วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ห้าอันดับบทความยอดฮิตประจำปี 2012

ขอเริ่มต้นบล็อกสุดท้ายของปีนี้ด้วยการอัญเชิญอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงดลบันดาลให้ประเทศของเราสงบสุข และขอให้ทุกท่านที่คิดดีทำดีมีความสุขสมหวังตลอดปีใหม่นี้และตลอดไปนะครับ เวลาปีปีหนึ่งผ่านไปเร็วมากครับ ยิ่งปีนี้ทำไมไม่รู้ผมรู้สึกว่ามันผ่านไปเร็วเป็นพิเศษ มีปณิธาณปีใหม่ที่ผมตั้งใจจะทำในปีนี้ตั้งหลายข้อที่ยังทำไม่ได้หรือยังทำไม่เสร็จ สงสัยปีนี้ต้องตั้งปณิธาณว่าขอทำปณิธาณให้สำเร็จซะละมั้งเนี่ย สำหรับบล็อกสุดท้ายของปีนี้ก็ขอเลียนแบบชาวบ้านเขาคือจัดอันดับบล็อกยอดนิยมในปีนี้ 5 อันดับนะครับ เผื่อใครสนใจและพลาดไม่ได้อ่านไป จะได้เข้าไปอ่านกันได้ เริ่มเลยแล้วกันครับว่ามีอะไรบ้าง


  1. เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย? บล็อกนี้มียอดดู 3295 ครั้งทีเดียวครับ
  2. iPhone 5 ไม่ว้าว แต่ iPod touch รุ่น 5 นี่โดนใจจริง ๆ อันนี้มียอดดู 861 ครั้งครับ 
  3. การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์) ยอดดูอยู่ที่ 804 ครั้งครับ
  4. การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ ยอดดูอยู่ที่ 663 ครั้งครับ
  5. คำเตือนสำหรับผู้ที่จะใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษี ยอดดูอยู่ที่ 573 ครับสำหรับบล็อกนี้ 
นั่นก็คือบทความที่มียอดดูสูงสุดห้าอันดับแรกสำหรับบล็อกผมในปี 2012 ครับ ก็อาจไม่ได้มียอดอ่านหลักหมื่นหลักแสนเหมือนกับบล็อกที่ดัง ๆ ทั้งหลายนะครับ แต่สำหรับผมผมก็ดีใจแล้วครับที่ได้แบ่งปันเรื่องราวที่คิดว่ามีประโยชน์ให้กับทุกคนที่ได้เข้ามาอ่าน แต่ถ้าถามว่าผมชอบบล็อกไหนมากที่สุดมันกลับไม่ใช่บล็อกที่ติดอยู่ในห้าอันดับแรกนี้ครับ แต่เป็นบล็อกลำดับที่หกซึงคือ จะทำยังไงเมื่อ Facebook คิดว่าเราตายไปแล้ว 

สรุปในปีนี้ผมเขียนไปทั้งหมด 21 บล็อก ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย ก็หวังว่าปีหน้าจะสามารถวางแผนงานเพื่อให้เขียนได้มากกว่านี้ และก็หวังว่าจะยังมีผู้อ่านติดตามผลงานของผมต่อไปนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ... 

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สัญญาณสิบประการที่บอกว่าเราอาจไม่เหมาะกับงานด้านไอที

จะปีใหม่แล้วเห็นหลาย ๆ ที่ เขาจัดอันดับนู่นนี่นั่นประจำปีกัน ผมก็เลยลองหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ว่า เราจะเอาอะไรมาเขียนจัดอันดับกับเขาดีไหม ค้นไปค้นมาก็มาเจอบล็อกนี้เข้าครับ 10 signs that you aren't cut out for IT ไม่ได้เกี่ยวกับการจัดอันดับอะไร แต่เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยเอามาเล่าให้ฟังกันครับ คือในบล็อกนี้เขาได้สรุปสัญญาณ 10 ประการว่าถ้าเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานอยู่ในสายไอทีแล้ว อาจต้องกลับมาคิดว่าเราเหมาะกับงานนี้หรือไม่ ลองมาดูกันครับ

 1. คุณเป็นคนไม่อดทน เขาอธิบายว่างานสายนี้ต้องอดทนในการแก้ปัญหา และยังต้องอดทนกับผู้ใช้อีกด้วย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ผมหลีกเลี่ยงไม่รับงานพัฒนาระบบมานานมากแล้ว เพราะผมเบื่อผู้ใช้นี่แหละ
2.  คุณเป็นคนที่ไม่ชอบที่จะเรียนต่อไปเรื่อย ๆ อันนี้เหมือนที่ผมบอกนักศึกษาเสมอครับว่าเทคโนโลยีด้านนี้มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด ดังนั้นเราจะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้เสมอ
3.  คุณไม่ยอมทำงานนอกเวลา (9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น) ชัด ๆ ครับ งานด้านนี้ต้องพร้อมทำงานนอกเวลาเสมอ โปรแกรมยังไม่เสร็จแต่ใกล้ถึงเส้นตายแล้ว เซอร์ฟเวอร์ล่มตอนเที่ยงคืนอะไรประมาณนี้ ซึงพูดถึงตรงนี้ผมยังแปลกใจมุนินทร์(แรงเงา) นะครับ ว่าทำไมมีเวลาไปวางแผนแก้แค้นใครต่อใครได้ร้ายกาจอย่างนั้น
4. คุณไม่ชอบคน เขาบอกว่างานด้าน IT มีจุดประสงค์หลักอันหนึ่งก็คือสนับสนุนผู้ใช้ ดังนั้นถ้าคุณไม่ชอบคนก็ไม่น่าทำงานด้านนี้ แต่อันนี้ผมว่าไม่เฉพาะด้านไอทีนะ ถ้าคุณทำงานด้านบริการไม่ว่าอะไรก็ตามคุณต้องมีตรงนี้
5. คุณยอมแพ้ง่ายเกินไป อันนี้ผมว่าคล้าย ๆ ข้อแรกนะ คือไม่อดทน ตรงนี้ขอคุยกับนักศึกษาหน่อยแล้วกันครับ คือหลาย ๆ ครั้งที่ผมให้งานไปค้นคว้านี่คือผมต้องการให้คุณไปค้นคว้าและหาคำตอบด้วยตัวเองนะครับ แต่หลายคนมักจะกลับมาถามและมักจะบอกว่าค้นไม่เจอทำไม่ได้ ซึ่งผมต้องบอกว่าเดี๋ยวนี้คุณมีเครื่องมือให้ค้นคว้าอะไรได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมากเลยนะครับ ดังนั้นใช้ความพยายามหน่อยนะครับ ผมจะบอกว่าคำตอบของปัญหายาก ๆ ที่เราสามารถแก้ได้ด้วยตัวเองนี่มันน่าภาคภูมิใจนะครับ
6. คุณหงุดหงิดง่าย อันนี้ก็คล้าย ๆ ข้อแรกอีกเหมือนกัน แต่เขาขยายความว่าเมื่อคุณโกรธ คุณก็เสียเวลาไปกับความโกรธนั่นแหละ แทนที่จะเอาเวลามาแก้ปัญหา
7. คุณทำงานหลายงานพร้อมกันไม่ได้ เพราะคุณอาจต้องรับผิดชอบโครงการหลายโครงการ ซึ่งถ้าคุณสามารถทำงานได้ทีละอย่างก็จะทำให้ชีวิตของคุณยากขึ้น นอกจากงานแล้วอย่าลืมว่าเรายังมีเรื่องส่วนตัวต้องรับผิดชอบด้วยนะ พูดถึงตรงนี้นี่อาจแสดงว่ามุนินทร์เป็นคนที่มีความสามารถแบบนี้ก็ได้ ถึงได้มีเวลาไปแก้แค้นได้
8. คุณมีความฝันที่จะก้าวหน้าขึ้นไปในระดับสูงในอาชีพ ถ้าเป็นอย่างนี้เขาบอกว่าคุณไม่เหมาะ เพราะงานสายนี้อาจพาคุณไปได้สูงสุดแค่ CIO แต่ถ้าคุณฝันถึง CEO งานสายนี้อาจไม่เหมาะกับคุณ
9. คุณเกลียดเทคโนโลยี อันนี้ผมว่าคล้ายข้อสองนะ และคงชัดเจนว่าถ้าคุณเกลียดเทคโนโลยี คุณก็อาจจะไม่ยอมเรียนรู้ และไม่ยอมพัฒนาตัวเองให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ คุณอาจจะยึดติดกับเทคนิควิธีการแก้ไขปัญหาแบบเก่า ๆ ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว คุณอาจไม่ยอมรับการเข้ามาของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งคุณมองว่าทำให้ชีวิตของคุณยากขึ้นเพราะต้องมาเรียนรู้วิธีการพัฒนาโปรแกรมแบบใหม่เป็นต้น
10. คุณปิดมือถือตอนกลางคืน อันนี้ก็คงเกี่ยวข้องกับข้อ 3 เพราะถ้าคุณปิดโทรศัพท์ก็เท่ากับบอกกลาย ๆ ว่านอกเวลางานแล้วอย่ามายุ่งกับฉันนะอะไรประมาณนี้ ดูไปดูมานี่มันจะคล้ายหมอขึ้นทุกทีแล้วนะ ต้องตามตัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 ยังไงก็ตามเขาบอกว่าถ้าคุณมีสิ่งเหล่านี้สักสองสามข้อก็ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะออกจากงานด้านนี้ไปทันทีนะครับ เขาบอกว่ามันแค่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณอาจจะต้องกลับไปเรียนต่อเพื่อที่จะพาคุณไปทำงานในสิ่งที่คุณชอบ และผมไม่อยากบอกเลยว่าผมอาจเป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะผมลองตามลิงก์งานที่เป็นทางเลือกให้คนที่ไม่ชอบทำงานด้านไอทีตรง ๆ งานหนึ่งก็คือสอนหนังสือนี่เอง และมันก็เป็นงานที่ผมชอบจริง ๆ ซะด้วย

ปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกคนหาตัวเองให้เจอนะครับว่าชอบงานอะไร และขอให้มีความสุขกับการทำงานนะครับ สวัสดีปีใหม่ 2556 ล่วงหน้าไว้ก่อนนะครับ

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข่าวงานวิจัยด้านไอที 29/12/2555

สรุปข่าวส่งท้ายปี หลังจากไม่ได้โพสต์มานาน หวังว่าปีหน้าจะโพสต์ได้มากขึ้น สวัสดีปีใหม่ครับ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักปุ่มไปรษณีย์และปุ่มบทวิจารณ์กันดีกว่า

สุดสัปดาห์นี้มีเรื่องเบา ๆ ที่ตัวเองได้เจอมาเล่าให้ฟังกันครับ จริง ๆ มันเกิดขึ้นประมาณเกือบเดือนมาแล้วตั้งใจจะเขียนเล่าให้ฟังกันแต่พอดีไม่ค่อยว่าง ประกอบกับมีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาเลยเขียนก่อน สำหรับวันนี้เป็นเรื่องนี้เกี่ยวกับการแปลส่วนติดต่อกับผู้ใช้ของโปรแกรมมาเป็นภาษาท้องถิ่นหรือที่พวกเราอาจรู้จักกันในชื่อ localization ครับ

ปัญหาที่เกิดกับ localization นี้ผมว่าพวกเราทุกคนน่าจะเจอกันมามากบ้างน้อยบ้างนะครับคือประเภทเปิดเมนูภาษาไทยขึ้นมาแล้วต้องนั่งคิดกลับว่าภาษาอังกฤษของมันคืออะไรหว่า จนบางคนเลือกใช้เมนูภาษาอังกฤษไปเลย แต่ผมว่าปัญหานี้เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากนะครับ และผมก็เข้าใจว่าทำไมสมัยก่อนบางครั้งการแปลออกมามันดูเพี้ยน ๆ เพราะตัวเองเคยมีประสบการณ์การทำ localization ให้กับไมโครซอฟท์เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว โดยโปรแกรมที่ผมมีส่วนทำก็คือโปรแกรมที่ชื่อว่า Microsoft Work ไม่ทราบว่ามีใครรู้จักบ้างไหมครับ... เงียบ สงสัยจะ(ไม่) ช้อต เจ้าโปรแกรมนี้พูดง่าย ๆ คือโปรแกรม Microsoft Office ชุดเล็ก คือมันจะมีโปรแกรมพวก Word Processor และ Spread Sheet อะไรเหล่านี้ แต่แน่นอนครับความสามารถของมันสู้ Microsoft Office ไม่ได้แน่ ซึ่งเข้าใจว่าโปรแกรมนี้มันไม่ประสบความสำเร็จนะครับ เพราะผมว่ามันทับซ้อนกับ Microsoft Office (หวังว่ามันคงไม่ได้เจ๊งเพราะผมไปทำ localization ให้นะ) และจากการทำ localization โปรแกรมนี้มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมการแปลมันถึงเพี้ยน เพราะจากประสบการณ์ที่ผมทำมาก็คือ ผมจะได้รายการคำศัพท์มาแล้วก็นั่งแปลไป โดยบางครั้งก็ไม่รู้ว่าไอ้คำศัพท์นี้มันจะอยู่ในเมนูไหนหรือโปรแกรมอะไร ซึ่งการทำอย่างนี้มีโอกาสผิดพลาดสูงนะครับ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องใช้ความหมายไม่ใช่คำแปล คือมันต้องรู้บริบทรอบข้างของคำศัพท์นั้นด้วยถึงจะใช้คำได้ถูกต้อง แต่คิดว่าปัจจุบันนี้ไมโครซอฟท์คงเข้าใจปัญหานี้มากขึ้นแล้วแหละครับ เพราะเท่าที่ลองใช้เมนูภาษาไทยดูก็รู้สึกว่าดีขึ้นมาก 

กลับมาเรื่องที่ผมเจอดีกว่า คือเมื่อเดือนก่อนผมได้ใช้โปรแกรมเช็คอินยอดนิยมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่โปรแกรมหนึ่ง คือโปรแกรม Foursquare ปกติผมจะใช้แค่เช็คอินตำแหน่งที่ผมอยู่เท่านั้น แต่วันนั้นผมพาลูกไปเรียนฟุตบอลและก็ถ่ายรูปเขาก็เลยเช็คอินแล้วก็แนบรูปของเขาไปด้วย แต่บังเอิญตอนเช็คอินผมลืมให้มันส่งข้อมูลไปที่ Facebook และ Twitter ด้วยก็เลยต้องมาทำตอนหลัง และเมื่อผมเข้ามาผมก็เจอหน้าจอนี้ครับ  

เห็นปุ่มไปรษณีย์ไหมครับ พวกเราคิดว่ามันคือปุ่มอะไรครับ .... ใช่แล้วครับมันคือปุ่ม Post บอกตามตรงว่าตอนแรกที่ผมเห็นปุ่มนี้ผมนั่งอี้งอยู่พักหนึ่ง เพราะนึกไม่ออกว่าปุ่มนี้มันคืออะไร เกือบไม่กล้ากดแล้วครับ เพราะกลัวมันจะเอาข้อความผมไปส่งตู้ไปรษณีย์ :) ถึงแม้ผมจะมีความเข้าใจเรื่อง localization อยู่บ้าง แต่พอเห็นอันนี้เข้าแล้วก็อดขำและประหลาดใจไม่ได้ คือประการแรกผมมองว่าโปรแกรมอย่าง Foursquare นี่ ไม่ใช่โปรแกรมใหญ่นะครับ ดูมันมีหน้าจอหลัก ๆ ไม่กี่หน้าจอเอง ดังนั้นไม่น่าพลาด และคำว่า Post ในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับโปรแกรมนี้ มันก็ไม่น่าจะสื่อถึงอะไรได้อย่างอื่นนอกจากการโพสต์ข้อมูล แต่คนแปลกลับเลือกใช้คำว่าไปรษณีย์ ซึ่งในการใช้งานของคนไทยเรามักจะนึกถึงแต่การส่งจดหมายหรือพัสดุ จะว่าใช้ Google Translate แปลแทนจ้างคนแปลก็ไม่น่าใช่ เพราะผมลองใช้ Google Translate ลองแปลคำว่า Post ดูมันก็ใช้คำว่าโพสต์

ยังไม่พอครับคราวนี้กับ Apple บ้าง อันนี้เพิ่งเจอเมื่อสักสัปดาห์ก่อน คือผมสอนลูกสมัคร Apple ID อันนี้เสียดายไม่ได้จับหน้าจอไว้ และพยายามเข้าไปที่หน้าจอนั้นอีกก็เข้าไม่ได้ รู้สึกว่ามันจะขึ้นมาเฉพาะตอนเราสมัคร Apple ID ใหม่ เอาเป็นว่าเราให้ฟังแบบแห้ง ๆ แล้วกันนะครับ คือหลังจากเราป้อนข้อมูลไปมันจะมีปุ่มขึ้นมาปุ่มหนึ่งครับปุ่มนั้นมีคำว่าบทวิจารณ์ ซึ่งพอเรา (ผมกับลูก) เจอปุ่มนี้เข้าก็มองหน้ากันไปมาว่ามันคืออะไร มันจะให้เราวิจารณ์อะไร สุดท้ายก็นึกออกว่ามันหมายถึงปุ่ม Review ซึ่งตรงนี้คำว่า Review ควรจะหมายถึงการตรวจทานมากกว่านะครับ เจอแบบนี้สงสัยคงต้องใช้เมนูภาษาอังกฤษไปตลอดครับ แต่คิดอีกทีก็เป็นการฝึกสมองดีเหมือนกันนะครับ

ผมว่าหลายคนมีความเข้าใจผิดว่าคำศัพท์ในภาษาอังกฤษนี่เราจะแปลได้แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น  แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ ศัพท์ในภาษาอังกฤษนี่มันมีลักษณะเป็นความหมายมากกว่า คำ ๆ หนึ่งอยู่ในบริบทหนึ่งมันจะหมายถึงอย่างหนึ่ง อีกบริบทหนึ่งอาจจะหมายถึงอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นผู้แปลก็ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะแปลในระดับหนึ่งด้วย ผมมีประสบการณ์การอ่านบทความภาษาไทยบทความหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และยังติดใจมาจนถึงทุกวันนี้ บทความนั้นเป็นบทความทางคณิตศาสตร์ และคนแปลได้ใช้คำหนึ่งครับคำนั้นคือ ผลิตภัณฑ์คาร์ทีเชียน เดาได้ไหมครับว่าเขาแปลมาจากคำว่าอะไร ใครที่จบคณิตศาสตร์มาอาจตอบได้ ครับใช่แล้ว Cartesian Product ซึ่งในทางคณิตศาสตร์คำที่ใช้กันคือผลคูณคาร์ทีเชียน แต่จริง ๆ ก็คงโทษคนแปลไม่ได้นะครับ เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อนคนที่ทำงานด้านแปลเก่ง ๆ ในประเทศเราอาจยังมีน้อย ยิ่งไปกว่านั้นผมลองใช้ Google Translate ดู มันก็แปลว่า ผลิตภัณฑ์ Cartesian ครับ

ที่เล่ามาให้ฟังทั้งหมดนี่ก็ไม่มีเจตนาจะไปตำหนิหรือติเตียนใครนะครับ แค่อยากจะเล่าให้ฟังแล้วก็ให้ระมัดระวังกันเวลาจะแปลหรือเขียนบทความอะไร แต่สุดท้้ายแล้วไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันจะย้อนมาเข้าตัวหรือเปล่า เพราะตัวผมเองมักจะจู้จี้กับนักศึกษา (ที่หลงผิดมาทำงานด้วย) ในที่ปรึกษา หรือนักศึกษา (ที่โชคร้าย) ได้ผมเป็นกรรมการสอบ ให้ระมัดระวังเรื่องการเขียน และการใช้คำ พอเขามาอ่านเรื่องนี้เข้าอาจย้อนว่าโห.... อาจารย์จะเอาอะไรกับพวกผม (หนู) นักหนา ดูอย่างโปรแกรมที่คนใช้กันเกือบทั้งโลกอย่าง Foursquare หรือ Apple สิ เขายังทำแบบนี้เลย....

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เรามาน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงมาปฏิบัติกันเถอะครับ

ในวาระที่วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านได้เวียนมาครบอีกวาระหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยไปชั่วกาลนาน และข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณว่าข้าพระพุทธเจ้าจะทำความดีถวายแด่พระองค์ท่าน ด้วยการปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองที่ดีเคารพกฏหมายของบ้านเมือง และจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าให้ดีที่สุด และจะน้อมนำพระราชดำรัสเรื่องความปราถนาดีต่อกันมาใช้ โดยข้าพเจ้าจะมีความเมตตาให้กับผู้อื่นทั้งที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างจากข้าพเจ้า เพื่อที่ข้าพเจ้าจะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติขาดความสามัคคี ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ


วันนี้แน่นอนครับจะเขียนบล็อกเรื่องอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากเรื่องที่เกี่ยวกับวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระองค์ท่าน ซึ่งวันนี้ของแต่ละปีผมจะพยายามหาโอกาสมาเขียนบล็อกให้ได้ไม่ว่าจะไม่ว่างอย่างไร วันนี่ก็นั่งทำงานออกข้อสอบรีวิวบทความวิชาการมาตั้งแต่เช้า เดี๋ยวพอเขียนบล็อกเสร็จก็จะต้องกลับไปออกข้อสอบต่อ

สำหรับบล็อกผมเรื่องนี้ในทุกปีผมก็จะเริ่มด้วยการถวายพระพรและปฏิญาณตนทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี ซึ่งผมมองว่าถ้าทุกคนปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีแค่นี้ประเทศชาติก็น่าจะสงบสุขและก้าวหน้าไปได้อย่างดี แต่ในปีนี้พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสเรื่องความปราถนาดีต่อกันและความสามัคคี ที่จะทำให้เกิดความพร้อมเพรียง ผมก็เลยเพิ่มคำปฏิญาณนี้เข้าไปด้วย และก็อยากเชิญชวนพวกเราน้อมนำพระราชดำรัสนี้มาใช้กันเถอะครับ

วันนี้ถ้าใครที่ได้ติดตามบรรยากาศของงานพระราชพิธีมาตั้งแต่เช้าคงจะเห็นว่าเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสุขความตื้นตัน ผมจึงอยากจะให้พวกเราจำบรรยากาศนี้ไว้ครับ บรรยากาศที่เรามีจุดมุ่งหมายร่วมกันเราไม่คิดถึงเรื่องความขัดแย้งใด ๆ ซึ่งมันก็ทำให้เกิดความพร้อมเพรียงอย่างที่พระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ ซึ่งถ้าเราจะรักษาเรื่องนี้ไว้ได้ ผมว่าเราต้องเปิดใจให้กว้างอย่ามีอคติแบ่งสีแบ่งฝ่ายกันมากเกินไปจนมองคนที่เราคิดว่าอยู่ตรงข้ามกับเราเลวไปหมด หรือได้รับฟังข่าวอะไรมาถ้าเป็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับคนที่เราไม่ชอบแล้วก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อลองคิดด้วยเหตุด้วยผล หรือหาข้อมูลอื่นมาประกอบ เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับอีกฝ่ายแต่ลองเปิดใจรับฟังและถกกันอย่างมีเหตุผล

ยิ่งในสมัยที่เราใช้เครือข่ายสังคมกันอย่างนี้ผมว่าเรายิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะสิ่งที่เราสื่อออกไปมันกระจายออกไปได้กว้างมาก และจากการที่เคยสอนวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร ต้องบอกว่าข้อจำกัดประการหนึ่งของการสื่อสารแบบนี้คือบางครั้งมันทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย เพราะบางทีมันขาดองค์ประกอบเช่นน้ำเสียงหรือสีหน้าท่าทางที่จะมีในตอนที่เราพูดคุยกันแบบเห็นหน้า ยิ่งไปกว่านั้นตามทฤษฎีแล้วข้อเตือนใจประการหนึ่งของการสื่อสารแบบนี้ก็คือเราไม่ควรส่งข้อความที่จะสร้างความขุ่นเคื่องที่เรียกว่า flaming message แต่ตอนนี้ดูเหมือนกับว่าหลายคนสามารถที่จะด่าใครก็ได้ด้วยข้อความที่รุนแรง เช่นโง่ หรือบางทีก็เสียดสีประชดประชันฝ่ายตรงข้าม ซึ่งข้อความเหล่านี้แหละที่อาจสร้างความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองนะครับ แค่เรื่องเชียร์ฟุตบอลคนละทีมนี่แหละ บางทีก็โพสต์ว่ากันเอง ว่าทีมตรงข้ามสาดเสียเทเสีย ผมไม่ได้บอกว่าเราจะแสดงความเห็นที่ขัดแย้งหรือถกเถียงไม่ได้นะครับ แต่ที่อยากจะบอกก็คือก่อนโพสต์ข้อความเหล่านี้ เรามีเวลาคิดก่อนนะครับ เรามีเวลาที่จะเลือกใช้ถ้อยคำ หรือถ้าเห็นว่าตอนนั้นเรายังอยู่ในอารมณ์ที่ไม่ปกติก็น่าจะเลือกที่จะไม่โพสต์อะไรไว้ก่อน ซึ่งถ้าทำอย่างนี้ได้ผมว่ามันจะช่วยลดความขัดแย้งไปเยอะ

อีกเรื่องก็คือก่อนที่เราจะโพสต์เห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำใดให้คิดก่อนว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรไหม ยกตัวอย่างเช่นเรื่องนักบินที่ไล่ผู้โดยสารคนหนึ่งลงจากเครื่องบิน เพราะว่ามีคดีเรื่องหมิ่นสถาบันที่และก็รู้สึกว่ามีชาวเครือข่ายสังคมไปยกย่องนักบินคนดังกล่าวราวกับเป็นวีรบุรุษ ถึงตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าผมรักในหลวงนะครับ ใครที่ติดตามการโพสต์ของผมมาตลอดก็คงทราบดี และผมก็ไม่เข้าใจด้วยว่าคนที่ไม่รักพระองค์ท่านนี่เขามีเหตุผลอะไร แต่ที่ผมอยากจะบอกก็คือให้ลองคิดว่าจริง ๆ แล้วนักบินคนนั้นเขาทำถูกหรือเปล่า หน้าที่ของเขาคืออะไร เรื่องการจัดการมันก็มีกระบวนการตามกฏหมายอยู่แล้ว ถ้าเราสนับสนุนเรื่องอะไรแบบนี้ก็คงไม่ต่างจากการเรียกร้องให้มีคนออกมาเอาปืนไปไล่ยิงพิพากษาคนที่เราคิดว่าชั่วโดยไม่ต้องพึ่งตำรวจหรือศาล หรือถ้าเอาให้ใกล้ตัวหน่อยอย่างผมเป็นอาจารย์ ถ้าผมมีลูกศิษย์คนหนึ่งที่ไม่รักในหลวง แต่เขาตั้งใจเรียนทำข้อสอบได้ ผมควรทำยังไงกับเขาดี ผมควรจะไล่เขาออกจากห้องเรียน หรือแกล้งตรวจข้อสอบเขาให้ตกในวิชาผมอย่างนั้นหรือ อีกอย่างจะให้คนคิดเหมือนเราทุกคนคงไม่ได้ (ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาคิดอย่างนั้นก็ตาม) ให้คิดว่าขนาดพระพุทธเจ้ายังก็ถูกนินทาว่ากล่าวได้ก็น่าจะเข้าใจเขามากขึ้น ตราบใดที่เขายังไม่ได้ทำผิดกฏหมายหรือยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าทำผิดกฏหมายเราก็ไม่มีสิทธิที่จะไปจำกัดสิทธิของเขา และถ้าเขาทำผิดกฏหมายจริงและเขาหลบหนีหน้าที่ของเราก็คือแจ้งผู้ที่มีหน้าที่ไม่ใช่ไปไล่ยิงหรือไล่ชกเขา

เรามาเริ่มต้นที่ตัวเรากันก่อนเถอะครับ น้อมนำพระราชดำรัสที่พระองค์ได้ตรัสกับพวกเราในวันนี้มาทำให้ได้ เพื่อที่พ่อหลวงของเราจะได้มีความสุขที่เห็นพสกนิกรของพระองค์ท่านที่ถึงแม้จะมีความเห็นต่างกัน แต่ก็มีความพร้อมเพรียงที่จะร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปได้

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผู้บริหารบ้านเมืองของเราจะยอมรับผิดกันบ้างได้ไหม?

วันนี้ขอเขียนเรื่องฟุตซอลชิงแชมป์โลกสักวันแล้วกันนะครับ ในขณะที่เขียนนี่ก็กำลังรอลุ้นว่าไทยจะผ่านเข้ารอบเป็นหนึ่งในสี่ของอันดับสามที่ดีที่สุดหรือเปล่า ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าต้องลุ้นเหนื่อยมากครับ ต้องให้ทีมนั้นชนะทีมโน้นกี่ประตูขึ้นไป ปวดหัวจริง ๆ ครับเรื่องต้องยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจเนี่ย  แต่ที่จะพูดถึงไม่ใช่เรื่องการแข่งขันครับ แต่จะพูดถึงข่าวที่ได้ฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจเลย ก็คือข่าวที่ผู้ว่ากทม.จะฟ้องฟีฟ่าเรื่องที่ไม่ยอมอนุมัติให้ใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีน่าในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกที่เราเป็นเจ้าภาพอยู่ตอนนี้ เหตุผลที่ผู้ว่าจะฟ้องก็คือการกระทำของฟีฟ่าทำให้กทม.เสียชื่อ ผมฟังแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก จริง ๆ เราเสียชื่อมาตั้งแต่สนามสร้างเสร็จไม่ทันวันเปิดการแข่งขันแล้วไม่ใช่เพิ่งจะมาเสียชื่อตอนนี้

ผมอยากถามว่าการที่ผู้ว่าจะฟ้องนี่จริง ๆ แล้วจะปกป้องชื่อเสียงกทม.หรือชื่อเสียงตัวเองกันแน่ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าตัวผู้ว่าตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก แต่ในส่วนนี้ขอออกตัวให้ผู้ว่าหน่อยแล้วกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โทษผู้ว่าคนเดียวไม่ได้นะครับ ต้องโทษผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกคนตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐบาลนี้ และตัวนายกสมาคมฟุตบอลด้วย แต่ที่ผู้ว่าโดนหนักก็เพราะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสนามโดยตรง และจากที่สื่อนำเสนอก็คือมีการมาโหมเร่งงานกันเมื่อเหลือเวลาประมาณสองสามเดือนสุดท้ายก่อนจะแข่ง

ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นตามความคิดของผมคือผู้บริหารเหล่านี้ติดการทำงานแบบไทย ๆ และเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป ที่ว่าติดการทำงานแบบไทย ๆ ก็คือได้รับงานมาล่วงหน้าแต่แทนที่จะวางแผนเร่งลงมือทำก็มักจะทอดเวลาไว้จนใกล้จะถึงเส้นตายแล้วถึงจะเร่งลงมือทำ หรือตามสำนวนที่เรียกว่ารอจนไฟลนก้นนั่นแหละครับ เหตุการณ์ที่เราเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาหลายรายการก่อนหน้าก็เป็นแบบนี้นะครับ คือรู้ว่าต้องเป็นเจ้าภาพมาล่วงหน้าหลายปี แต่กว่าจะลงมือทำก็รอไว้จนใกล้จะถึงกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาเราโชคดีครับที่เราสามารถสร้างสนามอะไรต่ออะไรให้เสร็จก่อนหน้าการแข่งขันได้ประมาณสักไม่กี่เดือนมั้งครับ ที่เราทำได้เพราะเราโชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์วิกฤตอย่างมหาอุทกภัยในปีที่แล้ว  แต่คราวนี้เราไม่โชคดีอย่างนั้น ดังนั้นจากเหตุการณ์นี้ถ้าประเทศเรายังมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพอะไรอีก (ซึ่งผมว่าคงยากแล้วหละ) ช่วยคิดใหม่ทำใหม่ให้เหมือนประเทศที่เขามีการวางแผนที่ดีหน่อยนะครับ เช่นอยากเห็นสนามแข่งเสร็จก่อนหน้าการแข่งขันสักครึ่งปีอะไรอย่างนี้ และอีกอย่างก็คือช่วยดูหน่อยนะครับว่าเรื่องอะไรมันเป็นเรื่องของประเทศชาติก็พักเรื่องส่วนตัวไว้ มาระดมแรงระดมความคิดช่วยกันให้ผ่านไปให้ได้ ไม่ใช่ขัดแข้งขัดขากันจนมันเกิดความเสียหายจนแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วแบบนี้

