แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ sarunitnews แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ sarunitnews แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

คอมพิวเตอร์กำลังแข่งกันหาว่าไวรัสจากสัตว์อะไรที่ติดคนได้บ้าง

mouse
ภาพจาก The New York Times

นักวิจัยกำลังใช้ตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อทำนายว่าไวรัสในสัตว์ชนิดใดสามารถแพร่ระบาดในเซลล์ของมนุษย์ได้ ในเดือนมีนาคม Colin Carlson แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์และเพื่อนร่วมงานของเขาได้สร้างฐานข้อมูลแบบเปิด VIRION ซึ่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับไวรัส 9,521 ตัวและชนิดของสัตว์ที่พวกมันเข้าไปแฝงตัวอยู่ 3,692 ชนิด

Carlson และคณะยังได้พัฒนาตัวแบบเพื่อระบุสัตว์ที่มีแนวโน้มว่าน่าจะเป็นที่อยู่ของไวรัสสายพันธ์ที่ใกล้เคียง SARS-CoV-2 มากที่สุด ในปี 2020 ตัวแบบดังกล่าวระบุค้างคาวมากกว่า 300 สปีชีส์ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่อยู่ของเบตาโคโรนาไวรัส (betacoronavirus) มากที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นก็พบว่า 47 สปีชีส์จาก 300 สปีชีส์ดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเบตาโคโรนาไวรัสจริง ๆ 

Emmie de Wit แห่ง Rocky Mountain Laboratories กล่าวว่า "สิ่งที่เราต้องการทราบจริง ๆ ไม่ใช่แค่ว่าไวรัสชนิดใดที่สามารถแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ แต่ไวรัสชนิดใดที่ทำให้เกิดการระบาดได้"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The New York Times

 

วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

แอปบน iOS ยังคงติดตามเราอยู่ไม่ว่า Apple จะพูดยังไงก็ตาม

smartphone-usage
ภาพจาก Ars Technica

นักวิจัยจาก University of Oxford แห่งสหราชอาณาจักรพบว่าแอป iOS ยังคงติดตามผู้ใช้ได้แม้ว่านโยบาย App Tracking Transparency (ATT) ของ Apple จะห้ามไม่ให้นักพัฒนาแอปติดตามกิจกรรมของผู้ใช้ในแอปต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างชัดแจ้ง

นักวิจัยพบแอป iOS 9 แอปที่ใช้โค้ดฝั่งเซิร์ฟเวอร์เพื่อสร้างตัวระบุผู้ใช้ร่วมกัน ซึ่งสามารถใช้สำหรับการติดตามข้ามแอปโดยบริษัทในเครือของ Alibaba ของจีน พวกเขายังเปรียบเทียบแอป 1,685 ตัวก่อนและหลังการติดตั้ง ATT โดยพบว่าจำนวนไลบรารีการติดตามที่ใช้โดยแอปนั้นคงที่

แม้ว่าแอป 25% จะบอกว่าไม่ได้รวบรวมข้อมูลผู้ใช้ แต่ 80% มีไลบรารีตัวติดตามอย่างน้อยหนึ่งไลบรารีนักวิจัยยังพบว่ามากกว่าครึ่งของแอพที่ใช้ SKAdNetwork, Google Firebase Analytics และ Google Crashlytics และ 47% ของแอพที่ใช้ Facebook SDK ไม่เปิดเผยว่ามีการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica


วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

อุปกรณ์สวมใส่จะสามารถติดตามความรุนแรงของโควิด 19 ได้หรือไม่

smartwatch
Photo by Ivan Shilov on Unsplash

การศึกษาที่ดำเนินการโดยนักวิจัยของ University of Michigan (U-M) ใช้ข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อพิจารณาว่าสมาร์ทวอทช์สามารถติดตามพัฒนาการของอาการ COVID-19 ได้ดีเพียงใด  นักวิจัยศึกษาข้อมูลตัวจากตัวติดตามสมรรถภาพจากแพทย์ฝึกหัด 43 คน และนักศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา 72 คน ซึ่งมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก

พวกเขาพบว่าเมื่อโรคเริ่มแสดงอาการ ผู้เข้าร่วมการศึกษามีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นต่อการก้าวเดินหนึ่งก้าว และยิ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นถ้ามีอาการไอ Daniel Forger จาก UM กล่าวว่า "คนส่วนใหญ่ที่ใช้ข้อมูลนี้คิดว่าอัตราการเต้นของหัวใจเป็นเพียงตัวเลขตัวหนึ่ง แต่อัตราการเต้นของหัวใจเป็นสัญญาณสำคัญที่สะท้อนถึงกระบวนการทางสรีรวิทยาต่างๆ มากมาย นั่นคือสิ่งที่เป้าหมายของเราในฐานะนักคณิตศาสตร์: เราสามารถที่จะเอาชุดของตัวเลขเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เสียง และทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วบอกความแตกต่างระหว่างสัญญาณของร่างกายได้หรือไม่"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: HealthDay News


วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565

ระบบค้นคว้ายาใหม่ ๆ ด้วย AI อาจถูกนำไปปรับใช้ในการสร้างอาวุธเคมี

ai-drug-discovery
ภาพจาก Scientific American

นักวิทยาศาสตร์จาก Collaborations Pharmaceuticals ได้นำเสนองานวิจัยในการประชุม Spiez CONVERGENCE ในปี 2020 ที่สวิตเซอร์แลนด์ว่า เฟรมเวิร์กการค้นคว้ายาที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อผลิตอาวุธเคมี

นักวิจัยได้ใช้ซอฟต์แวร์ MegaSyn ของ Collaborations เพื่อสร้างรายการของโมเลกุลที่เป็นพิษซึ่งคล้ายกับสารสื่อประสาท VX ซึ่งสร้างออกมาได้ 40,000 ตัวอย่าง ซึ่งรวมถึงสารที่สามารถใช้เป็นอาวุธอื่น ๆ นอกเหนือจาก VX ในเวลาน้อยกว่าหกชั่วโมง

Fabio Urbina แห่ง Collaborations กล่าวว่าทีมก่อนหน้านี้เคยใช้ MegaSyn เพื่อสร้างโมเลกุลที่ใช้ในการรักษาโดยมีเป้าหมายระดับโมเลกุลเดียวกันกับ VX ในขณะที่โมเลกุลที่เป็นพิษถูกสร้างขึ้นโดยขอให้ระบบออกแบบโมเลกุลที่คล้ายกันโดยไม่มีข้อมูลเข้าเชิงโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่าการวิจัยไม่ได้ตอบคำถามสำคัญว่าการใช้ซอฟต์แวร์ AI เพื่อค้นหาสารพิษจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาอาวุธชีวภาพในทางปฏิบัติได้หรือไม่

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Scientific American

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

กังวลว่าโทรศัพท์มือถือของคุณกำลังแอบฟังอยู่ใช่ไหม

voice-editing-program
Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของ Columbia University ได้พัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถบล็อกอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาบจากการสอดแนมผู้ใช้ โดยสร้างเสียงที่เงียบมาก ๆ  Carl Vondrick แห่ง Columbia กล่าวว่าอัลกอริธึมสามารถบล็อกไมโครโฟนที่แอบซ่อนอยู่เพื่อฟังเสียงได้ 80% ของเวลาทั้งหมดโดยการซ่อนเสียงของคน

Mia Chiquier จาก Columbia อธิบายว่าโปรแกรมใช้การโจมตีแบบคาดเดา สัญญาณที่สามารถขัดขวางรูปแบบการรู้จำคำพูดอัตโนมัติที่ถูกสอนให้ถอดเสียง ระบบจะทำงานนี้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาจริงโดยคาดการณ์การโจมตีในอนาคตของสัญญาณหรือคำ โดยอ้างอิงจากสองวินาทีของคำพูดที่ใช้เป็นข้อมูลเข้า ระดับเสียงของการโจมตีใกล้เคียงกับเสียงรบกวนที่มีอยู่ตามปกติเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงสามารถสนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Columbia Engineering News

