วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักการสำคัญ 9 ประการที่นำไปสู่นวัตกรรมของ Google

สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ ขอถือโอกาสนี้เขียนบล็อกแรกของปีให้อ่านกันเลยก็แล้วกันครับ ตอนแรกก็ยังไม่รู้จะเขียนอะไรดีเพราะผมว่าช่วงปลายปีที่แล้วพวกเราหลายคนคงจะเครียดและสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก แม้แต่ผมเองยังจัดซะสามบล็อกติดกัน แต่บล็อกแรกของปีนี้ผมไม่อยากจะเขียนอะไรที่มันเครียด ๆ กันก่อนตั้งแต่ต้นปีครับ ก็พอดีนึกขึ้นได้ว่ามีคนแบ่งปันลิงก์เกี่ยวกับแนวทางที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้แหละที่น่าจะนำมาเขียน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกคนที่มีโอกาสได้อ่าน เผื่อจะสามารถนำไปประยุกต์กับการทำงานของเราในปีนี้ได้บ้าง

สำหรับต้นฉบับของเรื่องนี้ก็คือ GOOGLE REVEALS ITS 9 PRINCIPLES OF INNOVATION โดยคุณ Kathy Chin Leong ในบทความนี้ได้สรุปสิ่งที่คุณ Gopi Kallayil ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการสังคม (ไม่รู้จะใช่ไหมนะครับในภาษาอังกฤษใช้คำว่า chief social evangelist ) ได้พูดถึงหลักสำคัญ 9 ข้อที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่มีการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างมากมายออกมาให้เราใช้กัน ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

1. นวัตกรรมมาได้จากทุกที่ทุกทาง ไม่ว่าจะมองจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบนหรือแม้แต่ในจุดที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ในบทความได้ยกตัวอย่างของคุณหมอซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของ Google ได้พยายามผลักดันให้การค้นหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (ในสหรัฐ) มีการแสดงเบอร์โทรฟรีสำหรับศููนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายอยู่ทางด้านบนของจอ

2.  มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้ เรื่องเงินเอาไว้ทีหลัง ตัวอย่างก็คือการค้นหาทันใจ (instant search) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นแต่อาจทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ดูโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักของ Google ซึ่ง Google ก็ยอมที่จะเสี่ยงในส่วนนี้ โดยแนวคิดก็คือให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมไปแล้วรายได้ก็จะตามมาเอง

3. ตั้งเป้าว่าจะดีขึ่นสิบเท่า การตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นแค่สิบเปอร์เซนต์เราก็จะทำได้แค่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการจะต้องตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นสิบเท่า และนั่นจะทำให้เราต้องคิดนอกกรอบ ตัวอย่างของข้อนี้ก็คือโครงการ Google Books ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสแกนหนังสือทั้งหมดเพื่อทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดย Lary Page ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google ถึงกับลงมือสร้างเครื่องสแกนหนังสือขึ้นมาเองเลย สำหรับหนังสือตอนนี้ก็สแกนไปได้แล้วกว่า 30 ล้านเล่ม

4.  ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้เป็นประโยชน์ เขายกตัวอย่างถึงแนวคิดของรถไร้คนขับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Google เองไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ Google มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานอย่าง Google Maps Google Earth และ รถที่ใช้ทำ Street View โดยการร่วมมือกับทีมปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ก็ทำให้ Google สามารถสร้างรถที่ไม่ต้องมีคนขับซึ่งสามารถเดินทางไปกลับเป็นระยะทางไกลได้จริง

5. ปล่อยออกมาก่อนแล้วค่อยปรับปรุง แนวคิดนี้คือไม่ต้องรอให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ ส่งไปให้ผู้ใช้ใช้ก่อน แล้วให้ผู้ใช้นั่นแหละเป็นผู้ช่วยปรับปรุง ตัวอย่างของโครงการที่ใช้วิธีนี้ก็เช่น Google Chrome ซึ่งเปิดตัวมาในปี 2008 และ Google ปล่อยตัวปรับปรุงออกมาทุกหกสัปดาห์

6. ให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงาน แนวคิดนี้คือให้พนักงานได้ใช้เวลาในการทำโครงการที่ตัวเองอยากทำที่ไม่ใช่งานประจำที่ตัวเองทำอยู่ โดยจะให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงานในการทำโครงการดังกล่าว พูดง่าย ๆ ก็คือในเวลางานห้าวัน ก็ให้เวลาวันหนึ่งที่พนักงานจะได้ทดลองทำสิ่งที่เป็นแนวคิดของตัวเอง สิ่งที่ได้จากการทำแบบนี้ก็คืออาจจะได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรืออาจได้เทคนิคหรือแนวคิดที่จะนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม

7. ให้กระบวนการทำงานเป็นแบบเปิด คือเปิดโอกาสให้ทั้งนักพัฒนาภายนอก หรือแม้แต่ผู้ใช้เองมีส่วนร่วมในโครงการ ตัวอย่างเช่นการเปิดให้นักพัฒนามาช่วยกันพัฒนาแอพต่าง ๆ ให้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

8. ล้มให้เป็น ไม่ควรตำหนิความล้มเหลว แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ดีสุด ๆ ก็ต้องถูกยกเลิกไป แต่สิ่งที่สามารถดึงมาใช้ได้ก็คือส่วนดีที่สุดของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เขาบอกว่าความล้มเหลวคือเครื่องหมายของเกียรติยศ ความล้มเหลวคือหนทางที่จะนำไปสู่นวัตกรรมและความสำเร็จ ดังนั้นจงล้มเหลวด้วยความภาคภูมิใจเถอะ

9. ภารกิจที่ทำมีความสำคัญ เขาบอกว่านี่คือข้อที่สำคัญที่สุดใน 9 ข้อนี้ เขาบอกว่าคนที่ Google ทุกคนมีความตั้งใจแรงกล้าที่จะทำตามภารกิจและจุดประสงค์ให้สำเร็จ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะมีผลในทางบวกกับผู้คนเป็นล้าน ๆ คน

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ ...