วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

แด่เพื่อนผู้จากไป อาจารย์วีระชัย ตันยะสิทธิ์

ไม่ได้เขียนบล็อกเสียนานเพราะไม่ว่าง แต่ก็ไม่คิดเลยว่าเมื่อมีโอกาสได้เขียนบล็อกจะต้องมาเขียนถึงเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่เพิ่งจากไป จากไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเค้าลางใด ๆ เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้น เพื่อนคนนั้นคนที่ผมพูดถึงคืออ.วีระชัย ตันยะสิทธิ์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่นี่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาล คนที่ผมรู้จักมาก่อนในตอนนั้นก็มีเพียงอ.วีระ บุญจริง ที่เป็นรุ่นพี่ที่จุฬาเท่านั้น เมื่อผมเข้ามาทำงานผมก็ได้รู้จักกับอ.วีระชัย และผมก็ได้นั่งทำงานห้องเดียวกับอ.วีระชัยมาตลอด การแนะนำตัวของผมที่มีต่อนักศึกษาในแต่ละรุ่นในชั่วโมงแรกของการเรียนก็คือห้องพักของผมก็คือห้องเดียวกับห้องของอ.วีระชัย เพราะไม่มีนักศึกษาที่เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์คนใดนับจนถึงปัจจุบันนี้จะไม่ได้เรียนกับอ.วีระชัย อ.วีระชัยเป็นคนปูพื้นฐานการเขียนโปรแกรมให้กับนักศึกษาแต่ละรุ่นตั้งแต่ครั้งเรายังใช้ภาษาปาสคาลจนมาถึงภาษาจาวา

อ.วีระชัยเป็นกำลังหลักให้กับภาควิชามาโดยตลอด เพราะคนที่สอนวิชาเขียนโปรแกรมให้กับคนที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาเลย ก็ทำงานหนักไม่ต่างจากครูที่สอนโรงเรียนอนุบาลที่ต้องสร้างความรู้พื้นฐานให้เด็กเพื่อนำไปใช้ชีวิตต่อไป และอ.วีระชัยก็ยินดีที่จะรับทำหน้าที่นั้นด้วยความเต็มใจถึงแม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนอ.ก็ไม่บ่น บอกตามตรงว่าตั้งแต่ทำงานกันมากว่า 20 ปี ผมแทบไม่เคยเห็นอ.วีระชัยจะงดสอน ยกเว้นจะไม่สบายมาสอนไม่ไหวจริง ๆ

ด้วยความที่อ.วีระชัยยินดียอมรับหน้าที่นี้ ทำให้อ.วีระชัยไม่สนใจที่จะไปเรียนต่อที่ไหน ในขณะที่อาจารย์หลาย ๆ ท่าน รวมถึงตัวผมด้วย ก็ยังมีช่วงเวลาที่ลาไปเรียนต่อ ซึ่งช่วงเวลาที่ไปเรียนต่อนั้นอ.วีระชัยนอกจากจะต้องสอนการเขียนโปรแกรมและโครงสร้างข้อมูลซึ่งเป็นวิชาประจำของอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็ต้องรับภาระแทนในบางวิชาของอาจารย์ที่ลาเรียนต่อด้วย เรียกว่าอ.วีระชัยคือเสาหลักที่สำคัญที่สุดของภาควิชาเลยก็ว่าได้

นอกจากในแง่การทำงานแล้ว ในแง่ส่วนตัวอ.วีระชัยก็เปรียบได้กับเป็นพี่เลี้ยงให้กับอาจารย์ที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่อย่างผม คอยแนะนำเรื่องต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ และบางครั้งก็ยังแนะนำการใช้ชีวิตให้ผมด้วย ผมก็คงเหมือนกับพวกเราหลาย ๆ คนที่บางครั้งก็บ้าทำงาน อยากทำให้เสร็จจนบางครั้งก็ลืมที่จะดูลิมิตของตัวเอง อ.วีระชัยก็จะคอยเตือนว่าใจเย็น ๆ สุขภาพสำคัญนะ พักผ่อนก่อนแล้วกลับมาทำต่อก็ได้ สำหรับผมแล้วอ.วีระชัยเป็นเพื่อนร่วมงานที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่เคยเรียนด้วยกันมา แต่ผมเชื่อว่าอาจารย์มีความปรารถนาดีต่อผมอย่างจริงใจ ผมสามารถเปิดใจคุยกับอาจารย์ได้ทุกเรื่อง โดยสบายใจได้ว่าอาจารย์จะไม่เอาเรื่องที่เราคุยกันไปพูดต่อ หรือไปทำอะไรให้ผมเสียหาย ซึ่งผมคิดว่าพวกเราคงจะหาเพื่อนแบบนี้ได้ยากมากในที่ทำงาน ซึ่งถ้าใครเจอเพื่อนแบบนี้ก็ต้องบอกว่าโชคดีมาก และผมก็เป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้รู้จักกับอ.วีระชัย

ผมไม่อยากเชื่อจริง ๆ ว่าวันนี้ผมจะไม่มีเพื่อนที่ชื่ออาจารย์วีระชัยแล้ว เมื่อเดือนที่แล้วนี้เองอาจารย์ยังดูปกติ แข็งแรงทุกอย่าง เรายังพูดคุยกันว่าหลังจากอาจารย์เกษียณแล้ว อย่าหนีหายไปไหน ให้ขับรถเข้ามาคุยกัน ไปหาข้าวกลางวันกินกันเหมือนที่พวกเราทำกันมาตลอด อาจารย์จะเกษียณปี 2558 ซึ่งจากการปรับเทอมรับ AEC ก็เท่ากับว่าอาจารย์จะได้สอนอีกสองเทอม แล้วอาจารย์ก็จะได้พักผ่อนจากหน้าที่อันหนักและสำคัญที่อาจารย์ทำมากว่าสามสิบปี

