วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทดลองของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยถามอะไรเด็ก

เริ่มเขียนเรื่องนี้มาหลายวันแล้วครับ แต่ไม่มีเวลามาเขียนจนเสร็จ จนกระแสเริ่มซาไปแล้ว แต่คิดว่ายังไงก็ยังอยากเขียน ก็คือเรื่องระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ (อีกแล้ว) ที่มีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ปีการศึกษา 2561 นี่แหละครับ

หลังจากรวบรวมเสียงของเด็กเกี่ยวกับแนวคิดจะเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ในบล็อกที่แล้ว วันนี้ก็ขอแสดงความเห็นของตัวเองบ้างนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าแนวคิดนี้คืออะไร ถ้าคลิกดูที่บล็อกที่แล้วของผมก็จะเห็น หรือจะลองอ่านดูจากลิงก์นี้ได้ครับ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638816 ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าใครเข้าไปอ่านลิงก์นี้แล้ว ขอให้อ่านให้จบนะครับ เพราะมันมีอะไรที่ผมอยากจะมาพูดถึงในบล็อกของผมด้วย

ก่อนที่จะพูดถึงแนวคิดใหม่นี้ เรามาทำความเข้าใจระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกันก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจริง ๆ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นคนยุคที่สมัยตัวเองการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการสอบเอ็นทรานซ์เพียงครั้งเดียว แล้วก็นั่งลุ้นว่าคะแนนจะติดไหม แต่ระบบใหม่ที่เด็กใช้กันมาตลอดหลายปีนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ที่มองเห็นว่า ระบบเอ็นทรานซ์แบบดั้งเดิมทำให้เด็กเครียด ไม่มีโอกาสแก้ตัว และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้อง มุ่งหน้าไปกวดวิชาเพื่อเอนทรานซ์อย่างเดียว (ซึ่งระบบใหม่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้ โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด) จากตอนนั้นถึงตอนนี่ต้องบอกว่าระบบมีการปรับเปลี่ยนแทบทุกปี จนดูเหมือนจะเริ่มลงตัวมาในช่วงสองสามปีหลัง ดังนั้นผมจะขอสรุประบบล่าสุดที่ใช้กันอยู่ให้ฟังก่อนนะครับ บอกตามตรงผมก็เพิ่งจะมาเข้าใจระบบนี้จริง ๆ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง เพราะลูกคนโตต้องสอบเข้า

สำหรับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจะใช้กับนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2560 ก็เป็นดังนี้ครับ นักเรียนจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามช่องทางนี้ครับ
1. โควต้า มหาวิทยาลัยจะให้โควต้ากับนักเรียนซึ่งมีความสามารถพิเศษ อยู่ในภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นต้น ซึ่งโควต้าประเภทนี้อาจจะมีการสอบเองโดยมหาวิทยาลัย หรือจะใช้คะแนนสอบกลาง (จะกล่าวถึงต่อไป) มาประกอบบ้างก็ได้
2. รับตรง โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะประกาศรับนักศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งการรับแบบนี้แหละครับ ที่ระบบที่นำมาใช้ใหม่เขาบอกว่ามันเป็นปัญหาที่เขาตั้งใจจะมาแก้ โดยระบบนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะจัดสอบเอง หรือใช้คะแนนสอบกลาง โดยกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการรับ ถ้านักศึกษาไม่ผ่านเงื่อนไขขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถสมัครได้ และถ้านักเรียนได้ในรอบนี้แล้ว ก็มักจะเรียกเก็บเงินค่ามัดจำล่วงหน้าไว้ก่อน เผื่อนักเรียนไปสมัครที่อื่น แล้วจะสละสิทธิ์ (คือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีวันสอบหรือช่วงยื่นคะแนนและประกาศผลไม่ตรงกัน ดังนั้นใครประกาศรับก่อนก็จะเก็บเงินค่ามัดจำไว้ก่อน) ผมเล่ามาถึงตรงนี้คิดว่าคงเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ ระบบนี้มันก็มีข้อดีนะครับ ซึ่งผมจะพูดต่อไปทีหลัง ระบบรับตรงนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเข้าร่วมสิ่งที่เรียกว่า Clearing House ก็คือถ้านักเรียนคนไหนที่ได้มหาวิทยาลัยในรอบนี้แล้ว จะไม่มีสิทธิ์ไปเข้าระบบแอดมิชชันกลาง (จะพูดถึงต่อไป) ด้วยการยืนยันสิทธิ์ เอาง่าย ๆ คือเขาจะไม่ให้เด็กที่มีที่เรียนแล้วไปกั๊กที่คนอื่นในรอบแอดมิดชันอีก ถ้าอยากไปแอดมิชชันก็ต้องสละสิทธิ์สิ่งที่ได้ในรอบรับตรง
3. แอดมิชชันกลาง อันนี้ก็เป็นระบบที่ใช้คะแนนสอบกลาง ให้นักเรียนเลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการได้ 4 อันดับ ถ้าคะแนนถึงอันดับไหนก็ได้อันดับนั้น ในระบบปัจจุบันการแอดมิชชันจะอยู่หลังจากรับตรง และเป็นความหวังเกือบสุดท้ายของเด็ก เพราะคู่แข่งก็จะน้อยลง เนื่องจากพวกที่รับตรงและยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว จะไม่มาแข่งกับเขาอีก
4. รับตรงหลังแอดมิชชันกลาง อันนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งจะเปิดรับอีกในกรณีได้นักศึกษาไม่ครบตามเป้าหมาย    
5. การสอบ กสพท. อันนี้เป็นการสอบที่จัดให้นักศึกษาที่จะเข้าแพทย์ ทันตแพทย์ อะไรพวกนี้ เข้าใจว่าที่ต้องมาจัดสอบเองในสาขานี้ก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยมองว่าข้อสอบกลางไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้

คราวนี้มามองดูการสอบกลางบ้างว่านักเรียนต้องสอบอะไรบ้าง

1. GAT/PAT ซึ่ง GAT ก็เป็นการสอบความถนัดทางภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ ส่วน PAT ก็คือการสอบความถนัดทางด้านต่าง ๆ เช่น PAT1 คือเลข PAT2 วิทยาศาสตร์ (รวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) และ PAT2 นี้นักเรียนที่อยู่สายศิลป์ก็เลือกสอบได้นะครับ แปลกดีเหมือนกัน PAT5 คือความถนัดด้านครูเป็นต้น ซึ่งจะต้องสอบ PAT อะไรบ้างนั้น แต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด นักเรียนจะต้องดูเงื่อนไขของคณะที่ต้องการเข้าเอาเองว่าต้องสอบอะไรบ้าง GAT/PAT จะสอบได้สองครั้ง ครั้งแรกจะประมาณ ปลายปี (ประมาณ ต.ค. - พ.ย.) คือยังเรียน ม.6 ไม่จบก็ต้องสอบแล้ว ครั้งที่สองจะประมาณเดือนมีนาคม หลังจากจบม. 6 แล้ว
2. 9 วิชาสามัญ ก็พวก เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม อะไรพวกนี้ ซึ่งนักเรียนก็ต้องดูว่าคณะที่ตัวเองต้องการเข้าเขาต้องการวิชาอะไรบ้าง อันนี้สอบประมาณ ธ.ค.
3. ONET อันนี้สอบหลังสุด และส่วนใหญ่จะใช้ตอนแอดมิชชันกลาง และที่เขาคิด ONET ขึ้นมาเพราะเขาบอกว่าจะให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และทำให้เกรดที่ได้ของโรงเรียนมันเท่าเทียมกัน เพราะโรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่ากัน บางโรงเรียนปล่อยเกรด อะไรแบบนี้   ONET จะนำไปถ่วงกับเกรดที่นักเรียนได้ ดังนั้นใครทำ ONET ได้น้อยก็จะทำให้เกรดที่ได้จากโรงเรียนลดลง และเขาค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักของการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ONET เพิ่มขึ้นทุกปี (แต่ได้ผลตามที่เขาคิดไหม ... ขอไม่พูดแล้วกัน)

 เห็นนักเรียนต้องสอบแล้วเหนื่อยใช่ไหมครับ และถ้ามหาวิทยาลัยหรือคณะในบางมหาวิทยาลัยที่รับตรงแบบให้ไปสอบ อย่างคณะบริหารธุรกิจของธรรมศาสต์ในปีก่อนหน้าปีนี้ เขาก็จะมีการสอบที่เรียกว่า Smart-1 ซึ่งเปิดสอบทั้งปี ให้นักเรียนไปสอบเก็บคะแนนเพื่อนำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หรือคณะอื่น ๆ ที่จัดสอบเองอีก ก็จะต้องเหนื่อยเข้าไปอีก ซึ่งระบบใหม่ส่วนหนึ่งนี้เขามุ่งจะแก้ปัญหานี้ เพื่อให้นักเรียนสอบน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเขายังมองถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้วย คือเขามองว่าคนรวยก็มีสิทธิ์ที่จะได้สอบมากกว่าคนจนอะไรประมาณนี้

ก็คงพอเห็นภาพ และเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วนะครับ คราวนี้ผมจะขอแสดงความเห็นบ้าง แต่ก่อนจะแสดงความเห็นขอพูดสั้น ๆ ก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมามันเหมือนคิดอะไรไม่ค่อยจะสุด มีปัญหาให้ลองผิดลองถูกมาแทบจะตลอด คนที่รับผลก็คือนักเรียนนี่แหละ เพราะคิดปุ๊ปก็ทำปั๊ป พอเห็นว่ามีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ จะทำอะไรก็ไม่เคยถามความคิดของคนที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่รู้คนพวกนี้ไม่มีลูกมีหลานที่ต้องสอบบ้างหรือยังไง

คราวนี้มาดูสิ่งที่เขาพยายามจะแก้ด้วยระบบใหม่นี้คือระบบรับตรง อันนี้เห็นด้วยว่าระบบรับตรง นักเรียนต้องสอบเยอะ ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมหาวิทยาลัยบางแห่งใช้ตรงนี้เป็นแหล่งหารายได้ทั้งค่าสอบและค่ามัดจำล่วงหน้า แต่ประเด็นหลังนี้ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เลยหันมาหารายได้ด้วยวิธีนี้ ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้มันก็เป็นปัญหา ส่วนเรื่องคนรวยได้สอบเยอะ ก็อยากให้คิดว่าคนที่ได้สอบเยอะก็ใช่ว่ามันจะสอบได้นะ คนที่ตั้งใจเรียนอาจสอบครั้งเดียวแล้วได้เลยก็ได้ และที่ต้องมองคือข้อดีอันหนึ่งของระบบรับตรงที่ผมมองเห็นคือ ระบบรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีการเตรียมพร้อม (ผมไม่ได้บอกว่าเก่งกว่าพวกแอดมิชชันนะ) คือการรับตรงถ้าใช้คะแนนจากการสอบกลางนี่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะตั้งเงื่อนไขการรับไว้ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่จะใช้ผลจากการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 และ 9 วิชาสามัญ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านมาได้คือเขามีการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ประเด็นนี้จริง ๆ ก็ไม่สำคัญหรอก เพราะคนที่มันเตรียมพร้อมจะให้สอบอะไรแบบไหนมันก็พร้อม อีกประเด็นถ้าไม่มองแค่ว่ามหาวิทยาลัยอยากได้เงินจากการสอบ การที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่จัดสอบเองเป็นเพราะข้อสอบกลางคัดเด็กให้เขาไม่ได้ด้วยหรือเปล่า

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอให้คิดกันก็คือ

  • ถึงเวลาหรือยังที่จะสอบถามคนที่ได้ผลกระทบก่อนจะทำอะไร ลองให้เขาพูดถึงความรู้สึก หรือเสนอวิธีแก้ตามที่เขาคิดบ้างดีไหม 
  • ถึงเวลาหรือยังที่จะคิดอะไรปุ๊ปแล้วทำปั๊ปลองคิดพิจารณาให้ดีให้ถี่ถ้วน ไม่ใช้ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ดีไหม ผมมองว่ามันยังมีอะไรที่ควรจะต้องคิดให้ลงตัวก่อนที่จะนำระบบมาใช้เช่น
    • ข้อสอบจะทำยังไงให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยอมรับว่าคัดเด็กที่ต้องการได้จริง เรืองพวกนี้ต้องใช้เวลานะผมว่า ข้อสอบที่สทศ.จัดการอยู่ก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานให้พูดกันทุกปี ตามข่าวก็เห็นว่าที่ประชุมก็คิดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นก่อนประกาศใช้อะไรเรื่องนี้ต้องชัดเจน
    •  เรื่องคะแนนที่จะเป็นจุดอ้างอิงให้นักเรียนที่จะสอบด้วยระบบใหม่เป็นรุ่นแรกจะต้องทำยังไง
    • เรื่องการปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมหรือเปล่า (นี่ก็อีกตัวอย่างของการทำอะไรไม่คิดให้ถี่ถ้วน) และมีมหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศแล้วว่าจะกลับไปใช้แบบเดิมจะแก้ปัญหายังไง
    • การสอบ ONET ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และจะไม่เอามาใช้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องสอบอยู่ไหม  
    • การสอบ GAT/PAT ที่เคยสอบสองครั้ง มาเหลือสอบครั้งเดียว จะทำให้เด็กบางคนคิดว่าเสียโอกาสไหม 
    • เป็นไปได้ไหมที่จะรวมการสอบทั้งสองอย่าง หรือสามอย่างที่ว่าเข้าเป็นการสอบเดียว
    • กสทพ. ยังจะให้เขาสอบอยู่ไหม ถ้าไม่ให้เขาสอบแสดงว่าต้องปรับข้อสอบกลาง แล้วถ้าปรับแล้ว มันจะทำให้สาขาอื่นที่ไม่ต้องการอะไรยากอย่างนั้นลำบากไปด้วยไหม
  •  เลิกด่าว่าคนที่เขาคิดไม่เหมือนตัวเองว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงซะที หัดรับฟังความคิดและข้อเสนอที่หลากหลายบ้าง และควรยอมรับว่าเด็กเขาก็มีความคิดดี ๆ มันน่าจะหมดยุคผู้ใหญ่หัวหงอก ไปนั่งคิดแล้วก็บอกว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กได้แล้วมั้ง ขอโทษที่อาจแรงไปหน่อย เพราะอ่านในเนื้อข่าวที่พูดแล้วมันจี๊ด (ด่ามาก็ด่ากลับไม่คดโกง :) ) 
สรุปสุดท้ายก็คือ ไม่ใช่ผมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นะ ผมก็เห็นปัญหาและเข้าใจที่พยายามจะแก้ แต่อยากจะให้เลิกใช้วิธีแบบหนูลองยาซะที ลองรับฟังความเห็น และวางแผนการปรับเปลี่ยนให้ชัดเจนก่อนดีไหม ผมเชื่อว่าเด็กเขาพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่ทางผู้ใหญ่ต้องชัดเจน และให้โอกาสให้เวลาเขาวางแผนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่เขาเตรียมตัวมาอย่างแต่มาเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง ผมมองว่าหลังจากวางแผนอะไรลงตัวแล้ว ก็ควรจะจัดอมรมให้ครูแนะแนวได้เข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนด้วยและก็ควรจะประกาศใช้กับนักเรียนที่ขึ้นจาก ม.3 มา ม.4 หรือช้าสุดก็น่าจะม.4 ขึ้นม.5 อะไรประมาณนี้... 




 
 

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เริ่มต้นประสบการณ์ที่ดี (หรือเปล่า) กับ AIS Fibre

ในที่สุดวันที่ผมรอคอยก็มาถึงครับ คือวันที่หมู่บ้านผมมี FTTH มาถึง ผมเป็นลูกค้า True ADSL มานานหลายปีมากแล้วครับ และก็หวังว่า True จะขยายบริการไม่ต้อง Fibre ก็ได้อย่างน้อย Cable ก็ยังดี มายังหมู่บ้านผมบ้าง แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น จริง ๆ ผมก็ไม่ได้มีปัญหากับความเร็ว ADSL ของ True หรอกนะครับ และผมก็แทบไม่เคยต้องใช้บริการช่างของ True ให้มาดูเน็ตที่บ้านเลย ครั้งหลังสุดที่ช่างต้องมาที่บ้านก็เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตามที่เล่าไปในบล็อกนี้   เรียกว่าระบบโดยรวมใช้ได้

แต่ช่วงหลัง ๆ เน็ต True หลุดบ่อยครับ จะหลุดเป็นช่วง ๆ แล้วก็กลับมาใช้ได้ ซึ่งส่วนตัวผมและท่านผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) บางทีก็รำคาญ แต่ก็ไม่ได้มากอะไรนัก เพราะมันจะหลุดสักสองสามนาที จากนั้นก็กลับมาใช้ได้ยาวช่วงหนึ่ง นาน ๆ ทีถึงจะหลุดยาวเป็นชั่วโมง แต่คนที่มีปัญหามากก็คือเกมเมอร์สองคนที่บ้าน โดยเฉพาะเกมเมอร์คนเล็ก มักจะได้ยินเสียงโวยวายบ่อย ๆ ประเภทว่าจะชนะอยู่แล้วเน็ตหลุด แล้วก็มาถามว่าพ่อทำอะไรไม่ได้เลยเหรอ ไม่รู้เป็นการต่อว่าหรือเปล่า ประมาณว่าเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ทำอะไรไม่ได้เลยหรือไง ผมก็ได้แต่รำพึงในใจว่า เฮ้อลูกเอ๋ยเรื่องบางเรื่องพ่อก็ทำอะไรไม่ได้หรอกนะ

ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ผมได้พยายามไปสอบถามมาตลอดไม่ว่าจะเป็นของ True เองที่เป็น Cable และ Fibre สอบถาม 3BB และพอ AIS เปิดให้บริการ Fibre ก็สอบถามไป แต่คำตอบที่ได้ก็คือหมู่บ้านผมไม่อยู่ในพื้นที่ให้บริการ ผมเลยลงทะเบียนกับ AIS ผ่านเว็บไซต์ เพื่อแสดงความสนใจ และข้อมูลจากทางเว็บไซต์คือเมื่อพื้นที่บริการขยายมาถึงหมู่บ้านผมแล้วจะแจ้งให้ทราบ และผมก็ได้เข้าเช็คที่เว็บ AIS เองอีกหลายครั้งปรากฎว่าหมู่บ้านผมก็ยังไม่อยู่ในพื้นที่ให้บริการ 

จนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่านผบ. บอกว่านี่มี AIS Fibre มาติดให้คนในหมู่บ้านแล้วนะ ผมก็เลยเข้าไปเช็คเว็บไซต์ดูปรากฎว่าอะไรรู้ไหมครับ มันก็ยังขึ้นว่าหมู่บ้านผมไม่อยู่ในพื้นที่่บริการอยู่ดี นี่คือความประทับใจแรกเลยครับ ไม่อัปเดตเว็บเลย  

ผมก็เลยโทรไปที่ 1185 บอกว่าสนใจจะติดเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าขอเช็คพื้นที่ให้บริการก่อน ผมก็รอกะว่าถ้าบอกว่ายังไม่อยู่ล่ะก็คงได้โวยวายกันหน่อย ปรากฏว่า "ที่อยู่ของลูกค้าอยู่ในพื้นที่บริการค่ะ" โอเคค่อยประทับใจขึ้นหน่อย แต่ก็บอกเขาไปว่าช่วยอัปเดตเว็บด้วยนะ จากนั้นเขาก็รับเรื่องไว้แล้วบอกว่าจะมีฝ่ายนัดติดตั้งติดต่อมา จากนั้นไม่นานครับ น่าจะไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ฝ่ายนัดติดตั้งก็โทรมา อันนี้ก็ประทับใจทำงานกันเเร็วดี ก็นัดวันติดตั้งเป็นวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม ช่วง 9.00-12.00 แต่แล้ววันที่ 11 สิงหาคมก็โทรมาบอกว่าขอเลื่อนเป็น 16.00 น. เริ่มไม่ประทับใจอีกแล้ว ก็ถามเขาไปว่าติดนานไหม เพราะตัวผมวางแผนจะมานอนบ้านแม่ เขาบอกประมาณ 2 ชั่วโมง ก็เลยโอเคไป เพราะถ้าเลื่อนไปวันอื่นก็คงไม่ว่าง

วันที่ 12 สิงหาคม ขณะที่ผมกำลังพักผ่อนด้วยการเดินตามจับโปเกมอนในบริเวณบ้าน ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากช่างบอกว่า จะขอเข้ามาติดก่อน 16.00 น. ได้ไหม ผมก็บอกว่ามาเลย โปเกมอนให้โชคจริง ๆ  ช่างมาติดตั้ง โดยรวมก็โอเคนะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่มาเสียตอนติดตั้ง Playbox ให้ผม  ช่างคงทำรีโมท Playbox ตกพื้น (ผมไม่เห็นเพราะไปเอาถ่านมาใส่รีโมททีวี แต่ได้ยินเสียงของตก)  ผมกลับมาก็ไม่เห็นช่างบอกอะไร และก็แสดงให้ผมดูการใช้รีโมทควบคุม Playbox ผมเห็นมันใช้ได้ก็ไม่ได้ถามอะไร แต่พอช่างกลับไปแล้วถึงเห็นว่ามันเป็นรอย จริง ๆ ถ้าช่างบอกผมว่าทำตกและเป็นรอย ผมก็ไม่ได้คิดจะโวยวายอะไรนะถ้ามันยังใช้ได้ปกติ เพราะของพวกนี้เรื่องทำตกหล่นมันเป็นเรื่องธรรมดา 

ก่อนช่างจะกลับผมก็ได้สอบถามถึงเรื่อง user name และ password สำหรับเซ็ต router ก็ได้รับคำตอบว่าผมต้องโทรไปถาม 1185 เอง เพราะช่างก็ไม่รู้ ผมก็งงว่าถ้าไม่รู้แล้วเข้าไปเซ็ตค่าให้ผมได้ยังไง ช่างก็บอกว่าใช้ค่า default ที่ เซ็ตมากับ router คือตรง password มันจะขึ้นเป็น..... ดังนั้นช่างก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ มันคืออะไร ตอนแรกผมก็คิดว่านี่คือระบบรักษาความปลอดภัยของ AIS มั้ง ไม่ให้ช่างรู้ แต่คิดอีกทีไม่น่าใช่ AIS จะเสียเวลามาเซ็ตรหัสที่ต่างกันให้กับ router แต่ละตัวทำไม เพราะเดี๋ยวลูกค้า (ที่พอทำเป็น) ก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี และถ้าเซ็ตรหัสกลางมาทำไมไม่บอกช่าง

ตอนแรกกะจะไม่ทำแล้ว เพราะว่าจะต้องออกมาบ้านแม่ แต่เห็นว่ายังเหลือเวลาผมก็เลยโทรไป 1185  ครับ แต่ในขณะที่ผมโทรไป ผมก็ได้รับ user name กับ password จาก AIS ผ่านทาง SMS ครับ บอกเลย (ตอนแรก) ประทับใจมาก ก็เลยวางสายจาก 1185 user name ที่ได้คือ admin ส่วน password คือ system ได้มาก็ลงมือเซ็ตสิครับ แต่ผลออกมาคืออะไรรู้ไหมครับ มันบอกว่า user name/password ไม่ถูกต้องครับ ประทับใจไหมล่ะครับ

