แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ #ศรัณย์วันศุกร์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ #ศรัณย์วันศุกร์ แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เรื่องที่น่ากังวลในการพัฒนาโปรแกรม

ศรัณย์วันศุกร์วันนี้ขอพูดถึงเรื่องในวงการของตัวเองสักวันแล้วกันนะครับ ต้องขอโทษด้วยถ้าผู้อ่านที่อาจติดตามบล็อกอยู่แต่ไม่ได้อยู่ในฟิลด์นี้อาจอ่านไม่เข้าใจ วันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมครับ คือผมได้มีโอกาสอ่านบล็อกบล็อกหนึ่งคือ Old Code Gets Younger Every Year ซึ่งพูดถึงเรื่องของการพัฒนาโปรแกรม และผมค่อนข้างเห็นด้วย ก็เลยเอามาเขียนสรุปให้ฟังในบล็อกนี้ครับ

จากบล็อกที่ผมเข้าไปอ่าน ผมเข้าใจว่าผู้เขียนน่าจะเป็นคนที่ทำงานอยู่กับภาษาเขียนโปรแกรมที่จัดว่าเก่ามาก ๆ ภาษาหนึ่งคือ COBOL ครับ ซึ่งภาษานี้ยังมีการใช้งานอยู่นะครับ เพราะระบบงานที่ใช้กันมานานแล้ว งานพวกที่ต้องประมวลผลข้อมูล จัดรูปแบบข้อมูล โปรแกรมทางธุรกิจที่ทำงานอยู่บนเครื่องเมนเฟรม ก็เขียนกันมาด้วยภาษานี้ แต่ด้วยความโบราณของมัน ทำให้มันไม่รองรับแนวคิดของการเขียนโปรแกรมสมัยใหม่ และก็แทบจะไม่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยกันอีกแล้ว และก็มีการคาดกันว่ามันน่าจะล้มตายไป แต่ก็ไม่นะครับ เพราะอย่างที่บอกมันยังใช้อยู่ในงานที่ผมกล่าวมาแล้ว และผู้เขียนบล็อกก็คงจะโดนแซะโดนแซวว่าทำงานกับภาษาโบราณเป็นคนแก่อะไรประมาณนี้ 

แต่สิ่งที่ผู้เขียนพูดถึงก็คือภาษา COBOL จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่ตาย ทั้ง ๆ  ที่มีการสำรวจในปี 2006 ว่าอายุเฉลี่ยของนักเขียนโปรแกรมภาษา COBOL อยู่ที่ 55 ปี และก็มีความกังวลว่าเมื่อคนเหล่านี้เกษียณจะเกิดอะไรขึ้น แต่มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น และจากการสำรวจในปี 2019 อายุเฉลี่ยกลับมาอยู่ที่ 50 ปี และจริง ๆ อายุเฉลี่ยของนักเขียนโปรแกรมภาษา COBOL ค่อนข้างคงที่แบบนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เหตุผลก็คือ ในตอนแรกคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้เรียนหรือใช้ภาษา COBOL แต่พอเป็นนักเขียนโปรแกรมนาน ๆ เข้า ก็มีประสบการณ์มากพอที่จะย้ายเข้ามาทำงานกับภาษา COBOL ในภายหลังได้ไม่ยาก สิ่งที่ผู้เขียนพูดอีกอย่างเกี่ยวกับ COBOL ก็คือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับงานคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มักจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับภาษา COBOL 

ผู้เขียนบอกว่าแทนที่จะมาแซะกันเรื่อง COBOL เราควรจะมาสนใจเรื่องพวกนี้กันดีไหม (ซึ่งผมค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ) ปัญหาคือการขึ้นต่อกัน  (dependency)  ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของภาษาเขียนโปรแกรมซึ่งมีการปรับปรุงเวอร์ชันไปขนานใหญ่แล้ว แต่นักพัฒนายังติดอยู่กับเวอร์ชันเก่าของภาษา ตัวอย่างก็คือภาษา Java ซึ่งตอนนี้ไปที่เวอร์ชัน 14 แล้ว แต่ 64% ของนักพัฒนายังใช้ Java 8 อยู่ ภาษา Java มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ตั้งแต่เวอร์ชัน 9 นั่นคือถ้าจะเอาจริง ๆ โปรแกรมเดิมที่เขียนด้วยเวอร์ชัน 8 จะต้องถูกเขียนใหม่เกือบทั้งหมด และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมยังใช้เวอร์ชัน 8 กัน 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือภาษา Python ซึ่งตอนนี้อยู่ในเวอร์ชัน 3 ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน และนักเขียนโปรแกรมหลายคนก็ยังอยู่ในเวอร์ชัน 2 แม้แต่ Mac OS เอง ก็ยังติดตั้ง Python 2.7 มาเป็นดีฟอลต์ให้ เพราะเครื่องมือที่ใช้ภายในของตัว OS ยังใช้ Python 2.7 นอกจากนี้ก็ยังมีโปรแกรมดัง ๆ อีกหลายตัวที่เป็นแบบนี้ 

ปัญหาของทั้ง Java และ Python ที่มีร่วมกันก็คือการขึ้นต่อกันเพราะภาษาพวกนี้ มักจะมีการใช้คลังโปรแกรม (library) พอตัวภาษาถูกปรับปรุง แต่ตัวคลังโปรแกรมไม่ได้ปรับปรุงตาม ก็ทำให้นักเขียนโปรแกรมที่ใช้คลังโปรแกรมเหล่านั้น ถ้าจะปรับก็ต้องเขียนคลังโปรแกรมขึ้นมาเอง ซึ่งก็ไม่มีใครอยากทำ

นอกจากนี้พอมาถึงยุคของเฟรมเวอร์กก็ทำให้การขึ้นต่อกันหนักขึ้นไปอีก ผู้เขียนยกตัวอย่างของ node.js ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เราสามารถเขียนโปรแกรมภาษา JavaScript ซึ่งทำงานบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ได้ และด้วยความที่ภาษา JavaScript อาจถูกออกแบบมาไม่ดีนัก (ผมนี่ไม่ชอบเลยภาษานี้) ปัญหาคือมันแทบจะไม่มีคลังโปรแกรมมาตรฐานที่ควรมากับภาษาโปรแกรมเหมือนที่ภาษาอื่นมี ดังนั้นมีแนวคิดของ NPM เกิดขึ้น เพื่อให้นักเขียนโปรแกรมไปแชร์ไลบรารีที่ตัวเองเขียนขึ้นได้โดยง่าย นักพัฒนาซึ่งไม่อยากเขียนคลังโปรแกรมเอง ก็ใช้ NPM เพื่อติดตั้งคลังโปรแกรมเหล่านั้น ลงบนเครื่องของนักพัฒนา ดังนั้นเครื่องของนักพัฒนาแต่ละคนก็อาจติดตั้งคลังโปรแกรมที่ทำงานแบบเดียวกันแต่เป็นคนละตัวกัน คลังโปรแกรมบางตัวก็ไม่ได้ปรับปรุงมาเป็นปีแล้ว ก็ยังถูกดาวน์โหลดไปติดตั้งกัน จะเห็นว่ามีการขึ้นแก่กันอย่างมาก ลองจินตนาการว่าถ้า JavaScript มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เหมือน Java และ Python มันก็คงจะให้ผลคล้าย ๆ กัน คือคงมีคนไม่ปรับปรุงโปรแกรมเป็นจำนวนมาก 