เรื่องของเรื่องมันไม่น่าจะมีอะไรเลย ผมจำได้ว่าเรื่องมันเกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์บ่นว่าปวดเมื่อยตัว ซึ่งพวกเราก็คิดว่าเป็นอาการธรรมดาอาจจะนั่งหรือนอนผิดท่า จากนั้นมันก็เริ่มหนักขึ้นอาจารย์ขยับตัวไม่ได้  ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งผมก็ยังไม่ได้ตระหนักอะไรอีกว่ามันจะเลยเถิดมาจนเป็นวันนี้ มันอาจเป็นเพราะอ.วีระชัยเคยป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาลแบบนี้มาครั้งหนึ่งแล้วด้วยโรคไต ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ก็หายออกมาได้ ถึงแม้หลังจากนั้นจะต้องไปฟอกไตสัปดาห์ละสามวันก็ตาม หลังจากอ.วีระชัยออกจากโรงพยาบาลในครั้งนั้น ผมกับอ.วีระก็ชวนอ.วีระชัยไปเดินออกกำลังกายกันที่สนามกีฬาในตอนเย็น ๆ กัน เราสามคนเดินออกกำลังด้วยกันในตอนเย็นมาอย่างนั้นตลอดหลายปี ซึ่งสุขภาพของอาจารย์ก็แข็งแรงมาโดยตลอด จนมาช่วงสองปีหลังนี้ผมกับอาจารย์วีระมีภารกิจมากขึ้นจนเราไม่ค่อยได้ไปเดินออกกำลังกาย แต่อ.วีระชัยก็ยังคงไปเหมือนเดิม ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์น่าจะแข็งแรงกว่าผมกับอ.วีระเสียอีก

หนึ่งในสิ่งที่ผมเสียใจที่สุดก็คือ ผมไม่ได้ไปเยี่ยมอ.วีระชัยในตอนที่อาจารย์ยังรู้สึกตัวอยู่ ผมมัวแต่ยุ่งกับนักศึกษาปัญหาพิเศษ เคลียร์งาน และก็ช่วยตรวจข้อสอบที่อ.วีระชัยยังตรวจไม่เสร็จ (ผมกับอ.วีระแบ่งข้อกันตรวจข้อสอบ ส่วนของอ.วีระเรียบร้อยแล้วเหลือส่วนของผม) โดยผมคิดว่าหลังจากเสร็จงานพวกนี้อ.วีระชัยก็จะแข็งแรงขึ้นและใกล้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผมก็จะไปนั่งคุยกับอาจารย์ ท้าวความถึงความหลังว่านี่ผมได้ตอบแทนที่อาจารย์เคยช่วยผมแล้วนะ คือตอนที่ผมจะไปเรียนต่อผมต้องเดินทางวันที่ 1 ม.ค. ดังนั้นผมจะต้องจัดการทุกอย่างให้เสร็จรวมถึงตรวจข้อสอบด้วย แต่ปรากฏว่าผมทำไม่เสร็จก่อนวันที่ 30 ธ.ค.​ ซึ่งเป็นวันทำงานวันสุดท้าย ผมนั่งตรวจข้อสอบและตัดเกรดจนเสร็จและเอาไปฝากไว้ที่อ.วีระชัยในคืนวันที่ 30 ธ.ค. ซึ่งดึกมากแล้ว แต่อ.วีระชัยก็นั่งคอยรอรับข้อสอบจากผมอยู่ที่บ้าน ซึ่งผมยังจำภาพที่ผมขับรถเอาข้อสอบไปส่งให้อาจารย์ได้อยู่เลย เหมือนมันเพิ่งเกิด ทั้ง ๆ ที่จริงมันสิบกว่าปีมาแล้ว

ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม เวลาประมาณ 11 โมงกว่า ๆ ตอนนั้นผมกำลังตรวจข้อสอบของอ.วีระชัยอยู่ ผมได้รับโทรศัพท์จากอ.วีระ ซึ่งมันทำให้ผมใจหายเพราะผมกับอ.วีระเราติดต่อกันผ่าน Facebook messenger เป็นหลักมานานแล้ว และก็เป็นจริง อ.วีระโทรมาบอกให้ผมรีบไปเยี่ยมอ.วีระชัยให้ทันก่อนที่อาจารย์จะเข้าห้องผ่าตัด ผมก็รีบแต่งตัว แต่วันนั้นเป็นวันที่ฝนตกหนักมาก เป็นวันที่ผมขับรถไปก็แช่งด่าฟ้าฝนไปอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ผมใช้เวลาเดินทางกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลก็เกือบบ่ายสอง  อ.วีระชัยเข้าห้องผ่าตัดไปแล้ว ผมกับอ.วีระรออยู่จนอ.วีระชัยออกจากห้องผ่าตัด และนั่นเป็นครั้งแรกหลังจากที่อ.วีระชัยเข้าโรงพยาบาลที่ผมได้เห็นอาจารย์ บอกตามตรงว่าผมใจหายและเริ่มกังวล แต่ก็ยังคิดว่าอาจารย์จะต้องหาย ผมไม่ได้คุยกับอ.วีระชัย เพราะอาจารย์ยังไม่ฟื้นจากผ่าตัด ผมกลับมาบ้านรีบตรวจข้อสอบของอ.วีระชัยต่อ เพื่อที่จะได้ไปบอกอ.วีระชัยว่าข้อสอบตรวจเสร็จแล้วไม่ต้องกังวล ผมตรวจเสร็จวันอาทิตย์ 23 วันจันทร์ที่ 24 เอาไปให้อ.วีระป้อนคะแนนตัดเกรดเรียบร้อย และในวันนั้นเป็นวันที่ผมต้องสอบทั้งปัญหาพิเศษของป.ตรี และหัวข้อวิทยานิพนธ์ของป.เอก กว่าจะเสร็จก็ค่ำ

วันที่ 25 มีนาคม ผมควรจะไปเยี่ยมอ.วีระชัยแต่ก็ไม่ได้ไป เพราะนัดนักศึกษาในที่ปรึกษาของตัวเองให้เอารายงานมาส่ง เวลาประมาณบ่ายสองโมงกว่า ๆ ขณะที่ผมกำลังตรวจรายงานนักศึกษาอยู่ มีเสียงโทรศัพท์ของอ.วีระดังขึ้น ได้ยินเสียงอ.วีระบ่นพึมพำว่าไม่อยากรับสายนี้เลย ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร ตรวจงานนักศึกษาต่อไป สักครู่หนึ่งอ.วีระ เดินมาที่โต๊ะผมแล้วแจ้งข่าวที่ผมไม่อยากได้ยินที่สุด อาจารย์วีระชัยเสียแล้ว ผมกับนักศึกษาสองคนของผม (ซึ่งน่าจะเป็นสองคนแรกที่รู้ข่าวนี้) เราเงียบกันไปครู่หนึ่ง บอกตามตรงว่าณ.เวลานั้น ผมอยากบอกให้นักศึกษาทั้งสองคนกลับไป ผมไม่อยากทำอะไรแล้ว แต่มาคิดดูอ.วีระชัยคงไม่สบายใจนักถ้าเราจะต้องมาหยุดงานมาเสียงานกันเพราะเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงพยายามทำหน้าที่ของเราจนจบ

หลังจากนั้นผมเริ่มเขียนสเตตัสเพื่อแจ้งข่าวนี้บน Facebook แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีนักศึกษาและเพื่อนอาจารย์หลายคนที่รู้ข่าวนี้กันบ้างแล้ว จากนั้นแทบทั้งไทม์ไลน์ก็เต็มไปด้วยข้อความแสดงความอาลัยที่ทางภาค(สาขา)วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้สูญเสียบุคคลากรที่เป็นเสาหลักของภาควิชามาตั้งแต่เริ่มต้น เป็นครูที่แท้จริง ทุ่มเท เสียสละ เป็นราวกับพ่อคนที่สองของนักศึกษา

สุดท้ายนี้ผมคงต้องบอกกับอาจารย์วีระชัยว่าขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้กับภาค และประเทศชาติ ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปเป็นกำลังของประเทศ ขอบคุณสำหรับความเป็นเพื่อนเป็นพี่ที่ได้มอบให้กันมากว่า 20 ปี สิ่งที่อ.วีระชัยได้ทำไว้ มันได้ส่งให้เห็นผลแล้วครับ นักศึกษาที่อาจารย์ได้สั่งสอนไปวันนี้พวกเขาเติบใหญ่ มีการงานที่มั่นคง พวกเขารักอาจารย์ และได้กลับมาร่วมส่งอาจารย์เดินทางกันอย่างคับคั่ง เรื่องนักศึกษาที่อาจารย์อาจเป็นห่วงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์ในเทอมนี้ นักศึกษาที่ตกค้าง นักศึกษาในที่ปรึกษาของอาจารย์ พวกเราอาจารย์ที่อยู่กันตอนนี้ช่วยกันดูแลจัดการกันเรียบร้อยแล้วครับ ไม่ต้องกังวลอะไร ถ้าชาติหน้ามีจริงก็ขอให้เราได้มาเป็นเพื่อนกันแบบนี้อีกนะครับ พักผ่อนให้สบายนะครับอ.วี ...  

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลือกตั้งครั้งนี้จะได้อะไร

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ซึ่งปีนี้เป็นปีที่แปลกครับ เพราะมีการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้ง การไปเลือกตั้งสำหรับคนบางคนกลับกลายเป็นการแสดงความไม่รักชาติ บางคนก็ลังเลไม่รู้ว่าควรจะไปเลือกตั้งดีไหม เรียกว่าจะทำอะไรก็กลัวไปหมดจะไปเลือกก็กลัวกลายเป็นขี้ข้าทักษิณ จะไม่ไปเลือกก็กลัวจะกลายเป็นพวกไม่รักประชาธิปไตยแพ้แล้วพาล ซึ่งผมอยากบอกว่าอย่าให้มายาคติเหล่านี้มาทำให้เราสับสนครับ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ทั้งคนที่เห็นด้วยกับกปปส.และคนที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่รักชาติ เพียงแต่มีมุมมองหรือชุดความคิดต่อการแก้ปัญหาที่ต่างกันเท่านั้น ดังนั้นอย่ากลัวที่จะไปใช้สิทธิตามความเชื่อของเราครับ และคงต้องขอร้องโดยเฉพาะกกปส.ว่าอย่าไปขัดขวางคนที่เขาต้องการไปเลือกตั้งครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผมเชื่อว่ามันมีสิ่งที่จะได้ตามมาหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่ผลาญเงินสามพันล้านแล้วไม่ได้อะไร ลองมาดูกันครับ

ก่อนอื่นผมขอไม่พูดถึงคนที่ต้องการออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ นะครับอันนั้นก็เป็นสิทธิของพวกคุณครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับเพื่อไทยแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกกปส. เพราะคนกลุ่มนี้แหละครับที่มีความสับสนมากว่าจะทำอะไรกันดี  และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ในส่วนตัวผมผมชัดเจนว่าผมไปโหวตโนแน่  ในตอนแรกผมคิดว่าเราน่าจะรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบเพื่อไทยซึ่งหมายรวมถึงกกปส.ด้วยให้ออกมาโหวตโนกัน ถ้ามวลมหาประชาชนมีจำนวนมากจริง ๆ เสียงโหวตโนจะต้องมากกว่าเสียงที่เพื่อไทยได้ ซึ่งตรงนี้ถึงแม้มันจะไม่มีผลทางนิติศาสตร์แต่ผมว่ามันมีผลทางรัฐศาสตร์นะครับ เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมากอีกแล้ว และน่าจะต้องรีบทำเรื่องปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ

แต่คิดอีกทีจากการประมวลจากหลากหลายความคิดที่แสดงกันออกมาในช่วงนี้ ผมกลับมองใหม่ครับว่า กกปส.ไหน ๆ ก็รณรงค์กันมานานแล้ว ก็ให้ยึดกับแนวทางเดิมไปเลยคือไม่ต้องไปเลือกตั้งกัน แต่ก็อย่าไปขัดขวางคนที่เขาจะไปเลือกนะครับ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปเป็นแบบนี้สิ่งที่จะได้มาก็คือถ้าจำนวนมวลมหาประชาชนเป็นคนส่วนมากของประเทศจริง ๆ เราจะต้องได้จำนวนคนที่ไม่ไปเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไปเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันเหมือนเป็นการทำประชามติได้นะครับ ให้มองว่าเงินสามพันล้านที่เสียไปในการจัดการเลือกตั้งคราวนี้เป็นค่าใช้จ่ายการทำประชามติซะก็แล้วกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแบบนี้จริง ๆ กกปส.จะได้ความชอบธรรมมากขึ้นแน่นอนครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่บ่นในสิ่งที่กกปส.จะทำ เพราะถือว่าได้ฉันทามติแล้ว ผมมองว่าถ้าเป็นอย่างนี้กกปส.มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำตามสิ่งที่ต้องการ เช่นยื่นเงื่อนไขว่าขอไม่ให้คุณยิ่งลักษณ์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ลองเลือกสักคนจากสส.พรรคเพื่อไทย (ซึ่งก็น่าจะมีคนดีอยู่บ้างล่ะน่าหรือเอาที่คิดว่าเลวน้อยสุดก็ได้) เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่านายกต้องมาจาก สส. จากนั้นนำเสนอบุคคลที่คิดว่าควรจะเป็นรัฐมนตรีเข้าไป จะตั้งสภาประชาชนขึ้นมา จะแก้กฏหมายก็ยิ่งง่ายเพราะตอนนี้มีสภานิติบัญญัติแล้ว

ในกรณีที่มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจริงคือมีคนไปเลือกตั้งมากกว่าคนไม่ไปเลือก ก็ยังไม่เป็นไรเพราะผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนโหวตโนกันมาก อย่างน้อยคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ก็น่าจะโหวตโนกันนะ ตรงนี้ถ้าจำนวนคนที่ไม่ไปเลือกกับคนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าคะแนนเสียงที่เพื่อไทยได้ ผมว่ามันก็จะเข้ากรณีแรกคือมีผลทางรัฐศาสตร์ที่ทำให้รัฐบาลสำนึกตัวว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาไม่เอาคุณนะ ดังนั้นรีบปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ซะ และอย่าทำอะไรแบบนิรโทษสุดซอยอีก เพราะถ้าทำคราวนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาจัดการคุณแน่ แต่ถ้าสุดท้ายคนที่เลือกเพื่อไทยยังคงมากกว่าเสียงของโหวตโนและโนโหวตก็คงต้องยอมรับ แต่ยังไงก็ตามผมยังเชื่อนะว่าเพื่อไทยก็จะไม่กล้าทำอะไรที่เลวร้ายมาก ๆ อย่างที่ผ่านมาอีกแน่

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าผมเป็นพวกโลกสวยรัฐบาลแบบนี้มันไม่ยอมทำอะไรแบบนี้หรอก ก็ไม่รู้สินะครับ ผมมองว่าไม่ว่าใครที่ได้รับเสียงที่เลือกเข้ามาน้อยกว่าเสียงที่ไม่เลือก เขาไม่น่าจะกล้าทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และถ้าจะพูดเรื่องโลกสวยผมว่าคนในกกปส.นี่โลกสวยกว่าผมอีกนะ ที่คิดกันว่าการปฏิรูป (ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง) ในช่วงประมาณปีครึ่ง จะแก้ปัญหาที่เกาะกินประเทศเรามาเป็นสิบ ๆ ปี อย่างเรื่องนักการเมืองด้อยคุณภาพ การทุจริตในทุกระดับได้ ไม่ใช่ผมไม่อยากได้นะอะไรแบบนี้ แต่ผมมองว่าประเทศเราผ่านการปฏิวัติกันมากันตั้งหลายครั้ง ทุกครั้งก็มีการร่างกติกาการปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งก็บอกว่านี่คือกติกาที่ดีที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายเป็นยังไงครับ ขนาดรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งแต่ก่อนก็ว่าดีนักดีหนา ก็ยังกันคนโกงไม่ได้ ผมว่าปัญหาแบบนี้มันจะต้องค่อย ๆ แก้กันไปให้มีการเรียนรู้กันไป ซึ่งผมมองว่าประเทศเราก็เดินหน้ามาเรื่อย ๆ นะ อย่างน้อยตอนหลังมานี้เราได้เห็นการแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น และมันทำให้คนได้เรียนรู้ว่านโยบายแบบไหนทีที่มันไม่ยั่งยืนและสร้างความเสียหาย อย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนี่ผมเชื่อว่าชาวนาหลายคนก็ได้เรียนรู้แล้วและเขาไม่น่าจะเลือกเพื่อไทยเข้ามาอีก

สุดท้ายผมก็อยากบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มาถึงขนาดนี้แล้วควรจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายมันจะเป็นโมฆะหรือไม่ อยากขออย่างเดียวว่าไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไรก็อย่าไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ผมเชื่อว่าเงินสามพันล้านที่เราใช้ลงไปกับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะให้อะไรกลับมาครับนั่นคือมันจะเป็นตัวแสดงความเห็นของคนทั้งประเทศ

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเอง

ผ่านปีใหม่มากว่าครึ่งเดือนแล้วเวลาเร็วจริง ๆ ครับ แต่การประท้วงในประเทศเราก็ยังดำเนินต่อไป โดยยังไม่รู้ว่ามันจะไปจบลงยังไง วันนี้ก็เลยอยากลิสต์รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเองออกมาสักหน่อยครับ จะได้เข้าใจตัวเองด้วยว่าตัวเองคิดอย่างไรกันแน่ เพราะทุกวันนี้ดูช่องดาวเทียมมาก ๆ เข้ามันชักจะเพี้ยนวันไหนดูบลูสกายมากไปหน่อยก็ดูจะกลายร่างเป็นสาวกลุงกำนันออกมาร้องเพลงสู้ต่อไปอย่าได้ถอย ... หรือวันไหนดู Asia Update มาก ๆ เข้าก็เกือบจะวิ่งไปหาเสื้อแดงมาใส่ และการทำรายการความเห็นนี้ก็เผื่อจะทำให้ได้เข้าใจกันว่าในประเทศนี้มันไม่ได้มีแต่คนรู้ทันและขับไล่ทักษิณกับคนที่เป็นเป็นพวกทักษิณเท่านั้น จะตรงใจใครไม่ตรงใจใครยังไงก็ขอโทษด้วยนะครับ

  1. ไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่เหลือง ไม่แดง ไม่ขาว ไม่หลากสี แต่ชอบทำอะไรที่มันอยู่ในหลักการ มีความชัดเจนและถูกกฏหมาย
  2. ไม่ชอบละเมิดสิทธิใครและไม่ชอบถูกละเมิดสิทธิ
  3. ไม่ใช่คนดีเลิศเลอ แต่ก็คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเลว เพราะแค่ไม่ออกมาร่วมประท้วง
  4. ไม่เห็นด้วยกับพรบ.นิรโทษกรรมไม่ยอมให้มีการโกงและได้ลงชื่อคัดค้านแล้ว และก็รู้สึกพอใจที่รัฐบาลยุบสภาและคืนอำนาจมาให้ประชาชน ตอนแรกตั้งใจว่าจะยอมเลือกประชาธิปัตย์ เพื่อลงโทษเพื่อไทย แต่ตอนนี้เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ลง ก็กำลังมองดูพรรคอื่นอยู่ หรือไม่ก็โหวตโน
  5. เห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม
  6. นายกยิ่งลักษณ์ และคนตระกูลชินวัตรควรวางมือจากการเมืองไปก่อน ไม่น่าลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจในการปฏิรูป และแสดงว่าเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำไป 
  7. หนึงคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน
  8. การที่คนเรามีเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้โดยผิดกฏหมาย และไม่เคารพสิทธิของคนอื่น จริง ๆ เราทุกคนถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้วนะครับ นั่นคือกฏหมาย
  9. ไม่ว่าอะไรที่จะช่วยชาวนา หรือเกษตรกร แต่เห็นว่าควรจะช่วยเขาในด้านอื่นเช่นลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้ชาวนาสามารถต่อรองกับพ่อค้าข้าวได้ หรือจัดให้มีบริษัทรับประกันมารับประกันความเสียหายของผลผลิต โดยรัฐบาลช่วยออกค่าเบี้ยประกัยให้เป็นต้น 
  10. ไม่ชอบวิธีการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการโกง ทำให้ตลาดข้าวเสียหาย และดีใจที่ปปช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้ ตรงนี้อยากให้ผู้ที่ประท้วงเห็นว่ามันมีวิธีการตามกฏหมายที่จัดการกับคนโกงได้ แต่มันอาจต้องใช้เวลาหน่อย
  11. ไม่ศรัทธาศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีความเห็นว่าตัดสินไม่มีหลักการ มีอคติ และไม่มีวิสัยทัศน์
  12. เห็นด้วยกับการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่แก้กฏหมายให้ลงโทษประหารกับคนโกง และคดีเกี่ยวกับการโกงไม่มีหมดอายุ
  13. ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อของ กกปส. เพราะเห็นว่าเป็นการทำที่ผิดหลักกฏหมาย การที่เราจะจัดการคนทำผิดกฏหมายตัวเราไม่ควรทำผิดกฏหมาย เมื่อมันมีช่องทางตามกฏหมายให้ทำได้
  14. เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกกปส.ส่วนใหญ่เป็นคนที่หวังดีและรักชาติ แต่คนที่ไม่ได้ออกมาไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักชาติ แต่เขาคิดต่างกับผู้ชุมนุมกกปส. การที่คนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกปปส. และต้องการไปเลือกตั้งคนเหล่านี่กลายเป็นคนโง่และไม่รักชาติหรือ
  15. ไม่ชอบที่เอาคนต่างชาติมาอ้างบอกว่าดูสิคนต่างชาติยังออกมาทำไมคนไทยไม่ออกมาไม่รักชาติหรือ แต่ไปต่อว่าคนต่างชาติที่แสดงความไม่เห็นด้วย
  16. ไม่ต้องการถูกปิดตาเดินไปโดยแค่มีคนมาบอกว่าไปเส้นทางนี้เถอะเดี๋ยวดีเอง โดยคนที่มาบอกก็ไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางที่จะไปเป็นยังไง ซึ่งแปลกใจมากที่มีอาจารย์นักวิจัยมากมายที่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ตัวผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ควบคุมงานวิจัย ถ้ามีลูกศิษย์มาเสนอว่าจะทำวิจัยเราจะต้องชัดเจนเรื่องระเบียบวิธีวิจัยก่อนนะครับ 
  17. ไม่เห็นด้วยกับกปปส.เพราะไม่มีความชัดเจนใด ๆ จะปฏิรูปอะไรบ้าง และจะทำยังไงถ้าต้องมีการแก้กฏหมายแต่ไม่มีสภานิติบัญญัติ และไม่มีอะไรมารับประกันว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริง ดูอย่างการรัฐประหารหรือการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมาก็ได้ เราร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้ว แต่ละฉบับก็ร่างขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหารในแต่ละครั้งใช่ไหม แล้วผลเป็นยังไงมันแก้ปัญหาได้ไหม คนร่างก็พวกนักวิชาการนักฏหมายนี่แหละ ชาวบ้านรากหญ้าไม่ได้มาร่างด้วย รัฐธรรมนูญ 50 ที่ว่าดีนักดีหนา ถึงขั้นจะแก้อะไรก็แก้แทบจะไม่ได้ แต่ตอนนี้มาบอกว่ามันไม่ดี เพราะมันไม่สามารถป้องกันทักษิณให้กลับเข้ามามีอำนาจได้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจริง มาแก้ในส่วนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นดีกว่า และการแก้นี้ก็จะต้องใช้สภานิติบัญญัติ ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง 
  18. อยากให้กฏหมายเขียนให้มันชัดเจน จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความกันไปคนละทางสองทาง
  19. การมาประท้วงยืดเยื้อแบบนี้ คนที่เสียประโยชน์และน่าสงสารมากในตอนนี้คือชาวนา เพราะรัฐไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ที่จะนำเงินมาให้ชาวนา จริงอยู่อันนี้มันเป็นการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองก็จริง แต่ชาวนาก็ไม่ควรได้รับผลกระทบ รัฐบาลที่จะตั้งมาโดยกกปส. จะเป็นรัฐบาลรักษาการเหมือนอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าใช่จะมีอำนาจในการอนุมัติเงินหรือหาเงินมาให้ชาวนาไหม และเคยคิดเคยประเมินไหมว่าตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศเสียไปแค่ไหน 
  20. เห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจมีปัญหา แต่มันก็ดีกว่ามาประท้วงกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นทางที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นของตัวเอง และเป็นการวัดความเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด แทนที่จะรณรงค์ให้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน ถ้ามองว่ามีคนเห็นด้วยกับกกปส. มาก จริง ๆ ทำไมไม่รณรงค์กันไม่ให้เลือกเพื่อไทย รณรงค์ให้โหวตโนก็ได้ อย่างน้อยถ้าคะแนนโหวตโนมากกว่าเพื่อไทย ก็น่าจะทำให้พรรคนี้อ้างไม่ได้อีกแล้วว่าเป็นฉันทามติ และเป็นการบอกเพื่อไทยว่าถ้ายังทำอย่างนี้อีก ให้ระวังพลังของมวลมหาประชาชนที่แท้จริง
  21. เห็นว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (ถ้ามี) ควรจะเน้นที่การปฏิรูปและใช้เวลาไม่เกินหนึ่งปี จากนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
  22. ไม่เชื่อว่าการซื้อเสียงการทุจริตเลือกตั้งจะเป็นสาเหตุให้เพื่อไทยชนะและประชาธิปัตย์แพ้
  23. ไม่ชอบการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อกัน ด่าคนที่เราไม่ชอบด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเหยียดหยามทางเพศ เราต้องการให้สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งปกติของลูกหลานของเราต่อไปหรือ
  24. ไม่ชอบการเหยียดหรือจัดกลุ่มคนโดยใช้ถ้อยคำที่เหยียดหยามเช่น สลิ่มเหลือง ควายแดง แดงแอ๊บขาว โลกสวย เป็นต้น 
  25. ไม่เห็นด้วยที่จะนำในหลวงมาอ้างให้การชุมนุมของตัวเองดูดี แล้วผลักให้อีกพวกหนึ่งกลายเป็นคนไม่จงรักภักดี
  26. อยากได้รถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง (โดยไม่ต้องรอให้ประเทศไม่มีถนนลูกรังก่อน เพราะตายไปแล้วอาจยังเป็นไปไม่ได้) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับการพัฒนาประเทศ เรื่องต้องเป็นหนี้ไม่กลัว แต่ขอให้เงินที่กู้มาถูกใช้ลงไปในโครงการจริง ๆ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกแต่ถ้าเป็นหนี้แล้วมันทำให้ประเทศก้าวหน้าก็ต้องทำ อยากจะบอกว่าตอนสมัยเด็ก ๆ ก็เรียนมาว่าประเทศเราก็เป็นหนี้มากมาย ครูที่สอนวิชาสังคมก็พูดเป็นเชิงประชดประชันขำ ๆ ว่าเป็นหนี้ก็ดีนะไม่ต้องห่วงว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้เขาจะปล่อยให้ประเทศเราล้ม เพราะว่าเขากลัวจะเสียเงินที่เขาให้เรากู้มา ถึงตอนนี้ผมยังไม่ตายเลย เข้าใจว่าหนี้ก้อนนั้นเราใช้หมดแล้ว และเพราะหนี้ก้อนนั้นก็ทำให้ประเทศเราเจริญมาจนถึงวันนี้ อยากเห็นนโยบายของคนที่ออกมาค้านว่าจะสร้างโครงสร้างพิ้นฐานเหล่านี้ได้อย่างไรโดยไม่ต้องเป็นหนี้ หรือเป็นหนี้น้อยกว่านี้ 
  27. ไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือมีใครที่ต้องมาตายเพิ่มขึ้นอีกแล้ว
  28. อยากให้คนไทยอยู่ร่วมกันได้แม้มีความเห็นต่างกันเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งถึงแม้จะเลือกจะเชียร์คนละพรรคก็ยังพูดคุยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่คุยกัน หรือต้องดูก่อนว่าคนที่เราคุยด้วยนี่เชียร์ข้างไหน 
  29. ไม่ชอบการทำงานของกสทช.ชุดนี้ โดยเฉพาะส่วนโทรคมนาคม (อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อยากเขียน :))
  30. สุดท้ายแล้วดีกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว 30 ข้อแล้ว อยากให้มีการทำประชามติถามความเห็นของคนทั้งประเทศว่าจะเอาแนวทางของกกปส.หรือไม่ ถ้าคนส่วนใหญ่บอกว่าเอา ริวจะไม่พูด เอ๊ยไม่ใช่ จะไม่บ่น จะทำอะไรก็เชิญ และจะช่วยภาวนาให้สิ่งที่ทำประสบความสำเร็จ...