ก็เลยต้องโทรไป 1185 อีกครั้ง และลองเดาดูสิครับว่าเกิดอะไรขึ้น ใช่แล้วครับรอนานมาก และก็ไม่ได้พูดกับคน ระบบบอกประโยคที่คุ้นเคย "ขณะนี้พนักงานกำลังให้บริการลูกค้าท่านอื่นอยู่..." และก็ถามว่าจะรอหรือจะทิ้งเบอร์ให้โทรกลับ  ผมรออยู่ห้านาทีได้ครับเลยทิ้งเบอร์ให้โทรกลับ แต่มาคิดอีกทีเรื่องพวกนี้เราไม่ต้องรอก็ได้มั้ง ในสมัยที่ข้อมูลแทบทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้ว ผมก็ค้น Google เลยครับ และก็ได้ข้อมูลว่า user name คือ admin และ password คือ aisadmin ก็ลองใส่ดู ปรากฏว่าเข้าได้ครับ นี่เรามาถึงยุคที่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตถูกต้องแม่นยำกว่าข้อมูลที่ส่งมาจากบริษัทโดยตรงกันแล้วนะครับ และเชื่อไหมครับ จนถึงขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบล็อกอยู่นี่ ผมยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่เลยครับ ทิ้งข้อความไว้ประมาณ 17.00 น. ของวันศุกร์จนตอนนี้จะตีหนึ่งแล้ว (คือผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะโทรมาตอนตีหนึ่งนะครับ แต่คาดว่าไม่เกินหกโมงเย็นหรือทุ่มหนึ่งน่าจะติดต่อมา)  ประทับใจจริง ๆ ครับ อ้อใครที่ใช้รหัสผ่านแบบ default อยู่นี่รีบเปลี่ยนซะนะครับ ชาวเน็ตเขารู้กันทั่วแล้ว ถึงแม้เจ้าหน้าที่ AIS จะไม่รู้ก็เถอะ :)

สรุปว่าตอนนี้ก็ใช้ได้แล้วนะครับ ความเร็ว 50/10 ในราคาใกล้เคียงกับของ True ที่ช้ากว่ามาก ก็ภาวนาให้รักษาคุณภาพไว้ ไม่หลุด และก็ขอให้เหมือน True คือขอให้ใช้ได้โดยไม่ต้องตามช่างมาบริการ เพราะแค่ติดวันแรกก็เห็นภาพการบริการหลังการขายแล้วว่ามันจะเป็นยังไง

ขออัปเดตนิดครับว่าหลังจากผมติด AIS ไปแล้ว วันนี้ True มาตั้งบูธหน้าหมู่บ้านเลยเรื่องติด Fibre ก็คงต้องบอกว่าช้าไปแล้ว และความเร็วก็ให้ไม่เท่าด้วย แต่อย่างน้อยตอนนี้ผมมีทางเลือกล่ะครับ ถ้า AIS ไม่ดี และหมดสัญญาแล้ว ผมก็มีทางเลือกแล้ว หมู่บ้านเราไม่อยู่หลังเขาแล้วเย้ ... 

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 2

จะขอจบซีรีย์ร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยตอนที่ 2 ของสิ่งที่ผมคาดหวังจากฝ่ายต่าง ๆ หลังจากผลลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอน 1 ก็เชิญอ่านก่อนได้นะครับ และคิดว่าจะเป็นบล็อกเกี่ยวกับการเมืองบล็อกสุดท้ายในช่วงนี้ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีประเด็นอะไรร้อน ๆ แทรกเข้ามานะครับ สำหรับฝ่ายที่ผมคาดหวังจะเห็นต่อไปก็คือ

1. คสช. และนายก: ผมก็คาดหวังว่าจะทำตาม roadmap ที่วางไว้ และน่าจะเริ่มผ่อนคลายบรรยากาศการควบคุมลงได้แล้ว เพราะตอนนี้ผมว่าไม่น่าจะมีใครมาสนใจจะต่อต้านรัฐประหารกันแล้ว มันล่วงเลยมากันจนป่านนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็รับร่างแล้ว และน่าจะมุ่งหน้าสู่โหมดการเลือกตั้งกัน นายกเคยพูดบ่อย ๆ ในรายการบอกว่าไม่เห็นพรรคการเมืองออกมาพูดเรื่องจะปฏิรูปประเทศยังไง ก็ท่านไม่เปิดโอกาสให้เขาพูดนี่ครับ ไม่ให้เขาดำเนินการอะไรเลย ผมว่าท่านน่าจะเปิดให้เขาเริ่มดำเนินการได้บ้างแล้ว และจะยิ่งดีถ้าท่านจะเปิดโอกาสให้เขาได้เสนอสิ่งที่จะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องจัดทำขึ้นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ มันก็จะหมดข้อครหาว่าท่านทำของท่านคนเดียว และยังจะไปตามควบคุมอีก ถ้าให้เขาช่วยเสนอ เวลาเขาได้ไปเป็นรัฐบาล ก็ไม่ต้องมาควบคุมเขาหรือสั่งเขามาก เขาก็อาจจะอยากทำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่เขามีส่วนเสนอด้วย ค่อย ๆ คืนเสรีภาพในการแสดงออกให้ประชาชน ลองพิจารณายกเลิกข้อหาของคนที่ถูกฟ้องหรือถูกจับในช่วงแรกที่มีการต่อต้านการยึดอำนาจ เพื่อให้บรรยากาศมันเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย (ถึงจะเป็นแบบควบคุมก็เถอะ) ผมว่ามันน่าจะดีกว่าบรรยากาศอึมครึมแบบตอนลงประชามตินะครับ และท่านอาจจะได้ใจของฝ่ายที่ต่อต้านท่านบ้าง ก่อนที่ท่านจะวางมือไปพักผ่อนหลังเกษียณ

2. นักการเมือง: ผลการลงประชามติ ผมว่าส่วนหนึ่งมันสะท้อนนะว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ไว้ใจนักการเมือง จนยอมมอบอำนาจของตัวเองให้กับคนที่ไม่ได้มาจากเสียงของตัวเอง เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะนักการเมืองที่ได้อำนาจมามาก ๆ ก็ใช้อำนาจจนเกินพอดีบทเรียนได้มากี่ครั้งก็ไม่เคยจำ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ฝากความหวังไม่ได้ เพราะไม่สามารถดึงคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างแน่นอนมาเลือกตัวเองได้ เลยแพ้เลือกตั้งแทบทุกครั้ง แถมพอได้โอกาสมาบ้างก็ยังไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมได้ ในประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยและมีพรรคการเมืองสลับกันเข้ามาบริหารประเทศ เขาก็เหมือนเราคือมันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ แต่มันจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง และพร้อมจะเลือกพรรคใดก็ได้ที่เขาเห็นว่าดีกว่า ดังนั้นมันจึงมีการสลับกันแพ้ชนะ ในเมืองไทยผมว่าก็มีคนแบบนี้ แต่พรรคการเมืองที่แพ้มาตลอดไม่สามารถดึงคนกลุ่มนี้ได้ ดังนั้นนักการเมืองควรใช้เวลาช่วงนี้ในการปฏิรูปตัวเอง และถ้าเขาให้เสนอยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็น่าจะเสนอเข้าไป หรือถ้าเขาไม่ให้เสนอก็ลองเสนอยุทธศาสตร์ชาติของตัวเองไปเทียบกับที่รัฐบาลจะจัดทำก็ได้ 

3. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ: ก็ขอให้ร่างกฏหมายประกอบที่จำเป็นให้เร็วที่สุด เอาเท่าที่จำเป็น และเขียนให้มันเข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องตีความหรืออ่านสามตลบก็ไม่รู้เรื่อง และลองดูว่าจะทำยังไงให้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหน่อย รับฟังเสียงของฝ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมถึงฟังความเห็นของนักการเมืองบ้างก็ได้ เพราะเขาต้องเป็นคนทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ หรือจะร่างยังไงที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

4. กกต. สำหรับฝ่ายนี้บอกได้เลยว่าผมผิดหวังมาก และเท่าที่รู้คือมันจะต้องมีการร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ก่อนจะเลือกตั้ง ซึ่งผมภาวนาว่าให้กกต.ชุดนี้หายไปเลย และได้ชุดใหม่มาแทน แต่ถ้ายังอยู่ก็ขอให้ปรับปรุงการทำงานของตัวเองอย่างมากเลยนะครับ อย่างคราวนี้มีคนจำนวนมากไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กกต. บอกว่าได้จัดส่งแล้ว คำถามคือมันหายไปไหน วันลงประชามติเท่าที่ฟังมาก็ค่อนข้างมั่ว บางหน่วยปั๊มนิ้ว บางหน่วยไม่ บางหน่วยเซ็นชื่อ บางหน่วยไม่ มาตรฐานอะไรไม่มีสักอย่าง

นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นครับ สรุปง่าย ๆ ก็คือขอให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศของเรามุ่งสู่ประชาธิปไตยนั่นเองครับ อย่างที่บอกผมคงหยุดขียนการเมืองไว้ในช่วงนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่น่าเขียนถึงไม่ว่าจะเป็นผลงานของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก พรีเมียร์ลีกจะเปิดฤดูกาลแล้ว และที่ไม่ได้เขียนมานานมากแล้วคือเรืองเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็หวังว่าจะได้เขียนเรื่องเหล่านี้ให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกันนะครับ... 

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 1

ถึงตอนนี้ผลลัพธ์ก็ออกมาแล้วนะครับว่าคนไทยที่ออกไปลงมติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ยอมรับทั้งสองประการ ด้วยเสียงที่มากกว่าฝ่ายที่ไม่รับอยู่มาก ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ฝ่ายไม่รับก็ขอยอมรับผลนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะนี่คือประชาธิปไตยครับ แต่สิ่งที่ผมคาดหวังหลังจากผลที่เกิดขึ้นมีหลายประการครับ โดยผมจะแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งในตอนที่ 1 นี้ ขอเขียนถึงประชาชนก่อน

1. ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบ ผมเห็นหลายคนออกมาโพสต์แสดงความผิดหวัง ซึ่งอันนี้ระบายได้เป็นเรื่องปกติ แต่บางคนเริ่มต่อว่าคนที่รับว่ารับโดยไม่รู้เรื่องอะไร ผมเข้าใจนะครับว่าผิดหวัง (ผมเองก็ผิดหวัง) พราะหลายคนอาจรู้สึกว่าการรับร่างนี้เท่ากับยอมลดความเป็นประชาธิปไตย แต่การที่คุณตำหนิคนอื่นว่าไปลงมติด้วยความไม่รู้ ก็เท่ากับคุณกำลังลดตัวลงไปเป็นคนพวกเดียวกับที่บอกว่าเสียงคนในเมืองมีคุณภาพกว่าเสียงของคนในชนบทนั่นเอง ผมว่าการลงมติด้วยความเห็นของคนเรา ไม่ว่าเขาจะใช้เหตุผลอะไรในการตัดสินใจไม่ว่า จะเป็นการอ่านร่างมาแล้วเห็นด้วย ฟังคนอื่นมา ลงตามพ่อแม่ รักลุงตู่ ฯลฯ นั่นคือหนึ่งเสียงที่เราต้องเคารพครับ หนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิเท่ากัน ระบอบประชาธิปไตยก็อย่างนี้ คราวนี้โหวตแพ้แต่คราวหน้าเราอาจโหวตชนะก็ได้ ความรู้สึกที่ฝ่ายไม่เห็นชอบมีตอนนี้ ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกับฝั่งที่ไม่ชอบทักษิณรู้สึกตอนที่เพื่อไทยชนะและยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายก สิ่งที่ต้องทำก็คือตอนนี้ก็รอดูว่าคสช.จะดำเนินการตาม roadmap ที่วางไว้ให้มีการเลือกตั้งปีหน้าได้จริงไหม ยุทธศาสตร์ชาติจะออกมายังไง ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากแค่ไหน กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญทีออกมาจะเป็นยังไง เราจะใช้สิทธิของเราได้อย่างไรในกฏเกณฑ์ที่เราคิดว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่ออย่างน้อยก็ทำให้ฝั่งที่มีอำนาจได้ตระหนักและระวัง อำนาจที่มีมากมันไม่ได้รับประกันว่ามันจะยั่งยืนหรอกนะครับ ตัวอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พังไปจุดเริ่มต้นก็มาจากการนึกว่ามีอำนาจอยู่ในมือแล้วจะทำอะไรก็ได้

