วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เมืองที่มีการจราจรแย่และดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ถ้าถามถึงเมืองที่มีการจราจรหนักหนาสาหัสและน่าจะเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผมคิดว่าพวกเราหลายคนคงจะนึกถึงกรุงเทพเมืองฟ้าอมรของเราใช่ไหมครับ เพราะดูเหมือนว่าไม่ว่าจะออกจากบ้านตอนไหนรถก็ติดไปหมด ที่ที่แต่ก่อนไม่เคยติดเดี๋ยวนี้ก็เริ่มติด แต่จากการคำนวณโดยใช้ดัชนี Castrol's Magnatec Stop-Start ซึ่งใช้ข้อมูลที่รวบรวมมาจากผู้ใช้เครื่องนำทาง Tom Tom โดยข้อมูลที่เขานำมาคือการหยุดและการเคลื่อนที่ของรถ (นี่คือที่มาของคำว่า stop-start) ในระยะทาง 1 กิโลเมตร จากนั้นนำค่านี้มาคูณกับระยะทางเฉลี่ยที่รถวิ่งได้ในหนึ่งปี ซึ่งต่อไปผมจะขอเรียกดัชนีนี้ว่าดัชนีกระตึกกระตักแล้วกันนะครับ โดยเขาเก็บข้อมูลจากทั้งหมด 78 ประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาเมืองที่มีการจราจรแย่ที่สุดในโลกได้แก่... กรุงจาร์การ์ตาประเทศอินโดนีเซียครับ โดยมีดัชนีกระตึกกระตักอยู่ที่ 33,240 นั่นคืออัตราการหยุดแล้วก็เคลื่อนต่ออยู่ที่ 33,240 ครั้งต่อปี ดีใจใช่ไหมครับที่ไม่ใช่กรุงเทพ แต่สำหรับคนที่ชอบให้เราอยู่ในอันดับการจัดทุกครั้งก็ไม่ต้องเสียใจไปนะครับ เพราะกรุงเทพของเราก็ติดหนึ่งใน 10 ครับ โดยอยู่ที่อันดับ 8 โดยมีดัชนีกระตึกกระตักอยู่ที่ 27,480 ครับ สำหรับ 10 อันดับของเมืองที่มีการจราจรแย่ที่สุดในโลกก็ตามนี้ครับ

  1. จาร์การ์ตา อินโดนีเซีย: 33,240
  2. อิสตันบูล ตุรกี: 32,520
  3. กรุงเม็กซิโก เม็กซิโก: 30,840
  4. สุราบายา อินโดนีเซีย: 29,880
  5. เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย: 29,040
  6. มอสโคว์ รัสเซีย: 28,680
  7. โรม อิตาลี: 28,680
  8. กรุงเทพ ไทย: 27,480
  9. กัวดาลาจารา เม็กซิโก: 24,480
  10. บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา: 23,760

เห็นอย่างนี้แล้วต่อไปตอนเจอรถติดก็ให้นึกซะนะครับว่ายังมีเมืองที่แย่กว่าเราอยู่อีกเจ็ดเมือง เผื่อจะรู้สึกดีขึ้น ยิ่งกรุงเทพตอนนี้มีโครงการเปิดไฟเขียวผ่านตลอดอะไรสักอย่างนี่ อาจจะดีขึ้นก็ได้นะครับ ใครมีข้อมูลว่ามันดีขึ้นไหมก็มาแบ่งปันกันได้นะครับ

ส่วนเมืองที่มีการจราจรคล่องตัวที่สุด 10 อันดับแรกก็มีดังนี้ครับ


  1. แทมเปอร์ (Tampere) ฟินแลนด์: 6,240
  2. รอตต์เตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์: 6,360
  3. บลาติสสลาวา สโลวาเกีย: 6,840
  4. อาบูดาบี สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์: 6,840
  5. บริสเบน ออสเตรเลีย: 6,960
  6. Antwerp เบลเยียม: 7,080
  7. ปอร์โต โปรตุเกส: 7,200
  8. Brno สาธารณรัฐเชค: 7,320
  9. โคเปนเฮเกน เด็นมาร์ค: 7,440
  10. Kosice สโลวาเกีย: 7,440 

ดัชนีกระตึกกระตักของเมืองเหล่านี้นี่ยังไม่ถึง 8,000 เลยนะครับ เทียบกับสิบอันดับบนแล้วต่างกันราวฟ้าดิน แต่อย่าไปอิจฉาเขาเลยครับ ผู้คนในเมืองเหล่านี้จะไม่มีประสบการณ์ที่น่าตื่นใจ อย่างอั้นอุจาระปัสสาวะ หรือต้องใช้คอมฟอร์ต 100 เพื่อขับถ่ายในรถเหมือนคนกรุงเทพแน่นอน นับว่าชีวิตขาดสีสันว่าไหมครับ...

ที่มา: THE WORST TRAFFIC IN THE WORLD IS IN... 

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

เรื่องสั้น:ศาลรัฐธรรมนูญกับ Hate Speech

บล็อกแรกของปีนี้ขอแต่งเรื่องสั้นให้อ่านสักเรืองหนึ่งนะครับ เรื่องสั้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวนี้ http://news.voicetv.co.th/thailand/154995.html คือข่าวที่จะมีการบรรจุเรื่อง Hate Speech ซึ่งก็คือคำพูดหรือความเห็นที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันลงในรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดบรรทัดฐาน พออ่านข่าวปุ๊บผมก็ได้พล็อตเรื่องสั้นในหัวเลยครับ เลยจะลองเขียนมาให้อ่านกันเผื่อจะยึดเป็นอาชีพหลังเกษียณได้ ขอย้ำนะครับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด ตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้มิได้มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง

แนะนำตัวละคร
นายเหลือง: ผู้นำกลุ่มการเมืองที่เกลียดอีปูวและครอบครัวเป็นอย่างมาก
นายแดง: ผู้นำกลุ่มการเมืองที่รักชอบอีปูวและครอบครัว และเกลียดนายมากเป็นอย่างยิ่ง
อีปูว: นักการเมืองหญิงที่นายเหลืองเกลียดชังเป็นอย่างมาก
นายมาก: นักการเมืองขั้วตรงข้ามกับอีปูว ซึ่งนายแดงเกลียดเป็นอย่างมาก นายเหลืองก็ไม่ได้ชอบนายมากเท่าไร แต่ก็ยังเกลียดน้อยกว่าอีปูว
ศาล1 และศาล2: ตัวแทนของ ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสารขัณฑ์

เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศสารขัณฑ์ หลังจากที่ประชาชนชาวสารขัณฑ์ได้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับริดรอนสิทธิ โดยให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิเหนือกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้ง และเรื่อง Hate Speech ก็ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย โดยมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลเรื่อง Hate Speech นี้ การที่ชาวสารขัณฑ์จำเป็นต้องรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เพราะเริ่มเบื่อหน่ายกับการฟังเพลงจำได้ไหม... หลังหกโมงเย็นเกือบทุกวัน และต้องฟังท่านผู้นำทุกสองทุ่มวันศุกร์ ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญท่านผู้นำก็จะอยู่ต่อไป ก็เลยออกไปลงมติรับรัฐธรรมนูญกัน

เรื่องนี้เริ่มจากนายเหลืองได้โพสต์ข้อความลงในเครือข่ายสังคมที่เป็นที่นิยมในประเทศสารขัณฑ์ได้แก่ FeetBook ว่า "อีปูว อีโง่" และนายแดงได้เห็นข้อความนี้จึงได้นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น Hate Speech โดยได้กล่าวหานายเหลืองว่าได้โพสต์ข้อความที่แสดงความกลียดชังต่ออีปูว และจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในชาติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้เรียกนายแดงมาไต่สวน

ศาล1: "ศาลคิดว่าเรื่องที่โจทย์ยื่นมาน่าจะหมดอายุความแล้วนะ"
นายแดง: "ยังไม่หมดมั้งครับ เขาโพสต์เมื่อวานวันนี้ผมก็ยื่นเลย"
ศาล1: "เออจริง ขอโทษทีศาลดูปฏิทินผิดไป"
ศาล2: "ทำไมโจทย์ถึงรีบยื่นฟ้องจัง ทำไมไม่รอให้ถนนลูกรังในประเทศหมดไปก่อนล่ะ"
นายแดง: ????
ศาล1: "คงไม่เกี่ยวกับถนนลูกรังมั้งครับท่าน มันคนละคดีกัน คดีนั้นมันรถไฟความเร็วสูง"
ศาล2: "เออจริง ผมเผลอไป เอาอย่างนี้ศาลขอรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาสัก 6 เดือนนะ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาพิจารณา"

6 เดือนผ่านไป ถึงวันพิพากษา

ศาล1: "โจทย์และจำเลยรับฟังคำพิพากษา หลังจากที่ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางมา 6 เดือน โดยศาลได้สอบถามจากภรรยา และลูกสาวของศาลได้ความว่าในหนังซีรีย์ต่างประเทศการใช้คำว่าโง่นั้นไม่ได้มีความหมายเป็นคำด่า แต่เป็นคำเรียกกันด้วยความเอ็นดูเช่นเด็กโง่เอ๊ย หรือรักนะเด็กโง่เป็นต้น ดังนั้นการที่นายเหลืองโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ FeetBook ว่าอีปูว อีโง่นั้นจึงเป็นการเรียกอีปูวด้วยความเอ็นดูไม่ใช่การใช้ Hate Speech แต่อย่างใด ดังนั้นพิพากษายกฟ้อง"