ผู้เขียนสรุปว่าสิ่งที่เราควรจะกังวลกันคงไม่ใช่อายุของคนเขียนโปรแกรม ที่ไปเขียนโปรแกรมด้วยภาษาโปรแกรมโบราณ ภาษาอย่าง COBOL ทำงานของ COBOL ได้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราควรกังวลกันคือเรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เรายึดติดอยู่กับโค้ดของภาษาโปรแกรมที่หมดอายุไปแล้วต่างหาก 

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปเรื่อง Siri ของ Apple กับ นักวิจัยไทยกันอีกสักครั้ง

วันนี้ขอมาสรุปเรื่องคดีที่ Apple ถูกฟ้องเรื่องละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งมีนักวิจัยไทยคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันอีกสักครั้งแล้วกันนะครับ ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้สองบล็อก บล็อกแรกเล่าข่าวตอนที่มีการเริ่มฟ้องร้องกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน่าจะแปดปีมาแล้ว และบล็อกที่สองสรุปเรื่องราวว่า Apple ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตร 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาล บล็อกนี้เขียนเมื่อสี่ปีที่แล้ว และคิดว่าน่าจะจบไปแล้ว แต่อยู่ ๆ เมื่อวานนี้ผมพบว่ามียอดคนเข้าไปอ่านบล็อกแรกของผมเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ก็เลยแปลกใจ จนได้เห็นว่ามีการเอาข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งมาแชร์ใน Facebook ว่า Apple แพ้คดี Siri ที่ศาลสูงสหรัฐและต้องจ่าย 25 ล้านเหรียญ และก็มีการเอารูป รศ.ดร.วีระ บุญจริง ในฐานะที่เป็นนักวิจัยมาประกอบด้วย และก็แน่นอนมีการคอมเมนต์มากมาย บางคนก็เพิ่งทราบเรื่องนี้ บางคนก็อาจรู้มาบ้างแล้ว บางคนอ่านข่าวอาจคิดว่าอ.วีระเป็นคนไปฟ้อง Apple และได้เงิน 25 ล้านเหรียญ และบางคนก็เอาไปโยงว่ามันชื่อ Siri เพราะคนไทยเป็นคนคิด ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ผมก็เลยจะมาสรุปให้เข้าใจกันซะอีกรอบหนึ่งแล้วกัน

มาเริ่มกันก่อนนะครับ อ.วีระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา น่าจะประมาณปี คศ. 2000 ถ้าจำไม่ผิด โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยของอ.วีระคือ Natural Language Interface นั้นได้ถูกจดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งถ้าใครอยากดูตัวสิทธิบัตรก็ดูได้จากลิงก์ในบล็อกแรกของผมนะครับ และอาจารย์ก็กลับมาทำงานที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ตามเดิมหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็ทำหน้าที่สอนและวิจัยไปตามปกติ ไม่ได้ไปด้อม ๆ มอง ๆ หาวิธีการที่จะฟ้องร้อง Apple อะไร ตอนที่ Apple ออก Siri มา อาจารย์ก็ไม่ได้คิดว่า Apple จะไปละเมิดสิทธิบัตรอะไร

คราวนี้เมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ผ่านมาจากที่อาจารย์จบมาประมาณ 12 ปี อ.วีระซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมมานานแล้ว ได้ส่งลิงก์ข่าวมาให้ผม บอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาป.เอกของอ.วีระ ส่งมาให้ ซึ่งมันก็คือข่าวที่บริษัท Dynamic Advances ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำมาหากินโดยไปขอรับใบอนุญาตการใช้งานสิทธิบัตรด้านงานวิจัย และก็เอาไปฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ กำลังฟ้อง Apple จากการละเมิดสิทธิบัตร Natural Language Interface ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วีระก็ดูงง ๆ กับข่าวนี้ พอผมเห็นข่าว ผมซึ่งเขียนบล็อกอยู่แล้ว ก็เลยเขียนเรื่องนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่แรกหรือเปล่าที่เขียนเรื่องนี้ จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบล็อกก็คือ เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ลูกศิษย์ และเพื่อน ๆ ได้อ่านกัน  ยิ่งเรื่องนี้มีเพื่อนตัวเองเป็นตัวละคร และตัวเองก็มีส่วนร่วมนิดหน่อยในงานวิจัยนี้ ด้วยการส่งตัวอย่างคำถามที่เป็นภาษาพูดให้อาจารย์วีระไปทดสอบระบบนี้ ก็เลยเขียนบล็อกโดยรายงานข่าว แล้วก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งผมและอาจารย์วีระกำลังเรียนอยู่ที่อเมริกา แต่อยู่คนละรัฐกัน และก็ไม่มีใครคิดว่างานวิจัยนั้นมันจะมาถึงขั้นนี้ 

หลังจากผมเขียนบล็อกแรกเสร็จ ก็มีลูกศิษย์อาจารย์วีระ และเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมคือ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้เอาเรื่องจากบล็อกผมไปขยายความในคอลัมน์ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าอาจารย์วีระปวดหัวมาก เพราะมีนักข่าวพยายามจะขอสัมภาษณ์มากมาย ซึ่งอาจารย์วีระ เป็นคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบตกเป็นข่าว อาจารย์ชอบใช้ชีวิตเงียบ ๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทั้งหมด เอาจริง ๆ ตอนนนั้นผมก็รู้สึกไม่สบายใจนะ เพราะเหมือนผมเป็นคนต้นเรื่องเอามาเขียนบล็อก แต่คิดอีกทีถ้าผมไม่เขียน ก็ต้องมีคนอื่นเขียนอยู่ดี  

หลังจากนั้นคดีก็ดำเนินไป มีช่วงหนึ่งอาจารย์วีระก็ต้องเดินทางไปให้การไต่สวนที่ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นพยานในคดี ซึ่งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลของคดีก็คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อยุติคดี ไม่ต้องให้คดีไปขึ้นสู่ศาล ผมก็เลยมาเขียนบล็อกที่สอง และคิดว่าเรื่องน่าจะจบไปแล้ว

คราวนี้มาดูความที่น่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากข่าวที่แชร์กัน หนึ่งเลยที่ผมค้นล่าสุด ไม่ได้มีข่าวเกี่ยวกับการตัดสินที่ศาลสูง ดังนั้นสิ่งที่ข่าวเอามาแชร์จึงน่าจะเป็นเรื่องที่จบไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ 

สอง คนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป ไม่ใช่อาจารย์วีระ แต่เป็นบริษัท (Dynamic Advances) ที่ทำเรื่องฟ้อง ซึ่งเงินที่ได้บริษัทก็จะแบ่งให้มหาวิทยาลัย (RPI) ส่วนหนึ่งตามข้อตกลง จากนั้นเงินที่มหาวิทยาลัยได้ จึงจะมาแบ่งให้อาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาที่เป็นคนทำงานวิจัย (อ.วีระ) ตามข้อตกลง ดังนั้นสรุปอาจารย์วีระ ไม่ได้เป็นคนฟ้อง Apple และก็ไม่ใช่ได้เงิน 24.9 ล้านเหรียญ