 กลับมาที่เรื่องที่ผู้ว่าจะฟ้องผมว่าอยากให้คิดใหม่นะ ผมว่าฟีฟ่าก็มีเหตุผลที่เหตุผลที่จะไม่รับนะครับ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นฟีฟ่าตอนมาดูเมื่อเดือนสองเดือนที่แล้วยังเป็นโครงอยู่เลยอะไรอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง แป๊บเดียวเสร็จเหมือนเนรมิต ลองย้อนถามตัวเราเองดูว่าเป็นเราเราจะกล้าใช้ไหม ถ้าใช้ไปแล้วมันเกิดถล่มเกิดพังขึ้นมามันจะเสียหายกันมากกว่านี้นะครับ หรือถ้าฟีฟ่าให้ผ่านด้านความปลอดภัยได้ มันก็อาจมีปัญหาอื่นไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม การดำเนินการ ลองคิดดูสนามเพิ่งเสร็จยังไม่ได้ทดสอบเต็มที่เลย สมมติถ้าใช้ตอนแข่งเกิดเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นจะทำยังไง เปรียบเหมือนซอฟต์แวร์ที่เร่งพัฒนาจนเสร็จ ดูภาพรวมอาจดูดีมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่สวยงาม แต่พอใช้ไปอาจเจอบั๊กก็ได้ เพราะไม่ได้มีการทดสอบซอฟต์แวร์เต็มที่ทั้งระบบ สรุปก็คือคนพวกนี้เขาทำงานกันแบบมืออาชีพครับ เขาไม่มานั่งมัวรักษาหน้าหรือเกรงใจใครหรอกถ้าคิดว่ามันอาจทำให้เกิดปัญหา อีกอย่างเขาอาจไม่เข้าใจวิธีทำงานแบบผักชีโรยหน้าของไทย และเขาอาจไม่ชอบกินผักชีก็ได้ :)

ถ้าสร้างเหมือนเนรมิตแบบนี้อย่าว่าแต่ฟีฟ่าเลย แม้แต่ผมเองผมยังถามตัวเองเลยว่าผมจะกล้าเข้าไปใช้สนามนี้ไหม เพราะมันสร้างกันเร็วมาก บอกตามตรงตอนที่รู้ว่าเราเป็นเจ้าภาพและจะมีการสร้างสนามที่หนอกจอก ผมก็วางแผนไว้แล้วว่าจะพาลูก ๆ ไปดูฟุตซอลสักนัดหนึ่ง เพราะสนามมันอยู่ไม่ไกลจากบ้านและอยากให้ลูก ๆ ได้สัมผัสบรรยากาศของงานระดับโลก แต่ตอนนี้ต่อให้ฟีฟ่าอนุมัติผมยังลังเลที่จะไปเลยครับ

ดังนั้นผมคิดว่าฟีฟ่าทำถูกแล้วครับที่ไม่รับ แต่ถ้าฟีฟ่าจะผิดก็ผิดอยู่อย่างเดียวคือไม่ยอมใช้เทคโนโลยีมาช่วยตัดสินฟุตบอลเสียที เพราะทำให้หงส์แดงของผมเสียประโยชน์มากมาย... เฮ้ยไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้...   คือที่ผมว่าฟีฟ่าทำผิดก็คือไม่รีบบอกมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ใช้ เพราะในความคิดของผมผมว่าฟีฟ่าจะไม่ใช้มาตั้งแต่ต้นแล้วแต่อาจติดเชื้อพี่ไทยเข้าไปหน่อยก็เลยออกลูกเกรงใจรักษาหน้าเจ้าภาพไว้ แต่ผมว่าถ้าฟีฟ่าฟันธงมาเลยตั้งแต่มาตรวจรอบแรกว่าไม่ใช้ เราจะได้ไม่ต้องเร่งสร้าง อาจจะเลิกสร้างไปเลยจะได้ประหยัดงบไป แต่ถ้ากลัวเป็นแบบโครงการโฮปเวล (โฮปเลส) ก็อาจสร้างต่อแต่ทำให้มันมั่นใจว่ามันแข็งแรง แล้วก็ใช้แข่งฟุตซอลในรายการอื่น ๆ ต่อไป


พูดถึงการสร้างแบบเนรมิตแบบนี้ทำให้ผมคิดถึงนิทานที่ผมเคยอ่านตอนเด็ก ๆ ได้เรื่องหนึ่งครับ เรื่องก็มีอยู่ว่ามีชาวไทยคนหนึ่ง ไปรับเพื่อนชาวต่างชาติสองคนคนหนึ่งเป็นคนจีนอีกคนเป็นอเมริกัน ซึ่งทั้งสองเพิ่งเคยมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก พอทั้งสองขึ้นรถได้ก็เริ่มคุยโม้โอ้อวดกันว่าจีนกับอเมริกานี่ใครเป็นสุดยอดของการก่อสร้าง คนจีนก็ยกตัวอย่างกำแพงเมืองจีนว่าสร้างในสมัยที่ไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย  ใช้เวลาไม่กี่ปีก็เสร็จ คนอเมริกันก็บอกว่าอเมริกันสิสุดยอดกว่า อย่างเทพีสันติภาพนี่คนอเมริกันใช้เวลาสร้างสองสามเดือนเอง คือจริง ๆ เจ้าสองคนนี่โม้นะครับ เพราะจริง ๆ พวกเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริง ๆ มันใช้เวลาสร้างเท่าไรกันแน่  ส่วนคนไทยก็เงียบไม่พูดอะไร ทำให้เจ้าสองคนนี่นึกดูถูกว่าคนไทยคงไม่มีความสามารถก่อสร้างอะไรเลย จนรถแล่นผ่านมาถึงอนุเสาวรีย์ชัย ฯ เจ้าคนอเมริกันก็ถามว่าเฮ้ยนี่มันอะไรน่ะประเทศนายก็มีสิ่งก่อสร้างดี ๆ เหมือนกันนี่ คนจีนก็ถามว่าสร้างนานไหม คนไทยก็ตอบแบบนิ่ง ๆ ว่า เรียกว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อกี้ตอนขามามันยังไม่มีไอ้นี่อยู่เลย...

ออกนอกเรื่องไปอีกแล้วสรุปก็คือผมอยากจะให้พวกผู้บริหารหรือแม้แต่ตัวพวกเราเองยอมรับในความผิดพลาด แล้วก็แก้ไขแทนที่จะเที่ยวไปโทษคนโน้นคนนี้ก่อน อย่างผมเองเป็นอาจารย์ก็มีบางครั้งที่ผมพูดผิดแต่เมื่อผิดผมก็บอกว่าผิดและก็ขอแก้ไข ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นการเสียหน้าอะไร อาจารย์ก็คนก็ผิดได้ (วันนี้ก็เพิ่งพูดผิดไปต้องรีบสั่งให้นักเรียนลบที่พูดออกจากหน่วยความจำ) แต่หลัง ๆ มานี่ผมรู้สึกว่าผู้บริหารของเรากลัวเสียหน้ามากกว่าอย่างอื่น นอกจากกรณีนี้ที่โยนกันไปโยนกันมาและกำลังจะโยนต่อไปให้ฟีฟ่าแล้ว อีกตัวอย่างก็คือเครื่อง GT200 ครับ ทำไมยังมีคนพูดอยู่ได้ว่ามันใช้งานได้ ทั้งที่ไม่สามารถหาหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไรมารองรับได้เลย นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศและในประเทศก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำงานไม่ได้ มันจะเสียหน้าอะไรนักหนาถ้าจะออกมายอมรับความผิดพลาด มันไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวเสียหน่อยที่ีโดนหลอก ประเทศที่เขาเจริญกว่าเราก็ยังโดน

อ้าวจากเรื่องสนามฟุตซอลมาออกเรื่อง GT200 ได้ยังไงนี่ จบดีกว่าเดี๋ยวจะลากไปเรื่องอื่นอีก แล้วบล็อกจะพาลถูกปิดเอา...

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย?

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก คำแก้ตัวเดิม ๆ คือไม่ว่าง แต่วันนี้ยังไงก็ขอเขียนเสียหน่อย เพราะเป็นข่าวเกี่ยวกับนักวิจัยไทยของเราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทระดับโลกอย่าง Apple เจ้าของ iDevice ทั้งหลายที่พวกเราหลายคนใช้กันอยู่นั่นแหละครับ ยิ่งไปกว่านั้นนักวิจัยคนดังกล่าวก็เป็นคนที่ผมรู้จักดีเสียด้วย

 ก่อนจะมารู้จักกันว่าเขาเป็นใครเรามาดูข่าวที่เป็นต้นเรื่องของบล็อกวันนี้กันก่อน ถ้าใครอยากอ่านข่าวต้นฉบับก็เชิญอ่านจาก ฺBloomberg ได้เลยครับ แต่ถ้าไม่อยากอ่านผมจะสรุปให้ฟังครับ เนื้อหาก็คือบริษัทใน Texas ชื่อ Dynamic Advances กำลังจะฟ้อง Apple ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรม Siri ซึ่งเป็นโปรแกรมเลขาส่วนตัวที่มีความชาญฉลาดในการโต้ตอบและทำตามคำสั่งจากผู้ใช้ที่ใช้ภาษาพูดปกติ คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่งเฉพาะในการบอกให้ Siri ทำงานให้ เจ้า Siri  ที่ว่านี่ Apple เริ่มนำมาใช้งานใน  iPhone 4s และต่อมาก็นำมาใช้กับ iDevice รุ่นใหม่ ๆ  อีกด้วย

แล้วมันเกี่ยวกับงานวิจัยคนไทยยังไง ประเด็นก็คือบริษัท Dynamic Advances ที่ว่านี่ได้รับใบอนุญาตในการใช้สิทธิบัตรที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่เรีกว่า natural language interface ซึ่งเป็นการทำให้ระบบสามารถตอบคำถามที่คนพูดเข้ามาตามปกติได้ โดยใช้วิธีการที่ซับซ้อนในการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล งานวิจัยนี้ได้ถูกคิดค้นและจดสิทธิบัตรไว้กว่าสิบปีแล้ว โดย Professor Cheng Hsu ที่เป็นอาจารย์อยู่ที่ Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่ New York และนักศึกษาปริญญาเอกของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง (Veera Boonjing) ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง แห่งสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ไม่ว่าระดับไหนคงทราบดีนะครับว่างานที่ออกมา จะออกมาจากตัวนักศึกษาเป็นหลักโดยอ.ที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำในแง่มุมต่าง ๆ  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าระบบดังกล่าวนี้รศ.ดร.วีระ น่าจะมีส่วนไม่ต่ำกว่า 80 % และระบบนี้แหละครับที่ทาง Dynamic Advances ฟ้องว่าโปรแกรม Siri ละเมิดสิทธิบัตร โดยสรุปตอนนี้ทาง Apple ยังไม่มีความเห็นใด ๆ นะครับ รวมทั้ง Professor Hsu ด้วย โดย Professor บอกว่าตัวแกก็ไม่รู้ว่าสิทธิบัตรนี้จะมีมูลค่าเท่าไร แต่ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายในข่าวไว้ด้วยว่า เสียใจด้วย (นะ Apple) แต่เราทำมันก่อน 

นั่นคือเนื้อข่าวและที่มาที่ไปคร่าว ๆ นะครับ มาดูในส่วนอ.วีระกันบ้าง ผมในฐานะที่เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย และเป็นเพื่อนร่วมงานกับอ.วีระเกือบ 20 ปี แล้ว (ขอเกาะกระแสคนดังหน่อยนะ :) ) ก็ได้คุยกับอ.ในเรื่องนี้ โดยตัวอ.ก็บอกว่าเรื่องการฟ้องนี่จริง ๆ เริ่มมาได้พักหนึ่งแล้วไม่ได้มาเริ่มตอนนี้หรอก แต่แกก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงออกมาตอนนี้ตอนที่ Apple ออกผลิตภัณฑ์ใหม่พอดี ตอนนี้ก็รอผลลัพธ์ต่อไปว่าจะเป็นยังไง โดยการฟ้องร้องนี้อ.วีระไม่ได้ทำเองนะครับเป็นเรื่องของทาง RPI และ บริษัท Dynamic Advances

ท้ายนี้ผมก็ขอเล่าถึงเบื้องหลังงานวิจัยของอ.วีระชิ้นนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผมเองเท่าที่พอจำได้นะครับ ก็คือในตอนที่งานวิจัยของอ.ใกล้จะเสร็จแล้วมีวันหนึ่งผมก็ได้รับเมลจากอ.ว่าขอให้ช่วยคิดคำถามเอาแบบที่เป็นภาษาพูดหน่อยจะเอาไปทดสอบกับระบบที่สร้างขึ้น ซึ่งอ.วีระก็คงขอให้เพื่อน ๆ ของแกหลายคนช่วยกันคิด จะได้มีข้อมูลที่หลากหลายไปทดสอบ ซึ่งผมก็ช่วยคิดไปจำนวนหนึ่งจำไม่ได้ว่ากี่ประโยค และก็ไม่เคยถามด้วยว่าแกเอาของผมไปใช้บ้างหรือเปล่า ส่งเสร็จก็ลบทิ้งไป ถ้ารู้ว่ามันจะดังอย่างนี้จะเก็บไว้ฟ้องร้อง... เอ๊ยไม่ใช่... เป็นที่ระลึกว่าเราก็มีส่วนร่วมในระบบนี้เหมือนกันก็คงจะดี ไม่แน่เหมือนกันนะครับว่าการที่ Apple รีบออกผลิตภัณฑ์อย่าง iPad รุ่นสี่ หรือ iPad Mini นี่อาจทำไปเพื่อระดมทุนมาจ่ายค่าสิทธิบัตรนี่ก็ได้...  :) 


หมายเหตุ
ใครที่อยากดูตัวสิทธิบัตรว่าหน้าตาอย่างไรดูได้จากลิงก์ต่อไปนี้ครับ http://www.google.com/patents/US7177798

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

จริง ๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จะต้องตอบคำถามว่าบทที่สองในรูปเล่มรายงานปริญญานิพนธ์ (ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) ต้องเขียนอะไรบ้าง วันนี้ก็โดนถามอีกก็เลยคิดว่ามาเขียนบล็อกให้แนวทางในการเขียนสักหน่อยก็น่าจะดี นอกจากจะเป็นประโยชน์กับลูกศิษย์ตัวเองแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาที่ต้องเขียนปริญญานิพนธ์ และที่สำคัญก็คือตัวเองจะได้ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะซ้ำ ๆ หลายรอบ :)

