วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553

ความจริงที่ผมได้รู้จากการที่ศาลสั่งระงับการประมูลใบอนุญาต 3G

ขอเขียนถึงเรื่อง 3G นี้อีกสักวันแล้วกันนะครับในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่รออยู่แล้วก็ต้องผิดหวังไม่รู้ว่าจะต้องรอต่อไปอีกนานเท่าไร จริง ๆ แล้วถ้าพูดถึงเรื่อง 3G ประเทศเราก็ไม่ใช่ว่าไม่มีใช้นะครับ เพียงแต่ว่าคุณภาพบริการมันยังไม่ดี สัญญาณมา ๆ หาย ๆ และไม่สามารถตอบสนองต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ ดังนั้นถ้าการประมูลนี้สำเร็จจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติในหลาย ๆ ด้าน ความไม่เท่าเทียมกันด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างคนเมืองกับคนชนบทจะน้อยลง แต่เมื่อมีอันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่รู้อนาคตอย่างนี้ ก็ทำให้ประเทศเราเสียโอกาสไปหลาย ๆ อย่าง น่าอิจฉาประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าเราอย่างลาวหรือกัมพูชา ประเทศเหล่านี้มี 3G ใช้กันแล้ว

คราวนี้มาดูว่าผมพบความจริงอะไรบ้างจากเรื่องที่เกิดขึ้น ความจริงที่ผมพบประการแรกเป็นความจริงที่น่ากลัวมากครับ คือประเทศของเรานี้ทำงานและบริหารงานกันโดยไม่มีใครรู้อะไรจริง ๆ เลย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประมูลคือ กทช. ก็ไม่ได้รู้จริงว่าตัวเองมีอำนาจหรือเปล่า รัฐบาลก็ไม่รู้เพราะถ้ารู้ก็คงไม่ปล่อยให้ กทช. ดำเนินงานมาถึงขนาดนี้ ปัญหาคือมันมีองค์กรต่าง ๆ ถูกตั้งขึ้นมาเต็มไปหมด อย่าง กทช. และกสทช. ซึ่งก็มีชื่อคล้ายกันมาก ผมยังเข้าใจผิดเลยว่า กทช. ก็คือ กสทช. แต่เปลี่ยนชื่อให้สั้นลง แต่ประเด็นคือรัฐบาลต้องรู้สิครับ เพราะเท่าที่ผมติดตามข่าวมาอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่มันเป็นของ กสทช. รัฐบาลจะต้องรู้และควรจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น โดยรีบสรรหากรรมการ กสทช. เพื่อมาดำเนินการ ส่วนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ICT ก็ออกมาทำได้แค่ขอโทษและยังให้ข้อมูลผิด ๆ อีก เช่นผู้ให้บริการอย่าง AIS หรือ DTAC ได้ให้บริการ 3G กับคนในกรุงเทพทั่ว ๆ ไปแล้ว ทั้งที่จริง ๆ มันไม่ใช่ ถ้าผมเป็นนายกผมคงต้องขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ลาออก หรือถ้าผมเป็นรัฐมนตรีเองผมจะขอลาออกครับ

ความจริงประการที่สองก็คือรัฐวิสาหกิจที่ชอบออกมาโวยวายตอนที่มีรัฐบาลหนึ่งจะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ บอกว่าประเทศชาติและประชาชนจะเสียประโยชน์อย่างนู้นอย่างนี้ ตอนนี้พวกเราคงเห็นนะครับว่าเขาเห็นกับประโยชน์ของใครมากกว่า จริง ๆ ถ้าออกมาคัดค้านเพราะรู้เรื่องว่า กทช. ไม่มีอำนาจ ถ้าตัวเองไม่คัดค้านจะกลายเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่อ้างมา ก็น่าจะทำแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ กทช. เขาเริ่มดำเนินการ ป่านนี้รัฐบาลก็คงจะรู้ตัวและรีบเริ่มดำเนินการสรรหา กสทช.ไปแล้ว นี่จนเขาจะทำเสร็จอยู่แล้วเพิ่งจะออกมาคัดค้าน ประเทศชาติต้องเสียงบประมาณไปเปล่า ๆ ไม่รู้เท่าไร แถมยังบอกด้วยว่าการดำเนินการนี้ทำให้ตัวเองเสียผลประโยชน์จึงต้องออกมาคัดค้าน

ขอฝากรัฐวิสาหกิจหน่วยงานที่มี 3G ของตัวเองอยู่ตอนนี้เมื่อออกมาคัดค้านเขาแล้วก็ช่วยคิดถึงประเทศชาติโดยปรับปรุงระบบของตัวเองที่มีอยู่ให้ดี และให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ใช้ด้วยนะครับ

จริง ๆ วันศุกร์แล้วไม่อยากเขียนเรื่องเครียด แต่ก็ขอเขียนบอกเล่าความรู้สึกหน่อยแล้วกันครับ เพราะรู้สึกแย่จริง ๆ กับเรื่องนี้

ป.ล. ขอเพิ่มเติมลิงก์ไปยังบล็อกนี้ นะครับเพราะมีข้อมูลที่ดีเกี่ยวกับหลาย ๆ เรื่องที่ผมคิดว่าหลายคน(รวมถึงผมด้วยยังเข้าใจผิดอยู่) และจะทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหานี้มากขึ้น

2 ความคิดเห็น:

  1. ในส่วนตัวผมอย่างที่บอกไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับ กทช. และกสทช. มากนัก ขอแนะนำบล็อกนี้ครับ เขียนได้ดีมากเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเรื่องนี้ กทช. และ กสทช. ต่างกันอย่างไร และ CAT กับ TOT ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจแล้ว แต่ยังทำตัวเหมือนรัฐวิสาหกิจอยู่

    http://www.facebook.com/notes/rood-thanarak/meux-3g-michi-khae-reuxng-khxng-thekhnoloyi-theanan/150725911628388

    ตอบลบ
  2. จากบล็อกที่แนะนำไปยังทำให้ทราบอีกว่ากระบวนการสรรหา กสทช. อาจต้องใช้เวลาิีอีกนาน ดังนั้นเราอาจต้องรออีกถึง 2-3 ปีจึงจะได้ใช้ 3G กัน คงต้องภาวนาให้ กทช. อุทรณ์สำเร็จครับ และปัญหาที่เกี่ยวเนื่องมานี้เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย

    ผมอยากสรุปทิ้งท้ายว่าประเทศเราในตอนนี้มีความสับสนมากมาย มีองค์กรอิสระต่าง ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด การนิยามหน้าที่ก็ไม่ชัด (ชักจะเหมือน software spec ขึ้นทุกวัน) ขนาดผมซึ่งติดตามข่าวสารยังเข้าใจผิด ดังนั้นฝากผู้เกี่ยวข้องช่วยดูด้วยครับ องค์กรไหนไม่จำเป็นก็ยุบ ๆ ไปบ้างก็ได้ ส่วนกฏหมายก็ไม่รู้สิครับ เรื่องเดียวกันแท้ ๆ แต่ตีความกันไปคนละทางสองทาง อย่างนี้จะไม่ให้คนคิดว่าสองมาตรฐานได้อย่างไร ผมสงสัยมานานแล้วว่ากฏหมายนี่จะเขียนให้มันชัด ๆ ไปไม่ได้หรือยังไง

    ตอบลบ