แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ งานวิจัย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ งานวิจัย แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ฤาคดี Siri จะได้ข้อยุติแล้ว? พร้อมชัยชนะของนักวิจัยไทย

ผมไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก เนื่องจากไม่ว่าง บวกกับไม่ค่อยมีอารมณ์อยากจะเขียน เพราะบรรยากาศในตอนนี้มันไม่อำนวยให้เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน แต่เรื่องนี้คงไม่เขียนไม่ได้ครับ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสามหรือสี่ปีที่แล้วคือเรื่องนี้ครับ  เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย? สำหรับคนที่ไม่อยากเข้าไปอ่านก็ขอสรุปให้ตรงนี้นิดหนึ่งครับคือ บริษัท Dynamic Advances ได้ยื่นฟ้องบริษัท Apple เรื่องการละเมิดสิทธิบัตรงานวิจัยที่ชื่อว่า Natural Language Interface โดยบริษัทได้ฟ้อง Apple ว่าได้นำงานวิจัยนี้ไปใช้กับ Siri โปรแกรมผู้ช่วยแสนฉลาดที่ผู้ใช้ iOS ทุกคนคงรู้จักดี ซึ่งสิทธิบัตรตัวนี้ถูกจดโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่  New York คือ Professor Cheng Hsu และนักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พูดง่าย ๆ ว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของนักวิจัยชาวไทยโดยตรงเลยครับ

และในวันนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวกำลังจะได้ข้อยุติแล้วครับ โดยข้อมูลจาก timesunion บอกว่า Apple ได้ยอมตกลงที่จะจ่ายเงิน 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะยุติคดีนี้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล ตามข่าวเขาบอกว่าโฆษกของทาง RPI กับ Apple ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เพิ่มเติมกับข่าวนี้ ซึ่งถ้าจบแบบนี้ก็หมายความว่าส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญของ Siri ด้วย เป็นผลงานของนักวิจัยไทยเรานี่เอง  ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งของรศ.ดร.วีระ บุญจริง และเคยมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในงานนี้ ก็อดที่จะภูมิใจด้วยไม่ได้ครับ นับว่าเป็นข่าวดี ๆ ที่น่าเขียนถึงในช่วงนี้จริง ๆ ครับ

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเขียนบทสรุปและข้อเสนอแนะในตัวเล่มงานวิจัย

การเขียนบทสุดท้ายในงานวิจัยซึ่งก็คือบทสรุปและข้อเสนอแนะดูเหมือนจะเป็นอีกบทหนึ่งที่ยากสำหรับนักวิจัยหลาย ๆ คน เพราะไม่รู้ว่าควรจะต้องเขียนอะไรบ้าง บางคนเขียนไปเขียนมาก็กลายเป็นเหมือนกับบทคัดย่อ หรือบางคนก็เขียนไปเขียนมากลายเป็นบทนำไปเลย ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่าในบทนี้จุดประสงค์ของมันคืออะไรและควรจะมีอะไรอยู่ในบทนี้บ้าง ตอนแรกผมก็ว่าจะเขียนสรุปขึ้นมาเอง แต่ก็รู้สึกอยากหาทางลัดบ้างก็เลยลองค้นจาก Google ดูว่ามีใครที่เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้ดี ๆ บ้างก็ได้เจอสไลด์สรุปของ คุณ Louise Edwards ซึ่งเขียนไว้ที่ Acedimia.edu ซึ่งผมเห็นว่ามันค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมจะอยากจะเขียนครับก็เลยเอามาสรุปให้ฟังกัน

แต่ก่อนจะมาดูว่ามีอะไรอยู่บ้างเรามาดูประโยชน์ของการเขียนบทนี้กันก่อนดีกว่าครับ คุณ Louise Edwards ได้เขียนสรุปไว้ได้ค่อนข้างตรงประเด็นทีเดียวครับกล่าวคือประโยชน์แรกก็คือเมื่อคุณต้องนำเสนองานวิจัยของคุณต่อคณะกรรมการสอบ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทที่กรรมการสอบมักจะอ่านเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดโดยรวมและผลลัพธ์ของงานวิจัย ประเด็นคือคณะกรรมการสอบอาจจะไม่ได้อ่านงานวิจัยของคุณต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ แต่อาจจะอ่าน ๆ หยุด ๆ เป็นช่วง ๆ ดังนั้นบทนี้และบทนำจะช่วยให้กรรมการสามารถเข้าใจงานคุณได้เร็วขึ้น ประโยชน์ประการที่สองคือประโยชน์ต่อตัวคุณเองถ้าคุณมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และต่อมาคุณต้องการเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับงานของคุณ บทนี้จะเป็นบทที่ทำให้คุณปะติดปะต่องานที่คุณทำได้เร็วขึ้น

เอาล่ะครับหลังจากเห็นประโยชน์บางประการของบทนี้กันไปแล้ว เรามาดูว่าบทนี้ควรมีอะไรอยู่บ้าง อันแรกก็คือส่วนสรุป และอีกส่วนหนึ่งก็คือข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าบทนี้ของเราจะต้องแบ่งออกเป็นแค่สองส่วนนะครับ เช่นในส่วนสรุปอาจแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ อีกก็ได้ ส่วนสรุปก็คือการนำทุกส่วนในรูปเล่มของเรานำมาร้อยเรียงเชื่อมกันเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพรวมของงานวิจัยของเราอีกครั้ง ในส่วนนี้ก็มักจะประกอบด้วยเราทำวิจัยเกี่ยวกับอะไร ประเด็นหลักของงานคืออะไร เราทำวิจัยอย่างไร เราค้นพบอะไรจากงานวิจัยนี้ งานวิจัยนี้มีข้อดีเมื่อเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้าอย่างไร แต่การสรุปแบบนี้อย่างเดียวยังไม่พอครับในส่วนนี้เราจะต้องเน้นให้เห็นประโยชน์ ความสำคัญ ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยนี้ และข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ ข้อจำกัดก็คือส่วนที่จะแสดงให้เห็นถึงว่าเราทำงานวิจัยนี้ภายใต้ขอบเขตหรือสภาพแวดล้อมแบบใด มีปัญหาอะไรที่เรายังไม่ได้แก้หรือยังไม่ได้ทดสอบ เช่นบอกว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบและทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.1.2  หรือเราได้ทดลองระบบของเราโดยใช้ข้อมูลจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบัน... เป็นกรณีศึกษา ซึ่งถ้านำไปใช้กับข้อมูลของสถาบันอื่นอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนเป็นต้น ในส่วนของข้อเสนอแนะจะเป็นส่วนที่แนะนำการทำวิจัยต่อไป เช่นการนำเสนอให้ทดลองโดยใช้ชุดข้อมูลใหม่ หรือทดลองกับข้อมูลชุดเดิมโดยใช้ขั้นตอนวิธีใหม่ หรือทดลองและปรับปรุงโปรแกรมให้ทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันอื่น หรืออุปกรณ์ที่มีขนาดหน้้าจอที่หลากหลายเป็นต้น

คุณ Louise Edwards ได้สรุปไว้ว่าซึ่งที่จะต้องมีในบทนี้ก็คือการเขียนที่ชัดเจนและเน้นให้เห็นประโยชน์และความรู้ใหม่ที่ได้จากงานวิจัย ในบทนี้จะต้องแสดงถึงความเชื่อมโยงของแนวคิดหลักที่กระจัดกระจายอยู่ในบทต่าง ๆ ของตัวเล่มของเรา ควรจะแสดงถึงความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของเราในด้านงานวิชาการ และต้องให้ผู้ที่อ่านงานวิจัยของเรามีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเราครับ คือเขาอ่านจบแล้วเขาควรจะต้องเข้าใจงานของเราและเชื่อถือหรือยอมรับในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่พออ่านเสร็จก็มีคำถามเต็มไปหมดว่าไอ้คนนี้มันทำอะไร มันทดลองอะไร ทำไมมันทำแบบนี้ แล้วผลการทดลองมันน่าเชื่อถือได้หรืออะไรประมาณนี้

นอกจากสิ่งที่ควรต้องทำหรือต้องเขียนแล้ว คุณ Louise Edwards ก็แนะนำถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงด้วย ซึ่งผมก็ว่าสำคัญนะครับ เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง ส่วนแรกที่ไม่ควรจะอยู่ในบทนี้ก็คือการอ้างหรือนำสิ่งที่เรายังไม่ได้ทดสอบมาใช้ เช่นบอกว่าโปรแกรมนี้น่าจะทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Black Berry  ด้วยโดยผ่านทางระบบอีมูเลเตอร์ทั้งที่เราก็ไม่เคยได้ทดสอบ อีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งส่วนนี้ผมมักจะพบบ่อย ๆ) ก็คือการนำเสนอแนวคิดใหม่หรือหัวข้อใหม่ซึ่งไม่เคยพูดถึงมาก่อนในบทใด ๆ ในตัวเล่มงานวิจัย อีกจุดที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงข้อจำกัดของงานวิจัยเราครับ เพราะมันจะทำให้ผู้อ่านมองว่างานวิจัยของเราไม่น่าเชือถือ นอกจากนี้เราควรจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเสนอแนะที่เป็นไปในทางปฏิบัติมาก ๆ เช่นพูดถึงวิธีการปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์โปรแกรมหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้เขียนไว้ที่ภาคผนวกครับ และสุดท้ายก็คืออย่าให้บทนี้ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป ถ้าบทนี้จะยาวเกินไปส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เราเขียนซ้ำไปซ้ำมาครับ สิ่งที่ผมมักจะเจอก็คือบางทีไปเอาผลการทดลองซึ่งอยู่ในบทก่อนหน้าเอามาใส่ซ้ำในบทสรุปอีกทีหนึ่ง หรือไปคัดลอกเอาส่วนของบทนำมาใส่เป็นต้น แต่ถ้าเขียนสั้นเกินไปผลก็คือเราอาจจะไม่ได้พูดถึงสิ่งสำคัญที่งานวิจัยของเราได้นำเสนอ

ก็หวังว่าคงพอจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอรวบรวมบล็อกที่เกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยของผมมาไว้ที่นี่นะครับเพื่อความสะดวกในการอ้างถึง

การเขียนบทคัดย่อ
การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)
การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ
Use Case Diagram ไม่ใช่ Flowchart นะจะบอกให้ (อันนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับบทที่สามสำหรับด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

อ้างอิง: Writing the Conclusion Chapter for your Thesis

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

จริง ๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จะต้องตอบคำถามว่าบทที่สองในรูปเล่มรายงานปริญญานิพนธ์ (ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) ต้องเขียนอะไรบ้าง วันนี้ก็โดนถามอีกก็เลยคิดว่ามาเขียนบล็อกให้แนวทางในการเขียนสักหน่อยก็น่าจะดี นอกจากจะเป็นประโยชน์กับลูกศิษย์ตัวเองแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาที่ต้องเขียนปริญญานิพนธ์ และที่สำคัญก็คือตัวเองจะได้ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะซ้ำ ๆ หลายรอบ :)

บทที่สองจุดประสงค์จริง ๆ ก็คือให้คุณได้เขียนอธิบายถึงหลักการและทฤษฎีที่คุณจะนำมาใช้เป็นหลักในการทำวิจัย และวิเคราะห์และสรุปการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ ส่วนที่เป็นปัญหาที่เจอมากที่สุดก็คือทฤษฎีจะเขียนอะไร บางคนก็เข้าใจว่าอะไรที่ตัวเองใช้ก็คือทฤษฎี ดังนั้นในสมัยก่อนที่เจอบ่อยก็คือจะเริ่มต้นด้วยว่าฐานข้อมูลคืออะไร อธิบายการออกแบบ การเขียน ER ไปจนถึง primary key, candidate key เป็นต้น ซึ่งพอถามว่าจะเขียนมาทำไม ก็ได้รับคำตอบว่านี่คือทฤษฎีที่ต้องใช้ในการออกแบบฐานข้อมูล พอเจอคำตอบอย่างนี้ผมก็เลยถามกลับว่าถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่เขียนมาด้วยล่ะว่าการเขียนโปรแกรมคืออะไร การคอมไพล์โปรแกรมทำยังไง หรือการวิเคราะห์หรือออกแบบระบบคืออะไร เพราะก็ต้องใช้ในการพัฒนาโปรแกรมเหมือนกันไม่ใช่หรือ พอเจอคำถามนี้เข้าไปก็เงียบกันไปหมด   รุ่นหลัง ๆ นี้ก็เลยไม่เขียนกันแล้วว่าฐานข้อมูลคืออะไร แต่ไปเขียนว่าแอนดรอยด์คืออะไร จะเขียนโปรแกรมบนแอนดรอย์ต้องทำยังไงแทน เฮ้อ....  แต่ที่เจอแล้วมึนที่สุดก็คือเขียนอธิบายมาว่าเว็บเบราซ์เซอร์คืออะไร เหตุผลที่เขียนมาก็คือเพราะตัวเองทำเว็บแอพพลิเคชัน เว็บเบราซ์เซอร์ก็เลยเป็นทฤษฎีที่ใช้ส่วนหนึ่ง เวรกรรมจริง ๆ

ผมมานั่งวิเคราะห์ปัญหาดูว่าทำไมเราถึงเขียนอะไรกันอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าปัญหาอาจมาจากคำว่าอย่าเขียนอะไรโดยคิดว่าคนอ่านรู้อยู่แล้ว แต่จริง ๆ มันมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นนะครับคือเราต้องคิดว่าคนอ่านอย่างน้อยก็น่าจะอยู่ในฟิลด์ของเรา (คอมพิวเตอร์) ดังนั้นเขาควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องพวกฐานข้อมูล หรือการพัฒนาโปรแกรมอยู่แล้ว หรือถ้าเขาเป็นนักคอมพิวเตอร์แต่ไม่รู้วิธีการเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ เขาก็ควรไปหาอ่านจากหนังสือทางด้านนี้โดยตรง งานวิจัยของเราคงไม่ได้มีจุดประสงค์จะมาสอนใครให้เขียนโปรแกรมแอนดรอยด์เป็นใช่ไหมครับ ดังนั้นอันแรกครับพวกความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมไม่ว่าแพล็ตฟอร์มไหนนี่ตัดทิ้งไปได้เลยครับ เวลาเขียนบทที่สองให้คิดไว้ครับว่าคนอ่านเขาคงไม่ได้เข้ามาอ่านงานของเราเพื่ออ่านทฤษฎีพื้นฐานที่หาอ่านได้ทั่ว ๆ ไป หรือมีการเรียนการสอนกันอยู่แล้วนะครับ

แล้วจะเขียนอะไรดีล่ะในส่วนทฤษฎีนี้ คำตอบที่ผมมักจะให้นักศึกษาใช้เป็นแนวทางคือ มีทฤษฎีหรือความรู้อะไรที่คนที่อ่านงานของคุณในบทที่สาม (การดำเนินการวิจัย/การวิเคราะห์และออกแบบระบบ) จำเป็นต้องรู้บ้างไหม ถ้ามีก็ให้เขียนไว้เพื่อที่เขาจะได้กลับมาอ่านเป็นแนวทางได้ แต่ก็เอาเฉพาะที่จำเป็น ส่วนที่เป็นรายละเอียดมาก ๆ ก็ให้เป็นเอกสารอ้างอิงไป ตัวอย่างเช่นสมมติว่าคุณต้องทำโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ GPS และต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ GPS ลงฐานข้อมูล ก็ไม่แปลกอะไรที่คุณจะมีทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลที่ GPS ต้องใช้  จะเห็นนะครับว่าอย่างเรื่อง GPS นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นพื้นฐานใช้กันทั่วไป และการที่คุณให้ข้อมูลตรงนี้ไว้ มันก็จะช่วยให้คนอ่านในบทที่สามของคุณเข้าใจว่าทำไมคุณต้องมีฟิลด์ที่ใช้เก็บข้อมูลนี้ในตารางในฐานข้อมูลของคุณ หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่ง ถ้างานเราต้องใช้การติดต่อกับ Social Network อย่าง Twitter หรือ Facebook ก็ถือว่าโอเคนะถ้าจะมีส่วนที่แสดงให้เห็นว่าการติดต่อกับ Social Network เหล่านี้ทำได้โดยผ่าน API และมันมีข้อมูลหรือบริการอะไรที่เราใช้ได้บ้าง เพราะตรงนี้มันก็อาจอธิบายถึงการออกแบบในบทที่สามของเราเมื่อต้องทำงานกับส่วนนี้ ส่วนถ้างานของเราเน้นที่การพัฒนาโปรแกรม ไม่ได้ใช้อะไรจริง ๆ นอกจากทักษะด้านออกแบบและการพัฒนาโปรแกรม ผมว่าจะไม่มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเลยก็ไม่แปลกนะ เพราะบทนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะให้คุณได้แสดงทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์

ในส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องถ้าใครที่ทำงานที่เน้นไปที่ด้านการวิจัย สิ่งที่ต้องทำก็คือให้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ แต่ไม่ใช่ไปลอกงานเขามาใส่งานเรานะครับ แต่ทีต้องทำก็คือศึกษาและวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของงานวิจัยที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงต้องทำงานชิ้นนี้ จากนั้นก็เขียนสรุปงานของเขาและส่วนของการวิเคราะห์ด้วยคำพูดของเราเอง ส่วนคนที่ทำำแอพพลิเคชันก็ต้องเขียนเพื่อตอบให้ได้ว่าทำไมต้องทำแอพลิเคชันนี้ ถ้ามันยังไม่มีิอยู่เลยก็ต้องหาที่มาของข้อกำหนดความต้องการให้ได้ เช่นถ้าจะพัฒนาระบบงานเพื่อช่วยทำอะไรก็ต้องชี้ให้เห็นว่าระบบเดิมที่เขาทำด้วยคนโดยไม่มีโปรแกรมนี่มันมีการทำงานอย่างไร ระบบเดิมมีปัญหาตรงไหน  หรือถ้าจะทำแอพพลิเคชันที่มีคนทำอยู่แล้ว ก็ศึกษาข้อดีข้อด้อยของแอพลิเคชันเหล่านั้น แล้วก็นำมาเขียนอาจจะเป็นลักษณะของการรีวิวก็ได้  ซึ่งสิ่งที่เราศึกษาและวิเคราะห์มาก็จะนำไปสู่ข้อกำหนดความต้องการของระบบที่เราจะพัฒนาขึ้นนั่นเอง

คิดว่าจากที่เขียนมาทั้งหมด ก็คงจะพอทำให้เห็นแนวทางการเขียนบทที่สองของงานปริญญานิพนธ์ได้มากขึ้นนะครับ ซึ่งถึงแม้ผมจะเน้นและยกตัวอย่างด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่คิดว่าก็อาจนำไปปรับใช้กับงานวิจัยด้านอื่นได้เช่นกัน

สุดท้ายก็ขอนำบล็อกที่เคยเขียนเกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยมาใส่ลิงก์ไว้ให้ตรงนี้ เพื่อความสะดวกในการค้นหาครับ

การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ

การเขียนบทคัดย่อ

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

การเขียนบทคัดย่อ

เข้าสู่เทศกาลสอบ Senior Project กันแล้วนะครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องเขียนในเอกสารก็คือบทคัดย่อ แต่ปัญหาคือหลายคนไม่รู้ว่าในบทคัดย่อต้องเขียนอะไร แม้แต่ปริญญาโทบางคนก็อาจยังไม่รู้ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้หลายปีแล้วที่ เว็บบอร์ดของ Computer Science KMITL วันนี้ขออนุญาตเอามาเล่าซ้ำให้ฟังอีกครั้งแล้วกันครับ โดยมีการแก้ไขเล็กน้อย

เริ่มต้นจากบทคัดย่อคืออะไรและสำคัญอย่างไร บทคัดย่อก็คือการสรุปงานวิจัยที่สมบูรณ์ในรูปแบบที่สั้นและกระชับ ความสำคัญของบทคัดย่อก็คือถ้าเราเขียนได้ดี ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจภาพรวมของงานวิจัยเราได้ และเขาอาจประเมินงานวิจัยของเราได้เลยว่าน่าสนใจ มีประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องอ่านรายละเอียดของงานวิจัยเราทั้งหมด คนที่อยู่ในแวดวงวิจัยคงจะทราบดีนะครับว่า เวลาเราจะหาหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจ ในตอนแรกเราไม่ได้อ่านรายละเอียดทั้งหมดในเอกสาร เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็คงต้องเสียเวลาไปมากกว่าจะเลือกเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ได้  ดังนั้นวิธีการที่เราใช้กันก็คืออ่านจากบทคัดย่อก่อน คัดกรองเรื่องที่คิดว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ กับเรา แล้วจึงจะอ่านในรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นบทคัดย่อที่ดีจึงเป็นประโยชน์กับวงการวิจัยมาก อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการเขียนบทคัดย่อที่ดีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและนักศึกษาปริญญาเอกในที่ปรึกษาก็คือ  ผมและนักศึกษาได้รับเชิญให้เขียนบทความวิจัยลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาให้เหตุผลในการเชิญคือเขาอ่านจากบทคัดย่อจากบทความวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ (conference) แล้วคิดว่างานวิจัยดังกล่าวน่าสนใจ ขอให้เขียนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสาร ถึงตรงนี้ก็คงเห็นความสำคัญของการเขียนบทคัดย่อที่ดีกันบ้างแล้วนะครับ

คราวนี้ในบทคัดย่อควรมีอะไรบ้าง ผมขออ้างอิงจากเว็บของมหาวิทยาลัย Berkeley ดังนี้ครับ


  1. แรงจูงใจในการทำวิจัย/ความสำคัญของปัญหา ในส่วนนี้จะบอกว่าทำไมเราจึงสนใจปัญหานี้ มีประเด็นอะไรที่งานวิจัยของเราจะเข้าไปแก้ไข
  2. วิธีการในการวิจัย ในส่วนนี้จะอธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยของเรา เพื่อให้เห็นว่าเราได้ผลลัพธ์มาอย่างไร 
  3. ผลลัพธ์ ในส่วนนี้จะอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ โดยจะบอกว่าเราได้เรียนรู้ หรือได้พัฒนาอะไรขึ้นมา
  4. สรุป เป็นส่วนที่บอกว่างานที่ได้นั้นมีประโยชน์อย่างไร ประเด็นก็คือมันสามารถตอบคำถามในข้อ 1 ได้อย่างไร
คราวนี้มาลองดูตัวอย่างบทคัดย่อสักตัวอย่างหนึ่งนะครับเผื่อจะเห็นภาพมากขึ้น อันนี้มาจากปัญหาพิเศษล่าสุดที่ผมเป็นที่ปรึกษาครับ

เป็นที่ยอมรับกันในวงการการศึกษาว่าการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งผลที่ได้จากกลไกนี้ก็คือผู้สอนสามารถที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้โดยง่าย ผู้เรียนจะได้เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งและมองเห็นการพัฒนาของตนเอง ส่วนผู้ปกครองก็จะได้รับรู้ข้อมูลพัฒนาการของบุตรหลานและสามารถร่วมมือกับโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมาสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการมีระบบสารสนเทศที่เหมาะสม ปัญหาพิเศษนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบสารสนเทศการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเป็นเว็บแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในการพัฒนาระบบนี้ผู้พัฒนาได้ใช้โรงเรียน... เป็นกรณีศึกษา การทดสอบระบบทำโดยการเก็บข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองจำนวนสองห้อง ผลการทดสอบพบว่าระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นและแสดงผลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