แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเทศไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประเทศไทย แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อีกมุมมองหนึ่งในกรณีโค้ชเชกับน้องก้อย

วันนี้ขอเกาะกระแสเรื่องเทควันโดนี้สักหน่อยนะครับตอนแรกคิดว่ามันจะถูกกลบด้วยเรื่องอื่นไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบเมื่อโค้ชเชบอกว่าจะกลับมาทำทีมต่อ (อันนี้ผมดีใจนะ) และน้องก้อยยังไม่ยอมจบ

ในบล็อกนี้ผมคงไม่บอกว่าใครถูกใครผิดทั้งหมดนะครับ (ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง) เพราะกรณีนี้คือหนึ่งเราทั้งหลายไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และสองมันมีมุมมองที่ต่างกันในหลายด้านที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นทางด้านวัฒนธรรมของประเทศ วัฒนธรรมองค์กร และเรื่องสิทธิมนุษยชน อะไรพวกนี้ คือผมเข้าใจทั้งโค้ช และน้องก้อยและครอบครัว ในแง่ของโค้ชผมเทียบกับตัวเองในฐานะอาจารย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดคนหนึ่งในด้านผลงานวิชาการ นักศึกษาที่เคยทำวิจัยกับผมตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอกเกือบทุกคนจะโดนผมดุว่าเรื่องการทำวิจัย ยิ่งถ้าใครที่ทำมาอย่างไม่ใส่ใจคือทำให้เสร็จ ๆ ไป หรือถ้าไปคัดลอกใครมานี่จะโดนผมดุเอาอย่างแรงมาก ซึ่งหลายคนถึงกับร้องไห้เลยนะครับ (ไม่ได้ดีใจนะ พอเห็นเด็กร้องไห้ผมก็ใจเสียเหมือนกัน)  หลัง ๆ ผมน่าจะเบาลง (มั้ง) เพราะไม่ค่อยมีใครร้องไห้แล้ว คือผมไม่ได้สนใจว่านักศึกษาจะเก่งหรือไม่เก่ง แต่จะดูที่ความเอาใจใส่และความพยายามทำงานของเขามากกว่า อันนี้ก็คงเหมือนกับโค้ชเชที่มองว่าน้องก้อยไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่จึงลงโทษ ซึ่งถ้าถามว่ามันเกินกว่าเหตุไหมอันนี้ผมว่ามันขึ้นกับกฎเกณฑ์ขององค์กรในที่นี้คือสมาคมเทควันโดภายใต้การโค้ชของโค้ชเช โค้ชเชไม่ได้เพิ่งมาทำทีมแต่ทำมาแล้วสิบกว่าปี ดังนั้นวิธีการลงโทษแบบนี้สมาคมและนักกีฬาต้องรับทราบและถ้าไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็แสดงว่ายอมรับได้กับวิธีนี้ถ้าแลกกับความสำเร็จ ในแง่ของน้องก้อยซึ่งไม่ได้แข่งครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สามแล้วดังนั้นเธอก็ต้องรับทราบระบบนี้ด้วย ถ้าเธอบอกว่ารับไม่ได้เธอก็ควรถอนตัวไปแต่แรก แต่แน่นอนก็เป็นสิทธิของเธอที่คิดว่าเธอถูกลงโทษรุนแรงไป คือเธออาจมองว่าการลงโทษครั้งนี้มันแรงกว่าเกณฑ์ปกติขององค์กร แต่สิ่งที่เธอกระทำนี่เป็นอีกเรื่องนะครับซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป

มุมที่ผมอยากจะเขียนถึงจริง ๆ ในเรื่องนี้มีอยู่สามประเด็นคือหนึ่งการโพสต์ข้อความผ่านทางเครือข่ายสังคม ปัจจุบันนี้หลายคนใช้เครือข่ายสังคมกันอย่างไม่ระมัดระวัง คือมีเรื่องอะไรก็โพสต์โดยไม่ได้คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ก็โพสต์ เรื่องบางเรื่องที่เป็นความขัดแย้งในองค์กร ซึ่งควรจะเป็นการพูดคุยแก้ปัญหากันภายในก็โพสต์ ถ้าตามสุภาษิตโบราณเขาเรียกว่าสาวไส้ให้กากิน อย่างนี้คู่แข่งขององค์กรเราก็สบายไปเลย จากการที่ผมเคยสอนเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารผมมักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการพูดคุยต่อหน้ากับการสื่อสารโดยใช้คอมพิวเตอร์ว่า ข้อเสียของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารคือในหลาย ๆ ครั้งมันไม่มีองค์ประกอบที่เรามักจะมีในการพูดจาต่อหน้าเช่นน้ำเสียง หรือสีหน้าไปด้วยทำให้บางครั้งอาจเข้าใจผิด ซึ่งหลายครั้งเราก็อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้สัญลักษณ์แสดงอารมณ์แนบท้ายข้อความไปด้วยอย่าง :) ก็อาจหมายความว่าแซวเล่นขำ ๆ นะ แต่บางครั้งมันก็อาจใช้แบบนี้ไม่ได้ แต่ข้อดีของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารที่เหนือกว่าการพูดคุยกันต่อหน้าคือ เรามีเวลาที่จะคิดว่าเราควรพูด (โพสต์) ออกไปดีไหม และเราสามารถที่จะเรียบเรียงคำพูดให้เหมาะสมได้ ในขณะที่การพูดกันโดยตรงเราอาจพูดอะไรที่ไม่เหมาะสมออกไปตามอารมณ์ในขณะนั้น ในกรณีนี้ถ้าน้องก้อยรอให้ใจเย็นได้พูดคุยได้เคลี่ยร์กันก่อนแล้วคิดให้ดีว่าควรโพสต์อะไรออกมาไหม เหตุการณ์ก็อาจไม่บานปลายมาถึงขั้นนี้

ประเด็นที่สองคือการจัดการปัญหาของผู้ใหญ่ครับ ในวันที่เกิดเรื่องมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในสมาคมเทควันโดให้สัมภาษณ์ได้แย่มากครับ คือเข้าข้างโค้ชเชก็พอทำเนา แต่บอกว่าน้องก้อยไม่ได้มีความหมายอะไร สมาคมไม่ได้มีความหวังอะไรอยู่แล้ว เป็นผู้ใหญ่พูดแบบนี้กับนักกีฬาได้อย่างไร ถ้าไม่มีความหวังอะไรแล้วให้เขาติดทีมชาติทำไม การที่เขายอมเสียสละมาฝึกซ้อมลงแข่งเป็นตัวแทนทีมชาตินี่ไม่มีความดีอะไรเลยใช่ไหม อีกอย่างเท่าที่ตามข่าวมาน้องเขาก็เคยได้เหรียญในการแข่งขันแล้วด้วย การบริหารจัดการก็แย่มาก จริง ๆ ควรจะขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าเพิ่งให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์อะไร (ถ้าขอไปแล้วน้องเขาไม่ทำก็ขอโทษด้วย อย่างนี้สมควรให้ออกจากทีมชาติไปเลย) ขอให้คุยกันเป็นการภายในก่อน แล้วค่อยออกมาแถลง

ประเด็นสุดท้ายก็เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนหลาย ๆ คนนี่แหละครับ คือผมมีความรู้สึกว่าหลายคนก็ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าที่จะพิจารณาไปตามเหตุผลหรือหลักการ ผมเห็นคำวิจารณ์ประเภทว่าโค้ชเชทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมามากมาย ยายคนนี้เป็นใคร คือทำไมเราถึงไม่เอาตัวบุคคลออกไปแล้วพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าสมมติคนทำไม่ใช้โค้ชเช เป็นคนอื่นที่ไม่มีต้นทุนสูงแบบโค้ชเช คนที่วิพากษ์วิจารณ์ยังจะคิดอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ประเด็นนี้ผมว่าก็สำคัญนะครับ สังคมเราดูเหมือนเป็นสังคมบูชาฮีโร่ ถ้ารักใครชอบใครแล้วคนนั้นทำอะไรก็ถูกไว้ก่อน ซึ่งบางครั้งก็อันตรายนะครับถ้าคิดกันแบบนี้ (ย้ำอีกครั้งผมไม่ได้คิดว่าโค้ชเชผิดนะ) หรือบางทีก็แบ่งพวกแบ่งเหล่าไปเลย ผมลองสมมติให้สุดโต่งไปเลย ลองถามตัวเองดูสมมติโค้ชเชเคยขึ้นเวทีนปช. (เอ้ามีการเมืองจนได้) คนที่เชียร์กกปส.ยังจะเข้าข้างโค้ชเชอยู่หรือเปล่า หรือจะไปเข้าข้างน้องก้อยเพราะโค้ชเป็นอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว

ก็ฝากให้คิดกันเล่น ๆ ไว้แค่นี้แล้วกันครับ และก็หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี และกีฬาเทควันโดก็จะเป็นกีฬาที่เรามีความหวังในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ต่อไปครับ ...

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลดความขัดแย้งเริ่มได้ที่ตัวเรา

ขณะที่เขียนบล็อกนี้ประเทศไทยของเราก็เกิดรัฐประหารมาได้สักห้าวันแล้วนะครับ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคนเข้าไปรายงานตัว มีทั้งคนที่ชื่นชมเอาดอกไม้ไปขอบคุณทหาร และก็มีคนที่ไม่กลัวปืนออกมาแสดงการต่อต้านด้วย แต่สิ่งที่ไม่มีแล้วคือม็อบกกปส. กับนปช. ครับ :) สำหรับบล็อกวันนี้ผมอยากเสนอแนวคิดให้ไปลองพิจารณากันครับว่าเราจะช่วยกันลดความขัดแย้งในชาติลงได้ยังไง ซึ่งผมจะขอเขียนโดยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลัก ๆ นะครับ คือเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

สำหรับคนที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ถ้าต้องการจะให้การรัฐประหารนี้มีผลสำเร็จอยู่บ้างในเรื่องลดความขัดแย้งแนะนำว่าให้เลิกการโพสต์ข้อความด่าว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยกย่องตัวเองว่าดีเลิศเลอเป็นผู้รักชาติ คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นพวกที่ไม่รักชาติ เป็นพวกโลกสวยที่วัน ๆ ฝันหาแต่การเลือกตั้ง เป็นพวกโง่ที่คิดว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้งแล้วปล่อยให้คนโกงไปอีกสี่ปี ที่หนักว่านั้นคือไปไล่เขาว่าถ้าอึดอัดนักก็ไปอยู่ที่อื่นสิ ลองถามตัวเองดูนะครับว่าตัวเองใช้สิทธิอะไรข้อไหนถึงจะไปไล่คนอื่นได้ ถ้าเขาอึดอัดเพราะคุณทำไมเขาถึงต้องไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่มีความคิดแบบคุณเป็นเพียงคนส่วนน้อยของประเทศ ลองออกจากอคติที่ครอบตัวเองอยู่ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ คิดดูว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วยนี่เขามีเหตุผลอะไรบ้าง มันเป็นไปได้นะครับที่คนที่ออกมาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้อาจเคยเป็นคนที่ไปเดินอยู่ข้าง ๆ คุณ ตอนพรบ.นิรโทษกรรม อาจเป็นคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณ ขณะฟังปราศัยของวิทยากร กกปส.  และที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็คือบางคนถึงกับบอกว่าระบบเผด็จการแบบนี้น่ะดีแล้ว เผด็จการไม่เป็นไรขอให้ได้ฆ่านักการเมืองชั่ว อยากบอกว่าถ้าหลังจากนี้เผด็จการมันชั่วซะเองเลือดคงนองแผ่นดินกันอีกครั้ง ถ้าไม่เข้าใจก็ลองกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ที่คนเดือนตุลา 2516 เขาช่วยกันโค่นล้มเผด็จการกันก็ดีนะครับ

ในขณะเดียวกันผู้ที่ต่อต้านรัฐประหารก็ควรปฏิบัติเช่นกันออกจากอคติที่ครอบตัวเอง ไม่ด่าว่าคนที่เขาเห็นด้วยกับรัฐประหารด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรืออาจไล่เขาไปอยู่ที่อื่นเช่นกัน ลองทำความเข้าใจศึกษาที่มาที่ไปของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ลองรับฟังความคิดของอีกฝั่งหนึ่ง และอาจจะต้องฝืนใจลองให้โอกาสกับทหารซึ่งเขาก็อาจไม่อยากทำแบบนี้ ซึ่งผมบอกตามตรงว่าก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลังและควรหมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว และผมคิดว่ามันยังมีทางเลือกอื่น เช่นการให้สัตยาบันเรืองการปฏิรูป ทำประชามติ แล้วก็ไปเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะทำให้เราสามารถกำจัดนักการเมืองชั่ว ๆ หรือปัญหาคอรัปชันให้หมดไปได้ คือมันเกิดมาหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เกิดก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยิ่งไปว่านั้นยังเป็นการตัดวงจรประชาธิปไตยอีกด้วย แต่ถ้าถามว่านับตั้งแต่ผมรู้ความติดตามการเมืองมา ผมอาจต้องยอมรับด้วยความเจ็บปวดว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีเหตุผลที่สุดเมื่อเทียบกับทุกครั้งที่ผ่านมา เรามีนักการเมืองที่เลวร้ายคิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง เรามีสื่อเลือกข้างไม่รายงานความจริง เรามีนักวิชาการที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม เรามีนักกฏหมายที่ตีความกฏหมายเข้าข้างตัวเอง เรามีองค์กรอิสระที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือในด้านความยุติธรรมได้ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดเรามีประชาชนที่ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันและบางคนอาจพร้อมที่จะฆ่ากันด้วย ด้วยปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา มันอาจทำให้ทหารคิดว่าคงต้องทำอย่างนี้ ดังนั้นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็อาจต้องทำใจและลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถึงตอนนี้มีอะไรเลวร้ายกว่าที่มันเกิดมากว่าครึ่งปีไหม ลองทำใจคิดว่านี่มันก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งหลังจากที่พวกนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ควรจะทำอะไรได้ดีกว่านี้แต่ไม่ยอมทำ

ไหน ๆ การรัฐประหารมันก็เกิดขึ้นแล้ว ผมว่าตอนนี้สิ่งที่พวกเราไม่ว่าฝ่ายไหนควรจะทำต่อไปก็คือ การจับตาดูสิ่งที่ทหารจะทำครับว่าเขาทำทุกอย่างโปร่งใส ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และทำเพื่อแก้ปัญหาของชาติจริงไหม และเขาจะคืนอำนาจกลับมาให้กับเราเมื่อไหร่ (ซึ่งตรงนี้ผมว่าทหารควรจะต้องรีบให้คำตอบ) หรือจะยึดยาวไปเลย (ซึ่งผมภาวนาว่าอย่าให้เป็นอย่างนั้น) การประท้วงที่ผ่านมาผมก็ว่าพอเป็นสัญลักษณ์ให้ทหารได้เห็นแล้วว่าถ้าเมื่อไรเขาล้ำเส้นก็จะมีคนที่พร้อมจะออกมาต่อต้าน และเขาคงไม่อยากให้เกิดเหตุูการณ์ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ขึ้นอีกหรอกครับ ต่อจากนี้เราลองให้โอกาสเขาดู และในส่วนของพวกเราที่จะทำได้ก็คือลดความขัดแย้งในหมู่พวกเรากันเองด้วยการไม่โพสต์ข้อความยั่วยุแสดงความเกลียดชัง ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เป้าหมายหนึ่งของการรัฐประหารครั้งคือการลดความขัดแย้งได้สำเร็จลง และอาจทำให้เขาคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาได้เร็วขึ้น เริ่มที่ตัวเราหยุดสร้างความขัดแย้งกันเถอะครับ...

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลือกตั้งครั้งนี้จะได้อะไร

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ซึ่งปีนี้เป็นปีที่แปลกครับ เพราะมีการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้ง การไปเลือกตั้งสำหรับคนบางคนกลับกลายเป็นการแสดงความไม่รักชาติ บางคนก็ลังเลไม่รู้ว่าควรจะไปเลือกตั้งดีไหม เรียกว่าจะทำอะไรก็กลัวไปหมดจะไปเลือกก็กลัวกลายเป็นขี้ข้าทักษิณ จะไม่ไปเลือกก็กลัวจะกลายเป็นพวกไม่รักประชาธิปไตยแพ้แล้วพาล ซึ่งผมอยากบอกว่าอย่าให้มายาคติเหล่านี้มาทำให้เราสับสนครับ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ทั้งคนที่เห็นด้วยกับกปปส.และคนที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่รักชาติ เพียงแต่มีมุมมองหรือชุดความคิดต่อการแก้ปัญหาที่ต่างกันเท่านั้น ดังนั้นอย่ากลัวที่จะไปใช้สิทธิตามความเชื่อของเราครับ และคงต้องขอร้องโดยเฉพาะกกปส.ว่าอย่าไปขัดขวางคนที่เขาต้องการไปเลือกตั้งครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผมเชื่อว่ามันมีสิ่งที่จะได้ตามมาหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่ผลาญเงินสามพันล้านแล้วไม่ได้อะไร ลองมาดูกันครับ

ก่อนอื่นผมขอไม่พูดถึงคนที่ต้องการออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ นะครับอันนั้นก็เป็นสิทธิของพวกคุณครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับเพื่อไทยแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกกปส. เพราะคนกลุ่มนี้แหละครับที่มีความสับสนมากว่าจะทำอะไรกันดี  และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ในส่วนตัวผมผมชัดเจนว่าผมไปโหวตโนแน่  ในตอนแรกผมคิดว่าเราน่าจะรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบเพื่อไทยซึ่งหมายรวมถึงกกปส.ด้วยให้ออกมาโหวตโนกัน ถ้ามวลมหาประชาชนมีจำนวนมากจริง ๆ เสียงโหวตโนจะต้องมากกว่าเสียงที่เพื่อไทยได้ ซึ่งตรงนี้ถึงแม้มันจะไม่มีผลทางนิติศาสตร์แต่ผมว่ามันมีผลทางรัฐศาสตร์นะครับ เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมากอีกแล้ว และน่าจะต้องรีบทำเรื่องปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ

แต่คิดอีกทีจากการประมวลจากหลากหลายความคิดที่แสดงกันออกมาในช่วงนี้ ผมกลับมองใหม่ครับว่า กกปส.ไหน ๆ ก็รณรงค์กันมานานแล้ว ก็ให้ยึดกับแนวทางเดิมไปเลยคือไม่ต้องไปเลือกตั้งกัน แต่ก็อย่าไปขัดขวางคนที่เขาจะไปเลือกนะครับ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปเป็นแบบนี้สิ่งที่จะได้มาก็คือถ้าจำนวนมวลมหาประชาชนเป็นคนส่วนมากของประเทศจริง ๆ เราจะต้องได้จำนวนคนที่ไม่ไปเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไปเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันเหมือนเป็นการทำประชามติได้นะครับ ให้มองว่าเงินสามพันล้านที่เสียไปในการจัดการเลือกตั้งคราวนี้เป็นค่าใช้จ่ายการทำประชามติซะก็แล้วกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแบบนี้จริง ๆ กกปส.จะได้ความชอบธรรมมากขึ้นแน่นอนครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่บ่นในสิ่งที่กกปส.จะทำ เพราะถือว่าได้ฉันทามติแล้ว ผมมองว่าถ้าเป็นอย่างนี้กกปส.มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำตามสิ่งที่ต้องการ เช่นยื่นเงื่อนไขว่าขอไม่ให้คุณยิ่งลักษณ์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ลองเลือกสักคนจากสส.พรรคเพื่อไทย (ซึ่งก็น่าจะมีคนดีอยู่บ้างล่ะน่าหรือเอาที่คิดว่าเลวน้อยสุดก็ได้) เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่านายกต้องมาจาก สส. จากนั้นนำเสนอบุคคลที่คิดว่าควรจะเป็นรัฐมนตรีเข้าไป จะตั้งสภาประชาชนขึ้นมา จะแก้กฏหมายก็ยิ่งง่ายเพราะตอนนี้มีสภานิติบัญญัติแล้ว

ในกรณีที่มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจริงคือมีคนไปเลือกตั้งมากกว่าคนไม่ไปเลือก ก็ยังไม่เป็นไรเพราะผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนโหวตโนกันมาก อย่างน้อยคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ก็น่าจะโหวตโนกันนะ ตรงนี้ถ้าจำนวนคนที่ไม่ไปเลือกกับคนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าคะแนนเสียงที่เพื่อไทยได้ ผมว่ามันก็จะเข้ากรณีแรกคือมีผลทางรัฐศาสตร์ที่ทำให้รัฐบาลสำนึกตัวว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาไม่เอาคุณนะ ดังนั้นรีบปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ซะ และอย่าทำอะไรแบบนิรโทษสุดซอยอีก เพราะถ้าทำคราวนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาจัดการคุณแน่ แต่ถ้าสุดท้ายคนที่เลือกเพื่อไทยยังคงมากกว่าเสียงของโหวตโนและโนโหวตก็คงต้องยอมรับ แต่ยังไงก็ตามผมยังเชื่อนะว่าเพื่อไทยก็จะไม่กล้าทำอะไรที่เลวร้ายมาก ๆ อย่างที่ผ่านมาอีกแน่

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าผมเป็นพวกโลกสวยรัฐบาลแบบนี้มันไม่ยอมทำอะไรแบบนี้หรอก ก็ไม่รู้สินะครับ ผมมองว่าไม่ว่าใครที่ได้รับเสียงที่เลือกเข้ามาน้อยกว่าเสียงที่ไม่เลือก เขาไม่น่าจะกล้าทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และถ้าจะพูดเรื่องโลกสวยผมว่าคนในกกปส.นี่โลกสวยกว่าผมอีกนะ ที่คิดกันว่าการปฏิรูป (ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง) ในช่วงประมาณปีครึ่ง จะแก้ปัญหาที่เกาะกินประเทศเรามาเป็นสิบ ๆ ปี อย่างเรื่องนักการเมืองด้อยคุณภาพ การทุจริตในทุกระดับได้ ไม่ใช่ผมไม่อยากได้นะอะไรแบบนี้ แต่ผมมองว่าประเทศเราผ่านการปฏิวัติกันมากันตั้งหลายครั้ง ทุกครั้งก็มีการร่างกติกาการปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งก็บอกว่านี่คือกติกาที่ดีที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายเป็นยังไงครับ ขนาดรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งแต่ก่อนก็ว่าดีนักดีหนา ก็ยังกันคนโกงไม่ได้ ผมว่าปัญหาแบบนี้มันจะต้องค่อย ๆ แก้กันไปให้มีการเรียนรู้กันไป ซึ่งผมมองว่าประเทศเราก็เดินหน้ามาเรื่อย ๆ นะ อย่างน้อยตอนหลังมานี้เราได้เห็นการแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น และมันทำให้คนได้เรียนรู้ว่านโยบายแบบไหนทีที่มันไม่ยั่งยืนและสร้างความเสียหาย อย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนี่ผมเชื่อว่าชาวนาหลายคนก็ได้เรียนรู้แล้วและเขาไม่น่าจะเลือกเพื่อไทยเข้ามาอีก

สุดท้ายผมก็อยากบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มาถึงขนาดนี้แล้วควรจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายมันจะเป็นโมฆะหรือไม่ อยากขออย่างเดียวว่าไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไรก็อย่าไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ผมเชื่อว่าเงินสามพันล้านที่เราใช้ลงไปกับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะให้อะไรกลับมาครับนั่นคือมันจะเป็นตัวแสดงความเห็นของคนทั้งประเทศ

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเอง

ผ่านปีใหม่มากว่าครึ่งเดือนแล้วเวลาเร็วจริง ๆ ครับ แต่การประท้วงในประเทศเราก็ยังดำเนินต่อไป โดยยังไม่รู้ว่ามันจะไปจบลงยังไง วันนี้ก็เลยอยากลิสต์รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเองออกมาสักหน่อยครับ จะได้เข้าใจตัวเองด้วยว่าตัวเองคิดอย่างไรกันแน่ เพราะทุกวันนี้ดูช่องดาวเทียมมาก ๆ เข้ามันชักจะเพี้ยนวันไหนดูบลูสกายมากไปหน่อยก็ดูจะกลายร่างเป็นสาวกลุงกำนันออกมาร้องเพลงสู้ต่อไปอย่าได้ถอย ... หรือวันไหนดู Asia Update มาก ๆ เข้าก็เกือบจะวิ่งไปหาเสื้อแดงมาใส่ และการทำรายการความเห็นนี้ก็เผื่อจะทำให้ได้เข้าใจกันว่าในประเทศนี้มันไม่ได้มีแต่คนรู้ทันและขับไล่ทักษิณกับคนที่เป็นเป็นพวกทักษิณเท่านั้น จะตรงใจใครไม่ตรงใจใครยังไงก็ขอโทษด้วยนะครับ

  1. ไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่เหลือง ไม่แดง ไม่ขาว ไม่หลากสี แต่ชอบทำอะไรที่มันอยู่ในหลักการ มีความชัดเจนและถูกกฏหมาย
  2. ไม่ชอบละเมิดสิทธิใครและไม่ชอบถูกละเมิดสิทธิ
  3. ไม่ใช่คนดีเลิศเลอ แต่ก็คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเลว เพราะแค่ไม่ออกมาร่วมประท้วง
  4. ไม่เห็นด้วยกับพรบ.นิรโทษกรรมไม่ยอมให้มีการโกงและได้ลงชื่อคัดค้านแล้ว และก็รู้สึกพอใจที่รัฐบาลยุบสภาและคืนอำนาจมาให้ประชาชน ตอนแรกตั้งใจว่าจะยอมเลือกประชาธิปัตย์ เพื่อลงโทษเพื่อไทย แต่ตอนนี้เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ลง ก็กำลังมองดูพรรคอื่นอยู่ หรือไม่ก็โหวตโน
  5. เห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม
  6. นายกยิ่งลักษณ์ และคนตระกูลชินวัตรควรวางมือจากการเมืองไปก่อน ไม่น่าลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจในการปฏิรูป และแสดงว่าเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำไป 
  7. หนึงคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน
  8. การที่คนเรามีเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้โดยผิดกฏหมาย และไม่เคารพสิทธิของคนอื่น จริง ๆ เราทุกคนถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้วนะครับ นั่นคือกฏหมาย
  9. ไม่ว่าอะไรที่จะช่วยชาวนา หรือเกษตรกร แต่เห็นว่าควรจะช่วยเขาในด้านอื่นเช่นลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้ชาวนาสามารถต่อรองกับพ่อค้าข้าวได้ หรือจัดให้มีบริษัทรับประกันมารับประกันความเสียหายของผลผลิต โดยรัฐบาลช่วยออกค่าเบี้ยประกัยให้เป็นต้น 
  10. ไม่ชอบวิธีการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการโกง ทำให้ตลาดข้าวเสียหาย และดีใจที่ปปช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้ ตรงนี้อยากให้ผู้ที่ประท้วงเห็นว่ามันมีวิธีการตามกฏหมายที่จัดการกับคนโกงได้ แต่มันอาจต้องใช้เวลาหน่อย
  11. ไม่ศรัทธาศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีความเห็นว่าตัดสินไม่มีหลักการ มีอคติ และไม่มีวิสัยทัศน์
  12. เห็นด้วยกับการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่แก้กฏหมายให้ลงโทษประหารกับคนโกง และคดีเกี่ยวกับการโกงไม่มีหมดอายุ
  13. ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อของ กกปส. เพราะเห็นว่าเป็นการทำที่ผิดหลักกฏหมาย การที่เราจะจัดการคนทำผิดกฏหมายตัวเราไม่ควรทำผิดกฏหมาย เมื่อมันมีช่องทางตามกฏหมายให้ทำได้
  14. เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกกปส.ส่วนใหญ่เป็นคนที่หวังดีและรักชาติ แต่คนที่ไม่ได้ออกมาไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักชาติ แต่เขาคิดต่างกับผู้ชุมนุมกกปส. การที่คนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกปปส. และต้องการไปเลือกตั้งคนเหล่านี่กลายเป็นคนโง่และไม่รักชาติหรือ
  15. ไม่ชอบที่เอาคนต่างชาติมาอ้างบอกว่าดูสิคนต่างชาติยังออกมาทำไมคนไทยไม่ออกมาไม่รักชาติหรือ แต่ไปต่อว่าคนต่างชาติที่แสดงความไม่เห็นด้วย
  16. ไม่ต้องการถูกปิดตาเดินไปโดยแค่มีคนมาบอกว่าไปเส้นทางนี้เถอะเดี๋ยวดีเอง โดยคนที่มาบอกก็ไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางที่จะไปเป็นยังไง ซึ่งแปลกใจมากที่มีอาจารย์นักวิจัยมากมายที่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ตัวผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ควบคุมงานวิจัย ถ้ามีลูกศิษย์มาเสนอว่าจะทำวิจัยเราจะต้องชัดเจนเรื่องระเบียบวิธีวิจัยก่อนนะครับ 
  17. ไม่เห็นด้วยกับกปปส.เพราะไม่มีความชัดเจนใด ๆ จะปฏิรูปอะไรบ้าง และจะทำยังไงถ้าต้องมีการแก้กฏหมายแต่ไม่มีสภานิติบัญญัติ และไม่มีอะไรมารับประกันว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริง ดูอย่างการรัฐประหารหรือการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมาก็ได้ เราร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้ว แต่ละฉบับก็ร่างขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหารในแต่ละครั้งใช่ไหม แล้วผลเป็นยังไงมันแก้ปัญหาได้ไหม คนร่างก็พวกนักวิชาการนักฏหมายนี่แหละ ชาวบ้านรากหญ้าไม่ได้มาร่างด้วย รัฐธรรมนูญ 50 ที่ว่าดีนักดีหนา ถึงขั้นจะแก้อะไรก็แก้แทบจะไม่ได้ แต่ตอนนี้มาบอกว่ามันไม่ดี เพราะมันไม่สามารถป้องกันทักษิณให้กลับเข้ามามีอำนาจได้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจริง มาแก้ในส่วนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นดีกว่า และการแก้นี้ก็จะต้องใช้สภานิติบัญญัติ ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง 
  18. อยากให้กฏหมายเขียนให้มันชัดเจน จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความกันไปคนละทางสองทาง
  19. การมาประท้วงยืดเยื้อแบบนี้ คนที่เสียประโยชน์และน่าสงสารมากในตอนนี้คือชาวนา เพราะรัฐไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ที่จะนำเงินมาให้ชาวนา จริงอยู่อันนี้มันเป็นการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองก็จริง แต่ชาวนาก็ไม่ควรได้รับผลกระทบ รัฐบาลที่จะตั้งมาโดยกกปส. จะเป็นรัฐบาลรักษาการเหมือนอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าใช่จะมีอำนาจในการอนุมัติเงินหรือหาเงินมาให้ชาวนาไหม และเคยคิดเคยประเมินไหมว่าตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศเสียไปแค่ไหน 
  20. เห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจมีปัญหา แต่มันก็ดีกว่ามาประท้วงกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นทางที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นของตัวเอง และเป็นการวัดความเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด แทนที่จะรณรงค์ให้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน ถ้ามองว่ามีคนเห็นด้วยกับกกปส. มาก จริง ๆ ทำไมไม่รณรงค์กันไม่ให้เลือกเพื่อไทย รณรงค์ให้โหวตโนก็ได้ อย่างน้อยถ้าคะแนนโหวตโนมากกว่าเพื่อไทย ก็น่าจะทำให้พรรคนี้อ้างไม่ได้อีกแล้วว่าเป็นฉันทามติ และเป็นการบอกเพื่อไทยว่าถ้ายังทำอย่างนี้อีก ให้ระวังพลังของมวลมหาประชาชนที่แท้จริง
  21. เห็นว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (ถ้ามี) ควรจะเน้นที่การปฏิรูปและใช้เวลาไม่เกินหนึ่งปี จากนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
  22. ไม่เชื่อว่าการซื้อเสียงการทุจริตเลือกตั้งจะเป็นสาเหตุให้เพื่อไทยชนะและประชาธิปัตย์แพ้
  23. ไม่ชอบการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อกัน ด่าคนที่เราไม่ชอบด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเหยียดหยามทางเพศ เราต้องการให้สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งปกติของลูกหลานของเราต่อไปหรือ
  24. ไม่ชอบการเหยียดหรือจัดกลุ่มคนโดยใช้ถ้อยคำที่เหยียดหยามเช่น สลิ่มเหลือง ควายแดง แดงแอ๊บขาว โลกสวย เป็นต้น 
  25. ไม่เห็นด้วยที่จะนำในหลวงมาอ้างให้การชุมนุมของตัวเองดูดี แล้วผลักให้อีกพวกหนึ่งกลายเป็นคนไม่จงรักภักดี
  26. อยากได้รถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง (โดยไม่ต้องรอให้ประเทศไม่มีถนนลูกรังก่อน เพราะตายไปแล้วอาจยังเป็นไปไม่ได้) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับการพัฒนาประเทศ เรื่องต้องเป็นหนี้ไม่กลัว แต่ขอให้เงินที่กู้มาถูกใช้ลงไปในโครงการจริง ๆ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกแต่ถ้าเป็นหนี้แล้วมันทำให้ประเทศก้าวหน้าก็ต้องทำ อยากจะบอกว่าตอนสมัยเด็ก ๆ ก็เรียนมาว่าประเทศเราก็เป็นหนี้มากมาย ครูที่สอนวิชาสังคมก็พูดเป็นเชิงประชดประชันขำ ๆ ว่าเป็นหนี้ก็ดีนะไม่ต้องห่วงว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้เขาจะปล่อยให้ประเทศเราล้ม เพราะว่าเขากลัวจะเสียเงินที่เขาให้เรากู้มา ถึงตอนนี้ผมยังไม่ตายเลย เข้าใจว่าหนี้ก้อนนั้นเราใช้หมดแล้ว และเพราะหนี้ก้อนนั้นก็ทำให้ประเทศเราเจริญมาจนถึงวันนี้ อยากเห็นนโยบายของคนที่ออกมาค้านว่าจะสร้างโครงสร้างพิ้นฐานเหล่านี้ได้อย่างไรโดยไม่ต้องเป็นหนี้ หรือเป็นหนี้น้อยกว่านี้ 
  27. ไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือมีใครที่ต้องมาตายเพิ่มขึ้นอีกแล้ว
  28. อยากให้คนไทยอยู่ร่วมกันได้แม้มีความเห็นต่างกันเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งถึงแม้จะเลือกจะเชียร์คนละพรรคก็ยังพูดคุยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่คุยกัน หรือต้องดูก่อนว่าคนที่เราคุยด้วยนี่เชียร์ข้างไหน 
  29. ไม่ชอบการทำงานของกสทช.ชุดนี้ โดยเฉพาะส่วนโทรคมนาคม (อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อยากเขียน :))
  30. สุดท้ายแล้วดีกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว 30 ข้อแล้ว อยากให้มีการทำประชามติถามความเห็นของคนทั้งประเทศว่าจะเอาแนวทางของกกปส.หรือไม่ ถ้าคนส่วนใหญ่บอกว่าเอา ริวจะไม่พูด เอ๊ยไม่ใช่ จะไม่บ่น จะทำอะไรก็เชิญ และจะช่วยภาวนาให้สิ่งที่ทำประสบความสำเร็จ...

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนที่ไม่สนับสนุนม็อบไม่ได้เห็นด้วยหรือยอมให้โกง

ในสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้ ผมถูกพิพากษาจากแกนนำผู้ชุมนุุมว่าเป็นพวกเลือกข้างคนชั่ว เป็นคนโลกสวย และยอมที่จะเป็นขี้ข้ารับใช้ระบอบทักษิณ ซึ่งผมไม่แคร์หรอกครับว่าแกนนำจะให้ผมเป็นอะไร เพราะสุดท้ายพวกเขาก็นับผมเป็นเสียงหนึ่งของพวกเขาอยู่ดีเวลาจะอ้างมติอะไรก็บอกว่าเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็เหมารวมผมเข้าไปด้วยทุกที ไม่ว่าการชุมนุมของกลุ่มหรือสีไหน

แต่ที่อยากจะเขียนวันนี้เพราะอยากให้หลายคนที่ยังไม่เข้าใจและแบ่งฝ่ายว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่ออกมาขับไล่รัฐบาลนี่เป็นพวกที่ยอมรับการโกง โดยเอาเรื่องรัฐบาลได้รับเลือกตั้งเข้ามามาอ้าง จริง ๆ ผมอยากให้คนกลุ่มนี้ทำความเข้าใจเสียใหม่ก่อนนะครับว่าคนที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมตอนนี้ หลายคนเป็นที่ร่วมชุมนุมหรือลงชื่อค้านพรบ.นิรโทษกรรมมาก่อนนะครับ ซึ่งหลายคนก็มองว่าได้แสดงพลังแล้ว และถ้าพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลก็ได้ยอมยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว ทำไมแกนนำถึงไม่ยอมหยุดทำไมถึงไปเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่ประเทศจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง และทำไมถึงคิดว่าตัวเองสามารถเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศได้ว่าต้องการแบบนี้ แนวคิดหลายอย่างที่นำเสนอเช่นการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำไมตอนที่แกนนำเป็นรัฐบาลอยู่ถึงไม่เสนอ และแนวคิดหลาย ๆ อย่างมันจะทำได้ก็อาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญแล้วทำไมตอนที่เขาให้เสนอแก้รัฐธรรมนูญถึงไม่เสนอเข้ามา

การอ้างว่าถ้าไปเลือกตั้งด้วยกติกาที่มีอยู่ก็จะแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี เพราะมีการทุจริตทุกรูปแบบจนทำให้อดีตพรรคของแกนนำนั้นต้องแพ้การเลือกตั้ง ผมคิดว่าความคิดแบบนี้เป็นอันตรายมากนะครับ มันจริงหรือครับที่แพ้เพราะถูกโกง การคิดและการพูดแบบนี้ไม่มีทางที่อดีตพรรคของแกนนำจะกลับมาชนะได้แน่ครับเอาแต่โทษสิ่งอิ่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ลองคิดดูถ้าผมเป็นคนอีสานผมคงคิดว่าเอ๊ะพรรคนี้ชนะการเลือกตั้งที่ภาคใต้ แต่มาบอกว่าแพ้เพราะถูกโกง งั้นก็หมายความว่าคนใต้เป็นคนดี คนอีสานไม่ดีเพราะรับเงินพรรคอื่นอย่างนั้นหรือ และถ้าผมเป็นกกต. ผมคงคิดว่านี่พวกเราทำงานแย่มากจนทำให้เกิดการโกงทั้งประเทศจนพรรคพรรคหนึ่งต้องแพ้การเลือกตั้งเลยหรือ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าผมจำไม่ผิดก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอดีตพรรคของแกนนำนี่แหละที่ขอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องกฏเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งเขาก็วิจารณ์กันให้แซ่ดว่าแก้เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ แต่สุดท้ายก็ยังแพ้อยู่ดี (ซึ่งเพราะอันนี้หรือเปล่าเลยคิดว่าขนาดแก้อย่างนี้แล้วยังแพ้มันต้องโกงแน่)

ผมคิดว่าพวกเราที่เป็นประชาชนคงไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องเสียงมีคุณภาพ เสียงด้อยคุณภาพนะครับ เป็นความเห็นที่แย่มาก ทุกเสียงควรจะมีค่าเท่ากันครับ และถ้าจะคิดว่าเสียงคนชนบทที่บอกว่าด้อยการศึกษาเท่านั้นที่เลือกเพื่อไทย เท่าที่ผมคุย ๆ มาคนที่มีการศึกษาสูง ๆ หลายคน ระดับปริญญาเอกก็เลือกเพื่อไทยนะครับ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ผมว่าไม่ใช่แก้กติกา ผมว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะแก้มันต้องแก้ที่ว่าหลังจากเลือกมาแล้วจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้นได้อย่างไรมากกว่า กฏเกณฑ์การเข้าชื่อถอดถอนเหมาะสมดีหรือยัง องค์กรอิสระทั้งหลายทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง จะต้องแก้ตรงไหนไหมเพื่อให้ตรวจสอบได้มากขึ้น หรือจะถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร

ซึ่งถ้าแกนนำเสนอตรงนี้เข้าไปและทำสัญญาประชาคมกันว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งเข้ามาจะมีการปฏิรูปตรงนี้ อย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การประท้วงก็จะได้จบ ประเทศเราก็จะได้เดินหน้า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มันยังต้นเดือนอยู่ ถ้าเราทำให้มันสงบได้เร็ว นักท่องเที่ยวอาจกลับเข้ามา อย่ามองว่าผลประโยชน์ตรงนี้มันจะไปตกกับรัฐบาลรักษาการ แต่ให้มองว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ และนี่น่าจะเป็นทางออกที่อารยประเทศเขายอมรับ

อีกสักเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่เพราะเดี๋ยวจะเป็นการเถียงคนละเรื่อง คือมีคนพยายามบอกว่าทำไมคนทำผิดแล้วถึงไล่ไม่ได้ ไม่เข้าใจหรือไงว่าสถานะของการได่้มากับสถานะของการดำรงอยู่มันต่างกันนะ แล้วก็ยกตัวอย่างมาหลายตัวอย่าง ตัวอย่างหนึ่งที่ผมจำได้คือ สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งสอบเข้ามาได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่เข้ามาแล้วโกงการสอบไล่ เด็กคนนี้จะต้องไม่ถูกไล่ออกใช่ไหม เพราะสอบเข้ามาได้ อ่านแล้วก็คิดว่าเขาช่างคิดยกตัวอย่างนะ แล้วก็มีคนเห็นด้วยมากมาย ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมก็เห็นด้วยนะว่าสถานะของการได้มากับสถานะของการคงอยู่มันคนละเรื่องกัน และกลุ่มคนที่ไปชุมนุมต้านพรบ.และลงชื่อถอดถอนเขาก็คิดอย่างนี้แหละ ถ้าเปรียบเทียบก็คือการนำเด็กคนนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนนั่นเอง ซึ่งเด็กคนนี้ก็หน้าด้านไม่ยอมลาออก สมมติว่าประชาคมในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เขาพอใจแค่นี้แล้วก็รอผลลัพธ์ แต่คราวนี้สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งซึ่งมีข้อมูลภายในหรืออาจไม่ชอบเด็กคนนั้นเป็นการส่วนตัว ก็ไปป่าวประกาศชักชวนใครต่อใครว่าเด็กคนที่โกงนี่จริง ๆ มันโกงตั้งแต่สอบเข้ามาแล้ว แล้วก็พาพรรคพวกมารวมตัวกันเรียกร้องขอตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมาเพื่อสอบสวนเด็กคนนี้ รวมถึงมีการพูดไปจนถึงว่าญาติพี่น้องของเด็กคนนี้ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันควรจะต้องถูกไล่ออกไปด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ประชาคมที่เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ก็กลายเป็นว่าเขาออกมาปกป้องเด็กคนนี้อย่างนั้นหรือ

ดังนั้นผมอยากให้มองยาว ๆ ครับ ลองคิดว่าประเทศของเราต้องมีหลักการในการปกครองประเทศ เราไม่ควรจะยอมเสียหลักการเพราะใครไม่ว่าจะรัก จะเกลียดหรือกระแสความต้องการ ลองย้อนกลับไปวันที่มีการพิพากษาคดีซุกหุ้นภาคหนึ่งของทักษิณนะครับ วันนั้นกระแสความต้องการทักษิณแรงมากจากการชนะการเลือกตั้ง วันนั้นทักษิณรอดได้เป็นนายก และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในความเห็นผมตอนนั้นผมเห็นว่าผิดนะรอดได้ไง และผมคิดว่าในวันนั้นอาจมีคนที่ต้านทักษิณอยู่ในตอนนี้ดีใจอยู่ด้วยก็ได้นะครับ...

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถึงผู้ชุมนุมครับ

ขอการเมืองอีกสักวัน จริง ๆ ไม่อยากเขียนแล้วนะ ขนาดตัวเองโพสต์อะไรไปคิดว่าเป็นกลาง ๆ ที่สุดแล้วก็ยังถูกตีความว่าเป็นอีกข้างหนึ่งได้ ผมยังยืนยันความต้องการเดิมนะว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมและควรยุบสภาหรือลาออก แต่วันนี้จะขอเขียนถึงผู้ชุมนุมบ้าง ผมได้อ่านโพสต์ของคนหลายคนที่ออกมาชุมนุมกันแล้วก็พยายามโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้ออกมาชุมนุมให้ออกมา โดยได้บอกว่าอย่าเพิ่งไปสนใจว่าผลลัพธ์หลังจากนี้จะเป็นยังไง ขอให้ล้มระบอบทักษิณให้ได้ก่อน เท่าที่ดูก็ดูเหมือนคนโพสต์และแชร์ต่อ ๆ มาก็มีความรู้มีการศึกษาดีนะ แต่บังเอิญผมเป็นคนรู้น้อย เป็นคนขี้สงสัย จะชวนผมออกไปทำอะไรผมต้องการที่จะรู้ให้สุดไปเลยว่าเราจะได้อะไรจากการทำครั้งนี้ สิ่งที่ได้มาจากการกระทำครั้งนี้คุ้มกับที่เสียไปไหม ปัญหาที่เราออกไปแก้จะจบไปไหมหรือแค่ยืดเวลาออกไปแล้วก็เวียนกลับมาใหม่

จากการที่ได้คุยและอ่านการโพสต์ของหลาย ๆ คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุมครั้งนี้ (ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าคนเหล่านี้มีความรักความห่วงใยประเทศชาติอย่างแท้จริง) ว่าทำไมต้องออกมาคำตอบที่ผมได้ก็เป็นคำตอบเดิมที่ได้รับจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร คือเราต้องออกมาล้มระบอบทักษิณกัน ถ้าปล่อยไว้ประเทศชาติจะล่มสลายทักษิณจะโกงกินชาติไปจนหมด เราไม่มีวิธีอื่นใดแล้วนอกจากจะใช้วิธีการที่ผิดกฏหมายแบบนี้ ผมเคยตั้งคำถามว่าเราเชื่อถือสนธิ (ลิ้ม) ได้หรือเขามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า ดูเขาโหนเอาความรักที่เรามีต่อพ่อหลวงมาใช้ให้เป็นประโยชน์นะคำตอบที่ได้ก็คือก็รู้แหละว่าสนธิมีปัญหา แต่เราต้องกำจัดทักษิณให้ได้ก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างกับตอนนี้คือสุเทพก็ไม่ดี แต่เราต้องแยกแยะนะจัดการทักษิณก่อน แล้วค่อยมาจัดการสุเทพ แต่ถึงตอนนี้สนธิก็ยังอยู่ดีมีสุข ระบอบทักษิณก็ยังตามมาหลอกหลอนเราจนถึงวันนี้ หลายคนคิดว่าผมไม่รู้เรื่องราวอะไร เพราะเป็นพวกไม่สนใจชาติบ้านเมืองบ้าแต่ลิเวอร์พูล ก็ส่งลิงก์ส่งวีดีโอที่แสดงความเลวร้ายของทักษิณและรัฐบาลมาให้ดู ซึ่งของพวกนี้ผมเห็นหมดแล้วเห็นมาตั้งนานแล้ว แต่คำถามคือมันใช้เป็นหลักฐานอะไรได้ไหม  ผมดูแล้วผมก็คิดว่ามันเป็นไปได้นะ แต่ความที่มันทำมาจากฝ่ายตรงข้ามของทักษิณ และหลักฐานที่เป็นรูปธรรมอะไรก็ไม่มี มันทำให้ยากที่จะดึงมวลชนฝ่ายตรงข้ามหรือที่อยู่กลาง ๆ มาร่วมได้ บางอันรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร แต่ก็มีความวิตกกังวลกันล่วงหน้าว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ในวันนี้บางคนถึงกับบอกด้วยว่าคราวนี้ถ้ากำจัดระบอบทักษิณแล้วก็กำจัดสุเทพไปพร้อมกันเลย ผมก็ยังงงว่ามันจะทำได้ยังไง มาตั้งคำถามแรกกันก่อนอะไรคือกำจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไป หลังจากยึดประเทศได้แล้ว เราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมายึดทรัพย์ทั้งหมดของตระกูลชินวัตรหรือยังไง ถ้าจะทำอย่างนั้น เราจะใช้กฏหมายข้อไหน เรายึดรัฐธรรมนูญฉบับไหนอยู่ หรือเราจะใช้วิธีตั้งศาลเตี้ยเอา ถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะยังเป็นประเทศที่เป็นอารยะ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอยู่ไหม ถ้าเราบอกว่าไม่แคร์ สิ่งที่เราจะสูญเสียคืออะไรคุ้มกับที่ได้มาไหม หรือเราจะจับลูกเมียทักษิณมาขังคุก แล้วยื่นคำขาดให้ทักษิณกลับมาติดคุก คือมันไม่ชัดเจนสักอย่างว่าระบอบทักษิณที่จะล้มมันคืออะไร แล้วบอกว่าจะกำจัดสุเทพจะทำยังไง หลังจากสุเทพประกาศชัยชนะ มวลหมู่มหาชนก็จะจับสุเทพขังคุกข้อหาเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร หรือจะให้สุเทพลงสัตยาบรรณว่าจะวางมือจากการเมือง จะบังคับให้คืนที่ดินเขาแพงหรืออะไรยังไง

ทำสำเร็จแล้วใครจะมาเป็นนายก สุเทพบอกไม่ อภิสิทธ์กับกรณ์ก็ไม่ (ยิ่งรายหลังนี่ยิ่งไม่มีทางเพราะสุเทพคงไม่เอาแล้ว) เราโอเคไหมถ้าสุริยะใสอาจจะได้เป็นนายก อันนี้ไม่ได้ดูถูกอะไรเขานะ ถ้าเขาลงเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งเข้ามาผมโอเค แต่ถ้าเป็นแบบนี้จริงผมไม่โอเคนะ สภาประชาชนจะมีหน้าตายังไง ใครจะอยู่ในสภานี้ ใช่พวกมวลหมู่มหาชนนี่ไหม เลือกกันขึ้นมาหรือยังไง มีเงินเดือนไหม เงินเดือนกี่บาท และคำถามที่สำคัญคือมวลหมู่มหาชนที่ว่านี่เอาซะว่าประมาณล้านคน มีสิทธิอะไรที่จะมาพูดแทนคนที่เหลือของประเทศ อาศัยอำนาจมาจากทางใด

หลายคนชอบบอกว่านี่คือปฏิวัติโดยประชาชนและเป็นการปฏิวัติโดยสันติ ตกลงตอนนี้มันยังสันติอยู่ไหมนะ และก็บอกว่าหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว อียิปต์ก็ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ที่ผมอยากบอกก็คืออียิปต์ทำสำเร็จในครั้งแรกคือโค่นมูบารัค เพราะคนทั้งประเทศรวมใจเป็นหนึ่ง แต่ตอนโค่นมอร์ซีนีเกิดสงครามกลางเมืองจนยังไม่สงบมาถึงตอนนี้นะ เพราะมอร์ซีมาจากการเลือกตั้งเขาก็มีฐานของคนเลือกเขาอยู่ในมือ ซึ่งถ้าพวกเสื้อแดงเกิดรวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านจริง ๆ เกิดสงครามกลางเมืองมามันจะคุ้มไหม หลายคนบอกว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปจะเกิดผลเสียกับประเทศเป็นหลายแสนล้าน ถามว่าเคยประเมินไหมว่าจากที่ทำอยู่ถึงตอนนี้เสียหายไปเท่าไหร่แล้ว แล้วเคยประเมินย้อนกลับกันไปไหมว่าที่ขับไล่กันมาก่อนหน้านี้น่ะสิ่งที่เสียไปกับการที่คิดว่าจะป้องกันเขาโกงไปนี่มันคุ้มหรือยัง แล้วจริง ๆ แล้วสิ่งที่ขับไล่มันหายไปไหม

คราวนี้ก็มีคำถามย้อนกลับมาถึงจากผู้ชุมนุมมาถึงกลุ่มคนที่คิดอย่างผมว่าแล้วจะให้ทำยังไง เอาแต่นั่งบอกว่าอย่าไปชุมนุมรุนแรงช่วยเสนอทางออกมาซิ มาผมจะลองเสนอทางออกมาให้ดู ประการแรกผูู้ชุมนุมจะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนครับว่าไอ้ที่เรากังวลที่สุดมันคืออะไร ยกคำว่าทักษิณ ชินวัตรออกไปจากหัวก่อน เสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้และยังอยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ  สิ่งที่ผู้ชุมนุมกังวลตอนนี้ถ้าเป็นพรบ.นิรโทษมันก็ยุติไปส่วนหนึ่งแล้ว ถ้ากังวลเรื่องพรบ.เงินกู้สองล้านล้าน และพรบ.จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเป็นหลัก ก็ยื่นเงื่อนไขไปเลยว่า ผู้ชุมนุมจะกลับไปชุมนุมอย่างสงบที่ราชดำเนินก่อนให้เวลารัฐบาล 7 วัน เพื่อให้รัฐบาลเปิดประชุมสภาเพื่อหาทางออกที่จะทำให้พรบ.ทั้งสองฉบับไม่มีผลบังคับใช้ จากนั้นให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อดำเนินการเลือกตั้งใหม่ และขอให้มีการทำมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อที่มวลหมู่มหาชนจะได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดการปฏิรูปประเทศ มวลหมู่มหาชนอาจรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนพรรคประชาธิป้ตย์ แล้วก็พยายามรณรงค์เรียกร้องคนที่เป็นกลาง ๆ หรือเกลียดทักษิณแต่ไม่ชอบประชาธิปัตย์ให้ฝืนใจเลือกประชาธิปัตย์ไปก่อนเถอะ หรือถ้าคิดว่าไม่พอใจประชาธิปัตย์ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเลยจะตั้งชื่อว่า "พรรคมวลหมู่มหาชนเพื่อส่งเสริมสุดยอดประชาธิปไตยขับไล่ระบอบทักษิณ (มมพสสปชตขรท)" ก็ได้ แล้วมวลหมู่มหาชนก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อผลักดันแนวคิดของตัวเองให้สำเร็จ เป็นยังไงครับอย่างนี้พอเป็นรูปธรรมจับต้องได้ไหม...
 

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นายกยิ่งลักษณ์ควรจะยุบสภาหรือลาออกและถอนตัวจากการเมือง

วันนี้ขอเขียนเรื่องการเมืองอีกสักวัน ความเห็นผมตอนนี้คือทางออกเฉพาะหน้าของตอนนี้คือนายกยิ่งลักษณ์ควรจะยุบสภาหรือลาออกหลังจากเสร็จการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้ และควรจะออกจากการเมืองไปเลย ที่เขียนตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมทำอยู่ตอนนี้นะครับ ผมเห็นด้วยแค่เรื่องต้านพรบ.นิรโทษกรรม ผมมองว่าการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. 2556 เป็นสิ่งที่ดีที่เป็นไปด้วยความสงบจริง ๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ และถ้าจบแค่นั้นคงจะสวยมาก แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมทำอยู่หลังจากวันนั้นผมเห็นว่าไม่ถูกต้องมันเกินเลยไปจนอาจทำให้ประเทศเสียหาย และยิ่งถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาซึ่งสุ่มเสี่ยงมาก จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่ว่าจะด้วยความร้อนความเครียดหรือความเกลียดชังที่ถูกปลุกระดมมาตลอด มันก็ทำให้เกิดเรื่องร้ายจนอาจไม่สามารถควบคุมได้

ผมไม่อยากเห็นความสูญเสียเกิดขึ้นอีก จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ๆ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการชุมนุมขับไล่ในลักษณะที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายแบบนี้ ตอนเสื้อเหลืองชุมนุมผมก็เขียนบล็อกแสดงความไม่เห็นด้วย ตอนเสื้อแดงผมก็เขียน ซึ่งการเขียนแต่ละครั้งก็มีคอมเมนต์จากอีกฝ่ายบ้างว่าผมเป็นฝั่งตรงข้าม ยิ่งตอนนี้รายได้หลักของประเทศเราก็คือการท่องเที่ยว และช่วงนี้ก็เป็นฤดูซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยอะ ทำแบบนี้ผมเห็นว่าเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองครับ คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุมอาจบอกว่าก็รัฐบาลมันหน้าด้านไม่ยอมทำอะไรเลย ผมก็เห็นว่าจริงนะดังจะได้เขียนต่อไป แต่เราก็มีวิธีที่จะทำตามระบบและก็ได้ทำไปแล้วไม่ว่าจะยื่นถอดถอนสส.-สว. และประธานสภา เพียงแต่ผลลัพธ์มันอาจจะช้าและไม่ทันใจ ส่วนเรื่องทุจริตนั้นถ้ามีหลักฐานชัดเจนก็ยื่นปปช. ไปเลย ผมอยากจะถามไปยังแกนนำผู้ชุมนุมด้วยว่าเป้าหมายที่จะตั้งรัฐบาลประชาชนน่ะ ใช้กฏหมายข้อไหน มีบทบัญัติตามรัฐธรรมนูญไหม ไหนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีมากอย่าไปแตะต้องมัน ตอนนี้จะฉีกมันทิ้งแล้วหรือ ตั้งเป้าแบบนี้หวังอะไรกันแน่ เรื่องนี้พอแค่นี้ดีกว่าไว้วันหลังเขียนบล็อกต่างหากไปเลย ถ้ายังรู้สึกอยากระบายอยู่นะครับ

กลับมาที่เรื่องที่ผมเรียกร้องกับนายกดีกว่า จริง ๆ ผมแอบหวังไว้ว่าว่านายกน่าจะยุบสภาตั้งแต่ตอนที่มีเรื่องพรบ.นิรโทษกรรมแล้ว แต่ก็ไม่ยอมยุบโอเคก็พอจะพยายามคิดในแง่ดีว่าเพราะมีเรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งใจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  นายกอาจอยากเปิดโอกาสให้ทำหน้าที่ก่อน งั้นเดี๋ยวก็จะถูกหาว่าหนีการอภิปรายอีก (ทำอะไรก็โดนด่าทั้งนั้นแหละ) ช่วงอภิปรายที่ผมไม่เขียนก็เพราะรู้ว่าในช่วงนั้นนายกยุบสภาไม่ได้ เพราะกฏหมายบัญญัติไว้ ซึ่งผมก็รู้สึกเศร้าใจมากที่มีคนมาเรียกร้องให้นายกยุบสภาในช่วงนั้น ทั้งที่คนเหล่านั้นก็รู้ว่ายุบไม่ได้ แต่จงใจพูดไม่หมดให้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารหรือไม่รู้กฏหมายข้อนี้ทวีความเกลียดชังเพิ่มขึ้นไปอีก เหมือนส่งเสริมให้คนไปร่วมชุมนุมมากขึ้น

แต่ตอนนี้เสร็จการอภิปรายแล้ว นายกชนะไปด้วยเสียงข้างมากที่มีอยู่ในมือ อำนาจการยุบสภากลับมาอยู่ในมือของนายกอีกครั้งดังนั้นผมอยากขอวิงวอนครับขอให้ยุบสภาเถอะครับ  ผมว่าสส.เพื่อไทยตั้งแต่กรรมมาธิการที่เข้าไปแก้ร่างและโหวตให้พรบ.ผ่าน หมดความชอบธรรมที่จะเป็นสส.นะ ดังนั้นยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดี ให้ประชาชนได้เลือกเข้ามาใหม่ และทางที่ดีไม่น่าจะส่งคนเหล่านั้นลงสส.อีก (อันนี้ผมคงจะฝันไป) ถึงแม้แกนนำการชุมนุมจะบอกว่ายุบสภาก็ไม่เลิกก็ไม่ต้องสนใจ ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่น่าจะพอใจแค่นี้

อย่างไรก็ตามผมว่ายุบสภาแล้วถ้ายังลงเลือกตั้งกันเหมือนเดิม ผมยังคิดว่าในเวลานี้เพื่อไทยก็จะยังชนะการเลือกตั้งอยู่ดี เพราะประชาธิปัตย์ในความเห็นผมก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นมันก็จะกลับมาสู่จุดเดิมอีกจนได้ ดังนั้นผมจึงอยากเสนอว่านายกน่าจะประกาศถอนตัวทางการเมืองเลยด้วย ไม่ว่าจะด้วยการลาออกโดยไม่ยุบสภาหรือยุบสภาก็ตาม โดยส่วนตัวผมชอบบุคลิกของนายกนะที่ไม่ตอบโต้อะไรทางการเมือง เพราะผมว่ามันทำให้บรรยากาศของประเทศดีขึ้น ไม่น่ารำคาญโต้กันไปโต้กันมา และถ้าเป็นไปได้อย่างนี้เรื่อย ๆ ประเทศเราอาจจะกลับมาปรองดองกันก็ได้ แต่จากการที่ผมมองดูนายกบริหารงานมาสองปีนี้ผมรู้สึกว่านายกอาจไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้


  1. นายกขาดความรู้พื้นฐานด้านภาษา เศรษฐกิจ การต่างประเทศและสังคม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่มีคนโจมตีนายกกันมากโดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งผมจะไม่เอามากล่าวถึงในที่นี่เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการที่คนเราจะมาด่ากันด้วยคำ ๆ นี้ และหลายคนด่าโดยไม่รู้สึกผิด และทำเหมือนว่าตัวเองจะดูดีขึ้นด้วยถ้าได้ด่าคนด้วยคำนี้ ผมมองว่าที่นายกไม่รู้ อาจเป็นเพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะมารับตำแหน่งนี้ ถึงตรงนี้ผมอยากเสริมสำหรับนักเรียนที่เรียนอยู่และไม่เห็นความสำคัญของวิชาอย่างประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยว่า น่าจะตั้งใจเรียนกันให้มากขึ้นหน่อยนะ เพราะไม่รู้ว่าเราอาจจะต้องนำมันมาใช้ก็ได้ ยิ่งภาษาอังกฤษนี่ตอนนี้ยิ่งเพิมความสำคัญมากขึ้นอีกมาก 
  2. นายกไม่มีบารมีมากพอทางการเมือง สส.ในพรรคของตัวเองก็คงไม่ได้เคารพหรือผูกพันกับนายกสักเท่าไหร่ น่าจะฟังแต่พี่ชายหรือพี่สาวนายกเท่านั้น
  3. นายกไม่มีทีมงานที่ดี ถ้าตัวเองไม่พร้อมทีมงานที่ดีน่าจะช่วยได้ แต่ปรากฏว่าทีมงานเศรษฐกิจของนายกทำงานได้แย่มาก โดยเฉพาะเรื่องการจำนำข้าวนี่เป็นที่น่าผิดหวังจริง ๆ ไม่มีความชัดเจนอะไรสักอย่าง จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีเงินจะให้ชาวนาแล้ว 


จากสามข้อนี้ผมว่าก็เพียงพอจะให้นายกรู้ตัวเองได้แล้วนะว่าตัวเองไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกของประเทศไทย ถ้านายกตั้งใจเข้ามาทำงานด้วยเจตนาดีต่อประเทศจริง ก็ต้องรู้ตัวแล้วว่าตัวเองทำไม่ได้แล้วก็ถอนตัวออกไป ถ้านายกเข้ามาเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณพี่ชายที่เลี้ยงตัวเองมา ตอนนี้นายกก็ได้ทำแล้ว และน่าจะได้รู้เช่นเห็นชาติของพี่ชายนายกแล้วว่าไม่ได้รักนายกจริง ๆ เลย ขณะที่นายกพยายามทำหน้าที่ของตัวเองไป พี่ชายนายกก็คิดแต่เรื่องตัวเองจะกลับมาไทยแบบไม่มีความผิด โดยไม่ได้ดูเลยว่าสิ่งนี้มันจะทำลายสิ่งที่นายกพยายามทำมา

อีกประการหนึ่งอันนี้ไม่เกี่ยวกับสามข้อที่กล่าวมา นายกน่าจะคิดถึงลูกชายนายกให้มาก ๆ ดีกว่า จากการที่ดูมาผมว่านายกเป็นแมที่ดีนะ ก่อนหน้าที่นายกจะมารับตำแหน่งผมว่าครอบครัวของนายกน่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นรักใคร่กันดี ถ้านายกวางมือตอนนี้ก็กลับไปใช้ชีวิตครอบครัวเหมือนเดิม และไม่ต้องกังวลว่าลูกของนายกจะได้รับผลกระทบทางการเมืองไปด้วย ผมว่าสังคมไทยเดี๋ยวนี้โหดร้ายนะ (หรือเป็นมานานแล้วแต่ไม่มีช่องทางแสดงออกก็ไม่รู้) คือถ้าเกลียดใครแล้วก็สามารถโยงให้ไปเกลียดคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้หมด โดยไม่ต้องแยกแยะ อย่างที่การชุมนุมขับไล่ตระกูลของนายกทั้ง ๆ ที่ คนบางคนในตระกูลนายกก็อาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทางการเมืองเลยก็ได้

นี่ก็เป็นความเห็นของคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งอยากจะแสดงออกแม้จะรู้ว่ามันอาจจะไม่ได้เข้าหูเข้าตานายกหรือผู้มีอำนาจใด ๆ อยากขอสรุปอีกครั้งว่า นายกยิ่งลักษณ์ครับยุบสภาหรือลาออกและถอนตัวออกจากการเมืองเถอะครับ...  

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มุมมองเล็ก ๆ เกี่ยวกับการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมากครับ ย้อนไปดูว่าบล็อกล่าสุดก็เกือบครึ่งปีมาแล้ว จริง ๆ มันก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่อยากจะเขียนแต่ไม่มีเวลา พอจะว่างเหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปแล้ว แต่การรวมตัวกันค้านพรบ.นิรโทษกรรมนี้เป็นอะไรที่คงจะไม่เขียนไม่ได้

ก่อนอื่นผมดีใจมากที่ได้เห็นคนไทยแทบทุกหมู่เหล่าทุกกลุ่มออกมารวมพลังกันต่อต้านสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง คนผิดคนโกงจะต้องได้รับการลงโทษ และดีใจที่หลาย ๆ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองออกมาคัดค้านผ่านทางเครือข่ายสังคมบ้าง ประท้วงอยู่ในบริเวณที่ของตัวเอง ไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนอื่นมากนัก ผมอยากให้กลุ่มเหล่านี้รักษาจุดยืนตรงนี้ไว้นะครับให้คิดว่าเราออกมาต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ออกมาเพราะเกลียดหรือมีอคติ และอย่าให้พวกนักการเมืองหรือพวกที่แสวงอำนาจมาหลอกล่อเอาพลังของพวกเราไปใช้เพื่อประโยชน์ของพวกคนเหล่านั้น และให้ชั่งใจให้ดีก่อนที่จะทำอะไรให้คิดว่ามันคุ้มที่จะทำไหม สิ่งที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน หรือยึดย่านธุรกิจ มันคุ้มกับสิ่งที่เราได้มาไหม ผมว่าเราคงไม่อยากจะเป็นเหมือนซีเรีย หรืออียิปต์ใช่ไหมครับ

เราคงเห็นแล้วว่าด้วยพลังของพวกเราที่แสดงออกมาก็มีผลทำให้ทางฝั่งที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ก็เริ่มที่จะถอยหลังแล้ว และฝากด้วยว่าก่อนจะลงคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้า ให้คิดถึงสิ่งที่พรรคที่มีเสียงข้างมากอยู่ตอนนี้ทำเอาไว้นะครับ ที่เขียนอย่างนี้นี่ไม่ได้หมายความว่าผมเชียร์พรรคเก่าแก่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอยู่ตอนนี้นะครับ ผมว่าพรรคนี้ก็ไม่สามารถฝากความหวังอะไรได้ ตราบใดที่ยังคงคิดแต่จะเล่นการเมือง ตอดเล็กตอดน้อย เหน็บแนมเขาไปทั่ว และคิดแต่จะกลับมามีอำนาจ อย่างตอนนี้ก็ทำท่าว่าจะใช้กระแสตอนนี้หาประโยชน์เข้าตัวอีกแล้ว ผมเชียร์ให้คุณอลงกรณ์ปฎิรูปพรรคนี้สำเร็จ เปลี่ยนตัวผู้บริหารเอาคนที่มีคุณภาพอย่างคุณศุภชัย หรือคุณสุรินทร์มาทำงาน ถ้าทำได้ผมจะได้มีทางเลือก เลิกกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนซะที ชักนอกเรื่องแฮะดูสิการเมืองพาไปจริง ๆ กลับมาเรื่องพรบ.นี่ดีกว่า

อีกจุดหนึ่งที่ผมอยากให้คิดหลังจากที่เราได้ออกมาต่อต้านพรบ.นี้ก็คือ ขอให้เราดูตัวเราเองครับ ผมมองว่าสังคมจะดีได้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน มันง่ายครับที่จะชี้หน้าด่าว่าคนอื่นเขาไม่ดี คดโกง เห็นแก่พวกพ้องแต่ลองมองตัวเองครับว่าตัวเราเองก็มีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า อย่างคนเป็นครูบาอาจารย์ เราได้ทำหน้าที่ของเราเต็มที่หรือยัง เราสอนหนังสือให้ความรู้กับนักศึกษาเต็มที่ไหม เราเป็นนักเรียนเราตั้งใจเรียนเต็มที่ไหม เราลอกการบ้านลอกข้อสอบ ลอกผลงานวิชาการของคนอื่นมาเป็นของตัวเองไหม เราเป็นหัวหน้าคนเราให้รางวัลกับผลงานของลูกน้องเราอย่างยุติธรรมไหม หรือให้ผลงานแต่พวกตัวเอง ถ้าไม่ใช่พวกตัวเองต่อให้ทำงานให้ตายก็แทบไม่ได้อะไร เราไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่าโกงไม่จ่ายภาษี แต่ถ้าเป็นตัวเราเองถ้ามีช่องทางเราจะทำไหม

กลับมาวันนี้อาจจะหนักไปหน่อย แต่ก็ขอแสดงมุมมองเล็ก ๆ ของตัวเองสักหน่อยแล้วกันนะครับ

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาแต่จบที่บ้าน


บล็อกนี้เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังแห่งหนึ่งในวิสุทธานีครับ และพูดอย่างไม่กลัวเชยว่าผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก มาส่งลูกคนโตเรียนพิเศษและถือโอกาสเดินสำรวจไปทั่ว ๆ จากนั้นก็เข้ามานั่งรอลูกและเริ่มเขียนบล็อกนี้ครับ ผมเข้ามาสู่วังวนของโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้งแล้วครับหลังจากหยุดมานานตั้งแต่สมัยที่ให้ลูกไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าป.1 ตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่ามันควรทำหรือไม่ แต่ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ทั้งเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่าควรไปจะได้รู้แนวข้อสอบงั้นจะเสียเปรียบเขา เราก็เลยพาลูกไปเรียน ซึ่งจริงๆ ก็สงสารลูกนะครับและต้องชมเขาอีกครั้งว่าพวกเขาซึ่งตอนที่ไปเรียนนั้นอายุแค่ประมาณห้าขวบ ตื่นกันขึ้นมาแต่เช้าและยอมไปเรียนโดยไม่งอแง

หลังจากสอบเข้าป.1 แล้วผมกับภรรยาก็ไม่ได้ให้ลูกไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาที่ไหนอีก จะมีก็แค่เป็นส่วนเสริมเช่นไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดนตรี ฟุตบอล แต่ถ้าจะเรียนเป็นงานเป็นการก็คือคุมองซึ่งเป็นการเน้นการทำโจทย์คณิตศาสตร์และฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ และถ้าแบ่งเวลาดี ๆ ก็จะใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งจริง ๆ ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าภรรยาผมเธอมีจุดประสงค์แอบแฝงในการให้ลูกไปเรียนคุมอง เพราะเธอต้องการเปิดศูนย์คุมองครับเลยส่งลูกไปเป็นสายลับก่อน :) ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้เปิดศูนย์คุมองสมใจเธอแล้ว   

ถ้าถามว่าทำไมผมถึงไม่ชอบให้ลูกเรียนกวดวิชาคำตอบก็คือผมกับภรรยาไม่คิดว่าการเรียนพิเศษในวิชาที่เรียนอยู่ในห้องมันจะเป็นเรื่องจำเป็นอะไร สำหรับภรรยาผมเท่าที่คุยกันเธอก็ไม่เคยไปเรียนพิเศษที่ไหนเนื่องจากตอนเด็กเธอต้องช่วยที่บ้านขายของ ส่วนผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเองครับ ผมจะใช้วิธีซื้อหนังสือคู่มือมาอ่านแล้วก็ฝึกทำโจทย์ อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าการไปเรียนกวดวิชาเป็นการยัดเยียดอะไรให้ลูกมากเกินไป เราก็เลยสอนลูกให้ตั้งใจเรียนทำความเข้าใจในห้องและหมั่นทบทวนซึ่งลูกก็สอบในโรงเรียนได้ดีโดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษที่ไหน

คราวนี้ทำไมให้ลูกมากวดวิชาอีก เหตุผลเริ่มจากที่ภรรยาผมต้องการให้ลูกคนเล็กลองมาสอบเข้าม.1 ที่โรงเรียนอื่นดูบ้าง เธอให้เหตุผลว่าให้เขามาลองฝีมือดู มาเทียบกับเด็กโรงเรียนอื่นดูบ้าง  ซึ่งเราก็ให้เขามาลองสอบ pre-test  เข้า ม. 1 ซึ่งโรงเรียนดัง ๆ ส่วนใหญ่นิยมจัดกัน ลองให้เขาสอบตั้งแต่เขาอยู่ ป. 5 ผลปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นครับ เจ้าตัวเล็กผมตอนอยู่โรงเรียนเดิมนี่ได้ที่ 1-3 ของห้องมาเกือบตลอด แต่พอมาสอบนี่ไม่ติดอันดับเลย ตอนนั้นเราก็วิเคราะห์กันว่าเพราะเขาอยู่แค่ป. 5 และไม่ได้เตรียมตัวสอบดีเท่าไร  พอเขาอยู่ป. 6 ก็ให้มาลองสอบอีกปรากฏว่าดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ติดอันดับเหมือนเดิม คราวนี้เราก็เลยต้องคิดกันใหม่  ช่วงแรกเราก็เลยหาคู่มือสอบมาให้เขาลองทำซึ่งทำให้รู้ว่าเขาไม่เคยเจอข้อสอบในลักษณะนั้นมาก่อน เท่าที่จำได้และเห็นเด่นชัดก็คือวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งการเรียนในโรงเรียนดูเหมือนจะไม่ได้เน้นพวกโครงสร้างอะตอมอะไรพวกนี้ (อันนี้ที่รู้เพราะเวลาลูกสอบผมมักจะหาเวลามาติวลูก) แต่ในคู่มือกลับมีข้อสอบลักษณะนี้ ซึ่งผมจำได้ว่าสมัยผมกว่าจะเรียนพวกนี้ หรือรู้จักตารางธาตุก็ตอนม.ปลายแล้ว แต่นี่แค่เด็กป. 6 และข้อสอบไม่ได้ถามแค่ให้รู้จักธรรมดายังถามให้คำนวณด้วย หรืออย่างข้อสอบคณิตศาสตร์นี่มันก็จะมีสูตรลัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำตรง ๆ อาจใช้เวลานาน และในบางวิชาถึงจะมีเฉลยแล้วเราก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปอยู่ดี คือผมกับภรรยาก็พยายามช่วยเขา แต่ความที่เราก็ทิ้งวิชาอื่น ๆ นอกจากเลขกับภาษาอังกฤษมานานแล้วทำให้บางครั้งเราก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร  อีกประการที่ผมพยายามฝึกลูกอยู่ก็คือลูกผมไม่เหมือนผมที่ชอบอ่านและทำโจทย์เองครับ ด้วยเหตุผลนี้เราจึงคิดว่าน่าจะลองให้เขาเรียนพิเศษดูและเขาก็น่ารักอีกตามเคยที่ยอมไปเรียนครับ แต่คราวนี้แรก ๆ ก็มีงอแงบ้าง เพราะจริง ๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากย้ายจากโรงเรียนเดิมครับ เราก็ต้องบอกเขาว่าอยากให้เขาไปเรียนเพื่อที่จะเพิ่มความรู้ให้เขาไปลองเทียบฝีมือกับคนอื่นดู ถ้าสอบได้และเขาไม่อยากย้ายก็จะไม่บังคับอะไร

สรุปเจ้าคนเล็กเริ่มเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้าม.1 ช้ามากคือมาเริ่มเรียนตอนป.6 แล้ว ไปสอบสนามแรกก็ไม่ติด มาสนามที่สองก็ยังไม่ติดแต่ที่ผมสังเกตุคือคะแนนเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงสนามสุดท้ายบดินทรเดชา 2 สนามนี้เจ้าคนเล็กอยากเข้ามากครับ เพราะเขาไปได้เพื่อนใหม่ที่เรียนพิเศษด้วยกันและตั้งใจเข้าบดินทร 2 ด้วยกัน  (คิด ๆ ดูนี่เจ้าตัวเล็กผมใจง่ายนะครับ เพื่อนโรงเรียนเดิมเรียนกันมาตั้งหกปีจะทิ้งไปอยู่กับเพื่อนที่เพิ่งเรียนด้วยกันซะแล้ว) ปรากฏว่าเขาสอบติดครับและเพื่อนเขาที่เรียนด้วยกันหลายคนก็ติดด้วย ไม่รู้ว่านี่จะสรุปได้ไหมว่าโรงเรียนกวดวิชามีผลเป็นอย่างมาก ถ้าลูกใครสอบเข้าได้โดยไม่ต้องไปกวดวิชาที่ไหนนี่มาแสดงความเห็นด้วยก็ดีนะครับ มาช่วยบอกหน่อยว่าทำยังไง คือถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ชอบโรงเรียนกวดวิชา แต่มันเหมือนกับว่าถ้าคุณไม่กวดวิชาคุณก็จะเสียเปรียบสู้คนที่กวดไม่ได้  

คราวนี้ก็ถึงรอบคนโตครับเพราะภรรยาผมก็ต้องการให้เขาไปวัดฝีมือสอบเข้าม.4 กับเด็กอื่นอีกแล้ว และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมต้องมาที่วิสุทธานีเป็นครั้งแรก และยังคงจะต้องมาอีกหลายครั้งเพื่อรับส่งเขา ส่วนคนเล็กนี่เราตัดสินใจให้เขาหยุดเรียนพิเศษไว้ก่อนครับ เพราะเราก็ยังเชื่อว่าการตั้งใจเรียนและทบทวนบทเรียนในห้องเรียนน่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งถ้าแค่เรียนในโรงเรียนยังต้องมากวดวิชานี่เราสองคนก็ยังไม่เห็นด้วยครับ เพราะเราคิดว่ามันจะติดเป็นนิสัยจนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งเหตุการณ์นี้เจอกับตัวเองเลย มีลูกศิษย์บางคนเคยเข้ามาถามว่าอาจารย์ไม่รับติวพิเศษบ้างหรือ ซึ่งผมก็บอกว่าเราเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วเราไม่ควรจะต้องมีการมาติวพิเศษอีกแล้ว เราจะต้องหัดเรียนรู้และรับผิดชอบด้วยตัวเองให้ได้ เร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์ด้วยกันแต่อยู่กันคนละมหาวิทยาลัยซึ่งเขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ค่านิยมการเรียนพิเศษมันได้ลามไปถึงระดับป.โทหรือกระทั่งป.เอกแล้ว ฟังแล้วก็อนาถใจ 

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นจากเรื่องโรงเรียนกวดวิชานี้ก็คือเหตุผลของการที่เด็กต้องมาเรียนกวดวิชา ซึ่งผมสรุปเองได้หลัก ๆ สามข้อ หนึ่งคือข้อสอบที่ใช้สอบเข้าไม่ว่าจะระดับไหนไม่ได้ออกตามจุดประสงค์หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่ตรงกับหลักสูตรที่เด็กได้เรียนมา (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น) สองการมาเรียนกวดวิชาทำให้เด็กได้สูตรลัดในการคิดคำนวณซึ่งก็จะได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเพราะจะทำให้ได้คำตอบที่เร็วกว่า (แต่จุดประสงค์ของการสอบต้องการวัดอะไรกันแน่ วัดความเร็วหรือจะวัดกระบวนการคิด) สามครูที่สอนอยู่ในสถานศึกษา(รวมถึงตัวผมด้วย) อาจต้องพิจารณาแล้วว่าทำไมเราจึงสื่ิอสารกับเด็กสู้ติวเตอร์ที่สอนพิเศษเหล่านี้ไม่ได้ บางคนอาจถามว่าแล้วความแตกต่างระหว่างโรงเรียนไม่เกี่ยวหรือ ผมว่าไม่เกี่ยวนะเด็กที่มาเรียนพิเศษที่ผมเห็นอยู่รวมถึงลูกผมด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนดัง ๆ กันทั้งนั้น คือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่โรงเรียนไหนคุณก็ต้องกวดวิชาทั้งนั้น ผมยังเคยคิดเล่น ๆ เลยว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ให้ลูกเรียนกศน.เสียเลยดีไหม แล้วก็มาเรียนกวดวิชาเอา  

ผมเริ่มเขียนบล็อกที่โรงเรียนกวดวิชาแต่สุดท้ายก็มาจบที่บ้านครับ ยังไงเสียบ้านก็จะเป็นที่บ่มเพาะสำคัญให้ลูก ๆ ของเราเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศชาติต่อไป ช่วยกันทำบ้านให้อบอุ่นเพื่อลูกหลานของเรากันนะครับ วันนี้จบมันแบบไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมาแบบนี้แหละ สวัสดีครับ...

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อำนาจอยู่ในมือเราแล้วไปเลือกตั้งกันครับ

สวัสดีครับผมไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน วันนี้ขอเขียนหน่อยเพราะอยากจะร่วมรณรงค์ให้ออกไปเลือกตั้งกันวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้ครับ จริง ๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้มันดีขึ้นมาได้ทันตาเห็นหรอกนะครับ เพราะนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งก็หน้าเดิม ๆ มีแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่บอกว่าจะปรองดองกันก็ทำได้แต่ปากพูด เพราะเท่าที่เห็นหาเสียงกันอยู่ตอนนี้ก็มีแต่สาดโคลนใส่กัน เอาเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงกล่าวหากันไปมา ฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งสั่งฆ่าคน อีกฝ่ายก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเผาบ้านเผาเมืองทั้งที่ความจริงเป็นอย่างไรก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ทำกันแบบนี้ประเทศชาติคงจะสงบได้หรอกเพราะประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ออกมาตอบโต้กันไปมาสนับสนุนฝ่ายที่ตัวเชียร์อยู่ เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าถ้าอย่างนั้นเราจะไปเลือกตั้งกันทำไม คำตอบคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแสดงพลังอำนาจของประชาชนอย่างพวกเราที่ถูกปล้นไปโดยผู้คนหลายกลุ่ม (ถ้าใครลืมไปแล้วเดี๋ยวผมจะทวนให้ฟังต่อไป) และหวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศเรากลับมาสู่ระบบอีกครั้งถ้าทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่บอกไว้ 

คราวนี้ผมจะทวนให้ฟังครับว่าอำนาจของเราถูกใครปล้นไปบ้าง เริ่มจากกลุ่มแรกเลยครับก็คือกลุ่มคนที่ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์กับทหารที่ทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 จริง ๆ ผมเคยคิดนะครับว่าการปฏิวัติสมัย รสช. คงจะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศแล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นอีก จริง ๆ กลุ่มคนที่ใช้เสื้อเหลืองนี่ผมก็ไม่อยากจะเหมารวมไปทุกคนนะครับ เอาเป็นว่าขอเน้นไปที่แกนนำแล้วกัน แกนนำยุยงปลุกปั่นด้วยเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างให้ประชาชนออกมารวมตัวกัน จนทหารมีข้ออ้างออกมาปฏิวัติ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเรากำลังจะมีการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว ซึ่งคนเสื้อเหลืองและทหารไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วพรรคที่ตัวเองต้องการจะได้มาบริหารประเทศหรือไม่ และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือหลังจากการปฏิวัติแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่ที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติก็ไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่การปฏิวัติทิ้งไว้ให้เราคือความแตกแยก และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับเพราะมีการลงมติ แต่การลงมติที่ว่านั้นอยู่ในบรรยากาศที่ว่าให้รับ ๆ ไปก่อนเพราะถ้าไม่รับคณะปฏิวัตินี้ก็จะยังคงปกครองประเทศเราอยู่ต่อไป และสุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ทั้งเสื้อเหลืองและทหารไม่อยากให้เข้ามาก็ชนะได้เข้ามาอยู่ดี 

แต่เอาล่ะครับอย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ทำให้เราได้อำนาจคืนมาบ้าง แต่ก็ได้มาไม่นานส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่รู้จักหลาบจำ ไปทำเรื่องที่เป็นเหตุให้คนเสื้อเหลืองหาเหตุระดมคนออกมาชุมนุมอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ผมคิดว่าถ้าประเทศเราอยู่ในสถานการณ์ปกติมันไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่นการที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องถูกปลดเพราะไปออกรายการทำกับข้าว พอเปลี่ยนนายกมาเป็นอีกคนหนึ่งก็ยังไม่ถูกใจคนเสื้อเหลือง ก็เลยทำการชุมนุมเลยเถิดสร้างความเดือดร้อนไปทั่วไปยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นแรมเดือน จนถึงขั้นไปทำนากันอยู่ในนั้น และยังไปยึดสนามบินนานาชาติ ทำเอาเศรษฐกิจของชาติเสียหายไปมากมาย และที่น่าโมโหสำหรับผมก็คือคนเสื้อเหลืองอ้างอีกว่านี่คื่อเสียงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปเพราะคนเสื้อเหลืองไม่ได้รับการเลือกตั้งมา ส่วนทหารก็ให้ความร่วมมือด้วยการอยู่เฉย ๆ ไม่่ิออกมาทำอะไรทั้งที่รัฐบาลมอบหมายหน้าที่ให้ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องจากไปแต่ไม่ใช่เพราะคนเสืิ้อเหลืองแต่เป็นเพราะสาเหตุอื่น นั่นคือการถูกยุบพรรคของแกนนำรัฐบาล 

คราวนี้การเมืองก็พลิกขั้วมาเป็นอีกฝ่ายหนึ่งได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็พอจะทำใจรับได้ (ถึงแม้มันจะดูไม่โปร่งใสอยู่บ้าง) เพราะอย่างน้อยคนเหล่านั้นก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามา เรียกว่ายังอยู่ในระบบ แต่อำนาจของเรากลับถูกโขมยไปอีกจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ขอเน้นที่แกนนำเช่นกัน) ที่ใช้เสื้อสีแดง คนกลุ่มนี้ที่เคยด่าเสื้อเหลืองไว้ว่าทำอะไรไม่คิดทำให้ประเทศชาติเสียหายก็ทำซะเอง เริ่มตั้งแต่ไม่ได้สนใจว่าตัวเราเองเป็นเจ้าบ้านจัดการประชุมสำคัญระดับนานาชาติ ไปประท้วงจนเกิดความวุ่นวายจนแขกบ้านแขกเมืองต้องหนีขึ้นเรือออกไปกลางทะเลเพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้านเป็นภาพที่อเนจอนาถเหลือเกิน หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ความพยายามที่จะลดความขัดแย้งก็ทำอย่างไม่จริงใจ จนในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็กลับมาอีกครั้ง และก็ประท้วงมาเลยเถิดไปยึดแยกราชประสงค์จนเกิดความเสียหายไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร และในที่สุดมันก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดจนเป็นปัญหากันอยู่ตอนนี้ และเหมือนเดิมคนกลุ่มนี้ก็อ้างว่านี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ นี่มันโขมยอำนาจของเราไปชัด ๆ นะครับ คนสองกลุ่มนี้เราไม่ได้เลือกเข้ามา (ถึงแม้ในแต่ละกลุ่มอาจมีส.ส.อยู่แต่ก็มีไม่กี่คน) 

ทั้งหมดก็คือการสรุปคร่าว ๆ ของกลุ่มคนที่มาเอาอำนาจที่อยู่ในมือเราออกไป ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้อำนาจได้กลับมาอยู่ในมือเราแล้ว ขอให้เราออกไปแสดงให้เขาเห็นครับว่าเราต้องการให้ประเทศเป็นไปอย่างไร ถึงแม้เราจะได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ กลับเข้ามา แต่ก็หวังว่าเขาจะทำตัวดีขึ้นและเราก็ติดตาม ถ้าเขายังทำตัวไม่ดีเราก็ใช้ช่องทางตามที่กฏหมายกำหนดเช่นการเข้าชื่อหรืออะไรก็ว่าไป ซึ่งฝ่ายค้านน่าจะมาชี้นำประชาชนในจุดนี้มากกว่าที่จะไปสนับสนุนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเข้าข้างฝ่ายตัวเองบนถนน (หวังว่าจะไม่มีอีก) และถ้ายังทำอะไรไม่ได้จริง ๆ (ผมคิดว่าถ้ามันแย่จริง ๆ หรือมีหลักฐานชัดมันน่าจะทำได้) เราก็รอให้ครบเทอมครับจนอำนาจกลับมาอยู่ในมือเราอีกครั้ง ทหารควรจะเอาคำว่าปฏิวัติทิ้งไปได้แล้ว ให้ระบบมันดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง และผมเชื่ออย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่าถ้าเรายอมอยู่ในระบบจนคนดีมีความสามารถเขามีความมั่นใจเขาก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองครับ 

สุดท้ายผมอยากบอกว่าประเทศเราโชคดีที่ยังไม่เป็นอย่างลิเบีย ซึ่งผมคิดว่าคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลตอนแรกอาจจะไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์มันจะบานปลายมาถึงขนาดนี้ ถ้าเขารู้เขาอาจจะไม่ทำ ดังนั้นพวกเราโชคดีครับที่ยังมีโอกาส ออกไปเลือกตั้งกันครับและยอมรับผลการเลือกตั้ง ติดตามดูผลงานของคนที่เราเลือกและไม่ได้เลือกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งหน้า และขอฝากนักการเมืองทั้งหลายให้เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยคิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก เลิกสร้างความขัดแย้ง ทำงานให้สมกับที่ประชาชนไว้ใจเลือกเข้ามาเป็นตัวแทน ผมว่าถ้าเป็นได้อย่างนี้ประเทศเราจะเดินไปข้างหน้าได้โดยเริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ครับ