วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เราลืมสอนเรื่องการใช้ชีวิตให้นักศึกษากันหรือเปล่า

วันนี้ขออนุญาตเขียนเรื่องราวที่อาจไม่เกี่ยวกับไอทีสักวันนะครับ และอาจจะดูเป็นการบ่น ๆ หรือระบายบ้าง คือในภาคการศึกษานี้ในมีเรื่องที่ผมอยากจะมาเล่าสู่กันฟังสองเรื่อง เรื่องแรกเกิดในระหว่างที่ผมกำลังตัดเกรด และเรื่องที่สองเกิดขึ้นหลังจากผมตัดเกรดและทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศเกรดไปแล้ว

เริ่มจากเรื่องแรกครับต้องขอเกริ่นก่อนว่าในวิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่แล้วผมจะให้โครงงานประจำวิชาด้วย ซึ่งโครงงานนี้จะให้ทำเป็นกลุ่มและนักศึกษาจะต้องมานำเสนอรายงานด้วย ซึ่งหลังจากที่นักศึกษาทุกกลุ่มนำเสนอรายงานเสร็จแล้วผมก็นำเอาคะแนนโครงการมารวมกับคะแนนสอบเพื่อที่จะตัดเกรด ขณะที่ผมไล่รายชื่อไปก็พบว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่มีรายชื่ออยู่กับกลุ่มใดเลย และคะแนนสอบของนักศึกษาคนนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลางคือพอผ่าน แต่ถ้ารวมคะแนนโครงการเข้าไปเขาจะได้เกรดที่ดีขึ้น ผมจึงได้ประกาศให้นักศึกษาติดต่อผมผ่านทางอีเมล และเขาก็ติดต่อมาซึ่งผมก็ได้แจ้งไป และให้โอกาสเขาโดยบอกให้เขารีบทำงานมาส่งโดยผมจะให้ติด I ไว้ก่อน แต่คำตอบที่ผมได้รับคือเขาจะไม่ทำเพราะเขาไม่ได้ชอบสาขาที่เรียนอยู่ตอนนี้แต่พ่อแม่บังคับให้เรียน ขอแค่สอบผ่านก็พอใจแล้ว จากเรื่องนี้มีสองจุดที่ผมอยากจะพูดถึงครับ จุดแรกเรื่องพ่อแม่บังคับให้ลูกเรียนในสาขาที่เขาไม่ชอบ คือพ่อแม่ก็หวังดีเห็นว่าสาขาทางคอมพิวเตอร์นี้จบออกไปแล้วมีงานทำแน่นอนมีเงินเดือนดี แต่ในความเป็นจริงคนที่เรียนคือลูกนะครับไม่ใช่พ่อแม่ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมพบว่ามีนักศึกษาหลายคนที่เป็นแบบนี้ครับ และส่วนใหญ่ที่จบไปก็เกรดไม่ค่อยดีนัก และบางคนก็ไม่ได้ทำงานในสาขานี้หรือไปเรียนต่อในสาขาอื่น ดังนั้นอยากฝากพ่อแม่ครับว่าอย่าบังคับลูกเลย ถ้าเขาได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบและเขามีความถนัดจริงผมเชื่อว่าเขาก็จะมีทางไปของเขาได้ จุดที่สองในส่วนของนักศึกษาเอง ผมอยากจะบอกว่าเมื่อเราได้ทำอะไรแล้วไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบเราก็น่าจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด อยากให้นักศึกษามองไปไกล ๆ หน่อยครับอย่ามองแค่ใกล้ ๆ สมมติว่าถ้าต้องอดทนเรียนไปจริง ๆ ทำไมถึงไม่พยายามทำให้ดีที่สุด เพราะเกรดที่เราได้ในวันนี้แน่นอนครับว่าจะมีผลต่อการเรียนต่อในสิ่งที่เราสนใจในอนาคตอย่างแน่นอน และไม่แน่ครับถ้าเราได้ตั้งใจทำให้ดีที่สุดแล้วเราอาจจะค้นพบก็ได้ว่า๊จริง ๆ เราก็ชอบสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่เหมือนกัน สรุปสิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับเรื่องนี้ก็คือสู้ครับทำทุกอย่างให้เต็มกำลัง

เรื่องที่สองหลังจากที่มีการประกาศเกรดแล้ว ผมก็ได้รับข้อความถามจากนักศึกษาว่าทำไมเขาจึงได้เกรดน้อย ทั้ง ๆ ที่ตอนกลางภาคเขาก็ทำคะแนนได้ค่อนข้างดี ซึ่งตรงนี้ผมโอเคนะครับ คือผมยินดีที่จะให้นักศึกษาเข้ามาดูและมาสอบถามได้เสมอ เพราะผมก็อาจพลาดได้ แม้ว่าผมจะตรวจทานการป้อนคะแนนและการตัดเกรดถึง 3 ครั้ง ก่อนที่ผมจะส่งเกรดไป แต่สิ่งที่ผมทำใจยอมรับได้ยากสักหน่อยและตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่มันเกิดอะไรขึ้น เพราะนักศึกษาคนนี้ให้เบอร์โทรให้ผมโทรกลับ และบอกว่าถ้าอาจารย์ไม่ติดต่อกลับเขาจะเข้ามาหาในวันเสาร์ (จากนั้นมาขอแก้ไขบอกว่าจะเข้ามาวันอาทิตย์) ตกลงนักศึกษาคนนี้เขาเป็นเจ้านายผมหรือครับ เขาจะมาหาผมวันไหนที่เขาอยากมาก็ได้ (แม้แต่วันหยุด) และผมจะต้องมาพบเขาตามวันที่เขาระบุใช่ไหม นักศึกษาคนนี้ไม่ได้รับการสั่งสอนจากที่ใดมาเลยหรือครับว่าเวลาที่จะนัดหมายกับผู้ใหญ่จะต้องทำอย่างไร

นี่คือสองเรื่องที่เกิดขึ้นและผมก็เลยเกิดคำถามขึ้นว่าในการเรียนการสอนในปัจจุบันของเรานั้น เราเน้นกันที่จะให้แต่ความรู้วิชาการและแข่งขันกันด้วยเกรดอย่างเดียว จนลืมที่จะอบรมให้เด็กให้เป็นคนที่มีความรอบรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม และสู้ชีวิตหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเอามาแบ่งปันกันในวันนี้โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เพราะผมคิดว่าจะใช้กรณีตัวอย่างนี้ในการสอนลูกผมเช่นเดียวกัน

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

ทักษะด้าน IT 6 อย่างที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2010

วันนี้พอดีได้มีโอกาสอ่านบทความจาก Computer World ซึ่งคิดว่าน่าสนใจสำหรับคนที่ทำงานด้าน IT ครับ นั่นก็คือทักษะด้าน IT ที่ยังจะเป็นที่ต้องการมากที่สุดในปี 2010 นี้ ซึ่งการสำรวจนี้ถึงแม้จะไม่ได้ทำในประเทศเรา แต่ผมก็เชื่อว่าผลลัพธ์ส่วนใหญ่น่าจะออกมาคล้าย ๆ กัน ผลออกมาดังนี้ครับ โดยลำดับจะเรียงจากความต้องการมากที่สุดครับ

1. ทักษะด้านการพัฒนาโปรแกรม
2. ทักษะการสนับสนุนด้านเทคนิค
3. ทักษะด้านเครือข่าย
4.ทักษะด้านการจัดการโครงการ
5.ทักษะด้านความมั่นคง (security)
6.Business Intelligence

จะเห็นว่าทักษะด้านการพัฒนาโปรแกรมก็ยังคงเป็นที่ต้องการเป็นลำดับแรกทางด้านไอที นั่นหมายถึงจะยังมีความต้องการที่จะพัฒนาโปรแกรมใหม่ ๆ อีกมากมาย โดยทักษะด้านการพัฒนาโปรแกรมนี้จะเน้นไปที่ .Net, Java, การพัฒนาเว็บ, open source, เทคโนโลยีอย่างพวก Microsoft's Sharepoint และภาษาและแพลตฟอร์มที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นก็คือ Ruby on Rails และ Ajax

ทางด้านการสนับสนุนด้านเทคนิคนั้น จากการสำรวจพบว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนั้น มีการปลดคนในตำแหน่งนี้ออกไปค่อนข้างมาก ดังนั้นในปีนี้จะมีการรับตำแหน่งนี้กลับเข้าไปมากขึ้น (อันนี้เป็นข้อมูลจากต่างประเทศนะครับ ไม่รู้ว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เพราะเราไม่ได้วิกฤตหนักเท่าเขา)

ส่วนทักษะด้านเครือข่ายนั้น เนื่องจากกระแสของเทคโนโลยีอย่าง cloud computing หรือ software as a service ทำให้้มีความต้องการคนทางด้านนี้มากขึ้น

ส่วนทางด้านการจัดการโครงการนั้น เขาบอกว่ามืออาชีพที่เข้าใจเทคโนโลยีและสามารถที่จะนำมาใช้ในกลยุทธทางธุรกิจได้ คือสุดยอดฝีมือที่ใคร ๆ ก็ปรารถนา

ทางด้านความมั่นคง (หลายคนคงแปลกใจว่าทำไม่ไม่ใช้ ความปลอดภัย เพราะมาจากคำว่า security แต่คำ ๆ นี้ทางราชบัณฑิตเขาใช้คำว่าความมั่นคงครับ) อันนี้คงไม่ต้องพูดอะไรมากนะครับ เพราะทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันระบบเครือข่ายที่เราใช้ยังไม่ปลอดภัยอยู่มาก ดังนั้นคนที่มีความสามารถทางด้านนี้จะเป็นที่ต้องการเพื่อเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญของบริษัท

สำหรับ BI นั้นตามนิยามในสมัยเก่าก็คือการนำข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันมีความต้องการข้อมูลที่เป็นแบบ real time มากขึ้น ในการสำรวจยังบอกว่าทักษะที่สำคัญที่สำคัญกว่าผู้เชี่ยวชาญทาง BI ก็คือนักเขียนโปรแกรมหรือนักวิเคราะห์ที่สามารถนำเอาข้อมูลพื้นฐานจากตารางต่าง ๆ มารวมกันเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจได้ ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นพื้นฐานของการทำ BI

เอาละครับ เห็นอย่างนี้แล้วนักศึกษาที่กำลังจะจบก็น่าจะหาความรู้พื้นฐานอันใดอันหนึ่งไว้บ้างนะครับ อย่างน้อยก็น่าจะมีความรู้ด้านการพัฒนาโปรแกรมโดยใช้เทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งที่ได้กล่าวไปแล้ว ส่วนคนที่ยังเรียนอยู่อาจจะปี 2 หรือปี 3 ผมว่าก็ควรจะเริ่มเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจทางด้านต่าง ๆ เหล่านี้ไว้บ้างนะครับ เพราะถึงการสำรวจจะบอกว่าเป็นของปีนี้ แต่ผมว่าความต้ิองการด้านต่าง ๆ เหล่านี้จะยังเป็นที่ต้องการอยู่อีกหลายปี และอย่าลืมว่าประเทศเรานั้นน่าจะตามหลังเทคโนโลยีของต่างประเทศอยู่บ้าง เมื่อพวกคุณเรียนจบกัน ก็อาจเป็นเวลาที่ประเทศของเรากำลังต้องการกำลังคนทางด้านนี้พอดีก็ได้....

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สรุปการสัมมนา vmware virtualization series 2009

วันนี้ (19 พ.ย. 2552) ผมได้ไปฟังสัมมนา Virtualization Seminar Series โดย vmware ที่โรงแรม Conrad ก็ขอถือโอกาสมาเล่าให้ฟังแล้วกันครับ สำหรับบรรยากาศทั่ว ๆ ไปของงานน่าจะเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อให้บริษัทได้นำเสนอเทคโนโลยีการทำ Virtualization และ Cloud computing ซึ่งใช้ vmware เป็นฐานในการทำงาน สรุปง่าย ๆ คือเป็นการมาขายของ โดยให้ความรู้ประกอบ ซึ่งเดี่ยวนี้จะเห็นการตลาดในลักษณะนี้เยอะพอสมควร ตัวอย่างหนึ่งก็คือวารสารไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งเดี๋ยวนี้บทความส่วนใหญ่จะเขียนโดยบริษัท คือจะเป็นเชิงให้ความรู้ และโฆษณาสินค้าของตัวเองไปในตัว กลุ่มเป้าหมายของการสัมมนาครั้งนี้ก็คือฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งน่าจะเป็นลูกค้าของ vmware ในอนาคต ส่วนผมไปก็คงเป็นส่วนเกิน ไปกินข้าวฟรี น้ำฟรีและขนมฟรี และก็ไม่ได้ซื้อของอะไรเขา เพราะตัวเองผลิตภัณฑ์ vmware ที่ใช้ก็คือ vmware player ที่ฟรี ส่วน vmware Workstation ก็โหลดมาใช้ตอนที่ต้องการจะสร้าง Virtual Machine เท่านั้น ก็เห็นเขาส่งอีเมลมาเชิญ ก็เลยลงทะเบียนไป สงสัยงวดต่อไปเขาไม่เชิญแล้ว