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565

ความเสี่ยงจากยาปลอมกำลังเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีจากมือถือช่วยตรวจสอบได้

Fake-Label
ภาพจาก SciTechDaily

นักวิจัยได้พัฒนาวิธีการระบุยาปลอมโดยใช้แท็กที่สามารถกิน และอ่านได้ผ่านแอปสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาและคุณภาพของยา นักวิจัยดัดแปลงพันธุกรรมตัวไหมเพื่อผลิตโปรตีนไหมที่กินได้โดยมีโปรตีนเรืองแสงสีฟ้า สีเขียว หรือสีแดงติดอยู่ 

แท็กที่มีโปรตีนไหมเรืองแสงเหล่านี้ สามารถถูกเอนไซม์ในทางเดินอาหารย่อยสลายได้อย่างปลอดภัย โดยสามารถใช้กับยาเม็ดหรือเติมลงในยาน้ำได้ แอพสมาร์ทโฟนจะสแกนหารูปแบบการเรืองแสง และหากพบ จะใช้อัลกอริธึมการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) เพื่อถอดรหัสคีย์ดิจิทัลและนำผู้ใช้ไปยังหน้าเว็บที่มีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของยาและเป็นยาจริงหรือไม่

อ่านข่าวเต็มได้ที่: SciTechDaily

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2565

หุ่นยนต์ควบคุมด้วยจอยสติ๊กสามารถช่วยศัลยแพทย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองจากระยะไกลได้

joystick-robot
ภาพจาก MIT News

ระบบเทเลโรโบติก (telerobotic) ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT), Massachusetts General Hospital, และ Philips Research North America  ช่วยให้ศัลยแพทย์ทำงานจากระยะไกลได้ โดยใช้จอยสติ๊กและการถ่ายทอดภาพสดเพื่อควบคุมแขนหุ่นยนต์โดยที่ผู้ควบคุมอยู่อีกที่หนึ่ง

ระบบสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดโป่งพองได้ โดยสามารถเข้าถึงเพื่อเปิดทางหลอดเลือดจากระยะไกล ในช่วงเวลาวิกฤตทันทีหลังจากเริ่มมีอาการ ในระหว่างการทดสอบโดยใช้แบบจำลองขนาดเท่าของจริง ศัลยแพทย์ระบบประสาทสามารถควบคุมแขนของหุ่นยนต์จากระยะไกลเพื่อนำลวดแม่เหล็ก (magnetic wire) ผ่านหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดได้หลังจากฝึกใช้เพียงชั่วโมงเดียว

Yoonho Kim แห่ง MIT อธิบายว่า "จุดประสงค์หลักของสายนำแม่เหล็ก (magnetic guidewire) คือการไปยังตำแหน่งเป้าหมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย เพื่อใช้อุปกรณ์มาตรฐานอย่าง microcatheters ในการรักษาได้ ระบบของเราเปรียบเสมือนเครื่องนำทาง"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News


วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2565

รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองสามารถถูกหลอกให้เห็นไฟแดงเป็นไฟเขียวได้

street-night
Photo by Tom Hill on Unsplash

นักวิจัยจาก Zhejiang University ของจีนพบว่ารถยนต์ไร้คนขับอาจถูกหลอกให้มองเห็นสัญญาณไฟจราจรสีแดงเป็นสีเขียวได้ นักวิทยาศาสตร์ฉายเลเซอร์ไปที่เซ็นเซอร์ของกล้องห้ารุ่นที่ใช้โดยรถขับเคลื่อนด้วยตนเอง โดยมีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซสองชุดอ่านภาพที่ถ่ายไว้ 

เลเซอร์ที่มีความยาวคลื่น 650 นาโนเมตรและความยาวคลื่น 520 นาโนเมตรทำให้ภาพทั้งหมดเป็นสีแดงหรือสีเขียวตามลำดับ ในขณะที่การกะพริบของเลเซอร์ที่ความถี่สูงทำให้เกิดสีในบางส่วนของภาพเท่านั้น การเพิ่มแถบแนวนอนสีเขียวหรือสีแดงทำให้ชุดซอฟต์แวร์ทั้งสองตรวจพบสัญญาณไฟจราจรอย่างไม่ถูกต้องโดยเฉลี่ยว่าเป็นสีเขียว 30%  และสีแดง 86% ของเวลาทั้งหมด ระหว่างกล้องทุกตัว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Scientist

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2565

เครื่องมือที่อาจทำนายความเสี่ยงของงานคุณจากระบบอัตโนมัติ

robot
Photo by Owen Beard on Unsplash

นักวิทยาศาสตร์จาก Swiss Federal Institute of Technology (EPFL) ในเมืองโลซานน์  และ University of Lausanne ในสวิตเซอร์แลนด์ได้ออกแบบอัลกอริธึมเพื่อทำนายว่าแต่ละอาชีพมีความเสี่ยงจากระบบอัตโนมัติอย่างไร 

ดัชนีความเสี่ยงด้านระบบอัตโนมัติ (automation risk index) หรือ ARI จะตรวจสอบจำนวนข้อกำหนดในรายละเอียดงานที่หุ่นยนต์สามารถทำได้เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์ จัดอันดับความสำคัญของทักษะเหล่านี้ และประเมินความสามารถในปัจจุบันของหุ่นยนต์ที่จะทำมัน 

ในการจัดอันดับงาน 967 ตำแหน่งโดย ARI ที่ระบุไว้ในฐานข้อมูล Occupation Information Network นักฟิสิกส์ได้รับการพิจารณาให้เป็นอาชีพที่ปลอดภัยที่สุดจากระบบอัตโนมัติ ในขณะที่พบว่าคนงานบรรจุหีบห่อ และคนงานในโรงฆ่าสัตว์มีความเสี่ยงสูงสุด

นักวิจัยยังได้จัดทำดัชนีความยืดหยุ่นนี้เป็นเว็บไซต์เพื่อผู้ใช้สามารถค้นหาเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านระบบอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน และงานที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ซึ่งใครที่สนใจสามารถทดลองเข้าไปค้นหาดูได้จากลิงก์นี้ครับ https://lis2.epfl.ch/resiliencetorobots/#/

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: Silicon Republic

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565

บอทสามารถตรวจพบผู้ใช้ Twitter ที่มีความซึมเศร้า 9 จาก 10 ราย

twitter-bot-depression
ภาพจาก Brunel University London (U.K.)

อัลกอริทึมที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Brunel University London และ University of Leicester ในสหราชอาณาจักร สามารถตรวจสอบสภาพจิตใจของบุคคลได้โดยการแยกและวิเคราะห์จุดข้อมูล 38 จุดจากโปรไฟล์ Twitter สาธารณะของพวกเขา

นักวิจัยได้ฝึกอบรมบอทบนฐานข้อมูลสองฐานข้อมูลที่มีประวัติการทวีตของผู้ใช้หลายพันคน และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพจิตของพวกเขา โดยไม่รวมเอาผู้ใช้ที่มีการทวีตน้อยกว่า 5 ทวีต จากนั้นจึงแก้ไขคำที่สะกดผิดและตัวย่อโดยใช้ซอฟต์แวร์ภาษาธรรมชาติ

อัลกอริทึมระบุภาวะซึมเศร้าด้วยความแม่นยำ 88.39% ในชุดข้อมูลหนึ่ง และ 70.69% ในอีกชุดหนึ่ง Abdul Sadka แห่ง Brunel กล่าวว่า "แม้จะไม่ได้แม่นยำ 100% แต่ฉันไม่คิดว่าโซลูชันการเรียนรู้ของเครื่องใด ๆ จะสามารถบรรลุความน่าเชื่อถือได้ที่ระดับ 100% อย่างไรก็ตาม ยิ่งคุณเข้าใกล้ตัวเลข 90 เปอร์เซ็นต์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีเท่านั้น”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Brunel University London (U.K.)

