วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

9 ชั่วโมงกับการอัปเดต Windows 10

นึกว่าจะมีเวลาว่างเขียนบล็อกให้มากขึ้น สรุปว่าก็ไม่ว่างอยู่ดี แต่วันนี้มีเรื่องอยากเล่าให้ฟังมาก ๆ ครับ ก็เลยหาเวลามาเขียนซะหน่อย อยากมาเล่าประสบการณ์การใช้ Windows 10 ให้ฟังกัน เพราะผมว่าคนที่ใช้ Windows 10 อยู่อาจเจออะไรแบบผมเข้าสักวันหนึ่งถ้าไมโครซอฟท์ไม่แก้ไข หรือใครอาจเจอไปแล้วก็ได้นะครับ ปัญหานั้นคือปัญหาการอัปเดต Windows ครับ ซึ่งล่าสุดการอัปเดต Windows บนเครื่องผมใช้เวลารวม ๆ ประมาณ 9 ชั่วโมง มาดูกันครับว่าเป็นยังไง

คนที่ใช้ Windows 10 (ไม่เถื่อน) ก็คงได้รับการอัพเดตจากไมโครซอฟท์อยู่เป็นระยะกันใช่ไหมครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องดีนะครับ แล้วมันกลายเป็นปัญหาได้ยังไง ปัญหามันอยู่ที่ว่าในบางครั้งการอัปเดตมันนานมาก บางครั้งนานเป็นหลักชั่วโมง และยกเลิกไม่ได้ และมันก็เตือนว่าอย่าปิดเครื่องนะ และบางครั้งการอัปเดตมันก็เกิดขึ้นอัตโนมัติตอนเราเปิดเครื่องขึ้นมา  ลองนึกดูนะครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าตอนนั้นเราต้องรีบใช้เครื่อง พูดถึงปิดเครื่องตอนมันอัปเดตไม่เสร็จ จริง ๆ ผมก็อยากลองปิดหลายครั้งนะ ดูสิว่ามันจะเป็นยังไง แต่นึกอีกทีถ้ามันเจ๊งไป ต้องมาลง Windows ใหม่ ลงโปรแกรมกันใหม่ก็เลยไม่ปิด

จริง ๆ ผมเคยเจอปัญหาอัปเดตที่ใช้เวลานานมากมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเวลาน่าจะเกือบปีมาแล้ว ครั้งนั้นก็ตั้งใจว่าจะมาเขียนบล็อกเล่าให้ฟัง แต่ไม่มีเวลาก็เลยไม่ได้เขียน งั้นตอนนี้ก็ขอเล่าเลยแล้วกันนะครับ วันนั้นจำได้ว่าไปหาแม่ที่บ้านแม่ เปิดเครื่องทำงานไปคุยกับแม่ไป จนรู้สึกว่าบางโปรแกรมมันเอ๋อ ๆ ก็เลยว่าจะ restart เครื่องสักรอบหนึ่ง ก็เจอเมนู update and shutdown กับ update and restart มีให้เลือกแค่นี้ ก็เลยเลือก update and restart ได้เรื่องเลยครับ แรก ๆ มันก็อัพเดตดี แต่สักพักมันก็ไปติอยู่ที่ประมาณ 30% ผมนั่งคุยกับแม่ไปเรื่อย ๆ ดูหน้าจอไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่ขยับ จนผมเกือบตัดสินใจปิดเครื่องแล้ว แต่ก็กลัวต้องไปลง Windows ใหม่ ก็เลยหยิบมือถือขึ้นมาค้น Google ดู ก็เจอเลยครับ มีคนนึงเจอปัญหาเดียวกันเลย ติดอยู่ประมาณ 30% และเขาบอกว่าหลังจากสามชั่วโมงมันจะเดินหน้าต่อไปเอง ผมก็คิดในใจว่าเฮ้ยจริงหรือ แต่ก็ตัดสินใจลอง ผมก็เสียบชาร์จแบตเครื่องเลย แล้วก็ปล่อยให้มันทำงานไป แล้วก็นั่งคุยกับแม่ไป จนถึงเวลาจะกลับบ้านมันก็ยังอยู่ที่ 30% ก็เอาเครื่องขึ้นรถมาโดยไม่ได้ปิด จนมาถึงบ้าน ซึ่งนับจากเริ่มอัพเดตจนถึงบ้านประมาณสามชั่วโมง เปิดหน้าจอมาดู โอ้ว มันขยับเดินหน้าจริง ๆ ครับ จากนั้นก็ใช้เวลาอีกสักสองชั่วโมงมันก็ดูเหมือนอัพเดตเสร็จครับ ผมก็ shutdown เครื่อง แล้วก็นอน สรุปวันนั้นเลยไม่ได้ทำงานอะไรต่อ ให้มันอัพเดตไปอย่างเดียว แต่รู้อะไรไหมครับ ตอนเช้าพอผมเปิดเครื่องขึ้นมาจะทำงาน มันอัพเดตต่อครับ และใช้เวลาอีกพอสมควรถึงแม้ไม่ใช่หลักชั่วโมง ก็เป็นหลักสิบกว่านาที โชคดีที่วันนั้นผมไม่มีสอน ลองคิดดูถ้ามีสอนไปเปิดเครื่องในห้อง แล้วก็ต้องภาวนาให้มันอัพเดตเสร็จให้ร็วที่สุด

จากประสบการณ์ครั้งนั้น ผมก็ไม่ค่อยเจอเหตุการณ์อัพเดตที่เลวร้ายแบบนั้นอีก นานสุดก็สักครึ่งชั่วโมง แต่ก็ยังอ่านเห็นคนด่าการอัปเดต Windows อยู่เนือง ๆ  และผมก็ยังได้เรียนรู้ว่า การ update and shutdown ไม่ได้หมายความว่ามันจะอัพเดตให้เสร็จแล้วค่อยชัตดาวน์ แต่มันจะอัพเดตบางส่วนแล้วชัตดาวน์ จากนั้นพอเปิดเครื่องมันก็จะอัพเดตต่อ (ลูกศิษย์ผมมาให้ข้อมูลวันนี้ว่า มันจะอัพเดตก่อนชัตดาวน์ไป 30% จากนั้นที่เหลืออีก 70% มันจะทำเมื่อเราเปิดเครื่อง) โอ้วแม่เจ้า คนไมโครซอฟท์เอาอะไรคิด เวลาคนเขาสั่งชัตดาวน์ มันก็หมายความว่าเขาอาจจะไม่ใช้เครื่องไปสักช่วงหนึ่ง ทำไมมันไม่ทำให้เสร็จหรือทำสัก 80% ก็ยังดี แต่มันดันมาทำงานส่วนใหญ่ตอนเขาเปิดเครื่อง ซึ่งเป็นเวลาที่เขาต้องการใช้เครื่องมากที่สุด

คราวนี้มาถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ผมเจอเมื่อคืนนี้ ผมเอาเครื่องมาเปิดแล้วก็เช็คว่าสิ่งที่ผมจะต้องสอนเช้าวันนี้เรียบร้อยดีไหม จนถึงเวลาสัก 23.30 ผมก็ว่าจะนอนแล้วก็จะชัตดาวน์เครื่อง ก็เจออีกแล้ว update and shutdown กับ update and restart จากประสบการณ์ก็เลือก update and restart มันจะได้เสร็จ ๆ ไป เสร็จแล้วเดินไปเข้าห้องน้ำแปรงฟัน กลับมาดูมันมันอยู่ที่ 12% ก็เฮ้ยทำไมมันได้แค่นี้ ก็เลยทำโน่นทำนี่ไปอีกแป๊ปหนึ่ง แล้วมาดูใหม่มันก็ยัง 12% คิดในใจว่าเอาอีกแล้วเหรอ ก็เลยตัดสินใจนอน ปล่อยให้มันทำไป ตอนเช้าค่อยลุกมาปิดเครื่องแล้วเอาไปสอนเลย  6.00 เช้าวันนี้ตื่นมาเห็นจอมันดับไปแล้วก็นึกว่าเสร็จแล้ว ก็ไปเข้าห้องน้ำอาบน้ำล้างหน้าล้างตา กลับมาที่เครื่องเอามือแตะคีย์บอร์ด จอมันติดครับพร้อมทั้งตัวเลข 37% ผมใจหายวาบ ซวยแล้วตู ทำไงดี  ก็เลยตัดสินใจว่าสงสัยต้องเอาเครื่องสำรองมาใช้ ก็ไปหยิบมาขณะหยิบเครื่องมาก็คิดในใจว่าเราไม่ได้เปิดเครื่องนี้มาหลายวันแล้ว หวังว่าเปิดมามันจะไม่อัพเดตอะไรอีกนะ พอเปิดเครื่องสำรองมาปุ๊ปมันอัพเดตปั๊ปครับ ผมคิดเออมันจะซวยอะไรแบบนี่้นี่ แต่โชคดีมันอัปเดตไม่นานครับ ผมก็เลยนั่งเตรียมสิ่งที่จะสอนไป ตาก็คอยมองเครื่องหลักที่อัปเดตตั้งแต่เมื่อคืนไป ซึ่งคราวนี้มันเดินหน้าไปเรื่อย ๆ ครับ พอผมเซ็ตเครื่องสำรองเสร็จมันก็ขึ้น 100% แล้วก็รีสตาร์ต ผมก็โอเค ถึงจะต้องเสียเวลามาเซ็ตอีกเครื่อง แต่ก็เท่ากับเรามีข้อมูลอัพเดตเอาไปสอนได้ทั้งสองเครื่อง แต่เชื่อไหมครับ พอมันติดขึ้นมามันอัพเดตต่อครับ เริ่มจาก 0 ใหม่ ผมก็กะว่าไม่เอาแล้วไปแล้วทิ้งไอ้เครื่องหลักนี่ไว้ที่บ้านแล้วกัน ก็ไปแต่งตัวสักใกล้ ๆ 8.00 มันได้สัก 80% ผมก็เลยรอ ๆ มีสอน 9.00 บ้านอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานถ้าสัก 8.20 มันไม่เสร็จก็จะไปละ ปรากฏว่ามันเสร็จครับ ก็เลยได้เอาไปสอนรวมเวลาอัปเดตจาก 23.30 เมื่อคืน จน 8.20 วันนี้ เกือบ 9 ชั่วโมงนะครับ

จากที่ดู การอัพเดตนี้เป็นอัพเดตใหญ่ครับคือ Creator update ซึ่งเหมือนการลงวินโดวส์ใหม่ แต่ยังไงมันก็ไม่น่านานขนาดนี้ใช่ไหมครับ ติดตั้งวินโดวส์ใหม่ใช้เวลา 9 ขั่วโมงนี่อ่ะนะครับ จากที่วันนี้โพสต์บ่นในเฟซบุ๊กก็มีลูกศิษย์มาให้ข้อมูลว่าเจอนานเหมือนกัน (แต่จะเท่าผมหรือเปล่าไม่รู้นะ)  ถ้าเป็นฮาร์ดดิสก์จะนานมาก ถ้าเป็น SSD จะเร็วหน่อย เครื่องผม Surface Pro 3 Ram 8GB SSD 256  GB นะนี่ ยังนานขนาดนี้ ซึ่งลูกศิษย์บอกว่าถ้าฮาร์ดดิสก์บางทีเป็นวัน มันใช่หรือครับแบบนี้ ในเคสของผมโชคดีที่มีเครื่องสำรอง และบ้านกับที่ทำงานไม่ไกลกัน ลองคิดว่าถ้าเป็นคนอื่น อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้เครื่องแล้วเจอแบบนี้จะเป็นยังไง ลูกศิษย์ผมบางคนบอกว่าถ้าสั่งชัตดาวน์จากคอมมานด์ไลน์โดยใช้คำสั่ง shutdown -f -s -t 00 อาจจะข้ามการอัพเดตได้ แต่วิธีนี้มันก็ไม่ได้ช่วยผู้ใช้ปกตินะครับ และอย่างกรณีผมนี่ ผมไม่ได้ต้องการจะข้ามการอัพเดต ผมต้องการอัพเดต แต่ผมไม่คิดว่ามันจะอัพเดตจากห้าทุ่มกว่า ๆ จนถึงแปดโมงกว่า ๆ แบบนี้ 

นี่คือสิ่งที่ผมว่าไมโครซอฟท์จะต้องแก้ไขนะครับ เพราะมีเสียงบ่น และผู้ใช้ก็ประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก การแก้อันหนึ่งที่ควรทำโดยด่วนก็คือให้มีเมนูข้ามการอัพเดตไปก่อน เมื่อผู้ใช้ยังไม่พร้อม ให้ผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป สามารถเลือกใช้ได้โดยง่าย อาจยกเว้นถ้ามันเป็นอัพเดตด้านความปลอดภัยที่สำคัญ และใช้เวลาไม่นานนัก จากนั้นในช่วงของการอัพเดตจะเป็นไปได้ไหมที่มีการกำหนด Synchronization point จุดปลอดภัยที่ผู้ใช้สามารถจะหยุดการอัพเดตที่มันใช้เวลานานไปไว้ก่อน เมื่อพร้อมก็กลับมาสั่งอัพเดตต่อจากจุดนั้น หรือถ้าจะไม่ทำอะไรเลย อย่างน้อยช่วยเปลี่ยนคำว่า it may take several minutes เป็น it may take several hours ซะเลยก็ดีนะครับ ผู้ใช้จะได้ทำใจไว้ก่อน...