สาม ชื่อ Siri ไม่ได้มาจากการที่คนพัฒนาเป็นคนไทย ตอนนั้น Apple ยังไม่รู้เลยว่าจะถูกฟ้อง ยังอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าส่วนหลักส่วนหนึ่งของโปรแกรมมาจากคนไทย มีคนเคยวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากคำเต็มที่ว่า Speech Interpretation and Recognition Interface ซึ่ง Apple ก็ไม่เคยออกมายอมรับคำเต็มนี้ และมีบางคนบอกว่าถ้าเป็นตัวย่อจริง Apple น่าจะใช้ SIRI เป็นตัวใหญ่ทั้งหมด แต่ Apple เลือกใช้ Siri ซึ่งจากบล็อกนี้ เขาวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากภาษานอร์เวย์ ซึ่งมีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า "beautiful woman who leads you to victory" หรือถ้าจะแปลเป็นไทยก็คือ "สาวงามผู้จะนำทางคุณไปสู่ชัยชนะ" ซึ่งผู้ร่วมพัฒนา Siri เป็นคนนอร์เวย์ และจะตั้งขื่อลูกสาวตัวเองว่า Siri แต่ปรากฎว่าได้ลูกชาย ก็เลยเอามาเป็นชื่อแอปอย่างเดียว

สี่ อาจารย์วีระไม่ใช่คนพัฒนา Siri แต่ส่วนหนึ่งของ Siri อยู่บนฐานงานวิจัยคือ Natural Language Interface ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยวิธีการนี้อาจารย์วีระเป็นผู้คิดค้นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอกของอ.วีระ และต้องบอกว่าส่วนของงานนี้มันไม่ได้ใช้กับแค่ Siri ต่อไปสมมติถ้าได้ข่าวว่ามีการฟ้องร้อง Alexa ของ Amazon และมีชื่ออาจารย์วีระเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ก็อย่าได้ประหลาดใจ และอย่าไปคิดว่าอาจารย์วีระเป็นคนพัฒนา Alexa อีก กลัวเหลือเกินว่า ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้จะไปเข้าใจว่าอาจารย์วีระมีภรรยาเป็นชาวต่างชาติ เลยตั้งชื่อตามลูกสาวว่า Alexa 

ห้า อาจารย์วีระในตอนนี้ไม่ได้สังกัดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังแล้ว อาจารย์ย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง อยู่หลายปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และได้รับการต่ออายุให้เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปประสบการณ์สอนออนไลน์และสิ่งที่น่าจะทำต่อไป

สัปดาห์นี้ผมเพิงจบการสอนออนไลน์ของภาคการศึกษาที่ 2/2562 ไปครับ อย่างที่เราทราบกันว่ามันมีเรื่อง COVID 19 เกิดขึ้น แล้วก็เกิดการระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประทศไทยด้วย โดยสถานการณ์ของประทเศไทยเริ่มมีปัญหาหนักในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยลุมพินีทำให้สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศต้องเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์ทันทีไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ผมก็เลยอยากจะสรุปประสบการณ์ของตัวเองและข้อเสนอแนะเอาไว้ในบล็อกนี้สักนิดนะครับ 

ต้องบอกว่าผมใช้วิธีสอนออนไลน์หลายอย่างมากครับ คือบางวิชาที่มีวีดีโออยู่แล้ว ผมก็ใช้วิธีให้ดูวีดีโอมาก่อน แล้วก็มาทำโจทย์ร่วมกันแบบออนไลน์ตามเวลาเรียนปกติ วิชาที่ไม่มีวีดีโอก็บรรยายสดผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดก็คือ Google Meet และวิชาไหนที่มี Lab คอมพิวเตอร์ก็มีใช้ Zoom บ้าง Google Meet บ้าง ให้นักศึกษาทำโจทย์ ใครทำเสร็จก็ให้แชร์หน้าจอมาให้ดู แล้วก็อธิบายโปรแกรมให้ฟัง มีการ Quiz เพื่อวัดความรู้ผ่านทางโปรแกรมอย่าง Socrative หรือ Google Form ใช้ Google Classroom ให้ทำแบบฝึกหัดแล้วอัดวีดีโอส่ง มีการสอบปฎิบัติโดยให้ทำแล้วอัดวีดีโอขณะที่ทำ แล้วส่งทั้งโค้ดและวีดีโอขึ้น Google Classroom สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือจัดสอบออนไลน์ แล้วให้นักศึกษาเปิดกล้องแล้วไปคุมสอบ อย่างที่หลายที่ทำกัน 

ซึ่งขอสรุปว่าวิธีที่ผมไม่ชอบที่สุด และสุดท้ายก็ต้องเลิกไปก็คือการสอนสด เพราะมีปัญหาหลายอย่าง อันแรกคือเรื่องความสนใจของนักศึกษา ซึ่งตามปกติเรียนในห้องก็สมาธิไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งเรียนแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นการสอนนี่ยิ่งเหมือนเป็นทางเดียวหนักเข้าไปอีก เพราะตามปกติเด็กไทยเรียนในห้องก็แทบจะไม่อยากตอบอะไรอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีส่วนร่วมใหญ่ ขนาดผมให้ chat มา ไม่ต้องพูดถาม/ตอบ ยังแทบไม่มีใครทำ นอกจากบรรยากาศแล้ว ยังเป็นเรื่องความพร้อมของนักศึกษาทั้งทางด้านวินัยตัวเอง ขนาดเรียนออนไลน์ ผมนัดตามเวลาเรียน ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรจะมีใครมาสายก็ยังมีคนที่เข้ามาร่วมชั้นเรียนสาย ไม่ต่างจากเวลามาเรียนในห้องปกติ ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ของนักศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของบ้าน คุณภาพของเครือข่าย ความพร้อมของอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามาเรียนตามปกติ ก็มาใช้ทุกอย่างของมหาวิทยาลัย แต่พอใช้ที่บ้านเครื่องที่มีอยู่อาจไม่พร้อมเท่ามหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนบ่นว่าได้ยินเสียงขาด ๆ หาย ๆ ซึ่งในที่สุดผมก็ต้องเลิกใช้วิธีนี้ และไปใช้การอัดวีดีโอให้ไปดูมาล่วงหน้า ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก อย่างเช่นผมไม่มีเวลาตรวจงานที่มอบหมายให้นักศึกษาได้ทันเวลา ซึ่งจริง ๆ ควรตรวจสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะได้ให้คำแนะนำต่องานที่นักศึกษาส่งเข้ามา ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าทำไม่ได้เลย เพราะการทำวีดีโอมันค่อนข้างใช้เวลา และผมก็สอนเยอะมาก เทอมนี้สอน 7 วิชา มีวีดีโออยู่ 4 วิชา ซึ่งก็ต้องปรับปรุง และยังมีวิชาที่ไม่มีดีโอเลย ซึ่งการทำวีดีโอนี่ใช้เวลามากครับ ผมเลยไม่มีเวลาไปตรวจงานได้

และทุกวิธีก็มีปัญหา บางปัญหาก็เกิดจากตัวนักศึกษาเอง บางครั้งก็เกิดจากผมเอง เพราะสั่งงานไปบางครั้งก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะเอาตัวเองเป็นหลักว่าตัวเองรู้แล้ว หรือเด็กเอกคอมน่าจะรู้ น่าจะแก้ปัญหาได้ บางปัญหาก็ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น อย่างทำ quiz อยู่ นักศึกษาบอกว่าไฟดับเพราะที่บ้านฝนตกหนัก บอกให้ไปซ้อมอัดวีดีโอหน้าจอมา บางคนไปซ้อมอัดมาแค่คลิปละ 2-3 นาที พอมาใช้จริง ก็พบว่า โปรแกรมที่ใช้แบบฟรี ๆ มันให้ใช้แค่คลิปละไม่เกิน 10 นาที (นี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของพวกเราที่เป้นผู้ใช้หลายคนนะครับ คือไม่เคยอ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งานเลย) บางคนพออัปคลิปขึ้น Youtube ซึ่งมันต้องให้ยืนยันตัวตนก่อน ถึงจะอัปคลิปยาวเกิน 15 นาทีได้ ก็ไม่อ่านว่าแค่ยืนยันตัวตนก็อัปได้แล้ว แต่กลับไปแบ่งวีดีโอเป็นหลาย ๆ คลิป อะไรแบบนี้เป็นต้น 

โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ที่ผมทำผ่านมามันไม่ใช่การเรียนออนไลน์จริง ๆ การเรียนออนไลน์จริง ๆ  ควรจะเป็นแบบที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามอัธยาศัยของผู้เรียน โดยอาจมีการกำหนดเวลาอย่าง Coursera, MOOC,  และ อีกหลาย Platform ซึ่งผมอยากทำแบบนั้น และตั้งใจจะทำมานานแล้ว แต่ยังหาเวลาทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ และยังหา Platform ที่จะทำแบบนี้ยังไม่ได้ ซึ่งคิดว่าในช่วงปิดเทอมนี้จะพยายามทำให้ได้ ไม่ว่าจะต้องสอนออนไลน์หรือกลับไปสอนตามปกติ ซึ่งผมว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์อื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นผมสามารถให้นักศึกษาไปเรียนด้วยตัวเอง และอาจนัดกันคุยผ่านออนไลน์หรือในห้องสักสองสัปดาห์ครั้ง ครั้งละไม่นานนัก หรือถ้าใครอยากถามเป็นการส่่วนตัวก็จะกำหนดเวลาให้ซักถามไว้ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเรียนได้เร็วก็จบเร็ว โดยถ้าใครเรียนจบได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะให้เกรดอย่างต่ำ C จากนั้นก็อาจมาสอบกันจริง ๆ และ/หรือมานำเสนอโครงการ เพื่อที่จะได้เกรดที่สูงกว่า C ต่อไป 

อีกอย่างที่ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจก็คือส่วนของสถานศึกษาครับ สถานศึกษาหลายแห่งยังเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ก็คือการเปลี่ยนจากสอนในห้องเป็นสอนผ่านเน็ต ดังนั้นก็จะเรียกหาหลักฐานการสอนว่าสอนครบชั่วโมง สอนตามตารางสอนไหม และที่น่าต้องคิดกันต่อไปก็คือ น่าจะสนับสนุนให้อาจารย์สร้างคอร์สออนไลน์กันให้มากขึ้น โดยอาจจะนับให้หนึ่งวิชามีค่าเท่ากับหนึ่งบทความวิชาการ และสามารถนับเพื่อไปขอผลงานทางวิชาการได้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้เรามีคอร์สออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้นักศึกษาเรียนแล้ว ยังเปิดให้คนนอกเรียนได้ ซึ่งจะเปิดเป็นบริการวิชาการแบบฟรี ๆ หรือจะเก็บเงินเพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และแจกประกาศนียบัตรให้กับคนที่เรียนจบ นอกจากนี้อาจเปิดให้คนที่เรียนออนไลน์และได้ใบประกาศนียบัตรนี้ เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็สามารถนำมาแสดง และสามารถรับการสอบ เพื่อให้เรียนจบได้เร็วขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย  


วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

Play Store, App Store นั้นขึ้นอยู่กับประเทศที่เราลงทะเบียนใช้งาน

ทุกคนที่ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือแท็บเล็ตคงทราบว่าเราสามารถโหลดแอปและซื้อแอปจากร้านค้าที่เป็นทางการของค่ายต่าง  ๆ ซึ่งจริง ๆ ก็มีสองค่ายคือถ้าเป็นแอนดรอยด์ก็ใช้ Google Play Store ถ้าเป็น iOS (Apple) ก็คือ App Store และก็อาจจะมี Store ของแบรนด์มือถือเองอย่าง Samsung ก็จะมี Galaxy Store และบางคนก็อาจโหลดแอปจากที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่บน Store ที่เป็นทางการเหล่านี้ แต่อันหลังสุดนี้ผมไม่แนะนำนะครับ เพราะโอกาสที่เราจะได้แอปที่เป็นอันตรายจะสูงขึ้นมาก ขนาดโหลดแอปจาก Store ที่เป็นทางการยังมีแอปหลอกลวงต่าง ๆ หลุดมาให้เราโหลดได้ 

แต่เรื่องที่ผมจะเล่าในวันนี้ไม่เกี่ยวกับ Store หลอกลวงพวกนี้นะครับ แต่จะเล่าเกี่ยวกับ Store ที่เป็นทางการนี่แหละ ซึ่งเรื่องนี้หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่ก็มีหลายคนที่อาจจะยังไม่รู้ และคนที่ไม่รู้หลายคนอาจเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับการขายและให้บริการเกี่ยวกับมือถือ และให้คำแนะนำผิด ๆ กับผู้บริโภคได้ นั่นคือถ้าเราลงชื่อเข้าใช้ แล้วระบุ Store ที่ต่างกันในแต่ละประเทศ เราก็อาจจะหาแอปบางตัวไม่เจอ และไม่สามารถติดตั้งลงบนเครื่องของเราได้ 

เรื่องนี้เกิดกับโทรศัพท์ของน้องสาวผมอีกแล้วครับ ผมเคยเขียนว่าน้องสาวเพิ่งซื้อโทรศัพท์มาเครื่องนึงแล้วก็มีปัญหาที่ผมเข้าไปแก้ไขให้ถ้าใครอยากอ่านก็เข้าจากลิงก์นี้ได้ครับ เมื่อสองสามวันก่อนก็เกิดปัญหาอีกครับ คือเขาโหลดแอปบางตัวไม่ได้ และเขาก็ไปถามร้านมือถือ แต่ไม่ใช่ร้านที่เขาซื้อมา ซึ่งเขาเล่าว่า เจ้าหน้าที่เอามือถือเขาไปดู แล้วก็บอกว่า ที่ลงแอปไม่ได้ เพราะมือถือนี้ไม่ได้ซื้อจากเครื่องที่อนุญาตให้ขายในประเทศไทย เป็นเครื่องนอก เครื่องหิ้วอะไรประมาณนี้ ซึ่งเขาแนะนำให้ไปติดต่อศูนย์ของมือถือเพื่อที่อาจจะช่วยปลดล็อกให้ น้องก็เลยโทรมาหาผม ผมฟังแล้วก็มึนมาก เพราะจริง ๆ ต่อให้เป็นเครืองนอกจริง เท่าที่รู้มันก็ไม่มีการล็อกอะไรแบบนี้ และยิ่งไปกว่านั้น น้องผมไม่ได้ไปซื้อเครื่องหิ้วที่ไหน ซื้อมาจากแบรนด์ชอปของมือถือนั่นแหละ ผมก็เลยถามว่ามีแอปอะไรที่ลงไม่ได้บ้าง ก็มีแอปธนาคารบางเจ้า และแอปพวกชอปออนไลน์อย่าง Shopee และน้องก็ให้ข้อมูลต่อมานิดหน่อยว่า เครื่องเก่าของเขามันก็โหลดไม่ได้เหมือนกัน พอฟังถึงตอนนี้ผมก็เริ่มเดาอาการได้แล้วครับ ก็เลยบอกว่าโอเควันที่ต้องพาแม่ไปหาหมอ เดี๋ยวจะเข้าไปดูให้

เมื่อเข้าไปดู ก็เป็นไปตามที่คาดครับ คือเขาไปลงทะเบียนของ Play Store ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เขาไปแลกเปลี่ยนการสอนอยู่ที่ฝรั่งเศส และคงลืมไป หรือมีคนที่โน่นช่วยทำให้แล้วเขาไม่รู้เรื่องก็ไม่รู้ ผมก็จัดการเปลี่ยนกลับมาเป็น Store ไทย ทุกอย่างก็เรียบร้อยครับ โหลดแอปที่ต้องการทุกอย่างได้ตามปกติ ซึ่งวิธีการเปลี่ยนก็ง่ายมากครับ เผื่อใครที่มีปัญหานี้อยู่จะได้ทำได้ครับ ก็ให้รันแอป Play Store ที่เราใช้โหลดแอปนั่นแหละครับ ขึ้นมา จากนั้นเลือกที่ปุ่มตามรูป




จากนั้นก็เลือกบัญชีครับ





จากนั้นก็เข้าไปเปลี่ยนประเทศที่ต้องการได้เลยครับ 


ผมเห็นว่าเรื่องนี้ถึงมันจะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็อาจต้องเสียเวลาไปที่ศูนย์ไปที่ร้านซ่อมโดยไม่จำเป็น ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ    

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ขอชมเชยช่างจากการไฟฟ้าลาดกระบังครับ

วันนี้ขอกล่าวชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่ช่างจากการไฟฟ้าลาดกระบังครับ คือเรื่องมีอยู่ว่ามีไฟฟ้าโซนนึงในบ้านผมมันมีอาการไฟตกและไฟมาไม่สม่ำเสมอ คืออาการมันเป็นอย่างนี้ครับตอนแรกเครื่อง UPS มันทำงานผิดปกติครับ คือมันแสดงให้เห็นว่าไฟที่เข้ามามันขึ้น ๆ ลง จาก 200 กว่า แล้วก็ตกลงเหลือ 100 กว่า ดังนั้นเครื่องมันก็ต้องทำงานตลอดเวลาโดยส่งเสียงร้องบอกว่าไฟไม่พอ ต้องใช้ไฟสำรองเพื่อส่งให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่ออยู่ ตอนแรกก็นึกว่าเป็นปัญหาที่การไฟฟ้าอาจส่งไฟมาไม่พอ เพราะช่วงนี้มีคนใช้ไฟเยอะ แต่พอไปเช็คที่โซนอื่นของบ้านมันก็ปกติดี และลองปิดไฟส่วนอื่นของบ้านทั้งหมดมันก็ยังเป็น ตัวผมไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเลย ก็พยายามหาช่างที่จะมาซ่อม แต่ก็ยังไม่ได้จริงจังนัก เพราะใช้ไฟในโซนอื่นของบ้านได้อยู่ ใช้สายพ่วงต่อมาเอา 

แต่พอผ่านไปหลายวันเข้า อาการมันหนักขึ้นหลอดไฟในโซนนั้นมันก็หรี่ลงเรื่อย ๆ บางดวงก็เปิดไม่ติดเลย และเมื่อคืนนี้ประมาณสองทุ่ม ไฟดวงหลักในห้องทำงานของคนในบ้านก็หรี่ลงอย่างเห็นได้ชัด ก็เลยคิดว่าต้องหาช่างจริงจังแล้ว จะหาช่างที่ไหนยังไงดีที่ไว้ใจได้ ก็เลยนึกว่าถ้าเป็นช่างจากการไฟฟ้าน่าจะไว้ใจได้มากที่สุด ก็เลยค้นไปเจอเบอร์ Call Center ของการไฟฟ้านครหลวง คือเบอร์ 1130 และเข้าไปอ่านในเว็บก็เหมือนมีบริการเรื่องไฟฟ้าในบ้านด้วย ก็เลยลองโทรดู พอโทรไปก็ต้องรอครับ ตามข้อมูลที่ได้ฟังจากระบบอัตโนมัติของ Call Center บอกว่าขณะนี้มีคนสอบถามเรื่องเกี่ยวกับการคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟเป็นจำนวนมาก ผมก็อดทนรอครับ ตอนแรกคุณภรรยาก็นั่งรออยู่ด้วยจะได้ช่วยกันอธิบายอาการให้เขาฟัง สุดท้ายคุณภรรยาไม่รอครับ แต่ผมก็ทนรอต่อไปจนประมาณสัก 15 นาที ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ 

เจ้าหน้าที่ก็ได้สอบถามเลขสัญญาไฟฟ้าจากผม ผมก็เปิดแอปการไฟฟ้าเลย แล้วก็บอกอย่างมั่นใจ ปรากฏว่าไม่ถูกครับ เจ้าหน้าที่บอกมันต้องมี 8 หลัก แต่ในแอปมันแสดงแค่ 6 หลัก ก็เลยต้องวิ่งวุ่นหาบิลค่าไฟฟ้า สุดท้ายหาไม่เจอครับ เลยขอแจ้งชื่อกับที่อยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ค้นให้ได้ครับ ขอบคุณมากครับ ดังนั้นประสบการณ์แรกคือเราควรเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้สักใบนะครับ เพราะแอปมันแสดงหลักไม่ครบ  พอได้แล้วก็เล่าอาการให้ฟัง เจ้าหน้าที่ก็เลยให้เบอร์โทรศัพท์ของการไฟฟ้าลาดกระบังให้ 

