้ว เอาที่มันเดินทางสะดวกไม่มีม็อบก็แล้วกัน

ประการที่ห้า ที่แย่ที่สุดก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทำงานได้แย่มาก ไม่ได้คุ้มกับงบประมาณที่ต้องเสียไปห้าพันกว่าล้านในการจัดเลือกตั้ง มีปัญหาตั้งแต่เป็นการประชาสัมพันธ์ การตัดสินเรื่องต่าง ๆ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่แม่นกฎ และบางกรณีก็แสดงสิ่งที่ทำให้ประชาชนสงสัยว่าเป็นกลางจริงไหม ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ยันเลือกตั้งจริง ซึ่งบางเรื่องมันไม่ควรจะเกิดเลย หรือน่าจะแก้ได้ ถ้าบริหารจัดการกันเป็น  เรื่องการชี้แจงก็ไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องที่มันสำคัญอย่างทำไมจำนวนบัตรมากกว่าจำนวนคนมีสิทธิ การขานบัตรดีบัตรเสีย และการที่มีมัตรเสียเยอะมาก แล้วยังทำงานช้าประกาศผลช้า ยุคก่อน อินเทอร์เน็ตก็ไม่ดีอย่างทุกวันนี้ เลือกตั้งเสร็จบ่ายสาม สองสามทุ่มก็ประกาศผลแล้ว คืนวันเลือกตั้งก็เห็นหน้าตารัฐบาลแล้ว มายุคนีี้เทคโนโลยีก็ก้าวหน้ากว่าไม่รู้เท่าไร แต่ไม่สามารถนับผลให้เสร็จได้ อ้างโน่นอ้างนี้ ทุกคนผิดหมดยกเว้นตัวเอง ทั้งหมดทำให้ประชาชนมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ และดีไม่ดีอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้  นี่หรือคือคนที่สนช.คัดมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แล้วบอกว่านี่ดีที่สุดแล้ว ถ้าดีที่สุดได้แค่นี้ มันก็แสดงถึงความสามารถของคนเลือกด้วยนะ มันมีคนที่ตั้งใจมาใช้สิทธฺเลือกตั้งครั้งนี้ และบางคนใช้เป็นครั้งแรก ถ้ามันเป็นแบบนี้ ต่อไปเขาก็อาจไม่มาก็ได้


และประการสุดท้าย คือจำนวนผู้มาใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริงน้อยกว่าที่คาดมาก เพราะมากันแค่ ร้อยละหกสิบกว่า ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน  ไม่รู้ถ้ามากันมากกว่านี้ ผลมันจะเปลี่ยนไปไหม

อ้อแถมอีกนิด รอดูวันที่จะเห็นประยุทธ์ถูกอภิปรายในสภาด้วยครับ ว่าจะเอาตัวรอด หรือคุมอารมณ์อยู่ไหม

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกก่อนไปเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ด้วยวัยขนาดนี้ก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาตื่นเต้น อยากจะเลือกตั้งอะไรอีก แต่คราวนี้รู้สึกตื่นเต้น เหตุผลหลัก ๆ ก็คือส่วนตัวคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะที่ผ่าน ๆ มาตัวเองไม่ค่อยแคร์เท่าไร เพราะเท่าที่ติดตามการทำงานของนักการเมืองมาในแต่ละพรรคมันก็มีทั้งดีทั้งแย่ บางพรรคมีบางคนบริหารเก่ง แต่ก็มีคนที่ไม่ได้เรื่องได้ราวด้วย พอมีตำแหน่งก็ใช้อำนาจระรานเขา บางพรรคประกาศว่าไม่โกง ก็อาจจริงที่ตัวคนประกาศไม่โกง แต่พอคนใกล้ตัวหรือคนที่เป็นคนที่สามารถค้ำบัลลังก์ตัวเองได้ทำอะไรที่ดูไม่เหมาะสม ก็แกล้งหลับตามองไม่เห็นซะ

ตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบทักษิณ และเคยคิดว่ารอดคดีซุกหุ้นภาคแรกมาได้ยังไง และที่ไม่ชอบที่สุดคือหลังจากชนะเลือกตั้งครั้งที่สองมาอย่างถล่มทลาย ก็รู้สึกว่าเริ่มเหลิงอำนาจ จำได้ว่ามีวันหนึ่งฟังวิทยุ และเขาถ่ายทอดไม่แน่ใจว่าประชุมครม.หรืออะไร มีการให้ข้าราชการไปชี้แจงเรื่องอะไรสักอย่าง ข้าราชการคนนั้นอ้าปากพูดจะตอบคำถามจะชี้แจง ทักษิณพูดขัดตลอด และใช้น้ำเสียงที่ไม่เหมาะสมด้วย ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นได้ และยังเรื่องชอบพูดอะไรไม่คิด (คล้าย ๆ ประยุทธ์ตอนนี้ แต่ยังดีกว่าเยอะนะ) อย่างไอเอ็มเอฟไม่ใช่พ่อ ซึ่งกองเชียร์คิดว่าเท่ซะเหลือเกิน แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นผู้นำประเทศ ยังต้องติดต่อทำธุรกรรมกับเขาอีกเยอะมาพูดอย่างนี้ได้ยังไง  แต่ก็ไม่ได้เกลียดหรืออคติแบบไม่ลืมหูลืมตาว่าความเลวทุกอย่างในโลกนี้ถ้ามีชื่อทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้องมันต้องจริงหมด ซึ่งตอนนี้ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่ารู้ทันทักษิณ ก็กำลังทำกับธนาธรแบบเดียวที่ทำกับทักษิณ พูดถึงเรื่องนี้ก็น่าประหลาดนะ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องที่กล่าวหาทักษิณหลายเรื่องมันก็ดูซับซ่้อน แต่คนเหล่านี้เข้าใจได้ แต่กับเรื่องที่พวกยึดอำนาจทำอยู่ตอนนี้เข้าใจง่ายกว่าตั้งเยอะ ก็มองข้ามไป หรือจริง ๆ สำหรับคนเหล่านี้อะไรก็ได้ใครก็ได้ขออย่าเป็นทักษิณพอ 

ส่วนอภิสิทธิ์ ตอนเข้ามาใหม่ ๆ ก็เชียร์นะ แต่พอเวลาผ่านไปเขาทำให้ผิดหวังมาก เพราะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ยึดมั่นในระบบจริง ๆ การเมืองนอกสภาก็เอา บอยคอตการเลือกตั้งมาแล้วสองครั้ง มีโอกาสได้บริหารประเทศก็ไม่ได้แสดงถึงความเก่งอะไรอย่างที่คาดหวังไว้ (อาจตั้งความหวังไว้เยอะเกินไป) ยิ่งไปกว่านั้นยังมี DNA ของพรรคประชาธิปัตย์เต็มตัว ส่วนตัวคิดว่าไอ้ DNA นี้อาจติดตัวพรรคนี้มานานแล้ว แต่มันมาเข้มข้นขึ้นยุคอภิสิทธิ์นี่แหละ

ดังนั้นในช่วงก่อนที่มีตัวเลือกหลัก ๆ แค่สองทางนี้ ก็รู้สึกว่าไม่อยากเลือกใครเลย แต่ถ้าต้องเลือกจริงก็คงไม่เลือกปชป. แต่สุดท้ายก็โหวตโนนะ เพราะยุคที่ไทยรักไทยถูกยุบกลายเป็นพลังประชาชนและกลายเป็นเพื่อไทย จนต้องใช้ชุดสำรองมาลงเลือกตั้งยิ่งรู้สึกไม่มีตัวเลือกเข้าไปใหญ่ ก็โหวตโนมันซะเลย