คราวนี้ลองมาสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่ ผมได้มาจากการสัมมนาครั้งนี้บ้าง เริ่มต้นจาก vSphere 4.0 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของ vmware สำหรับ Cloud Computing สำหรับตัวนี้ใครสนใจก็คลิกดูเลยแล้วกันครับ

ส่วนที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ vmware View 4.0 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับ cloud computing ในระดับ desktop สำหรับตัวนี้ขอขยายความหน่อยแล้วกันครับ เพราะอาจจะเป็นตัวที่มีโอกาสได้ใช้มากกว่า หลักการคร่าว ๆ ของ vmware View เป็นดังนี้ครับ ปกติเวลาเราสร้าง virtual machine เราก็จะต้องนำมาทำงานบนเครื่อง client โดยทำงานผ่าน vmware player แต่สำหรับแนวคิดของ vmware View คือเป็นการขยายแนวคิดของ cloud computing มาสู่ desktop คือจะสร้าง virtual machine ขึ้นมาแล้วเก็บไว้บน server จากนั้นผู้ใช้ก็ใช้โปรแกรม vmware View ติดต่อเข้ามาเพื่อใช้งาน virtual machine ซึ่งข้อดีของการทำอย่างนี้ก็มีหลายประการคือ ตอนนี้ผู้ใช้จะสามารถใช้เครื่องไหนก็ได้ ที่มี vmware View ติดตั้งอยู่ ในการใช้งาน virtual machine หรืออาจจะใช้แค่ thin client ซึ่งมีราคาถูก ก็สามารถใช้งาน virtual machine ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังง่ายต่อการดูแลเพราะ virtual machine ถูกเก็บไว้ที่ server ทาง vmware ยังได้คิดโพรโตคอลของตัวเองคือ PCoIP ซึ่งมีจุดประสงค์ให้การทำงานต่าง ๆ เช่นการถอดรหัสวีดีโอทำที่ server และส่งผลลัพธ์เป็น pixel มายัง client ซึ่งจะทำให้ client แสดงผลลัพธ์ได้ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นวีดีโอในรูปแบบใด

ในงานมีการสัมภาษณ์ลูกค้าที่ใช้ vmware คือ ปตท. และบริษัท NetApp ซึ่งเป็น Solution Provider ที่เป็นพันธมิตรกับ vmware ทาง IBM ก็ได้มาพูดถึง Solution ทางด้าน cloud computing ที่ทาง IBM ได้เตรียมไว้ เช่น Lotus Live ซึ่งเป็นบริการในรูปการทำงานร่วมกันในองค์กร ซึ่ง IBM ให้ทดลองใช้ฟรีได้ 30 วัน ซึ่งตรงนี้ผมว่าพวกเราที่ใช้ Google Application คงจะเฉย ๆ นะครับ เพราะใช้กันมาตั้งนานแล้ว และฟรีด้วย Solution ที่น่าสนใจจริง ๆ ผมว่าน่าจะเป็น IBM cloudburst ซึ่งเป็น Solution สำเร็จรูปสำหรับองค์กรที่ต้องการทำ cloud computing นอกจากนี้ก็มี EMC มาพูดเรื่องเกี่ยวกับการจัดการ Storage และ Dell กับ HP ก็มาพูดถึง Solution ที่ได้เตรียมไว้สำหรับ Cloud computing จริง ๆ แล้วยังเหลืออยู่อีกสอง session ซึ่งผมไม่สามารถอยู่จนจบได้ เนื่องจากติดธุระในช่วงเย็น เสียดายจริง ๆ ครับ เขาจะมีการจับรางวัลด้วย โดยรางวัลจะเป็น โน้ตบุ๊ก Fujitsu กับเครื่อง Wii ว่าจะไปลุ้นเครื่อง Wii มาให้ลูกเล่นเสียหน่อยอดเลย