หลังจากนั้นนายแดงจึงไปโพสต์ข้อความใน FeetBook ว่า "นายมาก ไอ้โง่" เมื่อนายเหลืองเห็นข้อความดังกล่าวจึงไปบื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อหาเดียวกัน

นายแดง: "แกจะไปยื่นฟ้องฉันทำไม ศาลก็เพิ่งตัดสินมาว่าคำว่าโง่เป็นการเรียกด้วยความเอ็นดู"
นายเหลือง: "แกคอยดูก็แล้วกัน"

ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องก็รีบดำเนินการทันที เนื่องจากมีความเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งในชาติได้ โดยได้นัดกันประชุมตอนเช้าและรีบเขียนคำพิพากษาให้เสร็จในตอนบ่าย ซึ่งคำพิพากษามีดังนี้

ศาล1: "ศาลพิเคราะห์จากคำฟ้อง และดูจากละครไทยที่ตัวละครมักจะด่ากันด้วยคำว่าโง่ ดังนั้นคำว่าโง่จึงมีความหมายทำให้ผู้ที่ถูกด่าและผู้ที่สนับสนุนเกิดความไม่พอใจ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในชาติ ดังนั้นการที่นายแดงไปโพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมอย่าง FeetBook ว่านายมาก ไอ้โง่ จึงเข้าข่ายการใช้ Hate Speech สร้างความขัดแย้งในชาติ พิพากษาให้นายแดงมีความผิดต้องประหารชีวิต หวังเฉา หม่าฮั่น เตรียมเครื่องประหารหัวสุนัข"

อ้าวไปกันใหญ่แล้ว ทำไมมาจบที่ศาลไคฟงได้ สงสัยเราคงหากินทางนักเขียนไม่ได้จริง ๆ แฮะ จบตรงนี้เลยแล้วกันนะครับ...







วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความแตกฉานสี่ด้านที่เราพึงมี

อยากเขียนบล็อกมาเป็นเดือนแล้วแต่ไม่ว่างเลย แต่จะปีใหม่ทั้งทีก็คงต้องเขียนสักหน่อยนะครับ ถึงแม้เพื่อน ๆ ผู้ติดตามอาจจะหายไปหมดแล้วเพราะไม่ได้เขียนมาสักครึ่งปีได้ ปีใหม่นี้จะพยายามเขียนให้บ่อยขึ้นครับ เป็นปณิธานข้อหนึ่งเลยแล้วกัน

บล็อกต้อนรับปีใหม่นี้ก็ขอเป็นทางธรรมะหน่อยแล้วกันนะครับ และผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเราโดยเฉพาะกับครูและนักเรียนครับ เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ได้มาจากหนังสือเรียนพุทธศาสนาของลูกคนเล็กครับ คือเขาจะสอบแล้วผมก็ช่วยติวก็เลยได้รู้เรื่องและเห็นว่าน่าสนใจดี และน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยนำมาถ่ายทอดต่อให้ฟังกันครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธสาวิกาซึ่งก็คือพระอริยบุคคลฝ่ายหญิงซึ่งยังทันได้พบกับพระพุทธองค์ พุทธสาวิกาคนนี้คือพระเขมาเถรีครับ

บอกตามตรงว่าก่อนหน้าที่จะช่วยติวลูกนี้ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยครับ และคิดว่าพวกเราหลายคนก็อาจไม่รู้จักนะครับ ก็เลยขอเล่าประวัติให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนแล้วกันครับ ส่วนใครที่รู้จักอยู่แล้วก็ทนอ่านนิดหนึ่งแล้วกันนะครับ พระเขมาเถรีนี้ก่อนจะออกบวชมีนามว่าพระนางเขมาเทวีซึ่งเป็นพระมเหสีผู้เลอโฉมของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารนี้พวกเราอาจจะทราบดีว่าเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และพระองค์ก็ต้องการให้พระมเหสีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แต่พระนางเขมาเทวีไม่ยอมไปฟังครับ เพราะพระนางได้รับฟังมาว่าพระพุทธเจ้ามักจะทรงสั่งสอนเกี่ยวกับโทษของร่างกายก็เลยไม่ยอมไปฟัง แต่สุดท้ายพระเจ้าพิมพิสารก็ออกอุบายให้ไปฟังจนได้ครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงธรรมให้เห็นถึงว่าร่างกายเป็นของไม่เที่ยงจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ซึ่งพระนางเขมาเทวีพอได้ฟังแล้วก็เลิกยึดติดกับความงามและบรรลุโสดาบัน จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมต่อจนพระนางตัดกิเลสได้จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตามที่หนังสือบอกไว้คนธรรมดาที่สำเร็จอรหันต์จะต้องออกบวชมิฉะนั้นจะต้องนิพพานใน 7 วันครับ ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงต้องให้พระนางออกบวชครับ (ถ้าผมเป็นพระเจ้าพิมพิสารผมอาจคิดว่าไม่น่าหาเรื่องเลยตู ซวยเลยต้องเสียภรรยาแสนสวยไปคนหนึ่ง :) )