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2565

AI กำลังอธิบายตัวเองให้คนฟัง และดูเหมือนจะได้ผล

linkedin-microsoft-logos
ภาพจาก Reuters

บริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่กำลังลงทุนอย่างหนักในด้านปัญญาประดิษฐ์ที่อธิบายได้ (eXplainable artificial intelligence) หรือ XAI เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปรณรงค์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสจากการตัดสินใจโดยอัตโนมัติ

ผู้สนับสนุน XAI กล่าวว่าได้ช่วยให้ AI มีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพและการขาย Microsoft เห็นว่ารายรับจากการสมัครสมาชิก LinkedIn เพิ่มขึ้น 8% หลังจากให้บริการซอฟต์แวร์ CrystalCandle แก่ทีมขาย ซึ่งระบุลูกค้าที่มีความเสี่ยงที่จะยกเลิกสมาชิกพร้อมทั้งอธิบายเหตุผล ส่วนผู้ที่ยังคลางแคลงบอกว่าคำอธิบายของ AI ว่าทำไมมันถึงทำนายได้ยังมีความไม่น่าเชื่อถืออยู่มาก 

LinkedIn กล่าวว่าเราไม่สามารถตัดสินความครบถ้วนสมบูรณ์ของอัลกอริธึมได้หากไม่เข้าใจเหตุผล ในขณะที่เครื่องมือเช่น CrystalCandle สามารถช่วยให้แพทย์เรียนรู้ว่าเพราะอะไร AI จึงคาดการณ์ว่าบางคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2565

การท่องเน็ตที่ให้ความรู้สึกทันทีทันใด

microwave-tower
ภาพจาก  Duke Today

นักวิจัยจาก   Duke University, University of Illinois, Yale University, และ ETH Zurich ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้พัฒนาการออกแบบสำหรับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วแสงใน 120 เมืองในสหรัฐอเมริกา แทนที่จะใช้สายเคเบิลใยแก้วนำแสงที่ฝังไว้คดเคี้ยวไปมาตามพิ้นดิน เครือข่ายจะนำข้อมูลแบบไร้สายผ่านการส่งสัญญาณคลื่นไมโครเวฟ เนื่องจากสัญญาณเดินทางในอากาศเร็วกว่าแสงที่เดินทางผ่านไฟเบอร์ 50%

วิธีการนี้ใช้เครือข่ายที่สร้างขึ้นเองตั้งแต่ต้นปี 2010 ซึ่งช่วยลดเวลาในการส่งข้อมูลระหว่าง Chicago Mercantile Exchange และตลาดหลักทรัพย์ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้ภายในเสี้ยววินาที นักวิจัยประเมินว่าการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่าย 81 เซนต์ต่อกิกะไบต์ และลดความล่าช้าลงอยู่ใน 5% ของความเร็วที่แสงทำได้ 

อย่างไรก็ตามนักวิจัยบอกว่าไม่ใช่ว่าจะสามารถเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตมาใช้แบบนี้ได้ทั้งหมด เพราะเอาจริง ๆ แล้วปริมาณข้อมูลในการรับส่งด้วยวิธีนี้ยังเทียบกับวิธีเดิมไม่ได้ มันเหมาะกับงานที่ต้องการการตอบสนองอย่างทันใดเช่นการที่นักดนตรีอาจจะอยู่ห่างกันเป็นร้อยไมล์ แต่เมื่อเล่นเพลงด้วยกันแล้ว เหมือนกับนั่งเล่นอยู่ในห้องเดียวกัน  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Duke Today



วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565

ข้อมูลจากเพื่อน และคนที่ไม่รู้จักสามารถบอกได้ว่าเราอยู่ที่ไหน

location-tracking
ภาพจาก Futurity.org

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติระบุว่าข้อมูลจากเพื่อนและคนแปลกหน้าสามารถใช้ทำนายตำแหน่งของใครบางคนได้ แม้ว่าฟังก์ชันการติดตามข้อมูลบนอุปกรณ์ส่วนตัวของพวกเขาจะถูกปิดไว้ก็ตาม 

Gourab Ghoshal University of Rochester และเพื่อนร่วมงานได้วิเคราะห์ชุดข้อมูลเครือข่ายโซเชียลที่มีข้อมูลตำแหน่งที่อยู่สามชุดที่รวบรวมการเช็คอินนับล้านครั้งบนแอปพลิเคชัน เช่น Brightkite, Facebook และ Foursquare และบันทึกของข้อมูลการโทรมากกว่า 22 ล้านครั้งโดยผู้ใช้ที่ไม่ระบุชื่อเกือบ 36,000 ราย 

ทีมงานใช้ทฤษฎีสารสนเทศและการวัดเอนโทรปี (entropy) เพื่อเรียนรู้ว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลนั้น สามารถรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการประเมินความเคลื่อนไหวของบุคคคลนั้นได้มากถึง 95%  แม้แต่ข้อมูลจากคนแปลกหน้าก็สามารถนำมาใช้ทำนายการเคลื่อนไหวของบุคคลได้ถึง 85%

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Futurity.org

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

แอปประชุมทางไกลอาจยังฟังเสียงเราอยู่ถึงแม้เราจะปิดไมค์แล้ว

Favaz-And-Yucheng
Fawaz and Yucheng ภาพจาก  University of Wisconsin-Madison News

Kassem Fawaz และ Yucheng Yang แห่ง University of Wisconsin-Madison พบว่าแอปพลิเคชั่นการประชุมผ่านวิดีโอจำนวนมากยังคงฟังเสียงของเราอยู่เมื่อมีเราปิดไมโครโฟน นักวิจัยได้ทดสอบแอปเหล่านั้นบนระบบปฏิบัติการหลายตัว และได้เรียนรู้ว่าโดยส่วนใหญ่ "เมื่อคุณปิดเสียงตัวเอง แอปเหล่านี้ไม่ได้หยุดเข้าถึงไมโครโฟน" Fawaz กล่าว 

Fawaz ร่วมกับ Yang และเพื่อนร่วมงานที่ Loyola University Chicago ติดตามเสียงในแอปการประชุมทางวิดีโอยอดนิยม และพบว่าพวกมันทั้งหมดเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นครั้งคราวขณะปิดเสียง แอพหนึ่งยังคงรวบรวมและส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ในอัตราปกติแม้จะปิดเสียงไมโครโฟน 

นักวิจัยได้ฝึกอบรมตัวแยกประเภทกิจกรรมโดยใช้เสียงจากวิดีโอ YouTube ซึ่งแสดงถึงกิจกรรมพื้นหลังทั่วไป 6 กิจกรรมเพื่อระบุกิจกรรมพื้นหลังจากแอปการประชุมทางวิดีโอที่ปิดเสียง โดยคะแนนความแม่นยำที่ได้อยู่ที่ 82% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Wisconsin-Madison News


วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565

นักวิจัยสามารถระบุคนที่มีอาการเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจได้อย่างแม่นยำโดยดูจากข้อความเท่านั้น

man-with-tablet
ภาพจาก Folio (University of Alberta, Canada)

ตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ที่ได้รับการฝึกฝนโดยนักวิจัยจาก University of Alberta (U of A) ของแคนาดา เพื่อระบุผู้ที่มีความผิดปกติจากความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder) หรือ PTSD โดยการวิเคราะห์ข้อความที่พวกเขาเขียน

Jeff Sawalha แห่ง U of A และเพื่อนร่วมงานวิเคราะห์ข้อความในชุดข้อมูลที่รวบรวมไว้ที่ University of Southern California จากการสัมภาษณ์ 250 ครั้งกับตัวละครที่สร้างขึ้นระหว่างการประชุมทางวิดีโอกับคน 188 คนที่ไม่เป็น PTSD และ 87 คนที่เป็น PTSD 