ตัวเองเป็นคนไม่ชอบวิธีการนอกระบบทั้งหลาย ด่ามันมาหมดแล้วตั้งแต่พันธมิตร นปช. กกปส. สนธิ (ทหาร) ประยุทธ์ที่ยึดอำนาจก็ด่า ปีที่พันธมิตรประท้วง จำได้แม่นตอนที่พวกนี้ยกขบวนกันไปสนามบิน เพราะคืนก่อนหน้าที่พวกนี้จะเดินไปสนามบิน ตัวเองผ่าตัดไส้ติ่ง พอตอนเช้าตื่นขึ้นมาเปิดทีวีดู เซ็งมาก พวกนี้มันทำอะไรกันเคยนึกถึงผลเสียที่จะตามมาไหมนี่ แล้วยังลามปามไปถึงยึดทำเนียบไปทำนาปลูกข้าวอีก ส่วนนปช. ก็จำได้แม่น ตอนพวกนี้ยกขบวนไปทำให้ประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้ม ตอนดูข่าวเห็นผู้นำประเทศต่าง ๆ ต้องนั่งเรือออกไปกลางทะเล เพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน ดูข่าวแล้วอยากร้องไห้ ถามตัวเองว่าคนพวกนี้ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนหรือว่าเวลามีแขกไปใครมาที่บ้าน ถ้ามีเรื่องอะไรกันให้เก็บไว้ก่อน ต้อนรับแขกก่อน ส่งแขกกลับบ้านแล้วค่อยคุยกัน และก็เห็นว่าไหน ๆ ตัวเองก็เดินเกมการเมืองพลาดไปแล้ว อภิสิทธิ์ได้เป็นนายก ก็ไม่เห็นเป็นไร รอครบวาระ หรือจะใช้วิธีในสภาก็ได้กดดันให้เขายุบสภาไป แต่ก็ดันไปเลือกวิธีประท้วง ไปปิดย่านเศรษฐกิจอย่างราชประสงค์ พวกแกเป็นบ้ากันหรือไง และฉากสุดท้ายก็จบไม่สวย ซึ่งตรงนี้ก็ยังงงอยู่นะว่ามันเกิดได้ยังไง จำได้ว่าอภิสิทธื์ประกาศยอมให้เลือกตั้งใหม่แล้ว แกนนำก็ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว แต่กลับเกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายมีการเผาห้าง ซึ่งกลายมาเป็นวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง (ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะ เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปจริง ๆ ว่าใครเผา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าพวกนี้ไม่มาชุมนุมกัน มันก็ไม่เกิดเรื่อง) มาจนถึงพวกนกหวีด กกปส. บอกตามตรงเลยนะ ว่าตอนออกมาเดินขบวนต้านพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอยกันนี่โอเค แต่พอยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว ดันไม่เลิก ประท้วงต่อกันอีก ชัตดาวน์กรุงเทพกันสนุกสนาน ไม่ได้สนใจเลยว่าประเทศจะเป็นยังไง ยังไม่พอยังไปป่วนเลือกตั้งอีก ตัวเองเป็นหนึ่งในยี่สิบล้านเสียงที่ออกไปเลือกตั้ง แต่ดันต้องเป็นโมฆะ ก็ไม่เข้าใจนะว่าเรียกตัวเองเป็นมวลมหาประชาชน แต่ดันกลัวแพ้เลือกตั้ง เคยคุยกับคนที่เชียร์กกปส.คนหนึ่งถามว่า ทำไมไม่ไปเลือกตั้งกันล่ะ ถ้าเป็นคนหมู่มากจริงก็พร้อมใจกันไปเลือกปชป.สิ ได้รับคำตอบว่าก็ไม่ได้ชอบปชป.เหมือนกัน ส่วนตัวนี่งงเลย เกลียดทักษิณขนาดนั้นทำไมไม่ยอมเลือกปชป.  คือขนาดตัวเองที่ไม่เคยคิดจะเลือกปชป. ปีนั้นยังตั้งใจแล้วว่าจะกลั้นใจเลือกปชป. ที่มีอภิสิทธิ์เป็นผู้นำนี่แหละ ลงโทษเพื่อไทยซะหน่อย ทำวุ่นวายมาหลายครั้งแล้ว แล้วทำไมพวกมวลมหาประชาชนถึงไม่ยอมเลือก แต่สุดท้ายปชป.ก็บอยคอตเลือกตั้งด้วย อยากจะบอกปชป.ว่าคุณได้ทิ้งโอกาสที่จะได้คะแนนจากผมไปแล้วนะ (พูดอย่างกับเขาจะแคร์ 55)

สุดท้ายก็จบที่ยึดอำนาจต้องทนอยู่กับประยุทธ์มาห้าปีกว่า ซึ่งต้องบอกว่าเป็นห้าปีที่รู้สึกอึดอัดมาก แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่าประยุทธ์ก็มีข้อดีในแง่ของการกล้าจัดการอะไรที่ไม่เป็นระเบียบ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าที่ทำได้เพราะประยุทธ์มีมาตรา 44 ซึ่งรัฐบาลปกติไม่มี แต่อย่างที่บอกส่วนตัวไม่ชอบอะไรที่นอกระบบแบบนี้ เราได้ใครมาบริหารก็ไม่รู้ เราไม่ได้เลือกถ้าคนอื่นเลือกมาเราก็ยอมรับได้ แต่นี่ยึดอำนาจเข้ามา แล้วยังไม่ยอมรีบคืนด้วย คุมอารมณ์ตัวเองก็ไม่ได้ พูดจาก็ไม่ระมัดระวัง ความสามารถก็ไม่ได้ดีไปกว่ายิ่งลักษณ์ พวกพ้องคนใกล้ชิดมีปัญหาก็มองข้าม คือปัญหาที่เคยเกิดในรัฐบาลปกติที่ด่า ๆ เข้าไว้ก็เกิดในรัฐบาลนี้เหมือนกัน แต่หนักกว่าคือพอถามมาก ๆ เข้าโกรธ และบางทีก็สั่งไม่ให้ถาม และยังบอกสื่อว่าไม่ให้เสนอข่าวอีก จากเป็นกรรมการก็จะลงมาเล่นเอง ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ผิดนะ แต่แทนที่จะลาออกหรือทำอะไรให้มันอยู่ในกติกาเหมือนคนอื่นเขา กลับอ้างต้องทำงานต่อด้วยและก็จะมาเล่นการเมืองด้วย มันก็เลยดูทุลักทุเล  อิลักอีเหลื่อกันไปทุกฝ่าย และที่น่าขำคือพอใกล้เลือกตั้งก็ทำแอ๊บแบ๊วไปวัน ๆ บอกว่าไม่ได้อยากเป็นนายกต่อ แต่พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเอง กลายเป็นตู่หวานจ๋อย แล้วก็ลงพื้นที่ในฐานะนายกตลอด แต่บอกว่าไม่ได้มาหาเสียง สว. 250 คนที่สุดท้ายต้องเลือกเอง แล้วเขาก็จะมามีส่วนร่วมโหวตตัวเอง นี่ก็ทำได้หน้าตาเฉยโดยไม่ได้รู้สึกอะไร 