เมื่อพระนางออกบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานครับ และได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็นพระอัครสาวิกาเบื้องขวาครับ โดยพระนางได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นภิกษุณีที่เป็นเลิศทางปัญญา ซึ่งพระนางมีความแตกฉานในสี่ด้าน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสี่ด้านที่พวกเราโดยเฉพาะที่เป็นครูและนักเรียนควรจะมีครับ มาดูกันครับว่าสี่ด้านที่ว่ามีอะไรบ้าง


  1.   ความแตกฉานในความหมาย ในข้อนี้หมายความว่าพระนางเพียงเห็นหัวข้อธรรม ก็สามารถอธิบายได้โดยละเอียด ดังนั้นนักเรียนทั้งหลายถ้าสามารถเรียนหนังสือจนสามารถทำแบบนี้ได้ ย่อมจะเรียนหนังสือได้ดีจริงไหมครับ ส่วนครูอาจารย์ถ้าทำแบบนี้ได้ก็แสดงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ตัวเองสอน
  2. ความแตกฉานในหลักการ ข้อนี้หมายความว่าเมื่อได้รับฟังรายละเอียดของเรื่องราวใดก็สามารถจับใจความหรือตั้งเป็นหัวข้อได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็คือการจับประเด็นนั่นเอง ดังนั้นนักเรียนหรือใครก็ตามที่ฟังบรรยายแล้ว และสามารถจับใจความสำคัญได้นั่นก็แสดงว่าเข้าใจในหลักการที่ผู้บรรยายต้องการนำเสนอ ส่วนครูอาจารย์โดยเฉพาะที่คุมงานวิจัย ถ้ามีความแตกฉานในข้อนี้ก็จะสามารถบอกถึงหลักการที่นักศึกษานำเสนอ และสามารถให้ความเห็นได้ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร
  3. ความแตกฉานในภาษา อันนี้ก็หมายความว่าสามารถอธิบายคำศัพท์ หรือคำบัญญัติให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ซึ่งอันนี้ก็คงจะตรงกับที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าคุณอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ได้ นั่นคือคุณไม่เข้าใจเรื่องนั้นดีพอ
  4. ความแตกฉานในปฏิภาณ อันนี้ก็คือความมีไหวพริบสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นักเรียนที่เรียนภาคทฤษฎีมาแล้วและไม่สามารถนำมาประบุกต์ได้ก็อาจทำข้อสอบไม่ได้ อาจารย์ที่ดีก็ควรจะมีความสามารถในการยกตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบให้นักศึกษาเห็นภาพได้
นี่คือสี่ข้อที่พระเขมาเถรีมีครับ ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เป็นเลิศในทางปัญญาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์ก็เลยเอามาฝากกันเป็นของขวัญปีใหม่ครับ  ส่วนตัวเองผมก็ขอตั้งปณิธานว่าจะพยายามพัฒนาตัวเองให้มีความแตกฉานในสี่ด้านนี้ให้ได้มากที่สุด สวัสดีปีใหม่ 2558 ครับทุกคน...

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อีกมุมมองหนึ่งในกรณีโค้ชเชกับน้องก้อย

วันนี้ขอเกาะกระแสเรื่องเทควันโดนี้สักหน่อยนะครับตอนแรกคิดว่ามันจะถูกกลบด้วยเรื่องอื่นไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบเมื่อโค้ชเชบอกว่าจะกลับมาทำทีมต่อ (อันนี้ผมดีใจนะ) และน้องก้อยยังไม่ยอมจบ