บทที่สองจุดประสงค์จริง ๆ ก็คือให้คุณได้เขียนอธิบายถึงหลักการและทฤษฎีที่คุณจะนำมาใช้เป็นหลักในการทำวิจัย และวิเคราะห์และสรุปการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ ส่วนที่เป็นปัญหาที่เจอมากที่สุดก็คือทฤษฎีจะเขียนอะไร บางคนก็เข้าใจว่าอะไรที่ตัวเองใช้ก็คือทฤษฎี ดังนั้นในสมัยก่อนที่เจอบ่อยก็คือจะเริ่มต้นด้วยว่าฐานข้อมูลคืออะไร อธิบายการออกแบบ การเขียน ER ไปจนถึง primary key, candidate key เป็นต้น ซึ่งพอถามว่าจะเขียนมาทำไม ก็ได้รับคำตอบว่านี่คือทฤษฎีที่ต้องใช้ในการออกแบบฐานข้อมูล พอเจอคำตอบอย่างนี้ผมก็เลยถามกลับว่าถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่เขียนมาด้วยล่ะว่าการเขียนโปรแกรมคืออะไร การคอมไพล์โปรแกรมทำยังไง หรือการวิเคราะห์หรือออกแบบระบบคืออะไร เพราะก็ต้องใช้ในการพัฒนาโปรแกรมเหมือนกันไม่ใช่หรือ พอเจอคำถามนี้เข้าไปก็เงียบกันไปหมด   รุ่นหลัง ๆ นี้ก็เลยไม่เขียนกันแล้วว่าฐานข้อมูลคืออะไร แต่ไปเขียนว่าแอนดรอยด์คืออะไร จะเขียนโปรแกรมบนแอนดรอย์ต้องทำยังไงแทน เฮ้อ....  แต่ที่เจอแล้วมึนที่สุดก็คือเขียนอธิบายมาว่าเว็บเบราซ์เซอร์คืออะไร เหตุผลที่เขียนมาก็คือเพราะตัวเองทำเว็บแอพพลิเคชัน เว็บเบราซ์เซอร์ก็เลยเป็นทฤษฎีที่ใช้ส่วนหนึ่ง เวรกรรมจริง ๆ

ผมมานั่งวิเคราะห์ปัญหาดูว่าทำไมเราถึงเขียนอะไรกันอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าปัญหาอาจมาจากคำว่าอย่าเขียนอะไรโดยคิดว่าคนอ่านรู้อยู่แล้ว แต่จริง ๆ มันมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นนะครับคือเราต้องคิดว่าคนอ่านอย่างน้อยก็น่าจะอยู่ในฟิลด์ของเรา (คอมพิวเตอร์) ดังนั้นเขาควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องพวกฐานข้อมูล หรือการพัฒนาโปรแกรมอยู่แล้ว หรือถ้าเขาเป็นนักคอมพิวเตอร์แต่ไม่รู้วิธีการเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ เขาก็ควรไปหาอ่านจากหนังสือทางด้านนี้โดยตรง งานวิจัยของเราคงไม่ได้มีจุดประสงค์จะมาสอนใครให้เขียนโปรแกรมแอนดรอยด์เป็นใช่ไหมครับ ดังนั้นอันแรกครับพวกความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมไม่ว่าแพล็ตฟอร์มไหนนี่ตัดทิ้งไปได้เลยครับ เวลาเขียนบทที่สองให้คิดไว้ครับว่าคนอ่านเขาคงไม่ได้เข้ามาอ่านงานของเราเพื่ออ่านทฤษฎีพื้นฐานที่หาอ่านได้ทั่ว ๆ ไป หรือมีการเรียนการสอนกันอยู่แล้วนะครับ

แล้วจะเขียนอะไรดีล่ะในส่วนทฤษฎีนี้ คำตอบที่ผมมักจะให้นักศึกษาใช้เป็นแนวทางคือ มีทฤษฎีหรือความรู้อะไรที่คนที่อ่านงานของคุณในบทที่สาม (การดำเนินการวิจัย/การวิเคราะห์และออกแบบระบบ) จำเป็นต้องรู้บ้างไหม ถ้ามีก็ให้เขียนไว้เพื่อที่เขาจะได้กลับมาอ่านเป็นแนวทางได้ แต่ก็เอาเฉพาะที่จำเป็น ส่วนที่เป็นรายละเอียดมาก ๆ ก็ให้เป็นเอกสารอ้างอิงไป ตัวอย่างเช่นสมมติว่าคุณต้องทำโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ GPS และต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ GPS ลงฐานข้อมูล ก็ไม่แปลกอะไรที่คุณจะมีทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลที่ GPS ต้องใช้  จะเห็นนะครับว่าอย่างเรื่อง GPS นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นพื้นฐานใช้กันทั่วไป และการที่คุณให้ข้อมูลตรงนี้ไว้ มันก็จะช่วยให้คนอ่านในบทที่สามของคุณเข้าใจว่าทำไมคุณต้องมีฟิลด์ที่ใช้เก็บข้อมูลนี้ในตารางในฐานข้อมูลของคุณ หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่ง ถ้างานเราต้องใช้การติดต่อกับ Social Network อย่าง Twitter หรือ Facebook ก็ถือว่าโอเคนะถ้าจะมีส่วนที่แสดงให้เห็นว่าการติดต่อกับ Social Network เหล่านี้ทำได้โดยผ่าน API และมันมีข้อมูลหรือบริการอะไรที่เราใช้ได้บ้าง เพราะตรงนี้มันก็อาจอธิบายถึงการออกแบบในบทที่สามของเราเมื่อต้องทำงานกับส่วนนี้ ส่วนถ้างานของเราเน้นที่การพัฒนาโปรแกรม ไม่ได้ใช้อะไรจริง ๆ นอกจากทักษะด้านออกแบบและการพัฒนาโปรแกรม ผมว่าจะไม่มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเลยก็ไม่แปลกนะ เพราะบทนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะให้คุณได้แสดงทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์

ในส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องถ้าใครที่ทำงานที่เน้นไปที่ด้านการวิจัย สิ่งที่ต้องทำก็คือให้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ แต่ไม่ใช่ไปลอกงานเขามาใส่งานเรานะครับ แต่ทีต้องทำก็คือศึกษาและวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของงานวิจัยที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงต้องทำงานชิ้นนี้ จากนั้นก็เขียนสรุปงานของเขาและส่วนของการวิเคราะห์ด้วยคำพูดของเราเอง ส่วนคนที่ทำำแอพพลิเคชันก็ต้องเขียนเพื่อตอบให้ได้ว่าทำไมต้องทำแอพลิเคชันนี้ ถ้ามันยังไม่มีิอยู่เลยก็ต้องหาที่มาของข้อกำหนดความต้องการให้ได้ เช่นถ้าจะพัฒนาระบบงานเพื่อช่วยทำอะไรก็ต้องชี้ให้เห็นว่าระบบเดิมที่เขาทำด้วยคนโดยไม่มีโปรแกรมนี่มันมีการทำงานอย่างไร ระบบเดิมมีปัญหาตรงไหน  หรือถ้าจะทำแอพพลิเคชันที่มีคนทำอยู่แล้ว ก็ศึกษาข้อดีข้อด้อยของแอพลิเคชันเหล่านั้น แล้วก็นำมาเขียนอาจจะเป็นลักษณะของการรีวิวก็ได้  ซึ่งสิ่งที่เราศึกษาและวิเคราะห์มาก็จะนำไปสู่ข้อกำหนดความต้องการของระบบที่เราจะพัฒนาขึ้นนั่นเอง

คิดว่าจากที่เขียนมาทั้งหมด ก็คงจะพอทำให้เห็นแนวทางการเขียนบทที่สองของงานปริญญานิพนธ์ได้มากขึ้นนะครับ ซึ่งถึงแม้ผมจะเน้นและยกตัวอย่างด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่คิดว่าก็อาจนำไปปรับใช้กับงานวิจัยด้านอื่นได้เช่นกัน

สุดท้ายก็ขอนำบล็อกที่เคยเขียนเกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยมาใส่ลิงก์ไว้ให้ตรงนี้ เพื่อความสะดวกในการค้นหาครับ

การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ

การเขียนบทคัดย่อ

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

เครื่องโยนข้าวโพดคั่วเข้าปาก???

หลังจากไม่ได้อั๊พบล็อกนี้มาซะนาน วันศุกร์รถติด ๆ แบบนี้กลับถึงบ้านแล้วมาอ่านเรื่องเบา ๆ คลายเครียดกันดีกว่าครับ พอดีอ่านเจอในข่าวจาก C|NET พวกเราคงเคยกินข้าวโพดคั่ว (popcorn) กันใช่ไหมครับ ส่วนใหญ่เวลากินก็ใช้มือหยิบขึ้นมาเอาเข้าปาก  หรือบางคนอาจพิสดารกว่านั้นเล็กน้อยคือโยนขึ้นไปแล้วอ้าปากรับ แต่ยังไงเราก็ต้องใช้มือหยิบมันขึ้นมาใช่ไหมครับ คราวนี้ถ้ามือเราไม่ว่างล่ะ หรือถ้ามือเราสกปรกอยู่ล่ะ

มีบริษัทหนึ่งเล็งเห็นปัญหานี้ครับและคิดวิธีแก้ด้วยการสร้างเครื่องโยนข้าวโพดคั่วเข้าปากอัตโนมัติ เขาเรียกเครื่องนี้ว่า "Popinator" หลักการทำงานของมันก็คือที่เครื่องจะมีไมโครโฟนและเซ็นเซอร์อยู่ พอผู้ใช้พูดคำว่า "pop" มันก็จะคำนวณทิศทางและระยะทางระหว่างปากเราและตัวเครื่องเพื่อโยนข้าวโพดคั่วมาลงในปากเรา ลองดูวิีดีโอการทำงานของมันกันครับ



ไม่ว่าเครื่องนี้จะผลิตออกมาจำหน่ายจริงหรือไม่หรือแม้ดูว่ามันจะไร้สาระ  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นอยู่ในของชิ้นนี้ก็คือคนที่ประดิษฐ์นี่จะต้องใช้หลักการคำนวณและหลักการทางฟิสิกส์เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะคำนวณระยะทางระหว่างปากกับตัวเครื่องแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าข้าวโพดคั่วแต่ละชิ้นอาจมีขนาดและน้ำหนักต่างกัน ดังนั้นการที่เจ้าเครื่องโยนมาให้อยู่ในระยะที่คนรับจะขยับตัวเอาปากไปรับได้นี่ต้องถือว่าคำนวณได้ดีมาก

พวกเราดูแล้วเป็นไงบ้างครับอยากได้มาใช้สักเครื่องไหม ผมลองไล่ดูในคอมเมนต์จาก YouTube หลายคนก็ชอบบอกว่าคงทำให้การกินข้าวโพดคั่วสนุกสนานมากขึ้น บางคนก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า บางคนก็บอกว่าไร้สาระ และยังบอกว่ามีแต่พวกอเมริกันเท่านั้นแหละที่จะผลาญทรัพยากรไปทำอะไรแบบนี้ แต่ผมชอบแนวคิดของคนที่เขียนข่าวนี้นะครับ เขาบอกว่าถ้าเปลี่ยนให้มันรับคำสั่งจากเสียงเห่าแทน ไอ้เจ้าเครื่องนี้น่าจะเป็นของเล่นชิ้นโปรดของน้องหมาแน่ ๆ หรือเราคิดว่าควรจะปรับมันให้ไปใช้กับอะไรได้อีกดีครับ...

ที่มา:  C|NET





วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

iPhone 5 ไม่ว้าว แต่ iPod touch รุ่น 5 นี่โดนใจจริง ๆ

ผมไม่ได้เขียนบล็อกนี้มาเสียนานครับ จริง ๆ มีเรื่องอยากเขียนเยอะแต่ไม่ว่าง และพอว่างจะเขียนเรื่องมันก็ตกจากความสนใจไปแล้ว แต่วันนี้พอจะว่างและเรื่องที่จะเขียนนี้ก็คิดว่าไม่ตกกระแสแน่เพราะ Apple เพิ่งเปิดตัว iPhone 5 ไปเมื่อวาน และจากกระแสที่ผมอ่าน ๆ มาและความรู้สึกของตัวเองสรุปว่ามันไม่ว้าวแฮะ แต่ที่เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่ามันจะขายไม่ออกนะครับ ผมว่าถึงเวลามันวางขายจริงก็คงจะมีผู้คนมากมายไปต่อแถวรอซื้อมันเหมือนเดิมนั่นแหละ

คราวนี้ทำไมมันถึงไม่ว้าว ที่ไม่ว้าวเพราะว่าคุณสมบัติของมันที่แทบจะไม่แตกต่างจาก iPhone 4s สักเท่าไร ที่เปลี่ยนไปก็คือ ใช้ซีพียูที่รุ่นใหม่ที่ทาง Apple บอกว่าเร็วขึ้นสองเท่า (มั้ง) มีความยาวมากขึ้นจาก 4.5 นิ้วใน iPhone 4s เป็น 4.87 นิ้ว ที่เป็นอย่างนี้เพราะจอภาพใหญ่ขึ้นจากเดิม 3.5 นิ้วเป็น 4 นิ้ว และจอภาพมีความละเอียดมากขึ้น ใช้ซิมเป็น nano-sim กล้องหน้าดีขึ้นเพิ่มเป็น 1.2 ล้านพิกเซล ส่วนที่เหลือก็แทบเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีอย่าง NFC ซึ่งคู่แข่งอย่างซัมซุงมีมานานแล้ว ถ้าใครอยากเปรียบเทียบคุณสมบัติของ iPhone 5 กับ iPhone 4s ลองดูได้จาก เว็บของ Apple ครับ ส่วนเหตุผลที่ Apple ไม่ใส่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปดูได้จาก ARIP ครับ

แต่ที่ผมว่าน่าสนใจและโดนมาก ๆ คือเจ้า iPod Touch รุ่น 5 นี่แหละครับ หลังจากที่ Apple ดูเหมือนจะทิ้งเจ้า iPod Touch ไปแล้วหลังจากที่ออกรุ่น 4 มาแล้วก็ไม่ได้ปรับปรุงมาแล้วสักปีหนึ่งเห็นจะได้ แต่มาคราวนี้เหมือนจะให้มาเต็มเลย คุณสมบัติของจอภาพและกล้องหน้ามาเท่ากับ iPhone 5 เลย นอกจากนี้ยังบางกว่า iPhone 5 มีสีให้เลือกห้าสี และราคาที่ถูกกว่า iPhone 5 มาก ที่ด้อยกว่าคือกล้องหลังที่ให้มา 5 ล้านพิกเซล และ CPU ซึ่งเท่ากับ iPhone 4S ผมว่าแทบอาจพูดได้เต็มปากว่า iPod Touch ตัวนี้คือ iPhone 5 ที่โทรไม่ได้ แต่เสียดายที่ไม่มีรุ่นที่ใส่ซิมเพือใช้เข้าอินเทอร์เน็ตได้ คงกลัวว่ามันจะใกล้เคียงกับ iPhone มากเกินไป สำหรับคุณสมบัติของ iPod Touch รุ่น 5 ดูได้จาก เว็บของ Apple ครับ

สุดท้ายขอให้ความเห็นส่วนตัวหน่อยว่าควรจะซื้อเจ้า iPhone 5 ไหม อันแรกถ้าใครอยากได้และไม่เดือดร้อนเรื่องเงินทองก็เชิญครับ ส่วนคนที่มี iPhone 4 และใช้มาคุ้มค่าแล้วอยากอัพเกรดแต่ลังเล ผมว่าอัพเกรดได้ครับเพราะซีพียูของ iPhone 5 นี่ดีกว่า iPhone 4 พอสมควร และยังมีคุณสมบัติอย่าง Siri ซึ่งใช้ไม่ได้ใน iPhone 4 ถึงตอนนี้ Siri จะยังพูดไทยไม่ได้แต่อนาคตผมว่ามันน่าจะใช้ได้ ดังนั้นอัพเกรดรอไว้ก็ไม่น่าเสียหาย ส่วนคนที่มี iPhone 4S และรู้สึกว่าจอมันเล็กไปอยากใช้จอใหญ่และละเอียดขึ้นจะอัพเกรดก็ได้ แต่ผมว่าถ้าเป็นแค่เหตุผลนี้ก็ซื้อ iPod Touch มาใช้คู่กับเจ้า 4S ดีกว่า ประหยัดเงินได้เป็นหมื่น และไม่ต้องถูกกดราคาขายต่อเจ้า 4S ด้วย เพราะผมว่าหลายคนก็ยังซื้อมาได้ไม่ถึงปี แต่ประเด็นคืออาจต้องพกสองเครื่องซึ่งผมว่าไม่น่าเป็นปัญหาเพราะ iPod Touch บางมาก เวลาโทรศัพท์ก็ใช้เจ้า 4S ไป อยากดูหนังฟังเพลงจอใหญ่ก็ดูจาก iPod Touch ถ้าอยากท่องเว็บผ่าน iPod Touch ก็แชร์เน็ตจาก iPhone ส่วนคนที่ใช้ระบบปฏิบัติการอื่นอยู่แต่อยากลอง iOS ผมว่า iPod Touch เป็นทางเลือกที่ดีครับ

