วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เกี่ยวกับ 3G ในประเทศไทย จากความเห็นของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กทช.

ผมได้อ่าน Time Line ใน Twitter เกี่ยวกับเรื่อง 3G ในประเทศไทย ซึ่ง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ (@DrNatee39G ) หนึ่งในกรรมการ กทช. ได้ tweet มาเล่าให้ follower ฟังกัน ซึ่ง พ.อ.ดร.นที บอกว่าจริง ๆ แล้วได้ให้สัมภาษณ์ทาง DM (direct message) กับคุณปานระพี @panraphee จากช่อง 3 ไปแล้วรอบหนึ่งแต่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงเอามา tweet ให้ follwer อีกที ผมก็เลยสรุปประเด็นมาเล่าให้ฟังกัน และเสริมความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้างนะครับ

ผมคงไม่นำมาเล่าทั้งหมดนะครับ ถ้าใครอยากดูข้อความทั้่งหมดก็ขอเชิญไปดูจาก twitter ของ พ.อ.ดร.นที ได้ แต่ผมอยากจะสรุปเฉพาะประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจมาให้อ่านกัน ประเด็นแรกก็คือในประเทศไทยเราเปิดประมูล 3.9G ไม่ใช่ 3G แล้วมันต่างกันยังไง จริง 3.9G ก็คือเทคโนโลยี 3G แต่มีความเร็วมากขึ้น คือข้อกำหนดพื้นฐานของ 3G มีความเร็วอยู่ที่ 2 Mbps แต่ 3.9G จะอยู่ที่ 42 Mbps พ.อ.ดร.นที สรุปง่าย ๆ ว่า 3.9G ก็คือเวอร์ชัน 3G ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และถ้าเราประกาศว่าเราจะเปิด 3.9G จะทำให้เราประกาศตัวเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะใช้เทคโนโลยีนี้พร้อมกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเราประกาศ 3G เราจะกลายเป็นประเทศรองบ๊วยในอาเซียนที่ใช้ 3G (ประเทศบ๊วยนี่คือประเทศอะไรใครทราบบ้างครับ) อันนี้คิดว่า พ.อ.ดร.นที คงพูดตลก ๆ นะครับ คงไม่มีใครคิดจะทำวิธีนี้ในการหนีบ๊วยหรอกนะครับ

คำถามต่อไปคือทำไมไม่ประกาศ 4G ไปเลย คำตอบก็คือ มาตรฐานของ 4G จะกำหนดชัดเจนในปีหน้า และอาจต้องรออุปกรณ์อีก 3-4 ปี ส่วน 3G จะให้ประโยชน์อะไรบ้างคำตอบก็คือบริการ broadband จะไปอย่างทั่วถึง จะสามารถครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 80 ของประเทศได้โดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 4 ปี โดย ADSL ปัจจุบันใช้ได้กับประชากรร้อยละ 10 เท่านั้น การมีบริการ 3G จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ได้ และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ให้ทั้งคนเมืองและชนบทมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

นอกจากนี้ พ.อ.ดร.นที ยังได้พูดถึงโครงการต่อจาก 3G ว่าก็คือโครงการที่ในเมืองใหญ่ ๆ จะมีบริการผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงทีเรียกว่า Fiber to the Home (FTTH) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ตัวผมเองเห็นด้วยว่าดีมาก และควรจะมีได้ตั้งนานแล้ว ในส่วนตัวผมมองว่าถ้าจุดใดสามารถที่จะเดินสายได้ก็ควรจะเดินสาย เพราะการสื่อสารแบบมีสายเช่นนี้จะเสถียรและมีประสิทธิภาพมากกว่าไร้สาย

จริง ๆ พ.อ.ดร.นที ยังได้พูดถึงเรื่องการประมูลใบอนุญาตว่าแตกต่างจากสัมปทานอย่างไร แต่ผมคงไม่มาพูดถึงในที่นี้นะครับ ขอพูดถึงแต่ในแง่มุมที่น่าจะทำให้เรามองเห็นประโยชน์ และอนาคตของเครือข่ายโทรคมนาคมในบ้านเรา เราก็มานับวันรอกันที่จะได้ใช้เครือข่าย broadband ความเร็วสูงกันเถอะครับ และช่วยภาวนาให้มันเสถียร และราคาอยู่ในจุดที่พอรับได้ด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น