ในบล็อกนี้ผมคงไม่บอกว่าใครถูกใครผิดทั้งหมดนะครับ (ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง) เพราะกรณีนี้คือหนึ่งเราทั้งหลายไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และสองมันมีมุมมองที่ต่างกันในหลายด้านที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นทางด้านวัฒนธรรมของประเทศ วัฒนธรรมองค์กร และเรื่องสิทธิมนุษยชน อะไรพวกนี้ คือผมเข้าใจทั้งโค้ช และน้องก้อยและครอบครัว ในแง่ของโค้ชผมเทียบกับตัวเองในฐานะอาจารย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดคนหนึ่งในด้านผลงานวิชาการ นักศึกษาที่เคยทำวิจัยกับผมตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอกเกือบทุกคนจะโดนผมดุว่าเรื่องการทำวิจัย ยิ่งถ้าใครที่ทำมาอย่างไม่ใส่ใจคือทำให้เสร็จ ๆ ไป หรือถ้าไปคัดลอกใครมานี่จะโดนผมดุเอาอย่างแรงมาก ซึ่งหลายคนถึงกับร้องไห้เลยนะครับ (ไม่ได้ดีใจนะ พอเห็นเด็กร้องไห้ผมก็ใจเสียเหมือนกัน)  หลัง ๆ ผมน่าจะเบาลง (มั้ง) เพราะไม่ค่อยมีใครร้องไห้แล้ว คือผมไม่ได้สนใจว่านักศึกษาจะเก่งหรือไม่เก่ง แต่จะดูที่ความเอาใจใส่และความพยายามทำงานของเขามากกว่า อันนี้ก็คงเหมือนกับโค้ชเชที่มองว่าน้องก้อยไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่จึงลงโทษ ซึ่งถ้าถามว่ามันเกินกว่าเหตุไหมอันนี้ผมว่ามันขึ้นกับกฎเกณฑ์ขององค์กรในที่นี้คือสมาคมเทควันโดภายใต้การโค้ชของโค้ชเช โค้ชเชไม่ได้เพิ่งมาทำทีมแต่ทำมาแล้วสิบกว่าปี ดังนั้นวิธีการลงโทษแบบนี้สมาคมและนักกีฬาต้องรับทราบและถ้าไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็แสดงว่ายอมรับได้กับวิธีนี้ถ้าแลกกับความสำเร็จ ในแง่ของน้องก้อยซึ่งไม่ได้แข่งครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สามแล้วดังนั้นเธอก็ต้องรับทราบระบบนี้ด้วย ถ้าเธอบอกว่ารับไม่ได้เธอก็ควรถอนตัวไปแต่แรก แต่แน่นอนก็เป็นสิทธิของเธอที่คิดว่าเธอถูกลงโทษรุนแรงไป คือเธออาจมองว่าการลงโทษครั้งนี้มันแรงกว่าเกณฑ์ปกติขององค์กร แต่สิ่งที่เธอกระทำนี่เป็นอีกเรื่องนะครับซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป

มุมที่ผมอยากจะเขียนถึงจริง ๆ ในเรื่องนี้มีอยู่สามประเด็นคือหนึ่งการโพสต์ข้อความผ่านทางเครือข่ายสังคม ปัจจุบันนี้หลายคนใช้เครือข่ายสังคมกันอย่างไม่ระมัดระวัง คือมีเรื่องอะไรก็โพสต์โดยไม่ได้คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ก็โพสต์ เรื่องบางเรื่องที่เป็นความขัดแย้งในองค์กร ซึ่งควรจะเป็นการพูดคุยแก้ปัญหากันภายในก็โพสต์ ถ้าตามสุภาษิตโบราณเขาเรียกว่าสาวไส้ให้กากิน อย่างนี้คู่แข่งขององค์กรเราก็สบายไปเลย จากการที่ผมเคยสอนเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารผมมักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการพูดคุยต่อหน้ากับการสื่อสารโดยใช้คอมพิวเตอร์ว่า ข้อเสียของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารคือในหลาย ๆ ครั้งมันไม่มีองค์ประกอบที่เรามักจะมีในการพูดจาต่อหน้าเช่นน้ำเสียง หรือสีหน้าไปด้วยทำให้บางครั้งอาจเข้าใจผิด ซึ่งหลายครั้งเราก็อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้สัญลักษณ์แสดงอารมณ์แนบท้ายข้อความไปด้วยอย่าง :) ก็อาจหมายความว่าแซวเล่นขำ ๆ นะ แต่บางครั้งมันก็อาจใช้แบบนี้ไม่ได้ แต่ข้อดีของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารที่เหนือกว่าการพูดคุยกันต่อหน้าคือ เรามีเวลาที่จะคิดว่าเราควรพูด (โพสต์) ออกไปดีไหม และเราสามารถที่จะเรียบเรียงคำพูดให้เหมาะสมได้ ในขณะที่การพูดกันโดยตรงเราอาจพูดอะไรที่ไม่เหมาะสมออกไปตามอารมณ์ในขณะนั้น ในกรณีนี้ถ้าน้องก้อยรอให้ใจเย็นได้พูดคุยได้เคลี่ยร์กันก่อนแล้วคิดให้ดีว่าควรโพสต์อะไรออกมาไหม เหตุการณ์ก็อาจไม่บานปลายมาถึงขั้นนี้

ประเด็นที่สองคือการจัดการปัญหาของผู้ใหญ่ครับ ในวันที่เกิดเรื่องมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในสมาคมเทควันโดให้สัมภาษณ์ได้แย่มากครับ คือเข้าข้างโค้ชเชก็พอทำเนา แต่บอกว่าน้องก้อยไม่ได้มีความหมายอะไร สมาคมไม่ได้มีความหวังอะไรอยู่แล้ว เป็นผู้ใหญ่พูดแบบนี้กับนักกีฬาได้อย่างไร ถ้าไม่มีความหวังอะไรแล้วให้เขาติดทีมชาติทำไม การที่เขายอมเสียสละมาฝึกซ้อมลงแข่งเป็นตัวแทนทีมชาตินี่ไม่มีความดีอะไรเลยใช่ไหม อีกอย่างเท่าที่ตามข่าวมาน้องเขาก็เคยได้เหรียญในการแข่งขันแล้วด้วย การบริหารจัดการก็แย่มาก จริง ๆ ควรจะขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าเพิ่งให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์อะไร (ถ้าขอไปแล้วน้องเขาไม่ทำก็ขอโทษด้วย อย่างนี้สมควรให้ออกจากทีมชาติไปเลย) ขอให้คุยกันเป็นการภายในก่อน แล้วค่อยออกมาแถลง

ประเด็นสุดท้ายก็เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนหลาย ๆ คนนี่แหละครับ คือผมมีความรู้สึกว่าหลายคนก็ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าที่จะพิจารณาไปตามเหตุผลหรือหลักการ ผมเห็นคำวิจารณ์ประเภทว่าโค้ชเชทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมามากมาย ยายคนนี้เป็นใคร คือทำไมเราถึงไม่เอาตัวบุคคลออกไปแล้วพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าสมมติคนทำไม่ใช้โค้ชเช เป็นคนอื่นที่ไม่มีต้นทุนสูงแบบโค้ชเช คนที่วิพากษ์วิจารณ์ยังจะคิดอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ประเด็นนี้ผมว่าก็สำคัญนะครับ สังคมเราดูเหมือนเป็นสังคมบูชาฮีโร่ ถ้ารักใครชอบใครแล้วคนนั้นทำอะไรก็ถูกไว้ก่อน ซึ่งบางครั้งก็อันตรายนะครับถ้าคิดกันแบบนี้ (ย้ำอีกครั้งผมไม่ได้คิดว่าโค้ชเชผิดนะ) หรือบางทีก็แบ่งพวกแบ่งเหล่าไปเลย ผมลองสมมติให้สุดโต่งไปเลย ลองถามตัวเองดูสมมติโค้ชเชเคยขึ้นเวทีนปช. (เอ้ามีการเมืองจนได้) คนที่เชียร์กกปส.ยังจะเข้าข้างโค้ชเชอยู่หรือเปล่า หรือจะไปเข้าข้างน้องก้อยเพราะโค้ชเป็นอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว

ก็ฝากให้คิดกันเล่น ๆ ไว้แค่นี้แล้วกันครับ และก็หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี และกีฬาเทควันโดก็จะเป็นกีฬาที่เรามีความหวังในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ต่อไปครับ ...

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยี 8 อย่างที่จะหายไปและอีกหนึ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป

ไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากเขียนนะครับ แต่ดูจากบรรยากาศแล้วไม่ค่อยน่าเขียนสักเท่าไหร่ หรือบางครั้งอ่านเรื่องที่น่าสนใจว่าจะเขียนแต่ก็ไม่ว่างซะอีกจนลืมไปเลย พอดีวันนี้อ่่านบทความจาก Computer World  ซึ่งเขียนขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นว่าน่าสนใจดีประกอบกับรอดูบอลอยู่ ก็เลยถือโอกาสเขียนหน่อยแล้วกันครับ

บทความที่ผมอ่านนี้ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน 8 อย่าง ที่ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ในช่วงอีก 5 ถึง 20 ปีข้างหน้า และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรจะแทนได้ อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่ามีอะไรบ้างลองไปดูกันครับ เริ่มจากอุปกรณ์พวกมือถือแท็บเล็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ (wearable device) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อันนี้ผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีก็คงจะเห็นด้วยนะครับว่าแนวโน้มมันน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างตอนนี้เราก็มีอุปกรณ์อย่าง Google  Glass ออกมาให้เห็นกันแล้ว ซึ่งใน 5-10 ปีนี้ เทคโนโลยีน่าจะลงตัวมากขึ้น ประกอบกับราคาก็น่าจะลดลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้

เทคโนโลยีอันต่อมาที่เขาคาดว่าจะหายไปคือสิ่งที่เราเพิ่งพูดถึงไปในย่อหน้าที่แล้วครับ ใช่แล้วครับเขาบอกว่าเจ้าเทคโนโลยีของอุปกรณ์สวมใส่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีประเภทฝังตัว ถูกแล้วครับฝังเข้าไปในตัวเรานี่แหละ เขาบอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นใน 20 ปี ครับ สำหรับอันนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่านะครับ เพราะผมคนหนึ่งหละที่จะไม่ยอมให้เอาอะไรแปลกปลอมมาใส่ในตัวผมแน่ แต่ไม่แน่ในอีก 20 ปี ข้างหน้ามันอาจกลายเป็นแฟชั่นสำหรับคนยุคนั้นก็ได้ ก็ไม่รู้ว่าผมจะอยู่จนได้เห็นหรือเปล่า แต่คิดอีกทีไม่อยู่ก็ดีนะครับ เพราะไม่อยากฟังหลานมาขอ "ปู่ครับขอเงินไปซื้อชิปคุกกี้นางฟ้ามาใส่ตัวผมหน่อยครับ" :(

แบตเตอรีแบบที่เราใช้ในปัจจุบันก็จะหายไปครับ โดยจะถูกแทนด้วยสุดยอดตัวเก็บประจุ (super capacitor) ซึ่งสุดยอดตัวเก็บประจุนี้จะชาร์จได้เร็ว และจะสามารถชาร์ซ้ำได้เป็นล้าน ๆ ครั้ง เขาบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะเริ่มเข้ามาภายใน 5 ปี และจะมาแทนที่แบตเตอรีอย่างสมบูรณ์ใน 10 ปีครับ ซึ่งแนวโน้มก็ควรเป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะเราคงต้องการเทคโนโลยีที่ดีกว่าแบตเตอรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัดก็คือรถยนต์ซึ่งในอนาคตแหล่งพลังงานหลักก็น่าจะมาจากไฟฟ้า ซึ่งถ้าต้องมารอชาร์จแบตกันทีเป็นชั่วโมงแล้วค่อยขับต่อไปก็คงไม่ไหวนะครับ

อีกเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะหายไปคือเมาส์และแป้นพิมพ์ครับ โดยจะถูกแทนที่ด้วยการสั่งงานด้วยเสียงและท่าทางครับ จริง ๆ ตอนนี้เราก็เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้กันแล้วนะครับ การสั่งงานด้วยเสียงอย่าง Siri (ซึ่งเบื้องหลังอาจเกิดจากงานวิจัยระดับป.เอกของอ.วีระ) หรือ Google Now โทรทัศน์หลายรุ่นก็สามารถใช้การสั่งงานด้วยท่าทางได้ และการใช้งานในลักษณะนี้ก็น่าจะสอดรับกับพวกอุปกรณ์สวมใส่ที่ได้พูดถึงไปแล้วนะครับ เขาประมาณการไว้ว่าประมาณ 10 ปีครับท่ี่เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่เมาส์และแป้นพิมพ์ได้ แต่เขาบอกว่าอาจใช้เวลาถึง 20 ปีก็ได้ เพราะคนเราบางคนมักจะยึดติดกับความเคยชินเก่า ๆ ไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ผมว่าถ้าถึงยุคนั้นจริง ๆ ก็คงสนุกดีนะครับ นึกภาพดูในห้องเรียนอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งครูและนักเรียนโบกมือหรือโยกตัวไปมา เพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ของตัวเอง แล้วเราซึ่งมาจากยุคนี้ไปเห็นเข้าอาจนึกว่าเขากำลังเต้นแอโรบิคกันอยู่ก็ได้นะครับ

อุปกรณ์ที่มีปุ่มมีสวิทช์ก็จะหายไปครับ ต่อไปอุปกรณ์จะเชื่อมต่อกันและถูกควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็เริ่มใช้กันแล้วนะครับอย่างพวกลำโพงไร้สายซึ่งสามารถเล่นเพลงจากมือถือของเราได้  แต่เขาบอกว่าในอนาคตมันจะล้ำไปกว่านี้อีกครับ คือการวิเคราะห์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์สามารถทำได้จากระยะไกลเลยครับ คือช่างอาจจะซ่อมเครื่องได้โดยไม่ต้องแตะเครื่องด้วยซ้ำ เขาคาดการณ์ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 10-20 ปีครับ แต่ผมว่าน่าจะเร็วกว่านั้นนะ

เทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยีด้านความมั่นคง (security) ครับ คือในปัจจุบันเราต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะมีการแจ้งเตือน เช่นโจรต้องบุกเข้ามาในบ้านเราก่อนสัญญาณกันโขมยถึงจะดัง แต่ในอนาคตภายใน 5 ปี เขาคาดว่าระบบความมั่นคงจะเปลี่ยนไปเป็นแบบการทำนายล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นครับ โดยเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังการทำงานนี้ก็คือเรื่องของการทำเหมืองข้อมูล (data mining) นั่นเองครับ ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในระบบเครือข่ายเราใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามายังเครือข่ายของเราว่าเป็นข้อมูลที่มีอันตรายแอบแฝงมาหรือไม่

เทคโนโลยีถัดมายังอยู่ในหมวดความมั่นคงครับ คือในปัจจุบันเราใช้ระบบความมั่นคงที่เรียกว่าความมั่นคงตามหน้าที่ (role-based security) คือเราจะดูว่าคนคนนี้มีหน้าที่อะไร แน่นอนว่าคนหนึ่งคนก็มักจะมีหลายหน้าที่อยู่แล้วใช่ไหมครับ เช่นหน้าที่เป็นประชาชน หน้าที่เป็นนักเรียน หน้าที่เป็นอาจารย์ ซึ่งในระบบที่เราใช้ในปัจจุบันเราก็จะมีบัตรประจำตัวตามหน้าที่ที่เรามีใช่ไหมครับ เรามีบัตรประจำตัวประชาชนและถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็จะมีบัตรประจำตัวนักเรียน ถ้าเราไปเรียนกวดวิชาก็จะมีบัตรประจำตัวโรงเรียนกวดวิชาอีกใบด้วย แต่ภายใน 5-10 ปี เราจะเปลี่ยนเป็นความมั่นคงแบบปรับตัวหรือแบบอิงบริบท (adaptive, contextual security) เราจะมีเลขประจำตัวเพียงชุดเดียว แต่สิทธิของเราอาจจะดูจากหลาย ๆ อย่าง เช่นอุปกรณ์ที่เราใช้ สถานที่ที่เราอยู่ และรูปแบบการทำงานของเรา ซึ่งถ้าเรามีการทำงานที่ผิดรูปแบบไป ระบบก็จะสามารถตรวจจับได้ว่ามีการละเมิดความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว แนวคิดคือคนจะมีเพียงตัวตน (identity) เดียว แต่จะมีสิทธิที่ต่างกันในเครือข่ายต่าง ๆ  เช่นผมเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ผู้ดูแลระบบของมหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือให้เลขประจำตัวใหม่กับผม เพียงแต่กำหนดสิทธิให้ผมสามารถเข้าใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในฐานะอาจารย์พิเศษ ดู ๆ มันก็สะดวกดีนะครับ แต่ผมมองว่าเราจะต้องรักษาความเป็นตัวตนของเราให้ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะถ้าโดนโขมยไปเมื่อไหร่แย่แน่ ๆ ครับ

อีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งผมในฐานะอาจารย์ที่สอนทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์รอจะเห็นอยู่ก็คือ การที่การพัฒนาซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจากการที่นักพัฒนาใช้โค้ดที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาเป็นหลัก มาเป็นการนำโค้ดที่มีการพัฒนาไว้แล้วจากนักพัฒนาคนอื่นมาประกอบกันเพื่อสร้างเป็นแอพพลิเคชันใหม่ ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ในปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีการพัฒนาที่รองรับการทำงานแบบนี้อยู่แล้วเช่นการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอิงคอมโพเนนต์ (component-based) แบบอิงบริการ (service-based) ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมสอนอยู่ (ขอโฆษณาหน่อย :) ) ปัจจุบันเราสร้างแอพพลิเคชันท่ี่ใช้ส่วนต่อประสานการเขียนโปรแกรม (programming interface) ที่ผู้ให้บริการอย่าง Google หรือ Facebook เตรียมไว้ให้กันอยู่แล้ว แต่เขาคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี มันอาจจะเข้ามาเป็นวิธีการหลัก ซึ่งผมคิดว่าเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมก็น่าจะดีขึ้นด้วย อาจดีขนาดที่ว่าผู้ใช้ที่เป็นผู้ใช้เก่ง ๆ หน่อย ที่เรียกกันว่า power user อาจสามารถพัฒนาโปรแกรมที่ไม่ซับซ้อนนักได้ด้วยตัวเอง

และนั่นคือเทคโนโลยีแปดอย่างท่ี่จะถูกแทนที่ครับ คราวนี้เหลือเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ครับ ลองเดาดูไหมครับว่าคืออะไร... หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่ามันคืออีเมลครับ เขาบอกว่าอีเมลมีคุณสมบัติหลัก ๆ ที่ไม่สามารถจะหาอะไรมาแทนได้ นั่นคือการแนบไฟล์ การส่งถึงผู้รับหลายคนพร้อม ๆ กัน และการเก็บอีเมลที่ต้องการไว้อย่างถาวร ซึ่งคิด ๆ แล้วผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ อย่างน้อยในตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะแพร่หลาย ใช้งานได้สะดวกในการทำงานดังกล่าวมากกว่าอีเมล

ก็รอดูนะครับว่าจะแม่นหรือเปล่า สำหรับผมอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่รู้ว่าจะได้อยู่เห็นไหม คนที่ยังอยู่ฝากส่งอีเมลไปนรกเอ๊ยไม่ใช่ต้องสวรรค์สิไปบอกด้วยนะครับ...