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

ข่าวไอทีน่าสนใจประจำวันที่ 7/9/2555

หลังจากไม่ได้ทวีตข่าวมาเสียหลายวันวันนี้ก็เลยทวีตหลายข่าวหน่อยนะครับ สำหรับใครที่พลาดไปก็มาอ่านฉบับรวมที่นี่ได้ครับ


วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิชาออนไลน์ฟรีที่ใช้เนื้อหาจากหลายเว็บไซต์

กลุ่มที่ให้บริการการเรียนแบบออนไลน์ได้ร่วมมือกันเพื่อให้บริการสอนวิชาฟรีรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า MOOC (Massive Open Online Course)  โดยวิชาที่จะสอนเป็นวิชาเขียนโปรแกรมครับ ชื่อวิชาคือ A Gentle Introduction to Python จะเริ่มวันที่ 15 ตุลาคมที่จะถึงนี้ครับ วิชานี้จะเป็นการรวมบริการต่างจากหลายแหล่งครับ เนื้อหามาจาก  OpenCourseWare ของ M.I.T แบบฝึกหัดและการทดสอบย่อยจาก Codecademy เรื่องของกลุ่มเรียนจะถูกจัดการโดย OpenStudy และประสานงานผ่านทางระบบอีเมลลิสต์ซึ่งผู้รับผิดชอบคือ Peer 2 Peer University

น่าสนใจนะครับผมว่า ตอนนี้เขาเปิดให้ลงทะเบียนแล้วครับ แค่ป้อนอีเมล แล้วก็ตอบคำถามภูมิหลังด้านการเขียนโปรแกรมของเราเล็กน้อย  แล้วช่วงที่รออยู่นี้จะลองเข้าไปดูลิงก์ต่าง ๆ ที่ให้ไว้ด้านบนก็ได้นะครับ มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายทีเดียว แหมเสียดายจริง ๆ ที่สมัยผมเรียนหนังสืออยู่มันยังไม่มีอะไรแบบนี้ แต่คิดอีกทีก็ต้องบอกว่าโชคดีที่ผมยังไม่แก่เกินไปที่จะศึกษาเทคโนโลยีเหล่านี้นะครับ

ใครอยากเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับผมก็ลงทะเบียนกันเลยครับ...

ที่มา: The New York Times

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ


วันนี้ขอเขียนเรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหาในการเขียนบทความวิชาการภาษาไทย เรื่องนั้นก็คือคำที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นจะเขียนอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าจริง ๆ ถ้าเป็นพวกวารสารหรือที่ประชุมวิชาการเราก็ไปดูว่าเขามีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าเป็นพวกวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ก็คงต้องศึกษาคู่มือการเขียนปริญญานิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ แต่หลักการที่ส่วนใหญ่จะยึดไว้เหมือนกันก็คือให้พยายามใช้ภาษาไทยให้มากที่สุด คำภาษาอังกฤษที่เป็นคำทับศัพท์ที่รู้จักกันเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วก็ให้ใช้ทับศัพท์ไปตามนั้นเช่นชื่อประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นต้น

ในส่วนของศัพท์เฉพาะทาง เริ่มต้นก็ให้ดูศัพท์บัญญัติทางวิชาการของสาขาวิชานั้นที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งแน่นอนครับคำศัพท์หลาย ๆ คำที่ถูกบัญญัติไว้นั้นบางคำก็ดูแปลก ๆ และบางครั้งพอเอามาใช้เขียนในเนื้อหาแล้วทำให้ดูสับสนมากกว่าจะช่วยให้อ่านรู้เรื่อง ปัญหานี้เดี๋ยวผมจะกลับมาพูดอีกทีครับว่าผมใช้วิธีการยังไง นอกจากนี้ทางราชบัณฑิตยสถานอาจรู้ตัวแล้วว่าคำศัพท์บางคำเอาไปใช้ตรง ๆ แล้วอาจไม่สื่อความหมายก็เลยยอมให้ใช้วิธีทับศัพท์ได้ด้วยโดยเขียนคำทับศัพท์มาให้เสร็จสรรพ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ง่ายสำหรับเราหยิบมาใช้ได้เลย

คราวนี้คำศัพท์ที่ไม่มีการบัญญัติและไม่มีคำทับศัพท์ล่ะจะทำยังไง ถ้าเป็นแบบนี้ถ้าให้ดีจริง ๆ ก็คือเราอาจต้องให้ความหมายเอง หรือทับศัพท์ด้วยตัวเราเอง แต่แบบไม่ค่อยดีก็คือเขียนเป็นภาษาอังกฤษไปเลย ซึ่งวิธีหลังสุดนี้ก็ง่ายดีแต่บางทีมันก็อาจทำให้งานเขียนของเราดูไม่ค่อยสอดคล้องกันสักเท่าไร ลองคิดดูนะครับเราใช้คำไทยมาตลอดแต่มีบางคำโผล่มาเป็นภาษาอื่นผมว่ามันดูแปลก ๆ นะ ส่วนการแปลหรือให้ความหมายเองบางคนถามว่าจะทำได้หรือ  โดยส่วนตัวผมคิดว่าทำได้ ก็มันไม่มีการบัญญัติไว้ ถ้าเราใช้แล้วมันสื่อความหมายได้ดีทำไมจะใช้ไม่ได้  และดีไม่ดีอาจเป็นคำที่ต่อไปกลายเป็นศัพท์บัญญัติก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าควรจะทับศัพท์ดีกว่าก็คงจะทับศัพท์ตามใจชอบไม่ได้ การทับศัพท์จะต้องยึดหลักที่กำหนดโดยราชบัณฑิตยสถาน  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นศัพท์บัญญัติทางวิชาการ หรือหนังสืออิเลกทรอนิกส์ที่ผมชอบมากก็คือศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ แต่ก็ต้องบอกว่าหลักการทับศัพท์นี่ก็มีรายละเอียดเยอะมากครับบางครั้งอ่านแล้วก็ยังงง ๆ อยู่

อีกเรื่องหนึ่งที่มักสร้างความสับสนก็คือเรื่องของการวงเล็บภาษาอังกฤษประกอบกับคำศัพท์ภาษาไทยที่เราเลือกใช้ หลักการง่าย ๆ หลักการแรกก็คือคำศัพท์ไหนที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันดีจนมันกลายเป็นภาษาไทยไปแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา ค่าเฉลี่ย โปรแกรม และคอมพิวเตอร์ เหล่านี้ไม่ต้องใส่วงเล็บประกอบครับ ผมว่ามันเชยนะถ้าเราต้องเขียนแบบนี้ เทคโนโลยี  (technology) ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้จักกันดีอยู่แล้วว่าคำทับศัพท์คำนี้มันมาจากภาษาอังกฤษคำไหน

การใช้วงเล็บควรจะใช้กับคำศัพท์ที่ยังไม่แพร่หลาย หรือคำที่ใช้อาจสื่อถึงภาษาอังกฤษได้หลายตัว การวงเล็บนั้นหลักการก็คือควรวงเล็บเฉพาะครั้งแรกที่เราใช้คำนั้นเช่น ซิงโครนัส (synchronous) เราก็วงเล็บเฉพาะครั้งแรก หลังจากนั้นเราก็ใช้ซิงโครนัสได้เลยโดยไม่ต้องใส่วงเล็บอีก ลองคิดดูครับว่ามันจะน่ารำคาญแค่ไหนที่ในหน้าเดียวกันเราเขียนคำว่าซิงโครนัส (synchronous) แล้วถัดไปอีกสามบรรทัดก็เขียนซิงโครนัส (synchronous) อีก แต่สำหรับเรื่องนี้ผมก็มีหลักการของตัวเองเพิ่มเติมนิดหน่อยครับไม่รู้ว่ามันจะดีหรือเปล่า ผมเห็นว่างานวิชาการบางครั้งคนอ่านงานเราเขาอาจไม่ได้อ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายเหมือนอ่านนิยาย เขาอาจจะเลือกอ่านเฉพาะส่วนที่เขาสนใจ ดังนั้นถ้าเราใส่คำศัพท์ที่มีวงเล็บไว้ที่บทที่หนึ่งแล้วแต่เขาไม่ได้อ่านข้ามมาอ่านบทที่สามเลย เขาอาจไม่รู้ว่าคำนี้มันคืออะไร ดังนั้นถ้าเป็นคำศัพท์ที่สำคัญที่คนอ่านควรรู้ ผมก็คิดว่าถ้าเราจะวงเล็บไว้ในครั้งแรกที่เราใช้ในแต่ละบทก็น่าจะดี หรือไม่เราก็อาจมีอภิธานศัพท์ (glossary) ไว้ในภาคผนวกก็อาจช่วยได้ ซึ่งอภิธานศัพท์นี้นอกจากที่จะช่วยคนอ่านแล้วยังช่วยเราคนเขียนด้วย คือเราจะได้ใช้คำคำเดียวกันสำหรับคำศัพท์คำเดียวกันได้อย่างสอดคล้องตลอดทั้งเล่ม

กลับมาอีกหนึ่งเรื่องที่ผมค้างไว้ก็คือจะทำยังไงถ้าใช้ศัพท์บัญญัติแล้วมันไม่สื่อความหมายในงานเขียนของเรา ผมขอยกตัวอย่างคำหนึ่งคือคำว่า implementation คำนี้ศัพท์บัญญัติทางคอมพิวเตอร์ของราชบัณฑิตใช้คำว่าการทำให้เกิดผล ดังนั้นสมมติว่าเราต้องการจะแปลวลี design and implementation เราก็คงต้องแปลว่าการออกแบบและการทำให้เกิดผล ซึ่งมันอาจฟังดูแปลก ๆ เพราะเราไม่คุ้น และคำว่าการทำให้เกิดผลมันไม่ได้สื่อตรง ๆ ว่าหมายถึงอะไร ถ้าวลีดังกล่าวเป็นชื่อหัวข้อผมว่าการแปลอย่างนี้อาจจะใช้ได้ เพราะเราสามารถขยายความคำว่าการทำให้เกิดผลว่ามันหมายถึงอะไรในส่วนของเนื้อความ แต่สมมติว่ามันไม่ใช่หัวข้อแต่เป็นเนื้อความส่วนอื่น ก็อาจถามตัวเองว่ามันมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องแปลหรือเขียนคำว่า implementation ตรง ๆ สมมติว่าถ้าเราลองเลี่ยงไปใช้คำอื่นเช่นการพัฒนาโปรแกรมมันยังให้ความหมายที่เราต้องการจะสื่อหรือไม่  แต่ถ้าต้องใช้ implementation จริง ๆ ส่วนตัวผมอาจใช้คำว่าการอิมพลีเมนต์ครับ อันนี้เลี่ยงบาลีเอา คือมองว่าคำว่า implement ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ และ implementation เป็นคำนาม เราก็เติมการเข้าไป ผมว่ามันทำได้นะครับถ้าจะทำให้บทความของเราอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะคนในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็รู้จักคำว่าอิมพลีเมนต์กันทุกคน แต่จะถูกหลักของราชบัณฑิตยหรือเปล่าอันนี้ไม่แน่ใจ

สุดท้ายผมมีหนังสือแนะนำสองเล่มที่น่าจะช่วยการเขียนของเราครับเล่มแรกคืออ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งจะช่วยให้เราอ่านและเขียนภาษาไทยได้ถูกต้อง และอีกเล่มคือคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศในไทย โดย เจตต์ วิษุวัต ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมคำทับศัพท์ที่ใช้บ่อย ๆ ในประเทศไทยไว้ให้พวกเราได้ใช้กัน วันนี้ยาวหน่อยนะครับ แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์...

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จะทำยังไงเมื่อ Facebook คิดว่าเราตายไปแล้ว

บล็อกนี้เขียนขึ้นด้วยความประหลาดใจสองข้อครับ ข้อแรกคือผมเพิ่งจะรู้ว่า Facebook มีฟังก์ชันให้เราแจ้งว่าเพื่อนของเราตายไปแล้ว ข้อสองคือ Facebook จะเชื่อทันทีโดยไม่ตรวจสอบและเปลี่ยนสถานะบัญชีของคนที่ถูกแจ้งว่าตายแล้วเป็นสถานะอยู่ในความทรงจำ ซึ่งเจ้าของบัญชีที่อยู่ในสถานะนี้เมื่อล็อกอินเข้ามาแล้วจะเจอข้อความว่า

Account Inaccessible This account is in a special memorial state. If you have any questions or concerns, please visit the Help Center for further information.

 ถ้าแปลเป็นไทยก็จะได้ความประมาณว่า บัญชีนี้อยู่ในสถานะอยู่ในความทรงจำ ถ้ามีคำถามหรือข้อสงสัยใด ๆ ให้ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือ นั่นหมายความว่าเจ้าของบัญชีจะทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากต้องติดต่อศูนย์ช่วยเหลือนี่เท่านั้น ซึ่งถ้าใครตอนนี้อยู่ในสถานะนี้ (และแน่นอนยังไม่ได้ตายจริง) นี่คือลิงก์ของศูนย์ช่วยเหลือเรื่องนี้ครับ แจ้งเรื่องสถานะอยู่ในความทรงจำ

ประเด็นที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือหนึ่งผมว่าคุณสมบัตินี้มีประโยชน์นะครับ ลองนึกว่าจะดีแค่ไหนถ้าเพื่อนเราตายไปแล้วแต่เวลาเราคิดถึงเขาเราก็ยังเข้าไปดูสิ่งที่เขาเคยโพสต์ได้ แต่ Facebook น่าจะทำอะไรได้ดีกว่าพอมีคนแจ้งปุ๊บก็เชื่อปั๊บและเปลี่ยนสถานะให้เขาตายทันที อย่างนี้ก็แกล้งกันได้ง่ายสิครับ และแน่นอนมีคนถูกแกล้งมาแล้ว สิ่งที่ Facebook ทำตอนนี้คือแค่มีคำเตือนอย่างนี้ครับ

IMPORTANT: Under penalty of perjury, this form is solely for the reporting of a deceased person to memorialize.

แปลเป็นไทยแบบสรุป ๆ ก็คือคุณอาจโดนข้อหาแจ้งความเท็จได้ ประเด็นคือต้องไปฟ้องร้องเอา แล้วกฎหมายนี้มันจะครอบคลุมทุกประเทศไหม อย่างประเทศไทยนี่มันเข้าข่ายพรบ.คอมพิวเตอร์ข้อไหนไหมแค่คิดก็ปวดหัวแล้ว ซึ่งจริง ๆ ผมว่ามันมีวิธีป้องกันง่าย ๆ ที่ Facebook น่าจะคิดและทำได้ เช่นพอมีคนแจ้งก็ส่งอีเมลไปให้เจ้าของบัญชีก่อนเพื่อการยืนยัน โดยข้อความในจดหมายที่ผมคิดเล่น ๆ อาจเป็นประมาณนี้ (เอาแบบสนุก ๆ นะครับ)

  เรียนคุณ .... 

 เราได้รับแจ้งว่าคุณได้เสียชีวิตไปแล้ว ถ้าเป็นจริงเราเสียใจด้วย และคุณไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เราเข้าใจดีว่าการติดต่อสื่อสารจากอีกโลกหนึ่งมายังอีกโลกหนึ่งอาจมีความไม่สะดวก เราจะดำเนินการทุกอย่างให้คุณเอง ขอให้พักผ่อนอย่างสงบ 

แต่ถ้าคุณยังไม่ตาย เราขอแสดงความยินดีด้วย และเรายินดีที่จะได้บริการคุณต่อไป เราขอให้คุณคลิกที่ลิงก์ข้างล่างนี้ภายใน 30 วัน เพื่อยืนยันว่าคุณยังไม่ตาย และเราขอแนะนำเพิ่มเติมอีกว่าให้คุณเลิกคบกับคุณ ... ซึ่งเป็นคนแจ้งว่าคุณตายไปแล้ว แต่กรุณาอย่าแก้แค้นเขาด้วยการแจ้งว่าเขาตายไปแล้วเช่นกัน นั่นจะเป็นการเพิ่มงานให้กับเรา 

ด้วยความนับถืออย่างสูง 

 มาร์ค และทีมงาน Facebook 

หรือเวลาคนที่ถูกแจ้งตายล็อกอินเข้ามาก็มีข้อความแจ้งเตือน และให้เขายืนยันตัวตนด้วยการส่งลิงก์ไปให้คลิกจากอีเมล นี่คือวิธีง่าย ๆ ที่น่าจะทำได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแบบนี้ เออแต่นึกอีกทีไอ้เรื่องง่ายกว่านี้เขายังปล่อยปละละเลยมาตั้งนานเช่นเรื่องไม่ให้แก้คอมเมนต์เวลาพิมพ์ผิด ถ้าอยากแก้ก็ต้องลบคอมเมนต์แล้วพิมพ์ใหม่ นี่เพิ่งจะนึกได้ว่าควรจะให้แก้ได้ แต่เขาก็ทยอยเปิดคุณสมบัตินี้ให้ผู้ใช้นะครับ ไม่ได้ให้ใช้พร้อมกัน เหมือนตอนทยอยเปิดไทม์ไลน์นั่นแหละครับ ไม่แน่ใจว่าพวกเราจะได้ใช้เมื่อไหร่ (ตอนนี้อาจมีบางคนได้ใช้แล้วก็ได้)

ผมไม่ค่อยอยากคิดว่านี่เป็นบั๊กของโปรแกรมหรอกนะครับ เพราะขี้เกียจได้ยินประโยคที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า

It's not a bug. It's a feature (มันไม่ใช่บั๊กนะเฟ้ย มันเป็นคุณสมบัติของโปรแกรมต่างหาก)

สุดท้ายก็หวังว่าคงจะไม่มีใครเอาเรื่องนี้ไปแกล้งกันนะครับ...

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เขียนอย่างไร 1

ผมเห็นว่าตอนนี้เราเขียนคำภาษาไทยผิดกันเยอะครับ ก็เลยวางแผนว่าจะทวิตคำที่มักจะเขียนผิดลงทวิตเตอร์ไปสักวันละสองสามคำ แต่เนื่องจากทวิตเตอร์นั้นตรงไทม์ไลน์อาจจะไหลเร็ว ก็เลยรวมรวบคำที่ทวิตไปมาไว้ในบล็อกอีกทีหนึ่ง ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ  และต่อไปนี้ก็คือคำที่ทวิตไปในวันนี้ครับ


วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คนไทยยอมรับรัฐบาลที่โกงแต่ให้ประโยชน์จริงหรือ


อ่านข่าวว่าโพลบอกว่าคนไทยยอมให้รบ.โกงถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วยมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดนี่ก็อีกครั้ง อึ้ง! โพลชี้คนไทย รับได้รัฐบาลทุจริต แล้วก็มักจะมีข้อสรุปว่าคนไทยมีทัศนคติไม่ดี ทัศนคติอันตรายบ้าง ผมดูผลแล้วก็งงอยู่ว่าคนไทยเป็นอย่างนี้จริงหรือ โดยส่วนตัวอยากเห็นคำถามในโพลมากว่าเป็นอย่างไร อยากรู้ว่ามันมีให้เลือกระหว่างรัฐบาลที่ไม่โกงแต่ไม่เก่ง (ประชาชนได้ประโยชน์น้อย) กับรัฐบาลที่โกงแต่เก่งไหม ถ้ามีแล้วผลยังออกมาแบบนี้ในส่วนตัวก็คิดว่านั่นคือทัศนคติที่ต้องแก้ไขจริง ๆ เพราะโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าความเก่งพัฒนากันได้ แต่ความซื่อสัตย์สุจริตนี่สร้างยากครับ และในแง่ของนักลงทุนเขาก็คงต้องการลงทุนกับรัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริตมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นถ้าประชาชนมีความคิดอย่างนี้จริง ค่านิยมนี้ก็จะระบาดไปทั่วสังคม ซึ่งคงไม่ต้องบอกนะครับว่าสังคมที่มีแต่คนที่ไม่ซื่อสัตย์นี่มันจะเป็นอย่างไร

แต่ผมไม่คิดว่าประเทศเราจะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายอย่างนั้นครับ ผมเชื่อว่าที่ผลออกมาแบบนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่น่าจะเห็นว่ารัฐบาลไหนก็โกงทั้งนั้น ดังนั้นถ้าต้องเลือกก็ขอเลือกที่โกงแล้วแต่ประเทศยังก้าวเดินไปข้างหน้าได้ก็แล้วกันมากกว่า

แน่นอนครับผมคิดว่าคนไทยทุกคนก็อยากได้รัฐบาลที่ไม่โกงและเก่งด้วย แต่ด้วยนักการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้เราคงหวังได้ยาก ดังนั้นเราคงต้องช่วยกันครับ เริ่มจากตัวเราครับตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย เช่นทำตามกฏหมายง่าย ๆ อย่างเคร่งครัด เช่นข้ามถนนบนสะพานลอย ไม่ขับรถย้อนศรเพื่อที่จะได้กลับรถใกล้ ๆ นักเรียนนักศึกษาไม่ทุจริตการสอบ ไม่จ่ายเงินใต้โตะเพื่อให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น และไม่จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนดัง ๆ เป็นต้น ซึ่งผมมองว่าเรื่องการทุจริตนั้นมันมักจะเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้แหละครับ และมันก็ติดเป็นนิสัยจนไปทำเรื่องที่ใหญ่ขึ้น และอย่าลืมครับว่าเด็ก ๆ เขามองการกระทำของเราเป็นตัวอย่างอยู่นะครับ พ่อแม่ที่จูงมือลูกข้ามถนนใต้สะพานลอย ลูกก็จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ระเบียบวินัย พ่อแม่ที่จ่ายเงินให้ลูกได้เข้าเรียนลูกก็จะคิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ดังนั้นเขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดแต่จะหาเงินให้ได้เยอะ ๆ อะไรประมาณนี้ ส่วนเรื่้องความเก่งนั้นผมว่าน่าจะทำได้ด้วยการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนรู้รอบและรอบรู้ครับ เริ่มต้นจากพัฒนาตัวเองให้สามารถหาความรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนที่สามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้ตลอดชีวิต รู้จักแยกแยะข้อมูลข่าวสารรับข่าวสารให้รอบด้าน ปัญหาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่พวกเราหลายคนเลือกที่จะรับข่าวสารเพียงด้านเดียวและไม่กรองข่าวสารด้วยนี่แหละครับ

วันนี้อาจจะหนักไปหน่อยแต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ

รวมข่าว IT ที่โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ 5 มิ.ย. 2555

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาแต่จบที่บ้าน


บล็อกนี้เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังแห่งหนึ่งในวิสุทธานีครับ และพูดอย่างไม่กลัวเชยว่าผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก มาส่งลูกคนโตเรียนพิเศษและถือโอกาสเดินสำรวจไปทั่ว ๆ จากนั้นก็เข้ามานั่งรอลูกและเริ่มเขียนบล็อกนี้ครับ ผมเข้ามาสู่วังวนของโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้งแล้วครับหลังจากหยุดมานานตั้งแต่สมัยที่ให้ลูกไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าป.1 ตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่ามันควรทำหรือไม่ แต่ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ทั้งเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่าควรไปจะได้รู้แนวข้อสอบงั้นจะเสียเปรียบเขา เราก็เลยพาลูกไปเรียน ซึ่งจริงๆ ก็สงสารลูกนะครับและต้องชมเขาอีกครั้งว่าพวกเขาซึ่งตอนที่ไปเรียนนั้นอายุแค่ประมาณห้าขวบ ตื่นกันขึ้นมาแต่เช้าและยอมไปเรียนโดยไม่งอแง

หลังจากสอบเข้าป.1 แล้วผมกับภรรยาก็ไม่ได้ให้ลูกไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาที่ไหนอีก จะมีก็แค่เป็นส่วนเสริมเช่นไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดนตรี ฟุตบอล แต่ถ้าจะเรียนเป็นงานเป็นการก็คือคุมองซึ่งเป็นการเน้นการทำโจทย์คณิตศาสตร์และฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ และถ้าแบ่งเวลาดี ๆ ก็จะใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งจริง ๆ ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าภรรยาผมเธอมีจุดประสงค์แอบแฝงในการให้ลูกไปเรียนคุมอง เพราะเธอต้องการเปิดศูนย์คุมองครับเลยส่งลูกไปเป็นสายลับก่อน :) ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้เปิดศูนย์คุมองสมใจเธอแล้ว   

ถ้าถามว่าทำไมผมถึงไม่ชอบให้ลูกเรียนกวดวิชาคำตอบก็คือผมกับภรรยาไม่คิดว่าการเรียนพิเศษในวิชาที่เรียนอยู่ในห้องมันจะเป็นเรื่องจำเป็นอะไร สำหรับภรรยาผมเท่าที่คุยกันเธอก็ไม่เคยไปเรียนพิเศษที่ไหนเนื่องจากตอนเด็กเธอต้องช่วยที่บ้านขายของ ส่วนผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเองครับ ผมจะใช้วิธีซื้อหนังสือคู่มือมาอ่านแล้วก็ฝึกทำโจทย์ อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าการไปเรียนกวดวิชาเป็นการยัดเยียดอะไรให้ลูกมากเกินไป เราก็เลยสอนลูกให้ตั้งใจเรียนทำความเข้าใจในห้องและหมั่นทบทวนซึ่งลูกก็สอบในโรงเรียนได้ดีโดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษที่ไหน

คราวนี้ทำไมให้ลูกมากวดวิชาอีก เหตุผลเริ่มจากที่ภรรยาผมต้องการให้ลูกคนเล็กลองมาสอบเข้าม.1 ที่โรงเรียนอื่นดูบ้าง เธอให้เหตุผลว่าให้เขามาลองฝีมือดู มาเทียบกับเด็กโรงเรียนอื่นดูบ้าง  ซึ่งเราก็ให้เขามาลองสอบ pre-test  เข้า ม. 1 ซึ่งโรงเรียนดัง ๆ ส่วนใหญ่นิยมจัดกัน ลองให้เขาสอบตั้งแต่เขาอยู่ ป. 5 ผลปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นครับ เจ้าตัวเล็กผมตอนอยู่โรงเรียนเดิมนี่ได้ที่ 1-3 ของห้องมาเกือบตลอด แต่พอมาสอบนี่ไม่ติดอันดับเลย ตอนนั้นเราก็วิเคราะห์กันว่าเพราะเขาอยู่แค่ป. 5 และไม่ได้เตรียมตัวสอบดีเท่าไร  พอเขาอยู่ป. 6 ก็ให้มาลองสอบอีกปรากฏว่าดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ติดอันดับเหมือนเดิม คราวนี้เราก็เลยต้องคิดกันใหม่  ช่วงแรกเราก็เลยหาคู่มือสอบมาให้เขาลองทำซึ่งทำให้รู้ว่าเขาไม่เคยเจอข้อสอบในลักษณะนั้นมาก่อน เท่าที่จำได้และเห็นเด่นชัดก็คือวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งการเรียนในโรงเรียนดูเหมือนจะไม่ได้เน้นพวกโครงสร้างอะตอมอะไรพวกนี้ (อันนี้ที่รู้เพราะเวลาลูกสอบผมมักจะหาเวลามาติวลูก) แต่ในคู่มือกลับมีข้อสอบลักษณะนี้ ซึ่งผมจำได้ว่าสมัยผมกว่าจะเรียนพวกนี้ หรือรู้จักตารางธาตุก็ตอนม.ปลายแล้ว แต่นี่แค่เด็กป. 6 และข้อสอบไม่ได้ถามแค่ให้รู้จักธรรมดายังถามให้คำนวณด้วย หรืออย่างข้อสอบคณิตศาสตร์นี่มันก็จะมีสูตรลัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำตรง ๆ อาจใช้เวลานาน และในบางวิชาถึงจะมีเฉลยแล้วเราก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปอยู่ดี คือผมกับภรรยาก็พยายามช่วยเขา แต่ความที่เราก็ทิ้งวิชาอื่น ๆ นอกจากเลขกับภาษาอังกฤษมานานแล้วทำให้บางครั้งเราก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร  อีกประการที่ผมพยายามฝึกลูกอยู่ก็คือลูกผมไม่เหมือนผมที่ชอบอ่านและทำโจทย์เองครับ ด้วยเหตุผลนี้เราจึงคิดว่าน่าจะลองให้เขาเรียนพิเศษดูและเขาก็น่ารักอีกตามเคยที่ยอมไปเรียนครับ แต่คราวนี้แรก ๆ ก็มีงอแงบ้าง เพราะจริง ๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากย้ายจากโรงเรียนเดิมครับ เราก็ต้องบอกเขาว่าอยากให้เขาไปเรียนเพื่อที่จะเพิ่มความรู้ให้เขาไปลองเทียบฝีมือกับคนอื่นดู ถ้าสอบได้และเขาไม่อยากย้ายก็จะไม่บังคับอะไร

สรุปเจ้าคนเล็กเริ่มเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้าม.1 ช้ามากคือมาเริ่มเรียนตอนป.6 แล้ว ไปสอบสนามแรกก็ไม่ติด มาสนามที่สองก็ยังไม่ติดแต่ที่ผมสังเกตุคือคะแนนเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงสนามสุดท้ายบดินทรเดชา 2 สนามนี้เจ้าคนเล็กอยากเข้ามากครับ เพราะเขาไปได้เพื่อนใหม่ที่เรียนพิเศษด้วยกันและตั้งใจเข้าบดินทร 2 ด้วยกัน  (คิด ๆ ดูนี่เจ้าตัวเล็กผมใจง่ายนะครับ เพื่อนโรงเรียนเดิมเรียนกันมาตั้งหกปีจะทิ้งไปอยู่กับเพื่อนที่เพิ่งเรียนด้วยกันซะแล้ว) ปรากฏว่าเขาสอบติดครับและเพื่อนเขาที่เรียนด้วยกันหลายคนก็ติดด้วย ไม่รู้ว่านี่จะสรุปได้ไหมว่าโรงเรียนกวดวิชามีผลเป็นอย่างมาก ถ้าลูกใครสอบเข้าได้โดยไม่ต้องไปกวดวิชาที่ไหนนี่มาแสดงความเห็นด้วยก็ดีนะครับ มาช่วยบอกหน่อยว่าทำยังไง คือถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ชอบโรงเรียนกวดวิชา แต่มันเหมือนกับว่าถ้าคุณไม่กวดวิชาคุณก็จะเสียเปรียบสู้คนที่กวดไม่ได้  

คราวนี้ก็ถึงรอบคนโตครับเพราะภรรยาผมก็ต้องการให้เขาไปวัดฝีมือสอบเข้าม.4 กับเด็กอื่นอีกแล้ว และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมต้องมาที่วิสุทธานีเป็นครั้งแรก และยังคงจะต้องมาอีกหลายครั้งเพื่อรับส่งเขา ส่วนคนเล็กนี่เราตัดสินใจให้เขาหยุดเรียนพิเศษไว้ก่อนครับ เพราะเราก็ยังเชื่อว่าการตั้งใจเรียนและทบทวนบทเรียนในห้องเรียนน่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งถ้าแค่เรียนในโรงเรียนยังต้องมากวดวิชานี่เราสองคนก็ยังไม่เห็นด้วยครับ เพราะเราคิดว่ามันจะติดเป็นนิสัยจนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งเหตุการณ์นี้เจอกับตัวเองเลย มีลูกศิษย์บางคนเคยเข้ามาถามว่าอาจารย์ไม่รับติวพิเศษบ้างหรือ ซึ่งผมก็บอกว่าเราเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วเราไม่ควรจะต้องมีการมาติวพิเศษอีกแล้ว เราจะต้องหัดเรียนรู้และรับผิดชอบด้วยตัวเองให้ได้ เร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์ด้วยกันแต่อยู่กันคนละมหาวิทยาลัยซึ่งเขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ค่านิยมการเรียนพิเศษมันได้ลามไปถึงระดับป.โทหรือกระทั่งป.เอกแล้ว ฟังแล้วก็อนาถใจ 

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นจากเรื่องโรงเรียนกวดวิชานี้ก็คือเหตุผลของการที่เด็กต้องมาเรียนกวดวิชา ซึ่งผมสรุปเองได้หลัก ๆ สามข้อ หนึ่งคือข้อสอบที่ใช้สอบเข้าไม่ว่าจะระดับไหนไม่ได้ออกตามจุดประสงค์หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่ตรงกับหลักสูตรที่เด็กได้เรียนมา (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น) สองการมาเรียนกวดวิชาทำให้เด็กได้สูตรลัดในการคิดคำนวณซึ่งก็จะได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเพราะจะทำให้ได้คำตอบที่เร็วกว่า (แต่จุดประสงค์ของการสอบต้องการวัดอะไรกันแน่ วัดความเร็วหรือจะวัดกระบวนการคิด) สามครูที่สอนอยู่ในสถานศึกษา(รวมถึงตัวผมด้วย) อาจต้องพิจารณาแล้วว่าทำไมเราจึงสื่ิอสารกับเด็กสู้ติวเตอร์ที่สอนพิเศษเหล่านี้ไม่ได้ บางคนอาจถามว่าแล้วความแตกต่างระหว่างโรงเรียนไม่เกี่ยวหรือ ผมว่าไม่เกี่ยวนะเด็กที่มาเรียนพิเศษที่ผมเห็นอยู่รวมถึงลูกผมด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนดัง ๆ กันทั้งนั้น คือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่โรงเรียนไหนคุณก็ต้องกวดวิชาทั้งนั้น ผมยังเคยคิดเล่น ๆ เลยว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ให้ลูกเรียนกศน.เสียเลยดีไหม แล้วก็มาเรียนกวดวิชาเอา  

ผมเริ่มเขียนบล็อกที่โรงเรียนกวดวิชาแต่สุดท้ายก็มาจบที่บ้านครับ ยังไงเสียบ้านก็จะเป็นที่บ่มเพาะสำคัญให้ลูก ๆ ของเราเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศชาติต่อไป ช่วยกันทำบ้านให้อบอุ่นเพื่อลูกหลานของเรากันนะครับ วันนี้จบมันแบบไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมาแบบนี้แหละ สวัสดีครับ...

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิศวกรซอฟต์แวร์:อาชีพยอดเยี่ยมประจำปี 2012

เมื่อวานนี้ผมได้โพสต์ลิงก์นี้ Software Engineer: 2012's Top Job ลงในเฟซบุ๊คของผม ซึ่งโดยสรุปก็คือจากการสำรวจของ careercast พบว่าอาชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2012 คือวิศวกรซอฟต์แวร์ ในวันนี้ผมอยากจะมาขยายความหน่อยครับสำหรับคนที่อาจไม่อยากอ่านรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษเอง

การจัดอันดับนี้เขาไม่ได้วัดจากรายได้สูงสุดนะครับ แต่เขาวัดจากปัจจัย 5 ประการด้วยกัน คือด้านกายภาพ สภาพแวดล้อมการทำงาน รายได้ ความเครียดและแนวโน้มการได้งาน อีกประการที่อยากจะนำมาขยายความก็คือภาระหน้าที่ของวิศวกรซอฟต์แวร์จากการสำรวจนี้ครับ หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือวิจัย ออกแบบ พัฒนาและดูแลระบบซอฟต์แวร์ตลอดจนฮาร์ดแวร์ สำหรับงานด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ   รายได้เฉลี่ยต่อปีของอาชีพนี้อยู่ที่ 88, 142 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว 2,732,402 บาท ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอาชีพเภสัชกรที่อยู่ที่ 112,070 เหรียญสหรัฐ (3,474,170 บาท) แต่อาชีพเภสัชกรอยู่ถึงอันดับที่ 14 ครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมอาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ถึงได้การจัดอันดับยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ห้าประการครับ

  1. เวลาที่ยืดหยุ่นมาก  วิศวกรซอฟต์แวร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่อยากจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
  2. ได้ร่วมงานกับคนเก่ง ตำแหน่งนี้ต้องทำงานแบบลองผิดลองถูก ซึ่งก็จะดึงดูดพวกที่ชอบแก้ปัญหาแบบมีหลักการ จากการสำรวจมองว่าคนพวกนี้คือคนเก่ง และคนที่มาทำงานตำแหน่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาโดยตรง ก็คือเปิดโอกาสให้คนเก่ง ๆ จากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันทำงาน
  3. มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบทำงานเป็นทีม ตำแหน่งนี้จะต้องช่วยกันทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยให้โครงการเสร็จในเวลาที่กำหนด ในข่าวนี้เขาเปรียบเทียบกับตำแหน่งนักเขียนโปรแกรมว่ามักจะทำงานคนเดียว
  4. มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์ อย่างที่บอกในข้อสองคือตำแหน่งนี้ต้องทดลองและแก้ปัญหา ซึ่งปัญหานั้นอาจไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ง่าย ๆ จาก Google 
  5. มีอิสระที่จะทำพลาด จากข้อสองอีกนั่นแหละครับคือทดลองวิธีแก้ปัญหาที่คิดได้ ถ้ามันไม่สำเร็จก็กลับไปคิดใหม่ 
อย่างไรก็ตามนี่คือการสำรวจในต่างประเทศนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า  ใครที่ทำงานในตำแหน่งนี้อยู่อยากจะแสดงความคิดเห็นก็ยินดีครับ



ที่มา: Information Week

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หุ่นยนต์ที่จะส่งกลิ่นทุกครั้งที่มีคนพูดถึงเรา

ปกติเรามักจะใช้เสียงเพื่อเตือนเวลาใครพูดถึงเราในเครือข่ายสังคมใช่ไหมครับ แต่คุณ Benjamin Redford เขาใช้กลิ่นในการเตือนครับ โดยเขาได้สร้างหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Olly ซึ่งเจ้า Olly นี้จะส่งกลิ่นออกมาทุกครั้งที่มีการอ้างถึงเราทางเครือข่ายสังคมซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ด้วยนะครับว่าเราจะให้ Olly ติดตามเครือข่ายอะไรบ้าง เหตุผลที่เขาสร้างเจ้า Olly ขึ้นมาก็คือเขามองว่าเราใช้สายตาเพื่อดูจอภาพมามากพอแล้ว เราน่าจะใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นในการติดตามข่าวสารข้อมูลบ้าง  ตัวอย่างของผู้ใช้งานเจ้า Olly เช่นพ่อครัวคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาให้เจ้า Olly ส่งกลิ่น tortilla ซึ่งเป็นอาหารเม็กซิโกประเภทหนึ่งเวลามีคนพูดถึงร้านของเขา และยังมีบริษัทแห่งหนึ่งวางแผนที่จะใช้ Olly ในแผนรณรงค์การตลาดในปีนี้

ถึงตอนนี้หลายคนอาจอยากได้เจ้า Olly มาใช้สักตัวหนึ่งใช่ไหมครับ บางคนอาจถามว่าจะซื้อได้ที่ไหน แต่เท่าที่ผมค้นมาไม่มีขายนะครับ เห็นแต่เว็บที่ให้เราแจ้งอีเมลแสดงความจำนงค์เอาไว้ http://ollyfactory.com/get แต่ถ้าอยากได้ตอนนี้เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ซึ่งทางคุณ Benjamin เขาได้ทำเว็บไซต์สอนวิธีสร้าง Olly เอาไว้ครับ ถ้าใครสนใจเชิญเข้าไปดูได้ตามลิงก์นี้ครับ http://ollyfactory.com/instructions ถ้าใครสร้างแล้วประสบความสำเร็จจะสร้างเผื่อผมสักตัวก็ยินดีครับ...

ที่มา: ฺฺBBC News



วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กรุงเทพมีคำขวัญแล้ว

กรุงเทพมีคำขวัญแล้วครับ เมื่อสามปีก่อน ผมเคยเขียนบล็อกเรื่องคำขวัญกรุงเทพ? เอาไว้ เหตุผลที่ผมเขียนบล็อกนั้นก็เพราะผมรู้สึกประหลาดใจครับ เ้หตุก็คือเมื่อสามปีที่แล้วผมติวหนังสือเตรียมตัวสอบกับลูกเรื่องคำขวัญของจังหวัดต่าง ๆ และผมพบว่าในหนังสือเล่มนั้นบอกว่าคำขวัญของกรุงเทพคือ

ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์


ซึ่งผมอ่านแล้วตอนแรกก็ขำกลิ้ง แล้วก็รู้สึกงงว่านี่มันคำขวัญหรือป้ายหาเสียงกันแน่ แต่ตอนนี้เราได้คำขวํญของกรุงเทพจริง ๆ แล้วครับ  โดยสรุปก็คือทางกทม.ได้จัดประกวดตั้งคำขวัญกรุงเทพ แล้วได้คำขวัญที่เข้ารอบสุดท้ายมาห้าคำขวัญ จากนั้นก็ให้คนเข้้าไปโหวต (แต่แปลกนะทำไมผมไม่รู้เรื่องเรื่องนี้เลย) และสุดท้ายผลการโหวตออกมาแล้วครับ เราได้คำขวัญกรุงเทพดังนี้ครับ

กรุง​เทพฯ ดุจ​เทพสร้าง ​เมืองศูนย์กลาง​การปกครอง วัด วัง งาม​เรืองรอง ​เมืองหลวงของประ​เทศ​ไทย     

จากที่ไปอ่านดูคำขวัญที่เข้ารอบมาก็เพราะทุกอันเลยนะครับ ถ้าใครอยากรู้ว่ามีอะไรบ้างก็ดูจากที่มาได้เลยครับ

ที่มา: mthai

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เครื่องมือไม่ใช่ปัญหาคนต่างหากที่เป็นปัญหา

วันนี้พอดีได้อ่านข่าวจาก blognone เรื่องนี้ครับ นิวยอร์คซิตี้ออกกฎใหม่ห้ามอาจารย์-นักเรียนเป็นเพื่อนกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค เหตุผลที่เขาออกกฎนี้ออกมาก็เพราะในปีที่แล้วมีกรณีไม่เหมาะสมระหว่างครูกับนักเรียนเกิดขึ้นผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายกรณีด้วยกัน พออ่านแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะนึกไม่ถึงว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีจะมีผู้คนที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ต่างจากประเทศสารขัณฑ์ที่นึกอะไรไม่ออกก็บล็อกเว็บไซต์ไว้ก่อนแบบนี้  ผมไม่คิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้มันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดนะครับ กรณีระหว่างครูกับนักเรียนนี่ถ้ามันจะมีไม่ต้องมีโซเชียลเน็ตเวิร์คมันก็มีได้ และจริง ๆ ไอ้เรื่องแบบนี้มันก็มีมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว

การที่นักเรียนกับอาจารย์เป็นเพื่อนกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์คมันก็มีประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ การติดตามดูแลการโพสต์ของนักศึกษาไม่ให้เกินเลยไปรวมถึงการโพสต์ข้อความของตัวอาจารย์เองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการที่อาจารย์กับนักเรียนเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊คก็จะทำให้นักเรียนไม่รู้สึกกลัวเวลาที่จะต้องไปพบอาจารย์เพื่อปรึกษาเรื่องต่าง ๆ หรือถ้ายังกลัวอยู่ก็ยังสามารถขอคำปรึกษาผ่านเฟซบุ๊คได้ ซึ่งในยุคสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนอยู่นี่เวลาต้องเข้าไปปรึกษาอาจารย์ก็รู้สึกเกร็ง ๆ แทบทุกครั้ง ขนาดไม่ได้ทำความผิดอะไรนะครับ และไม่มีเฟซบุ๊คให้ไปโพสต์ถามด้วยต้องเข้าไปเผชิญหน้ากันอย่างเดียว เทียบกับลูกผมตอนนี้เป็นเพื่อนกับครูบนเฟซบุ๊คอยากถามอะไรก็ถามได้ง่าย หรือบางครั้งก็มีการคุยเล่นสนุก ๆ กับครูของเขาบ้าง  หรือแม้แต่ตัวผมเองต้องบอกว่าเพื่อนของผมกว่าครึ่งบนเฟซบุ๊คตอนนี้ก็คือลูกศิษย์ของผม และผมก็ถูกแซวบ้างเวลาที่ลิเวอร์พูลแพ้ (แต่ก็อย่าแซวมากนักนะ เดี๋ยวมีเคือง) ซึ่งผมว่าตรงนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น

สรุปก็คือผมว่าทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนไม่ว่าจะมีอาชีพใดก็ตาม ถ้าคนคนนั้นไม่มีจิตสำนึกที่ดี ต่อให้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรคนคนนั้นก็ทำเรื่องไม่ดีได้ การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่น่าจะใช่การไปควบคุมการใช้เครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนดีใช้ประโยชน์อยู่ แต่ควรจะกลับมาเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องผู้ใหญ่ไม่ดีในวันนี้ไม่ให้ทำเรื่องชั่วร้ายและควรจะลงโทษสถานหนักสำหรับคนที่ทำผิดมากกว่า 


วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

การเขียนบทคัดย่อ

เข้าสู่เทศกาลสอบ Senior Project กันแล้วนะครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องเขียนในเอกสารก็คือบทคัดย่อ แต่ปัญหาคือหลายคนไม่รู้ว่าในบทคัดย่อต้องเขียนอะไร แม้แต่ปริญญาโทบางคนก็อาจยังไม่รู้ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้หลายปีแล้วที่ เว็บบอร์ดของ Computer Science KMITL วันนี้ขออนุญาตเอามาเล่าซ้ำให้ฟังอีกครั้งแล้วกันครับ โดยมีการแก้ไขเล็กน้อย

เริ่มต้นจากบทคัดย่อคืออะไรและสำคัญอย่างไร บทคัดย่อก็คือการสรุปงานวิจัยที่สมบูรณ์ในรูปแบบที่สั้นและกระชับ ความสำคัญของบทคัดย่อก็คือถ้าเราเขียนได้ดี ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจภาพรวมของงานวิจัยเราได้ และเขาอาจประเมินงานวิจัยของเราได้เลยว่าน่าสนใจ มีประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องอ่านรายละเอียดของงานวิจัยเราทั้งหมด คนที่อยู่ในแวดวงวิจัยคงจะทราบดีนะครับว่า เวลาเราจะหาหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจ ในตอนแรกเราไม่ได้อ่านรายละเอียดทั้งหมดในเอกสาร เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็คงต้องเสียเวลาไปมากกว่าจะเลือกเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ได้  ดังนั้นวิธีการที่เราใช้กันก็คืออ่านจากบทคัดย่อก่อน คัดกรองเรื่องที่คิดว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ กับเรา แล้วจึงจะอ่านในรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นบทคัดย่อที่ดีจึงเป็นประโยชน์กับวงการวิจัยมาก อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการเขียนบทคัดย่อที่ดีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและนักศึกษาปริญญาเอกในที่ปรึกษาก็คือ  ผมและนักศึกษาได้รับเชิญให้เขียนบทความวิจัยลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาให้เหตุผลในการเชิญคือเขาอ่านจากบทคัดย่อจากบทความวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ (conference) แล้วคิดว่างานวิจัยดังกล่าวน่าสนใจ ขอให้เขียนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสาร ถึงตรงนี้ก็คงเห็นความสำคัญของการเขียนบทคัดย่อที่ดีกันบ้างแล้วนะครับ

คราวนี้ในบทคัดย่อควรมีอะไรบ้าง ผมขออ้างอิงจากเว็บของมหาวิทยาลัย Berkeley ดังนี้ครับ


  1. แรงจูงใจในการทำวิจัย/ความสำคัญของปัญหา ในส่วนนี้จะบอกว่าทำไมเราจึงสนใจปัญหานี้ มีประเด็นอะไรที่งานวิจัยของเราจะเข้าไปแก้ไข
  2. วิธีการในการวิจัย ในส่วนนี้จะอธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยของเรา เพื่อให้เห็นว่าเราได้ผลลัพธ์มาอย่างไร 
  3. ผลลัพธ์ ในส่วนนี้จะอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ โดยจะบอกว่าเราได้เรียนรู้ หรือได้พัฒนาอะไรขึ้นมา
  4. สรุป เป็นส่วนที่บอกว่างานที่ได้นั้นมีประโยชน์อย่างไร ประเด็นก็คือมันสามารถตอบคำถามในข้อ 1 ได้อย่างไร
คราวนี้มาลองดูตัวอย่างบทคัดย่อสักตัวอย่างหนึ่งนะครับเผื่อจะเห็นภาพมากขึ้น อันนี้มาจากปัญหาพิเศษล่าสุดที่ผมเป็นที่ปรึกษาครับ

เป็นที่ยอมรับกันในวงการการศึกษาว่าการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งผลที่ได้จากกลไกนี้ก็คือผู้สอนสามารถที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้โดยง่าย ผู้เรียนจะได้เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งและมองเห็นการพัฒนาของตนเอง ส่วนผู้ปกครองก็จะได้รับรู้ข้อมูลพัฒนาการของบุตรหลานและสามารถร่วมมือกับโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมาสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการมีระบบสารสนเทศที่เหมาะสม ปัญหาพิเศษนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบสารสนเทศการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเป็นเว็บแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในการพัฒนาระบบนี้ผู้พัฒนาได้ใช้โรงเรียน... เป็นกรณีศึกษา การทดสอบระบบทำโดยการเก็บข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองจำนวนสองห้อง ผลการทดสอบพบว่าระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นและแสดงผลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำเตือนสำหรับผู้ที่จะใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษี

สวัสดีครับวันนี้ผมมีข้อแนะนำสำหรับคนที่จะใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษีของกรมสรรพากรเพื่่อช่วยคำนวณภาษีมาฝากครับหวังว่าคงไม่สายเกินไปนะ ก่อนอื่นสำหรับคนที่เพิ่งจะเคยเสียภาษีเป็นครั้งแรก หรือเพิ่งอยากจะลองยื่นภาษีออนไลน์ กรมสรรพากรเขาได้อำนวยความสะดวกด้วยการจัดเตรียมโปรแกรมช่วยคำนวณภาษีไว้ให้ โดยให้เราป้อนข้อมูลเงินได้ ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ของเรา และโปรแกรมก็จะคำนวณภาษีให้ ที่ดีไปกว่านั้นก็คือเราสามารถจัดเก็บข้อมูลลงไฟล์ แล้วอั๊พโหลดขึ้นเว็บของกรมสรรพากรในกรณีที่เราต้องการจะยื่นแบบภาษีออนไลน์ได้เลย  โดยเราสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้จากเว็บนี้ครับ http://rdserver.rd.go.th/publish/page901_ty54.htm

ผมเพิ่งจะยื่นออนไลน์ไปเมื่อสักครู่นี้เองครับ จริง ๆ น่าจะยื่นได้ก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว แต่โปรแกรมช่วยคำนวณนี้ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ครับ ทำให้ผมต้องนั่งกรอกข้อมูลซ้ำซากอยู่สามครั้งกว่าจะบันทึกข้อมูลได้ จำได้ว่าปีก่อนหน้าก็ไม่เคยเจอข้อผิดพลาดนี้นะครับ แต่ทำไมปีนี้เจอก็ไม่รู้ครับ  มาดูกันครับว่าข้อผิดพลาดที่ผมเจอคืออะไร สำหรับผมยื่นแบบ ภงด. 90 นะครับ สำหรับภงด. แบบนี้จะมีให้เรากรอกทั้งหมด 10 หน้า โปรแกรมนี้ก็จะให้เรากรอกจนถึงหน้่าสุดท้าย  (หน้าไหนไม่เกี่ยวกับเราก็ข้ามไปได้ครับ)  แล้วจึงจะสั่งจัดเก็บได้ ข้อผิดพลาดที่ผมเจอคือ เมื่อผมสั่งจัดเก็บโปรแกรมก็บอกว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แล้วก็หลุดออกไปครับ นั่นคือสิ่งที่ผมป้อนไว้ก่อนหน้าก็ลาโลกตามโปรแกรมไปด้วยเช่นกัน คราวนี้ปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งผมลองวิเคราะห์ดูน่าจะเกิดจากสาเหตุสองประการครับ เพราะครั้งที่สามที่ผมหลีกเลี่ยงสองประการดังกล่าวแล้วมันทำงานได้ครับ สองประการที่ว่ามีอะไรบ้าง

1. ห้ามเปิดไฟล์เก่าของปีที่แล้วมาแก้ โปรแกรมจะปล่อยให้คุณแก้ไปจนเสร็จก่อน แล้วพอสั่งจัดเก็บก็จะ  error แล้วก็หลุดออกไป (ทำไมถึงโหดร้ายได้ขนาดนี้ ถ้าชอบของสด ๆ ซิง ๆ ก็น่าจะบอกกันก่อน)
2. อย่าพยายามเปลี่ยนโฟลเดอร์ที่่โปรแกรมใช้จัดเก็บไฟล์ ถ้าพยายามทำอย่างนั้น โปรแกรมก็อาจจะ error และหลุดออกไปเช่นกัน (ขอโทษนะครับ ทีหลังผมจะเชื่อฟังครับ ไม่น่าโหดร้ายขนาดนี้เลย)

สุดท้ายมีอีกจุดหนึ่งที่ผมขอเตือนไว้ครับ เพราะปีที่แล้วโดนมากับตัวคือโดนให้จ่ายภาษีย้อนหลังเพราะสรรพากรบอกว่าผมคำนวณภาษีผิด (ผมใช้โปรแกรมคุณคำนวณนะ)  คือถ้าใครผ่อนบ้านอยู่ มันจะมีช่องให้คุณกรอกลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านที่คุณผ่อนอยู่ได้ ถ้าคุณมีภรรยา เวลาคุณกรอกดอกเบี้ยลงไปเท่าไหร่ก็ตาม มันจะเอายอดนั้นไปขึ้นที่ภรรยาคุณด้วย ซึ่งสรรพากรบอกว่าอย่างนี้ผิดนะครับ (โปรแกรมมันทำให้นะย้ำอีกรอบ) เพราะถือว่าคุณหักภาษีเกิน คุณต้องหารครึ่งยอดนั้่นด้วยตัวคุณเองแล้วค่อยกรอกลงไป (สุดยอดไหมล่ะครับท่านทั้งหลาย)

ก็มีคำเตือนอยู่เท่านี้ล่ะครับ ขอให้ทุกคนโชคดีกับการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีด้วยการเสียภาษีให้ประเทศชาตินะครับ





วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

ต้องจ้างเท่าไรให้หยุดใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งปี

เวลาผ่านไปเร็วมากเผลอแป๊บเดียวเดือนที่สามของปีกำลังจะผ่านไปแล้ว ที่ตั้งใจไว้วางแผนไว้ก็ยังไม่ได้ทำตามเป้าหมายสักเท่าไรเลยครับ เรื่องบล็อกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังทำไม่ได้ จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่องแต่ตอนนี้ก็เว้นไปจะสามเดือนแล้วครับ เอาน่าคราวนี้ขอตั้งมาตั้งใจใหม่รับปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงแล้วกันครับ

สำหรับวันนี้้ผมอยากจะตั้งคำถามตามชื่อบทความวันนี้ให้คิดกันครับว่า จะต้องจ้างเราสักเท่าไรดีเพื่อให้เราหยุดใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งปี ซึ่งคำถามนี้ผมได้มาจากการอ่านบทความชื่อ How Much Money Would It Take For You to Give Up The Internet For a Year?   ซึ่งผู้เขียนบทความได้นำผลสำรวจจาก Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งได้สอบถามคำถามนี้กับประชาชนในกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นดังนี้ครับ ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ $1,430 หรือประมาณ 44,330 บาท ถ้าแยกเป็นประเทศก็มีตัวอย่างดังนี้ครับ $323 ในตุรกี $1,215 ในแอฟริกาใต้ $1,287 ในบราซิล $4,453 ในฝรั่งเศส $3,450 ในอังกฤษ และ $2,500 ในสหรัฐอเมริกา

เห็นข้อมูลนี้แล้วคิดยังไงกันบ้างครับมากไปหรือน้อยไป สำหรับผมกับเจ้าของบทความคิดตรงกันครับว่ามันค่อนข้างจะน้อยเกินไป และที่น่าประหลาดใจก็คือที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี ค่าเฉลี่ยต่ำมากครับคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 77,500 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งถ้ามาจ้างผมเท่านี้ผมปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดเลยครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมผมถึงคิดว่ามันต่ำครับ ก่อนอื่นต้องแยกประเด็นก่อนนะครับว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่เป็นกรณีที่มีให้ใช้ คนอื่นใช้แต่เราไม่ได้ใช้ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีใช้นี่ผมอยู่ในยุคนั้นมาแล้ว ยุคที่การหาข้อมูลยังต้องพึ่งพาอาศัยห้องสมุดเป็นหลัก ต้องสั่งหนังสือผ่านร้านหนังสือรอกันทีเป็นเดือน ยุคที่ต้องถ่ายเอกสารรูปจากหนังสือมาลงแผ่นใสเพื่อสอน ดังนั้นผมเชื่อว่าผมอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนอื่นเขาใช้และเราไม่ได้ใช้ผมคิดว่ามันทำให้เราเสียประสิทธิภาพในการทำงานและการดำเนินชีวิตไปเลยนะครับ ในขณะที่คนอื่นเขาสามารถค้นข้อมูลที่ต้องการได้ภายในไม่กี่นาที สามารถสั่งอีบุ๊คมาอ่านได้ทันที สามารถติดต่อสื่อสารได้ตามต้องการ เราต้องขับรถ ขึ้นรถไฟฟ้า ปั่นจักรยานหรือเดินไปห้องสมุด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากห้องสมุดก็อาจไม่ทันสมัย เราต้องรอหนังสือที่สั่งไปประมาณอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์  เราต้องติดต่อธุรกิจกับคนอื่นผ่านทางไปรษณีย์แบบด่วนทันใจ (ems) :) ซึ่งคงไม่ทันใจเท่าไรแล้วในยุคนี้ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ :(

ถ้าถามว่าเท่าไรถึงจะจ้างผมได้  ผมยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดครับแต่คิดว่าไม่น่าต่ำกว่าเจ็ดหลัก (มากไปเปล่าเพ่...) และมันขึ้นอยู่กับอีกคำถามหนึ่งซึ่งเจ้าของบทความเขาก็ถามทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "แล้วจะทำได้หรือ?" นั่นสิแล้วผมจะทำได้หรือ ผมจะทนพลาดดราม่าต่าง ๆ บน twitter และ facebook ได้ยังไงกัน!

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

การใช้รหัสผ่านล้าสมัยแล้ว

เราใช้รหัสผ่านเป็นพื้นฐานด้านความมั่นคงมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ปัญหาของรหัสผ่านก็คือตัวผู้ใช้อาจตั้งรหัสผ่านที่เดาได้ง่าย หรืออาจใช้รหัสผ่านตัวเดียวกันกับเกือบทุกระบบตั้งแต่ Facebook ไปจนถึงระบบคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน ถึงแม้จะมีงานวิจัยที่แนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่มีความยาวตั้งแต่ 12 ตัวขึ้นไป และให้มีการผสมกันระหว่างตัวเลข อักขระ และอักขระพิเศษ แต่จะมีผู้ใช้สักกี่คนที่ทำตาม ยิ่งไปกว่านั้นต่อให้ผู้ใช้ทำตาม ก็ยังอาจจะถูกสารพัดวิธีที่รหัสผ่านอาจถูกขโมยไป เช่นถูกโทรจันมาแอบดักจับการกดแป้นพิมพ์ หรืออาจถูกหลอกไปเข้าเว็บ Phishing ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าน่าจะหมดยุคของการที่เราจะพึ่งพาความมั่นคงของระบบโดยใช้รหัสผ่านแล้ว ซึ่งวิธีการที่ดีกว่าก็อาจเป็นวิธีการที่บริษัทบัตรเครดิตใช้นั่นคือ การดูพฤติกรรมของผู้ใช้ โดยจะต้องมีระบบที่ติดตั้งเพื่อดูการใช้งานระบบของผู้ใช้ ถ้าผู้ใช้มีพฤติกรรมที่แปลก ๆ ไปจากเดิม เช่นส่งจดหมายเข้ารหัสไปยังที่อยู่ที่ดูไบ :) ก็น่าจะคิดได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่จะต้องป้องกันและมีการสอบสวน

ระบบนี้ถ้าใช้จริงผมว่าน่าจะต้องมีปัญหาเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัวแน่ แต่ก็อย่างว่าแหละที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ผมว่าเราก็คงโดนเก็บพฤติกรรม หรือข้อมูลการใช้งานจากระบบต่าง ๆ ไปไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว และถ้าเรารู้เราก็โวยวายกันทีหนึ่ง เขาก็บอกว่าไม่เก็บแล้ว แต่จริง ๆ อาจแอบเก็บอีกก็ได้ ดังนั้นจะเก็บไปอีกสักหน่อยก็คงไม่เป็นไรหรอกมั๊ง หรือพวกเราว่ายังไงครับ ส่วนผมเป็นพวกมีพฤติกรรมแปรปรวนดังนั้นระบบนี้อาจมีปัญหากับผมก็ได้นะครับนี่ ...

ที่มา: TechRepublic

การรวมกันของ Linux กับ Android

เคอร์เนลรุ่นล่าสุดของ Linux คือ รุ่น 3.3 ได้รวมโค้ดของ Android เข้ามาด้วย ซึ่งการรวมกันนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้พัฒนาโปรแกรมทั้งสองฝั่งที่จะพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายขึ้น โดยทางฝั่ง Google ก็จะได้ประโยชน์จากการที่ได้ใช้สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในส่วนโค้ดหลักของ Linux ได้เร็วขึ้น และไม่ต้องกังวลกับการปรับโค้ดของตัวเองให้เข้ากับโค้ดหลัก ส่วนฝั่งที่พัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ Linux ก็จะสามารถใช้คุณสมบัติด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ง่ายโดยไม่ต้องไปค้นหาเอาจากส่วนที่เป็นโค้ดของ Google เหมือนแต่ก่อน

ก็น่าจะเป็นข่าวดีนะครับ ส่วนผมไม่ได้เป็นผู้พัฒนาอะไรที่ลึกซึ้ง เป็นแค่ผู้ใช้ที่รอวันที่จะสามารถเลือกติดตั้งระบบปฎิบัติการยี่ห้อต่าง ๆ ลงในมือถือของผมอย่างง่าย ๆ  เหมือนกับที่ติดตั้งระบบปฎิบัติการลงคอมพิวเตอร์อย่างทุกวันนี้ก็พอแล้ว

ที่มา : C-Net News