นอกจากอึดอัดกับประยุทธ์แล้ว ก็อึดอัดกับกองเชียร์ประยุทธ์ (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ชอบประยุทธ์มากขึ้นไปอีก เหมือนกับเกลียดทีมบอลคู่อริมากขึ้นก็เพราะไม่ชอบกองเชียร์) อ้างอยู่อย่างเดียวว่าบ้านเมืองสงบ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วถ้าพวกคุณไม่ออกไปประท้วงปิดบ้านปิดเมืองแบบนั้นประเทศมันก็สงบ พอใกล้เลือกตั้งก็ใช้วิธีแบบเดิม ๆ ที่ใช้ในการปลุกระดมต่อต้านทักษิณ แต่คราวนี้เปลี่ยนเป้าเป็นธนาธรแทน ข้อหาก็เดิม ๆ เผาบ้านเผาเมือง ล้มเจ้า อะไรที่เคยเป็นสิ่งที่ฝั่งที่ตัวเองไม่ชอบทำ พอเป็นประยุทธ์ทำก็ไม่เห็นเป็นไร ประยุทธ์และพวกตั้งญาติตัวเองเข้ามาทำงานด้วยก็ไม่เป็นไร ทั้ง ๆ ที่ ด่าอีกฝ่ายมาตลอดเรื่องเอาญาติพี่น้องมาทำงาน คนใกล้ตัวประยุทธ์มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ก็ไม่เห็นเป็นไร ทั้งที่ถ้าเป็นอีกฝ่ายทำเดือดร้อนกันจะเป็นจะตาย ประยุทธ์เดินทางไปต่างประเทศ แซ่ซ้องสรรเสริญว่าไปทำงาน นายกคนก่อนหน้าก็ไปไอ้งานเดียวกันนี่แหละ แต่บอกว่าไปเที่ยว คุมสื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างเสรี ไม่เป็นไรบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่ไม่เคยมองเห็นว่าสื่อที่ถูกปิดถูกควบคุมคือสื่อที่ไม่เชียร์รัฐบาล ประยุทธ์ไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่เป็นไรล่ามมีไว้ทำไม แต่กับอีกคนจิกหัวด่าว่าอีโง่

นอกจากนี้ยังอึดอัดกับองค์กรอิสระซึ่งไม่ได้สร้างความไว้วางใจว่าได้ทำหน้าที่อย่างอิสระเลย ถ้าเป็นกรรมการก็คงจะถูกกล่าวหาว่าลำเอียงนั่นแหละ พรรคการเมืองที่เชียร์ประยุทธ์หาเสียงเชิงข่มขู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า ถ้าอีกพรรคชนะจะต้องไปชุมนุมบนถนนกันอีกบ้าง หรือถ้าอยากสงบจบที่ ... ก็มองไม่เห็น ทีคนของพรรคที่ถูกยุบถูกตัดสิทธ์ไปแล้ว ไปช่วยหาเสียงให้อีกพรรคซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร ดันจะไปหาว่าเขาผิด องค์กรที่ควบคุมสื่อก็ขยันหมั่นเพียรหาเรื่องปิดสื่อที่ไม่เชียร์รัฐบาล ไปกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่อีกช่องหนึ่งพฤติกรรมชัดเจนหนักกว่าเห็น ๆ แต่เชียร์รัฐบาล ก็ไม่ทำอะไร   

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้จะรู้ผลอยู่แล้วว่าด้วยกฎกติกาที่เอื้ออำนวย ประยุทธ์ก็น่าจะได้กลับมา แต่ยังหวังว่าจะมีปาฏิหารย์ที่ผู้คนในประเทศนี้รู้สึกถึงความอึดอัดอย่างที่ตัวเองรู้สึก แล้วไปเลือกฝั่งที่ไม่เอาประยุทธ์กันเยอะ ๆ ซึ่งถ้าผลอออกมาเป็นอย่างที่หวังก็ถือว่าได้คลายความอึดอัดคับข้องใจตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องถึงกับได้เป็นรัฐบาลหรอก เอาแค่พรรคที่สนับสนุนประยุทธ์ได้สส.น้อย ๆ สักประมาณไม่เกิน 50 ก็พอใจแล้ว (จริง ๆ อยากให้ได้น้อยกว่า 25 จะได้เสนอชื่อนายกไม่ได้) และถ้าพวกนี้จะหน้าด้านไปรวมเสียงมาให้ได้เป็น 126 เสียงแล้วเอาไปรวมกับ สว. 250 คน ก็ไม่ว่าอะไร ถือว่าชนะแล้ว แต่ถ้าฝ่ายประยุทธ์ชนะมามากจริง ๆ ก็คงต้องยอมรับผล และคิดว่าเราเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าอีก 4 ปี ได้เลือกกันใหม่ ไม่ต้องรอคอยความกรุณา หรือมีคนมาพูดเหมือนกับมันเป็นบุญคุณที่เขายอมให้มีการเลือกตั้งกันอย่างทุกวันนี้         
 

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ประสบการณ์สนุก ๆ ของผมกับเพลงหนักแผ่นดิน

ตอนนี้กระแสเพลงหนักแผ่นดินกำลังฮืตมาก ๆ นะครับ ทำให้ผมคิดได้ว่าสมัยเด็ก ๆ จนถึงตอนจะมีลูก ผมก็มีประวัติศาสตร์กับเพลงนี้อยู่บ้างเหมือนกัน ต้องบอกว่าตอนผมเป็นเด็กนี่เพลงปลุกใจพวกนี้เปิดกันบ่อยมาก เพราะเป็นสมัยที่เขาบอกว่าเราสู้กับคอมมิวนิสต์ และอีกอย่างสมัยเด็ก ๆ ผมเป็นเด็กไม่แข็งแรงครับ ขาดเรียนบ่อยเวลาขาดเรียนก็ต้องไปอยู่ที่ที่ทำงานกับแม่ แล้วในสมัยนั้นเขาก็เอาข้าราชการไปฟังสัมมนาต่อต้านคอมมิวนิสต์ บางครั้งแม่ก็ต้องพาผมไปด้วย ผมก็ไปนอนหลับเวลาเขาสัมมนากันตื่นมาก็เห็นเขาร้องเพลงปลุกใจกัน ก็มาร้องกับเขาด้วย เรียกว่าร้องเพลงปลุกใจได้ได้แทบทุกเพลง นักร้องเพลงปลุกใจอย่างคุณสันติ ลุนเผ่ นี่ก็ดังมาก เพลงหนักแผ่นดินนี่ก็เป็นเพลงฮิตเพลงหนึ่งร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ใครยังไม่เคยฟังก็ร้องฟังกันดูครับ


ฟังกันสนุก ๆ นะครับ อย่าไปอินกับมันมาก สำหรับเนื้อร้องก็ประมาณนี้ครับ

คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย
คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)
คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย
ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง
คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง
ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน
คนใดขายตนขายชาติ ได้โอกาสชี้ทางให้ศัตรู
เข้าทลายพลังไทยให้สลายทางสู้ เมื่อศัตรูโจมจู่เสียทีมัน
คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ
เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา

สมัยก่อนนี้เวลาเพลงมันดังมาก ๆ ก็จะมีคนนำมาแปลงเล่นกันครับ และเพลงหนักแผ่นดินก็ถูกนำมาแปลงเช่นกัน ซึ่งถูกแปลงเป็นเพลงหนักที่นอน ซึ่งผมก็ไม่รู้นะครับว่าใครเป็นคนแต่ง พอดีได้ยินเพื่อน ๆ ร้องมา เนื้อร้องก็ประมาณนี้นะครับ อาจไม่ตรงร้อยเปอร์เซนต์ เพราะมันนานมากแล้ว เนื้อร้องก็ประมาณนี้ครับ 

คนใดใช้เงินเมียอยู่ กายก็ดูเขาใช่จะพิการ 
ได้อาศัยเมียกิน กอบโกยสินนงคราญ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดนอกใจ
คนใดใช้เมียดังทาส ได้โอกาสหาทางดื่มเมรัย 
ปล่อบเมียไว้เปล่าเปลี่ยว ออกไปเที่ยวคนจัญไร กลับบ้านได้ตีห้าทุก ๆ คืน 
หนักที่นอน หนักที่นอน คนเช่นนี้เป็นผัวหนักที่นอน  (หนักที่นอน!)

ถ้าใครอยากร้องแนะนำว่าให้ฝึกร้องหนักแผ่นดินให้ได้ก่อนนะครับ แล้วก็ลองร้องเพลงนี้ดูถึงจะได้อารมณ์ 

ผมเอาเพลงนี้ไปร้องให้ที่บ้านฟังก็มีแต่คนหัวเราะ หลังจากผ่านยุคนั้นมาก็ไม่ได้ร้องเพลงนี้อีกเลยนะครับ จนกระทั่งถึงปีที่คุณภรรยากำลังท้องลูกคนแรกได้ 6-7 เดือน คุณเธอก็ไปอ่านหนังสือมาบอกว่าลูกได้ยินเสียงแล้ว ควรพูดกับลูกหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง แทนที่เธอจะร้องเอง คุณเธอก็ใช้วิธีว่าตอนเธอจะนอนเธอก็ชวนผมให้นอนด้วยครับ (อย่าคิดเรื่องอื่นนะครับ ตอนนั้นเธอท้องอยู่) และให้ผมเป็นคนร้องเพลงให้ลูกฟังครับ ผมก็ร้องเพลงให้ฟังกล่อมลูกกล่อมเมียไป ทุกวันเข้าหลัง ๆ ชักหมดมุกไม่รู้จะร้องอะไรดี ไม่รู้อะไรดลใจก็ร้องหนักแผ่นดินขึ้นมาครับ เธอก็บอกว่าเอาเพลงอะไรมาร้องเนี่ย ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นหนักที่นอนแทน ปรากฎเธอหัวเราะไม่ยอมหยุด ผมกลัวจะเป็นอันตรายกับลูกก็เลยรีบหยุดร้องครับ :) จากนั้นก็ไม่เคยร้องหรือนึกถึงเพลงนี้อีกเลยจนถึงวันนี้นี่แหละครับ 

เห็นเพลงนี้กลับมาเป็นกระแสก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ เรื่องเครียด ๆ จริงจังเห็นโพสต์กันเยอะแล้วบน Facebook มาเขียนเรื่องเบา ๆ กันบ้างดีกว่านะครับ...  


วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562

เหลียวหลังมองปี 2018

สวัสดีปีใหม่ครับ หวังว่าคงจะยังไม่ช้าเกินไปที่จะสวัสดีปีใหม่กันนะครับ บล็อกแรกของปี และตั้งใจว่าจะเขียนให้มากขึ้นในปีนี้ แต่ก็ไม่อยากตั้งเป้าไว้มาก เพราะปีที่แล้วก็ตั้งเป้าไว้แบบนี้แต่ก็ทำไม่ได้

จริง ๆ ผมไม่เคยคิดที่จะมาเขียนรีวิวปีที่แล้วเลยนะครับ แต่บังเอิญ Google ส่ง Goole Maps Timeline ซึ่งเป็นการสรุปการเดินทางของผมในปีที่แล้วมาให้ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจคือปีที่แล้วผมใช้เวลาอยู่บนรถ 736 ชั่วโมง เฉลี่ย 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ต่อวัน และเดินทางด้วยรถไปเป็นระยะทาง 23,499 กิโลเมตร ส่วนการเดินทางด้วยการเดินคือ 77 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางด้วยการเดิน 17 ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามั่วบ้างหรือเปล่านะครับ เพราะเข้าไปดูรายละเอียดมีการแสดงว่าผมเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ด้วย แต่ปีที่แล้วผมแน่ใจว่าไม่เคยนั่งมอเตอร์ไซค์เลยปีที่แล้ว และสถานที่ที่อยู่ก็ไม่น่าจะมีมอเตอร์ไซค์ให้นั่ง ไม่รู้ Google ดูจากอะไรว่าผมนั่งมอเตอร์ไซค์

หลังจากที่ได้ข้อมูลจาก Google ก็เลยทำให้ผมได้มองย้อนกลับไปในปีที่แล้ว และก็ถามตัวเองว่าปีที่แล้วของผมเป็นยังไง ซึ่งคำตอบที่ได้คือเป็นปีที่ทุ่มเทเวลาไปกับการสอนหนังสือ และเตรียมตัวสอนหนังสือ จริง ๆ ผมเป็นคนที่สอนหนังสือด้วยจำนวนชั่วโมงต่อปีมากอยู่แล้ว แต่ปีที่แล้วใช้เวลามากขึ้น เพราะได้รับเชิญให้ไปสอนที่วิทยาลัยนานาชาติ อีก 3 วิชา ซึ่งนอกจากวิชาจะเพิ่มแล้วก็ต้องเตรียมตัวสอนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผมยังคิดอะไรไม่รู้ไปเปิดวิชาใหม่ขึ้นมาหนึ่งวิชาคือวิชาที่เกี่ยวกับบล็อกเชน ซึ่งต้องเตรียมสอนเยอะมาก ผมไม่ได้สอนวิชาที่ใหม่ ๆ ไม่เคยสอนมาก่อนเลยนี่นานมากแล้วนะครับ ย้อนกลับไปเป็นสิบปีได้ ถึงแม้จะมีความรู้ มีวัตถุดิบอยู่พอสมควรแล้ว แต่การนำมาเรียบเรียงนี่ใช้เวลามากจริง ๆ ครับ ถ้าใครเคยเตรียมสอนวิชาใหม่ ๆ ผมว่าน่าจะเข่้าใจดี วิชาเก่า ๆ ก็ต้องเตรียมสอนนะครับ ปรับปรุงให้ทันสมัย และดูข้อบกพร่องทีทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจ ตัดอะไรที่มันล้าสมัยหรือไม่จำเป็นออกไป ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องจัดทำสื่อออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนในแบบ Active Learning อีกด้วย เรียกว่าปีที่แล้วแทบไม่ได้ทำงานอย่างอื่นเลย สอนเสร็จก็กลับบ้านก็มานั่งเตรียมสอน

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ในปีที่แล้วที่น่าจดจำก็มีอย่างลูกคนเล็กที่สามารถเอาชนะระบบ TCAS เข้ามหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีปีญหา คนในครอบครัวทุกคนก็ยังมีสุขภาพดี และมีความสุขกันตามอัตภาพ ทีมฟุตบอลที่เชียร์อย่างลิเวอร์พูลก็ทำให้มีรอยยิ้มได้มากมายตลอดปี (หวังว่าปีนี้จะทำให้ยิ้มได้เต็มที่นะ) สุขภาพตัวเองก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีระดับหนึ่ง (มีเสื่อมไปตามวัยบ้าง)  ถึงแม้จะเอาแต่ทำงานและไม่ได้ดูแลตัวเองมากนัก (ปีนี้ตั้งใจจะดูแลตัวเองให้ดีขึ้น)

ส่วนปณิธาณที่ตั้งใจจะทำในปีนี้ ก็ขอไม่ตั้งอะไรมาก (เพราะตั้งแล้วทำไม่เคยได้เลย) เอาเป็นว่าก็จะทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดทั้งด้านงาน ส่วนตัว ครอบครัว และคนรอบข้าง ซึ่งถ้าทำอย่างดีแล้วก็หวังว่าผลมันก็จะออกมาดีด้วย และก็จะพยายามมาพูดคุยกันผ่านบล็อกนี้กันให้บ่อยขึ้นครับ สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ขั้นตอนวิธีที่ทำให้ TCAS รอบ 3 สามารถเลือกอันดับได้

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานตั้งแต่ต้นปีเหมือนเดิมเพราะยุ่งมาก แต่วันนี้รู้สึกอยากเขียนเรื่อง TCAS สักหน่อย เพราะตัวเองก็ต้องศึกษาระบบนี้ เนื่องจากลูกก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้ และก็มองเห็นปัญหาว่าระบบในรอบ 3 นี้มันจะมีปัญหากั๊กที่แน่ ก็เลยบอกลูกว่ายังไงก็ต้องตั้งใจให้เต็มที่ทำคะแนนให้สูง ๆ เข้าไว้ และลูกก็ทำได้ ดังนั้นเขาไม่ใช่เด็กที่มีปัญหาในรอบนี้แต่อย่างใด ประกอบกับเขาอยู่สายศิลป์-คำนวณ และคณะที่เขาเลือกปีนี้ก็มาแยกสายวิทย์ กับสายศิลป์-คำนวณพอดี ดังนั้นก็ยิ่งเข้าทางเขา สำหรับใครที่ไม่ได้ตามข่าวหรือยังไม่ค่อยเข้าใจระบบนี้สามารถอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

https://www.the101.world/from-admission-to-tcas/

และปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

 https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1173473

ปัญหาหลักที่เกิดในรอบ 3 ก็คือการกันที่กันหรือเรียกว่ากั๊กที่ครับ ระบบก่อนหน้า TCAS ก็กั๊กกัน แต่พวกที่เลือกหมอเขาจะประกาศผลไปต่างหากอยู่แล้ว และในระบบก่อนหน้านี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะบริหารจัดการกันเอง ด้วยการเรียกเด็กที่ติดสำรองมาแทนเด็กที่ติดตัวจริงที่ไม่มาสอบสัมภาษณ์ (เพราะเลือกที่อื่นไปแล้ว) แต่ในปีนี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ซึ่งเป็นผู้คิดระบบ TCAS ไม่รู้มีอะไรมาดลใจ ให้เอาพวกหมอมารวมในรอบรับตรงนี้ด้วย และไม่ให้มีการเรียกสำรองอีกต่างหาก ผลก็คือเกิดมหกรรมการกั๊กที่อย่างเป็นรูปธรรมตามลิงก์ข้างบนครับ

มีคนถามทปอ.ว่าทำไมรอบ 3 ไม่ทำเหมือนรอบ 4 คือให้เรียงลำดับที่ตัวเองต้องการแล้วก็ให้ติดเฉพาะอันดับสูงสุดที่ตัวเองเลือกไว้ ทปอ.บอกทำไม่ได้ เพราะในรอบ 3 นี้คณะและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน เช่นบางคณะเอาแต่ GAT/PAT บางคณะใช้ 9 วิชาสามัญ ดังนั้นต้องให้เด็กติดทุกสาขาที่ผ่านเกณฑ์แล้วให้เด็กตัดสินใจเลือกทีหลัง (ซึ่งเป็นที่มาแห่งมหกรรมการกั๊กที่)