นักวิจัยสามารถระบุบุคคลที่มี PTSD ได้อย่างแม่นยำถึง 80% จากคะแนนที่ระบุความถี่ของคำพูดของพวกเขาโดยดูคำพูดที่มีความรู้สึกเป็นกลางหรือเป็นลบเป็นหลัก Sawalha กล่าวว่า "การมีเครื่องมือเช่นนี้ที่ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ อาจเป็นประโยชน์กับโลกหลังการเกิดโรคระบาด"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Folio (University of Alberta, Canada)

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2565

การแฮกที่เรียกว่า Brokenwire อาจขัดขวางการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

car-ev-charger
Photo by Ernest Ojeh on Unsplash

นักวิจัยจาก University of Oxford ของสหราชอาณาจักรและ Armasuisse S+T ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุวิธีการโจมตีระบบ Combined Charging System (CCS) และขัดขวางช่วงการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เทคนิค Brokenwire ขัดขวางการสื่อสารการควบคุมระหว่างรถกับที่ชาร์จ ทำให้แฮกเกอร์สามารถหยุดการชาร์จแบบไร้สายได้จากระยะไกลถึง 151 ฟุต (46 เมตร)
นักวิจัยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการหาประโยชน์จากช่องโหว่ดังกล่าว แต่ระบุว่าการโจมตีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้องค์ประกอบเหล่านี้ร่วมกัน ซึ่งก็คือวิทยุที่ใช้องค์ประกอบเป็นซอฟต์แวร์ (software-define radio) ที่หาซื้อได้จากร้านค้า เครื่องขยายเสียง และเสาอากาศไดโพล (dipole antenna)  

นักวิจัยกล่าวว่า "การใช้ PLC [power-line communications] สำหรับการสื่อสารในการชาร์จเป็นข้อบกพร่องด้านการออกแบบที่ร้ายแรง ซึ่งทำให้ยานพาหนะหลายล้านคัน ซึ่งบางคันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ มีช่องโหว่สำหรับการจู่โจม"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hacker News

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565

เมืองต่าง ๆ ใช้ฝาแฝดดิจิทัลอย่าง SimCity เพื่อช่วยสร้างนโยบาย

city-plan
ภาพจาก Bloomberg CityLab

เมืองต่าง ๆ เช่น ออร์แลนโด ฟลอริดา และสิงคโปร์ใช้ฝาแฝดดิจิทัลในการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของตนเอง เพื่อจำลองผลกระทบของนโยบายหรือโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ที่อาจให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในโลกจริง

ตัวอย่างเช่น  Orlando Economic Partnership และบริษัทเกม Unity ได้พัฒนาตัวแบบสามมิติ (3D) ของพื้นที่ในเมืองนำไปแสดงต่อนักลงทุนทีมีศักยภาพ เพื่อพยายามขยายพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี

ในขณะเดียวกัน โมเดล Virtual Singapore รวมภาพระดับถนนมากกว่า 3 ล้านภาพและภาพถ่ายทางอากาศ 160,000 ภาพ รวมถึงจุดข้อมูล 3 มิติอีกนับพันล้านจุด ซึ่งกินข้อมูลดิบเกินกว่า 100 เทราไบต์ Victor Khoo แห่งหน่วยงาน Singapore Land Authority กล่าวว่าแบบจำลองนี้มีความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบแต่ละอัน ทำให้ง่ายต่อการทดสอบการตอบสนองต่อสภาวะต่าง ๆ ในการจำลองแบบต่าง ๆ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg CityLab

 

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

เงินเดือนของวิศวกรซอฟต์แวร์ในปี 2022

SE-Salary
ภาพจาก  IEEE Spectrum

รายงาน State of Software Engineers ปี 2022 ของ Hired ซึ่งเป็น ตลาดการจ้างงานออนไลน์  ประเมินทักษะที่ต้องการมากที่สุดและค่าจ้างที่ได้ โดยวิเคราะห์การโต้ตอบประมาณ 366,000 รายการระหว่างบริษัทและวิศวกรซอฟต์แวร์ และจากการสำรวจวิศวกรอีกกว่า 2,000 คน