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่างานนี้ก็เป็นงานสัมมนาขายสินค้าแบบหนึ่ง แต่ที่ผมได้จากการเข้าสัมมนาครั้งนี้ก็คือการได้เห็น Solution ทางด้านการทำ virtualization และ Cloud computing ซึ่งตัวผมเองนั้นไม่ได้มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้จริง ซึ่งก็พอจะทำให้มองเห็นภาพจากสิ่งที่รู้มาในภาคทฤษฎีมากขึ้น

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คืบหน้ารถไฟใต้ดินชนกันใน Washington D.C

จากข่าว รถไฟใต้ดินชนกันใน (Washington D.C) ตอนนี้ก็มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นคือ สาเหตุของการชนกันของรถไฟสองขบวนน่าจะมาจากการทำงานที่ผิดพลาดของวงจรบนรางรถไฟ กล่าวคือถ้าวงจรทำงานถูกต้องจะต้องตรวจสอบได้ว่าเมื่อมีรถไฟอีกขบวนหนึ่งเข้ามาใกล้จนเกินไป จะต้องส่งสัญาณไปให้รถไฟคันดังกล่าวหยุด ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุห้าวัน มีการปรับปรุงซ่อมแซมวงจรบนรางรถไฟ ซึ่งหลังจากการซ่อมแซมแล้ว ก็มีอาการแสดงถึงความผิดปกติของระบบออกมาโดยเดี๋ยวก็รายงานว่ามีรถไฟเข้ามา แล้วสักครู่ก็ไม่พบว่ามีรถไฟเป็นต้น ซึ่งปัญหารถไฟชนกันนี้คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ระบบไม่สามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถไฟที่จอดอยู่ ดังนั้นเมื่อมีรถไฟอีกขบวนวิ่งเข้ามาจึงไม่มีการส่งสัญญาณไปหยุดขบวนรถดังกล่าว และจากการสืบสวนยังพบว่าในระบบดังกล่าวไม่มีระบบสำรอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยอัตโนมัติว่ามีรถไฟบางขบวนที่ไม่สามารถตรวจสอบหาตำแหน่งได้ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือระบบรถไฟใต้ดินที่ Sanfransisco (มีชื่อเรียกว่า BART) ได้ติดตั้งระบบสำรองนี้ไว้มานานหลายปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่เริ่มสร้างมาเกือบจะพร้อม ๆ กับ รถไฟใต้ดินของ Washington D.C (มีชื่อเรียกว่า Metro) โดยได้ติดตั้งระบบสำรองนี้หลังจากที่มีการตรวจพบว่ามีกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถไฟบางขบวนได้ ทางผู้ดูแลระบบรถไฟใต้ดินของ Washington D.C กล่าวว่าระบบของ BART ไม่สามารถใช้กับของ Metro ได้ และในตอนนี้ก็ยังไม่มีระบบใดที่มีอยู่ในตอนนี้จะสามารถทำได้ ซึ่งทางเดียวก็คือจะต้องพัฒนาระบบขึ้นมาใหม่

ที่มา
The Washington Post

ก้าวแรกกับการต่อสู้กับจดหมายขยะ

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Indiana ได้ศึกษาวิธีการที่คนสร้างจดหมายขยะรวบรวมรายชื่ออีเมลของเหยื่อ ซึ่งเป็นก้าวแรกของโครงการรณรงค์ต่อต้านจดหมายขยะ โดยเขาค้นพบว่าอีเมลที่พวกส่งจดหมายขยะได้มาส่วนใหญ่จะเป็นอีเมลที่ถูกโพสต์ไว้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่นคอมเมนต์บนบล็อก หรือเว็บบอร์ด มากกว่าที่จะได้มาจากอีเมลที่ใช้ในการสมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ โดยพวกคนที่จะสร้างจดหมายขยะจะใช้โปรแกรมเข้ามาอ่านข้อมูลทีมีการโพสต์บนเว็บไซต์ และกรองอีเมลจากข้อมูลดังกล่าว วิธีการที่นักวิจัยแนะนำในการแก้ปัญหานี้คือ ถ้าเราต้องการโพสต์อีเมลลงไปเป็นส่วนหนึ่งของการคอมเมนต์ให้ใช้คำว่า at แทนที่จะเป็นเครื่องหมาย @ เช่น abc@cde.com ก็ให้ใช้เป็น abc at cde.com เป็นต้น

ที่มา
Technology Review