ผมก็เลยโทรไปแล้วเล่าอาการให้ฟัง พอช่างฟังก็บอกว่าน่าจะเป็นเพราะมีอะไรหลวมในตู้เบรกเกอร์ แล้วก็ถามเลขที่สัญญาไฟฟ้าจากผมอีกครั้ง เพื่อให้รู้ตำแหน่งบ้านผม พอรู้ปุ๊ปก็บอกว่า เดี๋ยวจะเข้าไปดูให้ ผมฟังก็นึกว่าฟังผิดไป เพราะนึกว่าจะต้องนัดกันก่อน กว่าจะมาก็น่าจะอีกสักสองสามวัน ก็เลยถามว่าจะมาเลยหรือครับ ช่างบอกใช่ครับจะเข้าไปเลย เหมือนเขาออกมาทำงานแถวนี้พอดี ผมได้ฟังก็เลยรีบลงมาเคลียร์ที่เพื่อให้ช่างเข้าถึงตู้เบรกเกอร์ได้ง่าย ๆ คือบ้านมันผมค่อนข้างรก(มาก)ครับ ยังเคลียร์ไม่ทันเสร็จ ลูกชายคนโตบอกพ่อสงสัยมาแล้ว เขามาฉายไฟฉายแว็บ ๆ อยู่หน้าบ้าน ก็เลยหันไปดู ใช่จริงครับมาแล้ว นับจากที่วางหูโทรศัพท์ไม่น่าจะเกิน 5 นาที ก็เลยรีบออกไปรับ ช่างก็เริ่มจากไปดูก่อนว่ากระแสไฟที่จ่ายเข้าบ้านจากเสาไฟฟ้าปกติไหม ปรากฏว่าปกติดี ก็เลยเข้ามาเช็คในบ้านก็เสียบ UPS ให้เขาเห็นอาการ เขาก็ไปดูที่ตู้เบรคเกอร์ แล้วก็บอกว่าสายนิวทรัลไหม้ แล้วก็ไหม้มากด้วย ไม่ได้กลิ่นไหม้กันเลยเหรอ ผมกับภรรยาและลูกชายคนโตก็มองหน้ากัน แล้วก็คิดว่าหรือพวกเราจะติด COVID-19 กันหมด เพราะไม่มีใครได้กลิ่นเลย ทั้งที่ก็นังทำงานกันอยู่ตรงนั้น อ้อพูดถึงตรงนี้ต้องขอนินทาเจ้าลูกคนเล็กนิดนึงครับ คือเขานั่งเล่นเกมอยู่อีกโซนหนึ่ง ช่างเดินผ่านเข้าออกไปที่ตู้เบรกเกอร์ไปแล้วรอบสองรอบ เขาเพิ่งเงยหน้ามาถามอ้าวช่างมาแล้วเหรอพ่อ เวลาเรียนขอให้มีสมาธิแบบนี้นะลูกนะ

ช่างก็จัดการเปลี่ยนสายให้เรียบร้อย และอาการก็หายครับ ใช้เวลาในการตรวจสอบและแก้ไขน่าจะไม่เกินครึ่งขั่วโมง ประทับใจมากครับ และไม่เรียกรับค่าบริการใด ๆ ด้วย ก็ขอขอบคุณไว้ที่นี้อีกครั้งแล้วกันนะครับ เสียดายที่ไม่ได้ถามชื่อช่างไว้ด้วย ผมว่าเจ้าหน้าที่แบบนี้ช่วยเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรได้ดีมากครับเทียบกับที่อ่านข่าวตอนเช้าที่มีคนจากการไฟฟ้าออกมาแสดงความกังวลว่าการที่การไฟฟ้าต้องลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนสองสามเดือนในช่วง COVID อาจทำให้การไฟฟ้าเจ๊งเหมือนการบินไทยนี่ให้ความรู้สึกคนละเรื่องกันเลยครับ 

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

คนเฒ่าเล่าความหลังช่วงไปเรียนที่อเมริกา

เมื่อสองสามวันก่อนจัดบ้านเคลียร์ของเก่า ๆ ทิ้งก็ไปเจอสมุดเช็คของตัวเองสมัยตอนเรียนอยู่อเมริกานับมาถึงตอนนี้ก็ 23 ปีแล้วครับ นี่คือหน้าตาของเช็คครับ




แล้วมันก็ทำให้นึกถึงเรื่องขำ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาครับ คือนักเรียนทุนเมื่อไปถึงอเมริกาแล้วจะต้องไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อให้โอนเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ ซึ่งธนาคารที่อยู่ใกล้อพาร์ทเมนท์ที่ผมอยู่ที่สุดก็คือ Chevy Chase (ตอนนี้ถูก takeover โดย Capital One ไปแล้วครับ) ตอนเห็นชื่อธนาคาร ผมก็นึกขำ ธนาคารนี้ชื่อเหมือนดาราคนนึงเลย อ.วีระ ที่งานวิจัยป.เอกของอาจารย์เป็นรากฐานของ Siri เป็นคนพาผมไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร คืออ.วีระ ไปเรียนก่อนผมประมาณ 1 เทอม เราก็ไปที่ธนาคาร ไปรอที่จะเปิดบัญชี คนที่จะให้บริการผมนี่เป็นสาวหน้าตาเหมือนคนเอเชีย ดู ๆ ไปออกไปทางเวียดนามหรือจีน ก่อนที่เธอจะให้บริการผม ก็มีคนเอาเหรียญมาให้เธอ เธอก็ค่อย ๆ ละเลียดนับ อ.วีระก็เริ่มบ่นเธอกับผมทันทีด้วยเสียงค่อนข้างดังประมาณว่าดูยายนี่สิ นับอยู่ได้ แทนที่จะให้บริการก่อน จริง ๆ ผมก็เห็นด้วยกับอ.วีระแหละครับ แต่ก่อนจะตอบอะไรไป ผมบังเอิญเหลือบไปเห็นป้ายชื่อเธอเข้า มันเหมือนชื่อคนไทย ก็เลยบอกอ.วีระไปว่า สงสัยคนไทยนะ อ.วีระก็บอกว่าไม่ใช่หรอก มาธนาคารนี้ตั้งหลายครั้งแล้ว พอเธอจัดการเหรียญเสร็จ ก็เงยหน้าขึ้นมา แล้วพูดไทยชัดแจ๋วว่า "เชิญค่ะ" ผมก็อึ้งไปนิดหนึ่งหันมามองข้าง ๆ ไม่เห็นอ.วีระแล้วครับ แกออกจากธนาคารไปเร็วมาก :) ก็ได้คุยกับเธอช่วงเปิดบัญชีว่าเธอเป็นคนไทย แต่พ่อแม่เธอมาตั้งรกรากอยู่ที่อเมริกา เธอเกิดและโตที่อเมริกา เป็นอเมริกันเต็มตัว นึกดีใจนิด ๆ ว่ายังไม่ได้นินทาอะไรเธอไป งั้นคงอึดอัดพึลึก เป็นอันว่าไปเปิดบัญชีธนาคารนึกว่าจะได้พูดภาษาอังกฤษก็ได้พูดไทยซะงั้น และก็เป็นบัญชีเดียวที่ผมเปิดที่นี่ด้วย ส่วนหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องมีเช็คด้วย เพราะช่วงที่ผมไปอยู่ คนอเมริกันเขานิยมใข้เข็คกันนะครับ แรก ๆ ที่ไปไม่มีบัตรเครดิต จ่ายทุกอย่างตั้งแต่ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ จนไปถึงซื้อของตามร้าน ตามห้าง ก็ใช้เช็คนี่แหละครับ  

พูดถึงบัตรเครดิต ก็เล่าให้ฟังเพิ่มอีกนิดแล้วกันครับ บัตรเครดิตใบแรกที่ได้นี่หลังจากไปอยู่อเมริกาได้สักเทอมหนึ่งนะครับ เป็นของ Citi Bank เท่าที่จำได้คือเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วเห็นเขามาเปิดบูธให้สมัคร แล้วแจกเสื้อคนสมัคร บอกตามตรงว่าผมไม่คิดว่าจะได้บัตรนะครับ เพราะอยู่เมืองไทยกว่าจะสมัครบัตรเครดิตได้นี่ยากมาก ของไทยนี่บัตรใบแรกเป็นของกสิกรไทย และต้องแนบเอกสารการเงิน ซึ่งเงินเดือนข้าราชการตอนที่เข้ามาเริ่มทำงานอยู่ที่ 6000 บาทนิด ๆ สมัครไม่ผ่านแน่ ต้องไปขอให้ที่ที่ไปทำงานพิเศษเขาออกหนังสือรับรองเงินเดือนให้ ถึงจะได้มา ดังนั้นที่เดินเข้าไปสมัคร บอกตรง ๆ เลยว่าอยากได้เสื้อ ก็กรอกใบสมัครไป แล้วเชื่อไหมครับว่าไม่ต้องแนบเอกสารอะไรเลย ถ้าเป็นเมืองไทยนี่คงถ่ายเอกสารกันเยอะแยะ แล้วก็ได้เสื้อมา ซึ่งเสื้อที่ได้มาผ่านมา 23 ปีแล้วก็ยังใส่อยู่นะครับ มันดูไม่เก่าเลย และบัตรเครดิตก็สมัครผ่านอีกต่างหากครับ พอได้มาก็เลยไม่ประหลาดใจเลยครับว่าทำไมคนอเมริกันถึงเป็นหนี้บัตรเครดิตกันเยอะ มันสมัครง่ายแบบนี้นี่เอง หลังจากนั้นผมยังสมัครบัตรเครดิตเพิ่มได้อีกสองใบครับ รวมถึงสมัครบัตรเสริมให้คุณภรรยาอีก ไปอยู่อเมริกาไม่ถึงปี มีบัตรเครดิต 3 ใบ และถ้าสมัครเพิ่มอีกคงได้อีก จนคุณภรรยาต้องเบรกว่าจะสมัครไปทำไมเยอะแยะ ก็เลยหยุด สงสัยเก็บกดครับ อยู่เมืองไทยสมัครยากเย็นเหลือเกิน :)

ศุกร์นี้ก็ไม่มีสาระอะไรนะครับ ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้ก็นึกซะว่ามาฟังคนแก่เล่าความหลังให้ฟังแล้วกันครับ จริง ๆ พอเห็นเช็คนี้ ก็คิดถึงเรื่องสนุก ๆ ตอนเรียนอยู่อเมริกาหลายเรื่องนะครับ เอาไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังกันอีกครับ 

วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ช่วงกักตัวไปฝึกเต้นรำกันครับ

บล็อกวันนี้อาจจะเรียกว่าต่อเนื่องจากศุกร์ที่แล้วก็ได้นะครับ เมื่อศุกร์ที่แล้วผมชวนไปฟังเพลง Tennessee Waltz ซึ่งเป็นเพลงเก่า และเป็นเพลงช้า ๆ แต่เมื่อผมไปค้นวีดีโอจาก YouTube เพื่อเอามาประกอบบล็อก ก็เลยได้พบว่า เพลง Tennessee Waltz ถูกนำไป cover ใหม่ในเยอรมัน โดยนักร้องชื่อ Ireen Sheer ซึ่งเพลง Tennessee Waltz ถูกนำไปทำให้กลายเป็นเพลงที่มีจังหวะเต้นรำ และถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบการเต้นที่เรียกว่า Line Dance จากที่พบค้นดูใน Youtube พบว่าการเต้นเพลงนี้ค่อนข้างจะเป็นที่นิมในเกาหลีใต้นะครับ เพราะวีดีโอใน YouTube ส่วนใหญ่ที่ผมเจอจะมาจากเกาหลีใต้ ลองไปฟังและไปดูกันครับ และอาจลองหัดเต้นตามกันดูก็ได้นะครับถ้าใครยังต้องอยู่บ้านแล้วรู้สึกเบื่อ 





  

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ฟังเพลง Tennessee Waltz กันครับ

ไม่ได้ฟังเพลงกันมาหลายสัปดาห์แล้วนะครับ วันนี้มาฟังเพลงกันหน่อยดีกว่า ก็เหมือนกับหลาย ๆ เพลงที่ผมเคยเอามาโพสต์ครับ คืออยู่ ๆ เพลงนี้ก็กลับเข้ามาเล่นซ้ำไปซ้ำมาอยู่ในหัวผม ซึ่งเพลง Tennessee Waltz นี้จัดว่าเป็นเพลงอมตะมากนะครับ จากที่ผมไปค้นข้อมูลมาได้ความว่าเพลงนี้เขียนขึ้นในปี 1946 และออกวางขายในปี 1948 ก่อนผมเกิดหลายปีมาก โดยเพลงนี้มาดังมากและขายได้หลายล้าน (อะไรดี ไม่รู้สมัยนั้นเขาใช้อะไร น่าจะเป็นแผ่นนะครับ) แผ่น จากการร้องของ Patti Page และก็ยังมีการนำกลับมาร้องกันจนถึงทุกวันนี้

เพลงก็มีเนื่้อหาง่าย ๆ ฟังสบาย ๆ ครับ ไปฟังเพลงกันดีกว่าครับ




I was dancing with my darling to the Tennessee Waltz
When an old friend I happened to see
I introduced her (him) to my loved one
And while they were dancing
My friend stole my sweetheart from me
I remember the night and the Tennessee Waltz
Now I know just how much I have lost
Yes, I lost my little darling the night they were playing
The beautiful Tennessee Waltz

*เนื้อเพลงสามารถปรับเปลี่ยนตามเพศของคนร้องได้ง่าย ๆ จาก her เป็น him ถ้าคนร้องเป็นผู้ชาย 

ฉันกำลังเต้นรำอยู่กับสุดที่รักของฉันภายใต้บทเพลง Tennessee Waltz   
เมื่อบังเอิญเห็นเพื่อนเก่าของฉันผ่านเข้ามา
ฉันแนะนำเธอ(เขา)ให้รู้จักกับที่รักของฉัน
และในขณะที่พวกเขาเต้นรำกัน
เพื่อนของฉันก็ได้พรากสุดที่รักของฉันไปจากฉัน

ฉันยังจำค่ำคืนและเพลง Tennessee Waltz นั้นได้แจ่มชัด
และตอนนี้ฉันก็ได้รู้แล้วว่าฉันได้สูญเสียไปมากแค่ไหน
ใช่ฉันได้เสียสุดที่รักของฉันไป ในค่ำคืนที่พวกเขา (วงดนตรี) กำลังเล่นเพลง
Tennessee Waltz ที่เพราะจับใจ



วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จตุรัสกล เอ็งโกว และการทบทวนวรรณกรรม

ผมไม่ได้เขียนบล็อกพูดคุยเรื่องอะไรมาซะนานเลยนะครับ หลัง ๆ ก็จะเขียนสรุปข่าวมากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่า แต่เอาเข้าจริง ๆ แม้แต่สรุปข่าวหลัง ๆ ก็ไม่ได้เขียน ไม่รู้เวลามันหายไปไหนหมด หรือบริหารไม่ดีไม่รู้ เอาเถอะไหน ๆ วันนี้ก็เขียนแล้ว ก็เลิกบ่นตัวเองดีกว่าเนอะครับ

เห็นหัวข้อวันนี้แล้วก็อาจจะงงนะครับว่าวันนี้ผมจะพูดคุยเรื่องอะไร เรื่องของเรื่องก็คือผมกำลังเตรียมเรื่องที่จะพูดในวันปฐมนิเทศของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ ซึ่งหัวข้อที่จะพูดอันหนึ่งก็คือเรื่องความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมในการทำวิจัย ซึ่งความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมประการหนึ่งก็คือเราจะได้รู้ว่าใครทำอะไรไปบ้างแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานซ้ำกับเขาอีก ก็เลยคิดว่าเอามาเขียนลงบล็อกด้วยก็น่าจะดี

นั่งคิดอยู่สักครู่ว่าจะยกตัวอย่างอะไรดีนะให้เข้าใจง่าย ๆ ในหัวมันก็แว่บขึ้นมาถึงฉากหนึ่งในเรื่องมังกรหยก ภาคของก๊วยเจ๋ง (ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ) ไม่ทราบว่าพวกเรายังมีใครอ่านเรื่องนี้กันบ้างไหมครับ หรือคงเคยดูหนัง ดูซีรีย์เรื่องนี้กันมาบ้างมั้งครับ เพราะสร้างมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก (จนตอนนี้เด็กที่ตัวเองมีก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังสร้างอยู่) รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่จะประทับใจภาคเอี้ยก้วยมากกว่า แต่ส่วนตัวผมชอบภาคก๊วยเจ๋งที่สุด จริง ๆ ก๊วยเจ๋งนี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่ได้ฉลาดเป็นอัจฉริยะ แต่ขยันและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอนะครับ จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาเป็นยอดฝีมือที่เก่งที่สุด เทียบกับแฟน (ภรรยา) ของเขาคืออึ้งย้ง ซึ่งฉลาดมาก แต่ความพยายามไม่มีเท่า ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมีทั้งพ่อทั้งแฟนที่เก่งอยู่แล้ว ก็เลยไม่สนใจที่จะต้องพยายามอะไรมากมาย ดังนั้นนักวิจัยทั้งหลายก็ควรจะเอานิสัยของก๊วยเจ๋งมาใช้นะครับ

ชักนอกเรื่องแล้วกลับมาต่อครับ เอาเป็นว่าก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง (ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากฝ่ามือเหล็กลอยน้ำ ฮิวโชยยิ่ม) ทำให้ก๊วยเจ๋งต้องแบกอึ้งย้งหลบหนี จนหลบเข้าไปยังที่พักของเอ็งโกว ซึ่งเรียกตัวเองว่าเทพคำนวณ และสร้างค่ายคูประตูกลป้องกันที่พักตัวเองเอาไว้ (รายละเอียดว่าเอ็งโกวทำไมต้องมาเก็บตัวอยู่นี่ ใครสนใจก็คงต้องไปอ่านหนังสือเอานะครับ รับรองสนุกมาก ขืนเล่าหมดบล็อกนี้จะกลายเป็นเล่าเรื่องมังกรหยกไป) ซึ่งค่ายคูประตูกลของเอ็งโกวย่อมไม่สามารถป้องกันความสามารถของอึ้งย้ง ซึ่งศึกษาค่ายคูประตูกลมาตั้งแต่เด็กได้ บวกกับวิชาตัวเบาของก๊วยเจ๋งซึ่งเทพมาก ทำให้ทั้งคู่เข้ามายังที่อยู่ของเอ็งโกวได้ จากนั้นอึ้งย้งยังได้แสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ จนเทพคำนวณหงอยไปเลย คราวนี้เอ็งโกวก็นึกขึ้นได้ว่า มันต้องมีอันนี้แหละที่จะเอาชนะอึ้งย้งได้ ก็ตั้งคำถามท้าทายอึ้งยงดังนี้ครับ

"หากจัดเรียงหนึ่งถึงเก้าเป็นสามแถว ไม่ว่านับทางแนวขวางและแนวทแยง เลขทั้งสามจะต้องรวมกันได้สิบห้า จะจัดเรียงอย่างไร" 1 กะว่าอึ้งย้งเสร็จแน่คราวนี้ ซึ่งคำถามของเอ็งโกวก็คือจตุรัสกล 3X3 นั่นเอง

อึ้งย้งฟังแล้วก็คิดว่ามันยากตรงไหนนี่ เล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยร้องออกมาเป็นเพลงว่า "ความหมายของเก้าปราสาท แบบแผนเช่นเต่าวิเศษ สองหกเป็นไหล่ สี่แปดเป็นขา ซ้ายเก้าขวาหนึ่ง ทูนเจ็ดเหยียบสาม ห้าดำรงอยู่กลาง" 1 ซึ่งจากคำร้องของอึ้งย้งจตุรัสกลจะมีหน้าตาดังนี้ครับ
 
2 7 6
9 5 1
4 3 8

เอ็งโกวสตั๊นไปหลายนาที แล้วก็พูดออกมาว่า "เราเข้าใจว่านี่เป็นแนวทางที่เราคิดขึ้น ที่แท้มีบทเพลงเผยแพร่ในโลกกว้างแต่แรก" 1 อึ้งย้งยังตอกย้ำไปอีกนะครับว่า นอกจาก 3X3 แล้วยังมี  4X4 5X5 และขยายไปได้จนถึงเลข 1 ถึง 72 ซึ่งเรียกว่าแผนภาพลกจือ 1 จากคำพูดของเอ็งโกวคงเห็นแล้วนะครับว่าถ้าเราไม่ทำการทบทวนวรรณกรรม เราก็จะไม่ต่างจากเอ็งโกวไม่รู้ว่าในโลกเขามีอะไรบ้าง มัวแต่ไปเสียเวลาคิดอะไรที่โลกเขาคิดไปไกลถึงไหน ๆ แล้ว

ในยุคของเอ็งโกวไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี Google ถ้ามีเอ็งโกวก็คงไม่ต้องมืดบอดไปถึงขนาดนี้ พวกเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลหาได้ด้วยเพียงปลายนิ้ว ดังนั้นก็ใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่นะครับ...  

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1.น.นพรัตน์ (แปล) "ไตรภาคมังกรหยก ชุดที่ 1 ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ เล่ม 3" สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ พ.ศ. 2546