2. ฝ่ายที่เห็นชอบ สิ่งแรกก็คืออย่าลำพองและมาเยาะเย้ยหรือดูถูกฝ่ายที่เห็นชอบ คุณควรเคารพความเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย ไม่ใช่คิดว่าเป็นพวกโง่ถูกนัการเมืองบิดเบือน ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ได้อ่านร่างและโหวตตามนักการเมืองจริง ๆ แต่อย่างที่ผมบอกเราต้องเคารพในเสียงโหวตไม่ว่าเขาจะโหวตด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และบางคนในกลุ่มนี้ที่เกลียดทักษิณก็คงเคยเป็นเสียงส่วนน้อย และเรียกร้องให้เคารพเสียงส่วนน้อยด้วยมาแล้ว และอย่าลืมว่าพวกคุณเป็นคนมอบอำนาจให้ปัจจัยภายนอกเข้ามาควบคุมคนที่มาจากเสียงของประชาชน ดังนั้นคุณก็มีหน้าที่รับผิดชอบหลักที่จะต้องติดตามว่าอำนาจที่พวกคุณให้เขาไป มันถูกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศจริง ๆ ไม่ใช่คอยจับผิดจับโกงเฉพาะคนที่ไม่ชอบ แต่ถ้าไม่ใช่คนที่ไม่ชอบก็ปล่อยไป

โดยสรุปสำหรับประชาชนโดยทั่วไปก็คือ ผมไม่อยากให้คิดว่านี่เป็นการแพ้ชนะกัน มันก็เป็นแค่การเลือกกติกาในการปกครองประเทศ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้หรอกว่ามันดีหรือไม่ดีจนกว่าจะได้ใช้มัน ไม่แน่คนที่โหวตไม่เห็นชอบอยู่ตอนนี้ ในอนาคตอาจจะดีใจเพราะมันอาจจะเป็นกติกาที่เหมาะสมกับประเทศเราก็ได้  สิ่งสำคัญที่เราควรจะยึดถือต่อจากนี้ก็คือเคารพเสียงเคารพความเห็น และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าทำได้ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาพูดถึงเรื่องปรองดองอะไรเลย และหน้าที่ของเราก็คือจับตามองผู้มีอำนาจซึ่งเราได้ให้อำนาจเขาไปแล้วว่าเขาจะใช้อำนาจของเขาอย่างไร...  



วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สรุปร่างรัฐธรรมนูญให้แม่ฟัง

ช่วงนี้ผมเขียนบล็อกเรื่องร่างรัฐธรรมนูญบ่อยหน่อยนะครับ เพราะมีประเด็นอยากเขียนผ่านเข้ามา และใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คือวันนี้ผมได้สรุปเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงให้แม่ของผม ซึ่งจะอายุครบ 80 ปีนี้ และแม่ต้องการจะไปลงประชามติครับ แต่แม่ไม่ได้รับร่างฉบับจริง ได้แต่ฉบับหนุมาน แต่เอาจริง ๆ นะผมว่าถึงได้มาแม่ก็คงอ่านแล้วปวดหัวเหมือนที่ผมเป็น ยิ่งถ้าใครได้ดูรายการที่กรรมการร่างคนหนึ่งมาบอกว่าคนที่อ่านรัฐธรรมนูญไม่เป็น คือคนที่อ่านร่างเรียงตามมาตราลงมา ซึ่งถ้าจะอ่านต้องอ่านอย่างเช่นอ่านวรรคแรกของมาตรา 47 แล้วไปอ่านมาตรา 55 แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านวรรคสองของมาตรา 47 ถึงจะเข้าใจซึ่งถ้าต้องอ่านแบบนี้คงเกือบทั้งประเทศก็คงอ่านไม่เป็นกันแน่ ๆ

ดังนั้นแม่ก็เลยถามผมให้ช่วยสรุปให้แม่ฟังหน่อยในฐานะที่ผมอ่านจบแล้ว (ถึงแม้จะไม่ได้อ่านแบบที่กรรมการร่างเขาบอกมาก็ตาม) ผมก็เลยสรุปให้แม่ฟัง โดยบอกแม่ว่าผมอาจเข้าใจผิดก็ได้นะ ผมจะพยายามสรุปในสิ่งที่ผมเข้าใจ แต่บางอันการตีความมันอาจจะเกิดจากอคติของผมก็ได้ ดังนั้นแม่ไม่ต้องเชื่อผมทั้งหมดก็ได้ ซึ่งจากข้อสรุปที่ผมพูดให้แม่ฟัง คิดว่าอาจเป็นประโยชน์ก็เลยมาเขียนบล็อกไว้ให้อ่านกันด้วยครับ

ผมเริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขาว่าเป็นการปราบโกงนี่มันยังไง ผมสรุปง่าย ๆ ให้แม่ฟังว่ารัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คนที่เคยทุจริต หรือมีอาชีพที่ผิดกฎหมาย จะไม่สามารถเข้ามาทำงานการเมืองได้อีก และยังเพิ่มมาตรฐานเรื่องจริยธรรมเข้ามาพิจารณาด้วย แม่บอกฟังดูก็โอเคนะ ผมก็บอกว่าใช่ แต่ทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับคนที่จะใช้มันว่าจะใช้มันจริงจังหรือยุติธรรมหรือเปล่า

ส่วนเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลนั้นมีคนบอกว่ามันกำกวม ไม่ชัดเจนเหมือนในฉบับเก่า บางคนไปตีความว่าจะยกเลิกบัตรทอง แต่คณะกรรมการร่างเขาออกมายืนยันว่าไม่ยกเลิกแน่ ซึ่งตรงนี้ผมสรุปให้แม่ฟังว่าไม่มีใครกล้าเลิกหรอก ขนาดรัฐบาลนี้ยังไม่กล้าเลิกเลย ดังนั้นจะรับหรือไม่รับสิทธินี้น่าจะคงอยู่เหมือนเดิม  

เรื่องเรียนฟรี (ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้ฟรี) 14 ปี อะไรนี่ ผมก็สรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงให้สิทธิเรียนฟรี 12 ปี เพียงแต่เลื่อนลงมาจาก ป.1 ถึง ม.6 มาเป็นอนุบาล 1 ถึง ม.3 แต่ที่เขาบอกว่า 14 ปี เพราะมันมีส่วนของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งบอกว่าเด็กเล็ก (เล็กกว่าอนุบาล 1) ต้องได้รับการพัฒนา ก็เลยไปตีความว่านี่คือการเรียนฟรีอีกสองปีเลยกลายเป็น 14 ปี  แต่ประเด็นหลังจาก ม.3 ซึ่งไม่ใช่ภาคบังคับ รัฐธรรมนูญก็บอกประมาณว่ารัฐจะต้องจัดทุนหรืออะไรก็ตามเพื่อส่งเสริมให้ได้เรียนได้ ซึ่งก็มีกระแสไม่พอใจจากคนหลายกลุ่ม แต่ตอนนี้รัฐบาลนี้แก้ปัญหาแล้วโดยการออกมาตรา 44 ว่าส่งเสริมจนจบ  ม.ุ6 หรืออาชีวะ ผมก็สรุปง่าย ๆ ให้แม่ฟังอีกที่ว่า หลังจากนี้ก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเลิกหรอก ดังนั้นรับหรือไม่รับก็ได้เรียนฟรีหลังจาก ม. 3 แน่ เพียงแต่ถ้ารับก็ได้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลเลย

เรื่องเลือกตุั้ง ตอนนี้การเลือก สส. จะไม่เหมือนเดิมคือตามรัฐธรรมนูญนี้จะใช้บัตรใบเดียว ดังนั้นแม่จะทำอย่างที่แม่เคยทำไม่ได้แล้ว คือต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า แม่ผมอาจจะเรียกอย่างไม่เป็นทางการก็ได้ว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะถ้ามีเรื่องอะไรคนในละแวกบ้านก็จะมาขอให้แม่ช่วยจัดการ อย่างเรื่องขยะอะไรพวกนี้ เพราะแม่ผมเขาชอบจัดการ แม่ก็จะติดต่อไปที่สก. ให้มาดูแล ซึ่งในเขตที่แม่อยู่เป็นพื้นที่ของพรรคหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแม่ผมเขาเชียร์อีกพรรคหนึ่ง  ดังนั้นเวลาเลือกตั้งแม่ก็แบ่ง เลือกสส.เขต พรรคหนึ่ง บัญชีรายชื่อพรรคหนึ่ง แต่ถ้าแม่รับแม่จะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว แม่ต้องเลือกเลยว่าจะเอาพรรคไหน แม่บอกว่าไม่ชอบเลยแบบนี้

ส่วนผลลัพธ์หลังจากการเลือกตั้ง จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และมาใช้ ผลจากการเลือกตั้งจะทำให้ได้รัฐบาลผสม มากกว่าที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากพรรคเดียว ซึ่งตรงนี้แม่ทำหน้าเบ้ และบอกว่าไม่ชอบเลย เพราะแม่เคยอยู่ในยุคแบบนั้นมาแล้ว และเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ค่อยได้ ใช่ผมก็เห็นด้วย แต่ก็ให้แม่คิดในแง่ว่ามีอำนาจมากไปก็มีข้อเสียนะ อย่างออกกฏหมายนิรโทษกรรมสุดซอยจนมีปัญหา ดังนั้นเราก็ต้องเลือกล่ะว่า เราคิดว่าแบบไหนดีกว่ากัน

เรื่องสว. ตามรัฐธรรมนูญมี 200 คน ให้เลือกไขว้กันเองจากกลุ่มอาชีพ อันนี้แม่เฉย ๆ แต่พอบอกว่าแต่ในบทเฉพาะกาล   สว. จะมี 250 คน และคสช.เป็นคนเลือกในขั้นสุดท้าย พูดถึงตรงนี้แม่เบ้หน้า มองบน :)  ยังยังไม่จบแม่ 6 คนในนั้นจะเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการ ทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แม่เบ้หน้าหนักเข้าไปอีก 555

ศาลรัฐธรรมนูญ (ที่แม่ไม่ชอบ) ยังคงมีอยู่ และอำนาจก็ไม่ได้น้อยลงไปกว่าเดิม แม่ถอนหายใจ

แล้วก็มีหมวดปฎิรูปประเทศ ว่ารัฐจะต้องทำการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

ประเด็นยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ตอนแรกแม่เฉย ๆ นะ คงมึนอันก่อนหน้าที่ผมพูดให้ฟัง แต่พอผมถามว่า หลังจากนี้หนึ่งปีรัฐบาลไหนยังทำงานอยู่เอ่ย พอพูดถึงตอนนี้แม่เบ้หน้า มองบนอีกแล้ว 555

เห็นแม่เริ่มมึนแล้ว ผมก็บอกพอเนอะเรื่องร่างได้ข้อมูลพอจะไปลงแล้วใช่ไหม แม่ก็พยักหน้า

คราวนี้มาดูคำถามพ่วง เอาง่าย ๆ เลยคำถามพ่วงก็คือ ในช่วงห้าปีแรกหลังจากที่เลือกตั้งมีสภาอะไรแล้ว เห็นด้วยไหมที่จะให้สว.มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกด้วย ผมก็ให้ข้อมูลแม่เพิ่มว่าถ้าคำถามนี้ผ่าน หมายความว่า สว. 250 คน จาก คสช. จะได้ช่วยเลือกนายก อย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะรัฐบาลหนึ่งชุดมีอายุ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่า 2 ก็ได้ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ และผมก็บอกว่ามันอาจเกิดหตุการณ์ในแบบตุ๊กตาที่ผมเขียนในบล็อกที่แล้วให้แม่ฟัง  แม่ก็พยักหน้าเข้าใจ และก็ถอนหายใจอีกครั้ง ...