Hired พบว่าจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้วทำให้ความต้องการวิศวกรความมั่นคง (security engineer) เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เงินเดือนเฉลี่ยของพวกเขาพุ่งขึ้น 7.59% เทียบกับปี 2020 วิศวกรที่มีทักษะการเขียนโปรแกรม Go ถูกเรียกสัมภาษณ์ 1.8 เท่าของวิศวกรซอฟต์แวร์ทั่วไป ในขณะที่ Python และ JavaScript เป็นภาษาที่พวกเขาชื่นชอบ โดยผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าเพราะมีไลบรารีและแพ็คเกจที่มีประโยชน์และได้รับการดูแลอย่างดี

เงินเดือนเฉลี่ยสำหรับวิศวกรซอฟต์แวร์ในซิลิคอนแวลลีย์เพิ่มขึ้น 2% ในปี 2021 เป็น 170,000 ดอลลาร์ต่อปี และเงินเดือนสำหรับวิศวกรที่ทำงานจากระยะไกลที่ Bay Area เพิ่มขึ้นเป็น 168,000 ดอลลาร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  IEEE Spectrum

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2565

อัลกอริทึมสามารถระบุบุคคลได้จากจังหวะการเต้นของหัวใจ

heart-beat
ภาพจาก Universidad Carlos III de Madrid (Spain)

นักวิจัยจาก Universidad Carlos III de Madrid (UC3M) ของสเปนและ Shahid Rajaee Teacher Training University ของอิหร่านกำลังพัฒนาอัลกอริธึมที่สามารถระบุตัวบุคคลจากจังหวะการเต้นของหัวใจ Carmen Cámara แห่ง UC3M กล่าวว่านักวิจัยได้วิเคราะห์การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ราวกับว่ามันเป็นคลื่นเสียง โดยใช้คุณสมบัติทางดนตรีของไดนามิก จังหวะ เสียงต่ำ ระดับเสียง และโทนเสียง 

Pedro Peris-López จาก UC3M บอกว่า ผลที่ได้คือการผสานพารามิเตอร์ที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละคน โดยมีอัตราแม่นยำที่ 96.6% โดยวิธีนี้ให้มาตรวัดทางชีวภาพแบบสากล (universal biometric measure)   และยังเสริมว่า "ทุกวันนี้ มีสร้อยข้อมือและนาฬิกาอัจฉริยะที่บันทึก ECG อยู่แล้ว ซึ่งก็เพียงพอกับการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ใช้อัลกอริธึมการระบุตัวตนของเรา"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Universidad Carlos III de Madrid (Spain)

วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2565

FBI บอกว่าสามารถขัดขวางแฮกเกอร์รัสเซียได้

FBI-Building
ภาพจาก Reuters

เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่า FBI ได้เข้าควบคุมเราเตอร์และอุปกรณ์ไฟร์วอลล์หลายพันเครื่องจากแฮ็กเกอร์ชาวรัสเซีย โดยกล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการพยายามป้องกันไม่ให้แฮ็กเกอร์เชื่อมโยงอุปกรณ์เข้ากับบ็อตเน็ต ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถโจมตีเซิร์ฟเวอร์อื่นโดยสร้างทราฟฟิกปลอมได้

Merrick Garland อัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "โชคดีที่เราสามารถทำลายบ็อตเน็ตนี้ได้ก่อนที่จะใช้งานได้" บ็อตเน็ตถูกควบคุมโดยมัลแวร์ Cyclops Blink ซึ่งหน่วยงานป้องกันภัยทางอินเทอร์เน็ตของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรระบุว่าเป็น Sandworm ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองทางทหารของรัสเซีย 

Chris Wray ผู้อำนวยการ FBI กล่าวว่า "เราลบมัลแวร์ออกจากอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจขนาดเล็กหลายพันแห่งเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเครือข่ายของโลก เราได้ปิดประตูที่รัสเซียเคยใช้”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters