วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การ์ตูนและนวนิยายกับการเขียน

วันนี้ดูจากหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ นะครับว่าจะมาไม้ไหน เดี๋ยวคอยติดตามแล้วกันนะครับ...


ความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ของผมเริ่มจาก เมื่อสักประมาณปลายสัปดาห์ก่อนผมได้รับอีเมล์จากเพื่อน ซึ่งในอีเมล์นั้นก็ได้แนบพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับการ์ตูนมาด้วย ซึ่งผมก็ได้ไปโพสต์ไว้ให้ดาวน์โหลดกันผ่านทางลิงค์นี้นะครับ http://www.beupload.com/download/?0092d074e10b35469302f7ede58306e8
ลองไปอ่านกันดูนะครับ สนุกและเข้าใจได้ง่ายดี

ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการใช้การ์ตูนให้เป็นประโยชน์อย่างมาก การ์ตูนสามารถสื่อความเข้าใจจากเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่าน ๆ มา จะมีการ์ตูนอย่างเช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์คุณทองแดงฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับการ์ตูนเป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกว่าดีมากครับ เพราะทำให้คนไทยหลาย ๆ คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้อ่านงานที่มีคุณค่า หรือทำให้ชาวบ้านอย่างพวกเราเข้าใจประเด็นข้อกฏหมายในรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น (ไม่ทราบพวกที่จะไปเยิ้ว ๆ ให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนี่ได้อ่านบ้างหรือเปล่า) ในปัจจุบันจะมีการ์ตูนซึ่งเป็นลักษณะที่สอนวิทยาศาสตร์ ไม่ทราบเคยได้ยินกันไหมครับ (ส่วนผมรู้เพราะลูก ๆ ผมชอบอ่านครับ) เช่นเอาชีวิตรอดบนเกาะร้าง เอาชีวิตรอดในป่าลึก หรืออย่างนวนิยายนักสืบอย่างเช่นเชอร์ลอกโฮล์มก็ทำเป็นการ์ตูน ซึ่งต้องบอกว่าลูกทั้งสองคนของผมชอบมาก ไปร้านหนังสือทีไรก็จะต้องซื้อกันคนละเล่มสองเล่ม ซึ่งในสมัยผมเป็นเด็กไม่มีนะครับ ตัวผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ประมาณ ป. 3 นี่ก็อ่านหนังสือแตกแล้ว ถ้าจำไม่ผิดหนังสือนิยายเล่มแรกที่อ่านนี่คือ พล นิกร กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต (อันนี้คนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้วนะครับ) จากนั้นผมก็อ่านเรื่อยมา เช่นเพชรพระอุมาของพนมเทียน และก็นิยายจีนกำลังภายของโก้วเล้ง กิมย้งนี่ก็อ่านมาจนหมดครับ ส่วนการ์ตูนก็มีนะครับ แต่จะเป็นพวกขายหัวเราะ หรือหนูจ๋า (หลายคนคงไม่รู้จัก) ผมมาเริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างที่เด็กสมัยใหม่อ่านกันนี่ตอนเรียน ป.ตรีครับ ในช่วงนั้นก็รู้สึกจะมีสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นเจ้าหลักครับ ที่ชอบอ่านก็เช่น โดเรมอน ดราก้อนบอล ซึบาสะ และซิตี้ฮันเตอร์ เด็ก ๆ รุ่นใหม่คุ้นไหมครับ พวกคุณก็ยังรู้จักเรื่องพวกนี้อยู่ใช่ไหมครับ

ประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อในวันนี้คือ การ์ตูนมีประโยชน์ในการทำให้เรื่องยากเข้าใจได้ง่ายและอ่านสนุก ดังนั้นผมรู้สึกดีใจที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ผ่านทางการ์ตูนได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะไม่ได้จากการ์ตูนก็คือภาษาที่เป็นการบรรยาย เพราะการ์ตูนจะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาพเป็นหลัก และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลาย ๆ คนที่อ่านแต่การ์ตูน เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนหนังสือหรือรายงานจะทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะตัวเองไม่เคยได้สัมผัสว่าการบรรยายด้วยตัวอักษรนั้นเขาทำกันอย่างไร จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เป็นอาจารย์ และควบคุมงานวิจัยมาเป็นสิบ ๆ ปี ผมพบว่านักศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับป.ตรี ป.โท หรือ ป.เอก มีปัญหานี้ครับ ซึ่งจากการสอบถามก็คือส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสืออื่น ๆ จะอ่านแต่ตำรา (ถูกบังคับให้อ่าน) และการ์ตูนเป็นหลัก ซึ่งหนังสือตำราบางเล่มที่วางขายกันในท้องตลาดปัจจุบันนี้คุณลองอ่านดูซิครับว่ามันอ่านรู้เรื่องไหม คนเขียนต้องการจะสื่ออะไร บางทีก็ไปแปลฝรั่งมาทั้งประโยคโดยไม่ได้ขัดเกลาเลย

ดังนั้นผมจึงอยากจะเชิญชวนครับว่า นอกจากคุณจะหาความเพลิดเพลินจากการ์ตูนแล้ว ยังมีหนังสือนวนิยาย หรือความรู้ดี ๆ ที่ไม่ใช่การ์ตูนอีกมากมาย หนังสือเหล่านี้นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังให้ทักษะในด้านการบรรยาย การใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย ซึ่งผมมั่นใจครับว่าจะช่วยให้ทักษะในการเขียนของพวกคุณดีขึ้นอย่างแน่นอน

วันนี้คุณอ่านนิยายหรือยังครับ...