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักการสำคัญ 9 ประการที่นำไปสู่นวัตกรรมของ Google

สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ ขอถือโอกาสนี้เขียนบล็อกแรกของปีให้อ่านกันเลยก็แล้วกันครับ ตอนแรกก็ยังไม่รู้จะเขียนอะไรดีเพราะผมว่าช่วงปลายปีที่แล้วพวกเราหลายคนคงจะเครียดและสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก แม้แต่ผมเองยังจัดซะสามบล็อกติดกัน แต่บล็อกแรกของปีนี้ผมไม่อยากจะเขียนอะไรที่มันเครียด ๆ กันก่อนตั้งแต่ต้นปีครับ ก็พอดีนึกขึ้นได้ว่ามีคนแบ่งปันลิงก์เกี่ยวกับแนวทางที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้แหละที่น่าจะนำมาเขียน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกคนที่มีโอกาสได้อ่าน เผื่อจะสามารถนำไปประยุกต์กับการทำงานของเราในปีนี้ได้บ้าง

สำหรับต้นฉบับของเรื่องนี้ก็คือ GOOGLE REVEALS ITS 9 PRINCIPLES OF INNOVATION โดยคุณ Kathy Chin Leong ในบทความนี้ได้สรุปสิ่งที่คุณ Gopi Kallayil ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการสังคม (ไม่รู้จะใช่ไหมนะครับในภาษาอังกฤษใช้คำว่า chief social evangelist ) ได้พูดถึงหลักสำคัญ 9 ข้อที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่มีการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างมากมายออกมาให้เราใช้กัน ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

1. นวัตกรรมมาได้จากทุกที่ทุกทาง ไม่ว่าจะมองจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบนหรือแม้แต่ในจุดที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ในบทความได้ยกตัวอย่างของคุณหมอซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของ Google ได้พยายามผลักดันให้การค้นหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (ในสหรัฐ) มีการแสดงเบอร์โทรฟรีสำหรับศููนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายอยู่ทางด้านบนของจอ

2.  มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้ เรื่องเงินเอาไว้ทีหลัง ตัวอย่างก็คือการค้นหาทันใจ (instant search) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นแต่อาจทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ดูโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักของ Google ซึ่ง Google ก็ยอมที่จะเสี่ยงในส่วนนี้ โดยแนวคิดก็คือให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมไปแล้วรายได้ก็จะตามมาเอง

3. ตั้งเป้าว่าจะดีขึ่นสิบเท่า การตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นแค่สิบเปอร์เซนต์เราก็จะทำได้แค่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการจะต้องตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นสิบเท่า และนั่นจะทำให้เราต้องคิดนอกกรอบ ตัวอย่างของข้อนี้ก็คือโครงการ Google Books ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสแกนหนังสือทั้งหมดเพื่อทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดย Lary Page ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google ถึงกับลงมือสร้างเครื่องสแกนหนังสือขึ้นมาเองเลย สำหรับหนังสือตอนนี้ก็สแกนไปได้แล้วกว่า 30 ล้านเล่ม

4.  ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้เป็นประโยชน์ เขายกตัวอย่างถึงแนวคิดของรถไร้คนขับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Google เองไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ Google มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานอย่าง Google Maps Google Earth และ รถที่ใช้ทำ Street View โดยการร่วมมือกับทีมปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ก็ทำให้ Google สามารถสร้างรถที่ไม่ต้องมีคนขับซึ่งสามารถเดินทางไปกลับเป็นระยะทางไกลได้จริง

5. ปล่อยออกมาก่อนแล้วค่อยปรับปรุง แนวคิดนี้คือไม่ต้องรอให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ ส่งไปให้ผู้ใช้ใช้ก่อน แล้วให้ผู้ใช้นั่นแหละเป็นผู้ช่วยปรับปรุง ตัวอย่างของโครงการที่ใช้วิธีนี้ก็เช่น Google Chrome ซึ่งเปิดตัวมาในปี 2008 และ Google ปล่อยตัวปรับปรุงออกมาทุกหกสัปดาห์

6. ให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงาน แนวคิดนี้คือให้พนักงานได้ใช้เวลาในการทำโครงการที่ตัวเองอยากทำที่ไม่ใช่งานประจำที่ตัวเองทำอยู่ โดยจะให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงานในการทำโครงการดังกล่าว พูดง่าย ๆ ก็คือในเวลางานห้าวัน ก็ให้เวลาวันหนึ่งที่พนักงานจะได้ทดลองทำสิ่งที่เป็นแนวคิดของตัวเอง สิ่งที่ได้จากการทำแบบนี้ก็คืออาจจะได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรืออาจได้เทคนิคหรือแนวคิดที่จะนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม

7. ให้กระบวนการทำงานเป็นแบบเปิด คือเปิดโอกาสให้ทั้งนักพัฒนาภายนอก หรือแม้แต่ผู้ใช้เองมีส่วนร่วมในโครงการ ตัวอย่างเช่นการเปิดให้นักพัฒนามาช่วยกันพัฒนาแอพต่าง ๆ ให้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

8. ล้มให้เป็น ไม่ควรตำหนิความล้มเหลว แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ดีสุด ๆ ก็ต้องถูกยกเลิกไป แต่สิ่งที่สามารถดึงมาใช้ได้ก็คือส่วนดีที่สุดของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เขาบอกว่าความล้มเหลวคือเครื่องหมายของเกียรติยศ ความล้มเหลวคือหนทางที่จะนำไปสู่นวัตกรรมและความสำเร็จ ดังนั้นจงล้มเหลวด้วยความภาคภูมิใจเถอะ

9. ภารกิจที่ทำมีความสำคัญ เขาบอกว่านี่คือข้อที่สำคัญที่สุดใน 9 ข้อนี้ เขาบอกว่าคนที่ Google ทุกคนมีความตั้งใจแรงกล้าที่จะทำตามภารกิจและจุดประสงค์ให้สำเร็จ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะมีผลในทางบวกกับผู้คนเป็นล้าน ๆ คน

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ ...

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนที่ไม่สนับสนุนม็อบไม่ได้เห็นด้วยหรือยอมให้โกง

ในสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้ ผมถูกพิพากษาจากแกนนำผู้ชุมนุุมว่าเป็นพวกเลือกข้างคนชั่ว เป็นคนโลกสวย และยอมที่จะเป็นขี้ข้ารับใช้ระบอบทักษิณ ซึ่งผมไม่แคร์หรอกครับว่าแกนนำจะให้ผมเป็นอะไร เพราะสุดท้ายพวกเขาก็นับผมเป็นเสียงหนึ่งของพวกเขาอยู่ดีเวลาจะอ้างมติอะไรก็บอกว่าเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็เหมารวมผมเข้าไปด้วยทุกที ไม่ว่าการชุมนุมของกลุ่มหรือสีไหน

แต่ที่อยากจะเขียนวันนี้เพราะอยากให้หลายคนที่ยังไม่เข้าใจและแบ่งฝ่ายว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่ออกมาขับไล่รัฐบาลนี่เป็นพวกที่ยอมรับการโกง โดยเอาเรื่องรัฐบาลได้รับเลือกตั้งเข้ามามาอ้าง จริง ๆ ผมอยากให้คนกลุ่มนี้ทำความเข้าใจเสียใหม่ก่อนนะครับว่าคนที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมตอนนี้ หลายคนเป็นที่ร่วมชุมนุมหรือลงชื่อค้านพรบ.นิรโทษกรรมมาก่อนนะครับ ซึ่งหลายคนก็มองว่าได้แสดงพลังแล้ว และถ้าพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลก็ได้ยอมยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว ทำไมแกนนำถึงไม่ยอมหยุดทำไมถึงไปเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่ประเทศจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง และทำไมถึงคิดว่าตัวเองสามารถเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศได้ว่าต้องการแบบนี้ แนวคิดหลายอย่างที่นำเสนอเช่นการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำไมตอนที่แกนนำเป็นรัฐบาลอยู่ถึงไม่เสนอ และแนวคิดหลาย ๆ อย่างมันจะทำได้ก็อาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญแล้วทำไมตอนที่เขาให้เสนอแก้รัฐธรรมนูญถึงไม่เสนอเข้ามา

การอ้างว่าถ้าไปเลือกตั้งด้วยกติกาที่มีอยู่ก็จะแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี เพราะมีการทุจริตทุกรูปแบบจนทำให้อดีตพรรคของแกนนำนั้นต้องแพ้การเลือกตั้ง ผมคิดว่าความคิดแบบนี้เป็นอันตรายมากนะครับ มันจริงหรือครับที่แพ้เพราะถูกโกง การคิดและการพูดแบบนี้ไม่มีทางที่อดีตพรรคของแกนนำจะกลับมาชนะได้แน่ครับเอาแต่โทษสิ่งอิ่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ลองคิดดูถ้าผมเป็นคนอีสานผมคงคิดว่าเอ๊ะพรรคนี้ชนะการเลือกตั้งที่ภาคใต้ แต่มาบอกว่าแพ้เพราะถูกโกง งั้นก็หมายความว่าคนใต้เป็นคนดี คนอีสานไม่ดีเพราะรับเงินพรรคอื่นอย่างนั้นหรือ และถ้าผมเป็นกกต. ผมคงคิดว่านี่พวกเราทำงานแย่มากจนทำให้เกิดการโกงทั้งประเทศจนพรรคพรรคหนึ่งต้องแพ้การเลือกตั้งเลยหรือ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าผมจำไม่ผิดก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอดีตพรรคของแกนนำนี่แหละที่ขอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องกฏเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งเขาก็วิจารณ์กันให้แซ่ดว่าแก้เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ แต่สุดท้ายก็ยังแพ้อยู่ดี (ซึ่งเพราะอันนี้หรือเปล่าเลยคิดว่าขนาดแก้อย่างนี้แล้วยังแพ้มันต้องโกงแน่)

ผมคิดว่าพวกเราที่เป็นประชาชนคงไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องเสียงมีคุณภาพ เสียงด้อยคุณภาพนะครับ เป็นความเห็นที่แย่มาก ทุกเสียงควรจะมีค่าเท่ากันครับ และถ้าจะคิดว่าเสียงคนชนบทที่บอกว่าด้อยการศึกษาเท่านั้นที่เลือกเพื่อไทย เท่าที่ผมคุย ๆ มาคนที่มีการศึกษาสูง ๆ หลายคน ระดับปริญญาเอกก็เลือกเพื่อไทยนะครับ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ผมว่าไม่ใช่แก้กติกา ผมว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะแก้มันต้องแก้ที่ว่าหลังจากเลือกมาแล้วจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้นได้อย่างไรมากกว่า กฏเกณฑ์การเข้าชื่อถอดถอนเหมาะสมดีหรือยัง องค์กรอิสระทั้งหลายทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง จะต้องแก้ตรงไหนไหมเพื่อให้ตรวจสอบได้มากขึ้น หรือจะถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร

ซึ่งถ้าแกนนำเสนอตรงนี้เข้าไปและทำสัญญาประชาคมกันว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งเข้ามาจะมีการปฏิรูปตรงนี้ อย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การประท้วงก็จะได้จบ ประเทศเราก็จะได้เดินหน้า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มันยังต้นเดือนอยู่ ถ้าเราทำให้มันสงบได้เร็ว นักท่องเที่ยวอาจกลับเข้ามา อย่ามองว่าผลประโยชน์ตรงนี้มันจะไปตกกับรัฐบาลรักษาการ แต่ให้มองว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ และนี่น่าจะเป็นทางออกที่อารยประเทศเขายอมรับ

อีกสักเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่เพราะเดี๋ยวจะเป็นการเถียงคนละเรื่อง คือมีคนพยายามบอกว่าทำไมคนทำผิดแล้วถึงไล่ไม่ได้ ไม่เข้าใจหรือไงว่าสถานะของการได่้มากับสถานะของการดำรงอยู่มันต่างกันนะ แล้วก็ยกตัวอย่างมาหลายตัวอย่าง ตัวอย่างหนึ่งที่ผมจำได้คือ สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งสอบเข้ามาได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่เข้ามาแล้วโกงการสอบไล่ เด็กคนนี้จะต้องไม่ถูกไล่ออกใช่ไหม เพราะสอบเข้ามาได้ อ่านแล้วก็คิดว่าเขาช่างคิดยกตัวอย่างนะ แล้วก็มีคนเห็นด้วยมากมาย ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมก็เห็นด้วยนะว่าสถานะของการได้มากับสถานะของการคงอยู่มันคนละเรื่องกัน และกลุ่มคนที่ไปชุมนุมต้านพรบ.และลงชื่อถอดถอนเขาก็คิดอย่างนี้แหละ ถ้าเปรียบเทียบก็คือการนำเด็กคนนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนนั่นเอง ซึ่งเด็กคนนี้ก็หน้าด้านไม่ยอมลาออก สมมติว่าประชาคมในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เขาพอใจแค่นี้แล้วก็รอผลลัพธ์ แต่คราวนี้สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งซึ่งมีข้อมูลภายในหรืออาจไม่ชอบเด็กคนนั้นเป็นการส่วนตัว ก็ไปป่าวประกาศชักชวนใครต่อใครว่าเด็กคนที่โกงนี่จริง ๆ มันโกงตั้งแต่สอบเข้ามาแล้ว แล้วก็พาพรรคพวกมารวมตัวกันเรียกร้องขอตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมาเพื่อสอบสวนเด็กคนนี้ รวมถึงมีการพูดไปจนถึงว่าญาติพี่น้องของเด็กคนนี้ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันควรจะต้องถูกไล่ออกไปด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ประชาคมที่เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ก็กลายเป็นว่าเขาออกมาปกป้องเด็กคนนี้อย่างนั้นหรือ

ดังนั้นผมอยากให้มองยาว ๆ ครับ ลองคิดว่าประเทศของเราต้องมีหลักการในการปกครองประเทศ เราไม่ควรจะยอมเสียหลักการเพราะใครไม่ว่าจะรัก จะเกลียดหรือกระแสความต้องการ ลองย้อนกลับไปวันที่มีการพิพากษาคดีซุกหุ้นภาคหนึ่งของทักษิณนะครับ วันนั้นกระแสความต้องการทักษิณแรงมากจากการชนะการเลือกตั้ง วันนั้นทักษิณรอดได้เป็นนายก และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในความเห็นผมตอนนั้นผมเห็นว่าผิดนะรอดได้ไง และผมคิดว่าในวันนั้นอาจมีคนที่ต้านทักษิณอยู่ในตอนนี้ดีใจอยู่ด้วยก็ได้นะครับ...