ผมลองมานั่งคิดดูว่าทำไม่ได้จริงหรือ คิดไปคิดมาก็เห็นว่าน่าจะทำได้นะ ก็เลยมาเขียนบทความนี้เพื่อลองเสนอว่าถ้าจะออกแบบโปรแกรมรอบรับตรงร่วมกันให้สามารถทำให้เด็กเลือกอันดับได้และติดอันดับสูงสุดอันดับเดียวจะทำยังไง หลักการคืออย่างนี้ครับ หนึ่งเลยเอาพวกหมอออกไปอยู่ในรอบต่างหาก (จริง ๆ จะไม่แยกก็ได้ แต่จะทำให้ระบบต้องทำงานหนักโดยไม่จำเป็น เพราะพวกหมอเขามีระบบของเขาอยู่แล้ว) จากนั้นรอบรับตรงร่วมกันก็ให้เด็กเลือกที่ต้องการได้ 4 อันดับ จากนั้นก็ส่งชื่อเด็กให้มหาวิทยาลัยทำการเรียงลำดับคะแนนของเด็กตามเกณฑ์ที่แต่ละคณะใช้ หรือทปอ.จะเขียนโปรแกรมทำให้เองก็แล้วแต่ เช่นคณะไหนใช้แต่ GAT/PAT ก็คำนวณโดยใช้แค่ GAT/PAT และเรียงลำดับมา โดยคะแนนของเด็กที่อยู่ในช่วงจำนวนที่คณะจะรับจะเรียกว่าเป็นตัวจริง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นตัวสำรอง เช่นบัณชีจุฬาจะรับ 150 คน เด็กที่อยู่ใน 150 คนแรกก็เป็นตัวจริงของบัญชีจุฬา ที่เหลือก็เป็นตัวสำรอง

เมื่อได้คะแนนเรียงตามลำดับมาแล้วก็เริ่มทำการจัดอันดับตามที่นักเรียนเลือก  โดยรอบแรกก็จัดจากอันดับที่เลือกเป็นอันดับ 1 ก่อน ดังนี้

ทำจนกว่า จะไม่มีนักเรียนที่สามารถจัดอันดับ 1 ได้ (คือทำจนสามารถจัดนักเรียนทุกคนที่เลือกอันดับ 1 ได้ หรือจนกว่าคณะที่เลือกเป็นอันดับ 1 ของนักเรียนเต็มแล้ว) 
   อ่านข้อมูลของนักเรียนโดยอ่านจากอันดับ 1 ที่เลือก 
   ถ้านักเรียนติด (อยู่ในกลุ่มตัวจริง ของอันดับ 1 ที่เลือก)  
        เขียนข้อมูลนักเรียนและสาขาที่ติด
        เช็คว่านักเรียนติดอันดับ 2 3 และ 4 ด้วยหรือไม่ ถ้าติดอันดับใด ให้ลบชื่อนักเรียนออกจากสาขาที่ติดนั้น   แล้วเลื่อนอันดับสำรองถัดไปของสาขานั้นเข้ามาเป็นตัวจริง (พูดง่าย ๆ นี่คือการเรียกตัวสำรองนั่นเอง) 
กลับไปที่ต้นลูป

เมื่อทำจบรอบนี้เราก็จะได้นักเรียนที่ได้สาขาที่ตัวเองเลือกเป็นอันดับ 1

รอบต่อไปก็ทำเหมือนกันแต่ทำอันดับ 2 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งถ้าถึงอันดับ 4 แล้วนักเรียนก็ยังไม่ติดก็แสดงว่านักเรียนไม่ติดในรอบนี้ ต้องไป TCAS รอบ 4 ต่อไป

ก็ต้องบอกว่านี่เป็นแนวคิดคร่าว ๆ นะครับ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพียงแต่อยากแสดงให้เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเอาคะแนนที่ถูกคำนวณมาแบบเดียวกันมาจัดลำดับกันอย่างเดียว เท่าที่ดูโปรแกรมอาจจะทำงานเยอะหน่อยในการจัดอันดับ 1 หลังจากนั้นก็น่าจะทำงานน้อยลง โดยเฉพาะการจัดอันดับ 4 ก็น่าจะง่ายแล้ว เพราะการเช็คก็จะง่ายขึ้นและไม่ต้องไปทำเรื่องเรียกตัวสำรองอะไรอีก

มีความเห็นอะไร หรือเห็นว่าขั้นตอนวิธีที่นำเสนอมีข้อบกพร่องอะไรก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